หน้าแรก รายงาน

ขุนละหาร…พิพิธภัณฑ์มีชีวิต

“บางครั้งการให้นั้นคือพระเจ้าจะให้ แต่เชื่อว่าต้องมาจากความศรัทธา บางครั้งผมสร้างอาคารตรงนี้ยังไม่รู้เลยว่าเงินมาได้อย่างไร ซึ่งการเราให้โดยศรัทธาเชื่อว่าพระเจ้าจะต้องให้ตอบแทน”

นายรัศมินทร์ นิติธรรมหรือ ผู้ใหญ่มิงผู้ใหญ่บ้าน ม.7 ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เจ้าของพิพิธภัณฑ์ขุนละหารบอกด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น จริงจัง แววตาเปี่ยมพลังในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาอันมีค่าของบรรพชนไว้ให้นานที่สุด

จากภูมิหลังครอบครัวของผู้ใหญ่มิงที่เป็นเหลนของขุนละหารประชาเชษฐ์ สมัยรัชกาลที่ 5 ฐานะเท่ากับกำนันต.ละหาร ที่บุกเบิกการพัฒนาในพื้นที่หลายด้าน จนมาถึงบิดาที่เป็นครูใหญ่ที่ชื่นชอบงานศิลปะ ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและเก็บสะสมของโบราณมานาน ทำให้เขาได้ซึมซับงานศิลปะและคุณค่าของโบราณวัตถุมาตั้งแต่เด็ก ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีสิ่งของเป็นของบิดาผู้ใหญ่มิงที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงบรรพบุรุษส่วนหนึ่งและเป็นของชาวบ้านที่เอามาบริจาคด้วยส่วนหนึ่ง

IMG_3025

“คุณพ่อเป็นนักวาดภาพ นักกิจกรรม ชื่นชอบวัฒนธรรม ชอบเก็บของเก่า ตอนเด็กๆ ผมจึงได้เห็นของเก่า กริช จาน แขวนเต็มบ้าน พ่อวาดภาพลวดลายศิลปะว้ากว่า 100 ลาย เมื่อได้เป็นผู้ใหญ่บ้านมีโอกาสไปดูงานพิพิธภัณฑ์ที่ประเทศมาเลเซีย พบว่าครึ่งหนึ่งของวัตถุในพิพิธภัณฑ์มาจากบ้านเรา คิดว่าถ้าเราขายของเหล่านี้กันทุกวัน สุดท้ายจะไม่หลงเหลืออะไรให้ได้รู้จักภูมิปัญญา วัฒนธรรมและรากเหง้าของตัวเอง จึงตั้งใจกลับมาทำพิพิธภัณฑ์อยากเปิดพื้นที่ให้คนได้เข้ามาทำกิจกรรม เกิดการศึกษางานและภูมิปัญญาของวัฒนธรรมเก่าๆให้มีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง”

ผู้ใหญ่มิงใช้เวลาอยู่หลายปีในการรวบรวมศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นบ้านขุนละหาร ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยการสร้างพิพิธภัณฑ์จัดเก็บรวบรวมคุณค่าของชุมชนในบ้านและที่ดินตัวเองโดยก่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 และเปิดตัวเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กรกฏาคม 2555

IMG_3028

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีชั้นล่างและชั้นบนชั้นล่างเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของท้องถิ่น ทั้งก่อนประวัติศาสตร์ เรื่องราวประวัติศาสตร์ ช่วงลังกาสุกะ ช่วงแบ่งเป็น 7 หัวเมือง ช่วงปัตตานีดารุสลาม ช่วง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนละหารในอดีต ประวัติขุนละหาร แล้วก็ประวัติบุคคลสำคัญในชุมชน

ชั้นบนมีทั้งหมด 6 ห้อง คือ ห้องภูมิหลัง ที่จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยลังกาสุกะ ห้องที่สองคือห้องเครื่องใช้ไม้สอย ที่มีใช้ในหมู่คนมลายูในชายแดนใต้ เช่น เครื่องทองเหลือง เป็นต้น ห้องที่สามคือ ห้องพิธีกรรม สะสมประเภทอุปกรณ์ในการแห่นก มะโย่ง การเข้าสุนัต โต๊ะบีแด และแม่พิมพ์ขนม เป็นต้น ห้องที่สี่คือห้องสายน้ำ จัดแสดงวัสดุอุปกรณ์การประกอบอาชีพประมงน้ำจืดและน้ำเค็มห้องที่ห้าคือห้องศาสตราวุธมีศาสตราวุธชาวมลายูในอดีต เช่น กริช ดาบ เป็นต้น ห้องสุดท้ายคือ ห้องนันทนาการ จัดแสดงวัสดุ อุปกรณ์สำหรับการนันทนาการของชาวมลายูในอดีต เช่น ที่ดักนกคุ่ม กรงตั๊กแตนประชันเสียง

IMG_3032

นอกจากพิพิธภัณฑ์ขุนละหารจะเป็นสถานที่ที่เก็บและชมโบราณวัตถุที่หายากยิ่งในปัจจุบัน ยังถูกออกแบบเพื่อการสานต่อองค์ความรู้ สู่เยาวชนในหมู่บ้านที่ยังมีความสนใจในศิลปะวัฒนธรรมของท้องถิ่นอันเป็นศิลปะหลายแขนง เช่น ซีละ การแกะสลักลวดลายบนด้ามกริชและลายเรือกอและ การรำ“ตารีอีนา” โดยมีครูผู้ชำนาญในศาสตร์ต่างๆมาสอนโดยตรงทุกอาทิตย์ ซึ่งเยาวชนจะเป็นแนวทางหายใจต่อไปของศิลปะทุกแขนง

จากการทำงานกับชุมชนมาตลอดของผู้ใหญ่มิงเป็นที่รักและนับถือของชาวบ้านเมื่อผู้ใหญ่มิงบอกว่าจะมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร ชาวบ้านต่างให้ความร่วมมือทั้งแรงกาย และสิ่งของบริจาค เมื่อเปิดให้เข้าชมจึงเป็นความภาคภูมิใจร่วมของชาวบ้าน เมื่อมีนักท่องเที่ยวหรือคณะนักเรียนเข้ามาศึกษาดูงาน ชาวบ้านจะให้การต้อนรับด้วยการแสดงและการสาธิตอย่างเต็มกำลัง

“ดีใจมากที่ได้ทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา เพราะมีกระแสการอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมดีๆ เกิดเป็นกลุ่มองค์กรต่างๆ ขึ้นมาเช่น กลุ่มภาคีสถาปัตย์ กลุ่มช่างภาพถ่ายสถาปัตยกรรมเก่า กลุ่มเด็กๆ ในชุมชนนักศึกษาที่เห็นความสำคัญ เราไม่ได้ทำสูญเปล่า ตอนนี้ยิ่งขยายกว้างขึ้น เพราะว่าหากไม่มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมสุดท้ายจะไม่เหลืออะไร เมื่อมาที่นี่ จะได้พบวัฒนธรรมที่หาดูได้ยากในประเทศไทย เรียนรู้โลกมลายูในมิติที่หลากหลายเพราะว่าเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ส่วนตัวของคนที่นี่ที่ชอบสันติ สงบสุข ส่วนใหญ่คนจะอยู่กับศาสนาและความสงบสุข”

IMG_3033

“ผมอยากให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา พยายามดึงคนในชุมชนให้มามีส่วนร่วมมากที่สุด ให้เด็กๆ มีความรักท้องถิ่น ภูมิใจกับสิ่งที่บรรพบุรุษได้สร้างเอาไว้ และพัฒนาต่อยอดให้เป็นแหล่งความรู้ด้านวัฒนธรรมเพื่อให้ได้มาศึกษาอย่างแท้จริง ตอนนี้ผมทำเรื่องผ้าเพราะได้เก็บลวดลายท้องถิ่นไว้ ประมาณ 20 ลวดลาย นำภูมิปัญญาและลวดลายมาลงบนผ้า เพื่อให้เกิดรายได้กับชาวบ้าน”

ด้วยหลักคิดของผู้ใหญ่มิงที่ต้องการให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต และสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนตามวัฒนธรรมคือวิถีชีวิต วิธีการปฏิบัติ สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นมรดกทางวัฒนธรรมซึ่งมีหลายมิติ ต้องดึงคนในชุมชนให้อยู่ในกรอบของวัฒนธรรมแล้วมาปรับแต่งให้เข้ากับยุคสมัย หากให้วัฒนธรรมคงอยู่จะต้องปรับเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน

“ผมอยากให้โรงเรียน ทั้งระดับประถม มัธยม ปริญญา เห็นความสำคัญเกี่ยวกับชุมชน อยากให้เด็กก่อนจบ ป.6, ม.3 ปริญญา ทำรายงานเกี่ยวกับชุมชนของตัวเอง เพราะปัจจุบันนี้ เด็กๆ ยังไม่ทราบเลยว่า ประวัติชุมชนของตัวเองเป็นอย่างไร บางคนทำวิจัยเกี่ยวกับหมู่บ้านของคนอื่น หมู่บ้านของตัวเองยังไม่ทราบเลย เช่น เด็กจะจบ ป.6 อย่างน้อยให้เขาทำประวัติชุมชน โรงเรียนมีหลักสูตรว่า จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติชุมชน สถานที่สำคัญ โบราณสถานในชุมชน มัสยิด วัด หรือบุคคลสำคัญในชุมชน เป็นต้น อยากให้ทางโรงเรียนเห็นความสำคัญตรงนี้ ให้เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้ชุมชนตัวเองก่อน เพราะถ้าเด็กไม่รักชุมชน ไม่มีความสัมพันธ์กับชุมชน ก็จะไม่รักชุมชน โดยเฉพาะวัฒนธรรมของ 3 จังหวัด วัฒนธรรมของการศึกษานะไม่ใช่เรื่องแบ่งแยกดินแดน มันคนละเรื่องกันวัฒนธรรมของใครใครก็รัก วัฒนธรรมของตัวเองมีความผูกพัน เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษได้สร้างเอาไว้ ผมว่าทุกเชื้อชาติ ต้องรักษาเอาไว้”

IMG_3019 (1)

ทุกวันนี้มีคณะนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ เข้ามาศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมที่พิพิธภัณฑ์ขุนละหารอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งคณะศึกษาดูงานจากประเทศมาเลเซียที่มากันเป็นประจำ

“จริงๆแล้วเราทำชื่อเสียงให้กับทางจังหวัดมาพอสมควร เราไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องอื่น เพียงแค่อย่างในเรื่องของป้ายบอกทางยังไม่มีใครสนใจเลยว่าใช้ระยะทางเท่าไหร่ถึงพิพิธภัณฑ์ขุนละหาร เวลามีแขกของจังหวัดมาเขาก็จะพามาที่นี่ แต่ป้ายบอกทางยังไม่มีเลย ก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่น อยากให้หน่วยงานดูความเป็นอยู่ว่าที่นี่ขาดแคลนเรื่องอะไรบ้างพยายามขยับขยายพื้นที่ ต่อเติมเพื่อที่จะเพิ่มห้องบรรยายเพราะเด็กที่เข้ามาเยี่ยมชมบางครั้งมาเป็นร้อย ห้องบรรยายก็ไม่เพียงพอ เพื่อที่จะเพิ่มการบริการที่ดีขึ้น ทุกวันนี้คนในพื้นที่ยังไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควรที่จะช่วยในการพัฒนา แม้กระทั่งทางอบต.ก็ไม่ได้เข้ามาสนใจเลย แต่ในทางกลับกันคนที่อยู่ต่างประเทศยอมรับในสิ่งที่เราทำ หรือเขาอาจจะเห็นตรงนี้เป็นเรื่องส่วนตัวก็เป็นได้ ถามว่าท้อไหมก็ท้อนะแต่เราก็ทำงานมาเรื่อยๆตอนนี้ก็ร่วมๆ 4 ปีแล้ว”

แม้จะได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมหลากหลายหน่วยงาน แต่ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหารยังขาดแคลนงบประมาณจำนวนมาก จึงต้องเก็บค่าเข้าชมจากนักเรียนเพื่อนำมาพัฒนาสื่อใหม่ๆ ให้กับพิพิธภัณฑ์ ผู้ใหญ่มิงบอกว่า หากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนก็จะเรื่องที่ดีกับการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์

“ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะหาทุนมาจากไหนต่อ ซึ่งต้องขยายเท่ากับพื้นที่ที่มีอยู่ ผู้ว่าฯ เคยมาเยี่ยมเขาบอกว่าพื้นที่แห่งนี้มันแคบเกินไปที่จะสามารถทำพิพิธภัณฑ์ได้ ซึ่งเขามองในสิ่งที่เราไม่อยากได้เพราะเขาต้องการทำให้มันใหญ่โตเกินตัวที่ไม่สามารถดูแลได้ ใจจริงๆคิดว่า พิพิธภัณฑ์นั้นไม่จำเป็นต้องใหญ่โต ทำให้มีประโยชน์และเป็นจุดที่มีชีวิตของพิพิธภัณฑ์ตรงนี้ เป็นพิพิธภัณฑ์แบบชาวบ้าน คิดว่ามันพอดีกับตัวเราแล้วที่เราจะดูแล ซึ่งทาง ศอ.บต. น่าจะเข้ามาบูรณาการ กรณีของเราคล้ายกับอาคารเด่น โต๊ะมีนา ซึ่งทางศอ.บต ยังมีการสนับสนุนได้แต่อยู่ที่ว่าเขาจะสนใจหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าจะให้เอกชนไม่ได้ ต้องดูที่ผลงานหรืองานที่ทำมากกว่า ซึ่งเมื่อ 2 ปีก่อน ผมได้รับรางวัลจากศอ.บตรับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นรางวัลเกี่ยวกับคนทำงานด้านวัฒนธรรมดีเด่น

IMG_3011

เวลาเด็กนักเรียนมาเยี่ยมชมมีการจัดเก็บค่าเข้าชม เพราะเด็กๆจะมีทุนของทางโรงเรียนอยู่เก็บค่าเข้าคนละ 30 บาท นำคนเฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านมาสาธิตในกิจกรรมต่างๆ ให้ค่าตอบแทนเป็นเงินกลับไปบ้างเพื่อให้เขานำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่มีรายได้งานภูมิปัญญาก็อยู่ไม่รอด ซึ่งยังมีอีกมาที่รอความช่อยเหลือ เด็กๆก็จะได้พูดคุยกับวิทยากรเหล่านี้ ซึ่งจะไม่เหมือนการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่อื่นที่เข้าชมมาแล้วก็กลับไป เมื่อคนทำงานมีศาสนาในหัวใจ การทำงานก็ไม่ออกไปนอกกรอบของศาสนา ศีลธรรมจะเชื่อมโยง สร้างคนให้มีความดี ”

“ในการต่อเติมเราใช้ช่างจากในหมู่บ้านมีค่าตอบแทนให้เขากลับไปบ้าง จริงๆ ก็ท้อแต่เพียงแค่บ่นไป เผื่อเขาจะได้ยินแต่ถึงอย่างไรก็ต้องทำต่อไป เพราะสิ่งที่ขอนั้นไม่ได้ขอเพื่อตัวเอง แต่ขอให้กับคนที่เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ คือบางครั้งเวลาแขกมาเยี่ยมหรือทางจังหวัดพาคนมา แต่ไม่เคยมาถามเลยว่าต้องการอะไรบ้าง ทุกวันนี้ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแต่เหมือนอยู่คนละขั้ว ขณะที่ ททท.นรา เพิ่งมาที่นี่ ทั้งที่ๆผมทำงานตรงนี้มา 4 ปีแล้ว อยากให้มาแลกข้อมูลกันมากกว่าซึ่งเข้าใจว่าแต่ละหน่วยงานคงมีข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรม แต่ถึงยังไงคงไม่มีข้อมูลในเชิงลึกเพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ทำให้หน่วยงานไม่มีข้อมูลลึกๆอย่างแน่นอน แต่เรามีภูมิปัญญาชาวบ้านที่แน่นกว่า เพราะการทำงานด้านข้อมูลของเรากับรัฐนั้นทำกันคนละอย่างของรัฐทำเพียงแค่ข้อมูลเชิงเดี่ยวคือทำเพียงแค่ของไทยเท่านั้น แต่เราทำข้อมูลด้านวัฒนธรรมของความเป็นมลายูมาถึงไทย เชื่อมไปยังมาเลเซียและอินโดนีเซีย”

,k

ผู้ใหญ่มิงย้ำว่า มรดกภูมิปัญญาต้องให้เจ้าของวัฒนธรรมเป็นคนบอกเล่าเพื่อความถูกต้องดีที่สุด ที่ผ่านมาการบอกเล่าวัฒนธรรมมลายูมาจากคนนอกพื้นที่ที่ยังโยงความเชื่อในอดีตที่ผิดๆ ทำให้คนที่นี่ไม่สนใจวัฒนธรรม ต้องให้วัฒนธรรมและศาสนามีกรอบไปด้วยกัน พระเจ้ามีความละเอียดอ่อนต่อมนุษย์ที่ท่านสร้างมาหลากหลายชาติพันธุ์เพื่อให้สามารถอยู่ได้ตามภูมิศาสตร์ตรงนั้น เป็นแบบแผนกำหนดชีวิตมนุษย์ให้อยู่ในสังคมอย่างเป็นคนดี

ผู้ใหญ่มิงบอกว่าต้องยอมรับว่าในทุกพื้นที่มีการเปิดรับสิ่งใหม่ๆเข้ามาเรื่องแบบนี้ควรจะต้องเข้าไปอยู่ในบทเรียนเชิงบังคับ เช่นเรียนปริญญาตรี ควรจะต้องทำวิทยานิพนธ์ คือให้รู้สึกอยากจะทำอะไรเกี่ยวกับวัฒนธรรมก็ให้ทำตั้งแต่เรียนปี 1 ให้ทำออกมาเป็นชิ้นงานรัฐบาลหรือผู้เกี่ยวข้องควรจะมาส่งเสริมในเรื่องนี้ หากนักศึกษา 20 คน ทำสิ่งเหล่านี้ได้ 3-4 คนก็ถือว่าคุ้มแล้วกับการนำไปต่อยอด

“บางครั้งการให้นั้นพระเจ้าจะให้ แต่เชื่อว่าต้องมาจากความศรัทธาบางครั้งผมสร้างอาคารตรงนี้ยังไม่รู้เลยว่าเงินมาได้อย่างไร ซึ่งการเราให้โดยศรัทธาเชื่อว่าพระเจ้าจะต้องให้ตอบแทนมีความตั้งใจที่จะทำอยู่ตลอดเวลา หวังว่าในช่วงชีวิตนี้จะทำให้ดีที่สุด มีคนมาสานต่อ บอกเล่าแก่คนรุ่นต่อไปให้เข้าใจวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกัน”