จากภัยร้ายของบุหรี่มีมหาศาล เป็นจุดก่อเกิดโรคเรื้อรังสารพัดโรคทั้งมะเร็ง ความดัน หลอดเลือดหัวใจและสมอง ถุงลมโป่งพอง ที่คุกคามและคร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆ จากการศึกษาภาวะโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชาชนไทยทุก 5 ปี ของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยประมาณ 48,244 คนต่อปี โดยเฉลี่ยผู้ชายจะตายจากบุหรี่ 1 ใน 6 คน ผู้หญิงตายด้วยบุหรี่ 1 ใน 25 คน โดยในแต่ละปีคนไทยเสียเงินซื้อบุหรี่รวมกันแล้วถึง 80,000 ล้านบาท หากเงินจำนวนนี้ยังน้อยกว่างบประมาณที่รัฐต้องจ่ายเป็นค่าดูแลสุขภาพประชาชนต่อโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ พบว่า เมื่อปี 2552 กระทรวงสาธารณสุขจ่ายค่ารักษาใน 3 โรคคือ มะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง และโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีบุหรี่เป็นตัวการสำคัญในการก่อโรคถึง 51,569 ล้านบาท หากปล่อยให้เยาวชนกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ ใน 10 คน จะมี 7 คนสูบไปจนตาย อีก 3 คน เลิกได้ โดยมีอายุเฉลี่ยในการเลิกบุหรี่ที่ 46 ปี
จากข้อมูลสถานการณ์การบริโภคยาสูบรายจังหวัด พบว่า จังหวัดปัตตานีมีอัตราการบริโภคยาสูบสูงเป็นอันดับต้นของประเทศเป็นเวลาหลายปี มีอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ปี 2554 ร้อยละ 29.10 ปี 2557 ร้อยละ 28.08 เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ และมีอัตราการสูบบุหรี่ของเพศชายอายุ 15 ปี ขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 57.45 สอดคล้องกับรายงานการวิจัยการประเมินสถานการณ์ยาสูบจังหวัดปัตตานีเพื่อการเปลี่ยนแปลงของม.อ.ปัตตานี โดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ปี 2556 สุ่มตัวอย่างประชากรในพื้นที่จำนวน 1,762 ราย พบว่า สูบบุหรี่ร้อยละ 24.5 นักเรียนระดับมัธยมศึกษาสูบบุหรี่ร้อยละ 16.3 อายุที่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 16-20 ปี อายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบคือ 17 ปี อายุที่ต่ำที่สุดที่เริ่มสูบคือ 7 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนพบว่าอายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่คือ 13.5 ปี
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ณ ห้องประชุมแก้วกัลยา ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดปัตตานีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและบุหรี่จังหวัดปัตตานี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐานสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมผู้นำศาสนาอิสลาม ผู้นำชุมชน แกนนำขับเคลื่อนงานและผู้รับผิดชอบงานควบคุมการบริโภคยาสูบ รวมใจรณรงค์ “ให้รอมฎอน…เป็นจุดเริ่มต้นในการเลิกบุหรี่”
นายแพทย์อุดมเกียรติ พูลสวัสดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า บุหรี่เป็นภัยร้ายที่ค่อนข้างคุกคามสุขภาพคนปัตตานีค่อนข้างมาก จากการตรวจคนไข้มากว่า 20 ปีพบว่าคนไข้ที่มีปัญหาและเสียชีวิตเร็วที่สุดคือคนไข้ที่สูบบุหรี่ เพราะปอดอาการหนัก โรคของบุหรี่ไม่เหมือนเชื้อโรค ต้องใช้เวลาสักระยะถึงจะมีอาการ คนปัตตานีสูบบุหรี่สูงเป็นอันดับสามของประเทศ จากงานวิจัยพบว่า ผู้ชายปัตตานี 100 คน สูบบุหรี่ถึง 60 คน และเริ่มเพิ่มมากขึ้นในเยาวชน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ยาเสพติดอื่นๆ ต้องติดฟันเฟืองของสังคมให้การเลิกบุหรี่เป็นเรื่องสำคัญ ต้องผลักดันให้ได้ มองเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน ถ้าไม่มีจุดเริ่มต้นก็ไม่มีจุดปลายของความสำเร็จ อนาคตของเยาวชน คนปัตตานีอยู่ที่ทุกคน ซึ่งปีนี้ได้งบประมาณมาจากสสส. มีทีมงานและคนช่วยผลักดัน เป็นฟันเฟืองและเครือข่าย ช่วยให้คนปัตตานีลดบุหรี่ บุหรี่ไม่มีวัคซีน ให้ทุกคนเป็นวัคซีนให้คนปัตตานีพ้นจากภัยบุหรี่ ขอให้รอมฏอนเป็นเดือนสำคัญในการเริ่มต้นในเรื่องสำคัญนี้
นายแพทย์อนันตชัย ไทยประทาน จากโรงพยาบาลยะลา กล่าวว่า ทางสสจ.ยะลา เห็นตัวเลขของสามจังหวัดติดในสิบอันดับแรกตลอดในการสูบบุหรี่ของประเทศ จึงประกาศเป็นวาระของ 5 จังหวัดที่ต้องทำจริงจังในเรื่องนี้ เน้นความเข้าใจของประชาชนประกาศเป็นเข็มมุ่งโดยมีอ.รามันเป็นหลัก ซึ่งมี113 มัสยิดได้ลงนามความร่วมมือกับอำเภอ สาธารณสุข ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนเป็นกระบวนการขับเคลื่อนสำคัญ ทำมา 6 เดือนเห็นผลคือบริเวณมัสยิดไม่มีการสูบบุหรี่ เป็นการขับเคลื่อนที่ชัดเจน ส่วนรพ.รามันไม่มีบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ในเขตรั้วโรงพยาบาล ส่วนรพ.ยะลาขอเวลา 1 ปี ในการปลอดบุหรี่ร้อยเปอร์เซ็นต์
“บุหรี่เป็นมหันตภัยที่มองข้ามไม่ได้ เกิดสารพัดโรคเรื้อรัง โรคที่มาจากบุหรี่เป็นโรคที่ไม่ได้มาจากเชื้อโรค และบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามในทัศนะของอิสลามฟัตวา(คำวินิจฉัย) ว่าบุหรี่เป็นสิ่งฮารามจากจุฬาราชมนตรี การเริ่มต้นที่บุหรี่ทำให้ต่อไปยังยาเสพติดอื่นๆ เป้าหมายที่ไทยจะลดบุหรี่ลง มาตรการเดียวที่สำคัญคือ ต้องเพิ่มราคาบุหรี่ ไทยอยู่ในระดับต้นของเอเชีย กฎหมายยังมีความสำคัญ 90 เปอร์เซ็นต์ของคนสูบบุหรี่ต่ำกว่า 15 ปี สำคัญคือผู้หญิงมีการติดบุหรี่เปอร์เซ็นต์สูงด้วย ยาเสพติดคือ ต้องเสพเป็นประจำ ต้องเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย เมื่อหยุดต้องถอนยาและลงแดง มีผลเสียต่อร่างกายและสังคม บุหรี่เลิกยาก จึงเข้านิยามของยาเสพติดยุทธศาสตร์การเลิกบุหรี่คือ การให้กำลังใจ หักสุข คือใช้กระบวนการ ไม่ใช้ยา หาองค์ความรู้ เพิ่มพลังจิตคนไข้ให้เอาชนะให้ได้ ในการเริ่มต้นห้ามตำหนิทุกโรงพยาบาลมีคลินิกฟ้าใสเพื่อเลิกบุหรี่ อยากได้ผู้นำศาสนาที่มีความชัดเจนในการพูด บอกกล่าวถึงพิษของบุหรี่ หากสถานการณ์บ้านเราสงบจะมีคนป่วยจากบุหรี่มากมาย”
นพ.อนันตชัยกล่าวต่อถึงความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศในการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดว่า สมาคมจันทร์เสี้ยว เป็นศูนย์วิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ปัจจุบันได้มีการรณรงค์ในวัยรุ่น มีความร่วมมือกันระดับโลกคือ สมาคมจันทร์เสี้ยวฯ ไปสังกัด จันทร์เสี้ยวเขียว องค์กรแม่ที่ตุรกี รณรงค์ในเรื่องที่ทำลายเยาวชน คือบุหรี่ ยาเสพติด การพนัน และสื่อออนไลน์ เขากระจายความรู้ไปทั่วโลก มีนวัตกรรมใหม่ๆ ประชุมกันทุกปีที่ตุรกี เดือนสิงหาคมนี้จะเปิดตัวในไทย เน้นชายแดนใต้เป็นหลัก รอมฏอนเป็นเดือนที่ดีที่สุด ให้เป็นเดือนที่สดใสที่สุดหยุดเผาตัวเองและคนรอบข้าง
สำหรับนโยบายปลอดบุหรี่ของรพ.ยะลาเริ่มตั้งแต่ 26 พ.ค. 2559 มีการปรับลดคะแนนมีสารวัตรบุหรี่ 32 คน ทำงานช่วงเย็นเวลา18.00 – 19.00 น. ทุกวันศุกร์จะไปพูดหลังละหมาดวันศุกร์ ผู้นำศาสนาเป็นคนสำคัญที่สื่อสารกับชุมชนได้เป็นอย่างดี
ด้าน อ.สรินฎาปุติคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งทำวิจัยเรื่องบุหรี่ในจ.ปัตตานีมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน กล่าวว่า หากจะทำให้การติดบุหรี่เป็นศูนย์เป็นเรื่องท้าทายมากกับจ.ปัตตานี
“งานวิจัยครั้งนี้เก็บข้อมูลใน 4 จังหวัด เริ่มปี 2557 เพื่อเปลี่ยนแปลงการสูบบุหรี่ใน 5 จังหวัด บุหรี่เป็นประตูสู่การใช้ยาเสพติด ขยับไปยังยาเสพติดชนิดอื่นๆ แนวคิดการเปลี่ยนแปลงใครสักคนต้องดูแนวความคิดว่าทำไมสูบ แล้วเลิกไม่ได้ การทำความเข้าใจต่ออิทธิพล โดยเฉพาะผู้นำศาสนาที่ต้องเป็นแบบอย่างแก่เยาวชน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจำเป็นต้องรู้ว่าอยู่ในขั้นไหนของการเปลี่ยนแปลง ต้องช่วยเหลือให้ตรงกับขั้นที่เป็น ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนถึงจะพิสูจน์ได้ว่าเลิกได้แน่นอน
สอบถามมาจาก อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น กรรมการมัสยิดดูบรรทัดฐานทางศาสนาที่เกี่ยวกับบุหรี่ มีการสัมภาษณ์เชิงลึกและสนทนากลุ่มจำนวน 109 คน ทั้งหมดคือคนที่สูบบุหรี่ และเคยเลิกสูบบ้าง ทำให้ได้รู้ว่าสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้สูบบุหรี่คือเหตุการณ์ สถานที่ และเวลา เช่น ในสตูล ถ้าต้องออกเรือประมงแล้วลืมบุหรี่ ไปถึงครึ่งฝั่งยังต้องกลับมาเอา เพราะจะไปทำงานไม่ได้ รวมทั้งก่อนการร่วมเพศ สูบในร้านน้ำชา ห้องน้ำ ห้องทำงาน หลังตื่นนอน หลังการทานอาหารเช้า”
งานวิจัยยังพบว่า สิ่งเร้าภายใน อารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ เช่น ถ้าไปร้านน้ำชา ได้สูบแน่นอน คุยถูกคอ รู้สึกดี ตื่นตัว ส่วนความคิดระดับลึกเหมือนอิหม่าน(ความศรัทธา)คน บอกว่า บุหรี่เป็นปัจจัยและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เหมือนเพื่อนคนหนึ่ง จะเลิกไม่ได้ เป็นเพื่อนได้ดี สามารถทำงานได้ยาวนาน ช่วยให้ปกติสุขทางอารมณ์
ในส่วนของการสัมภาษณ์เชิงปริมาณจำนวน 901 คน อายุระหว่าง 40-49 ปี การศึกษาระดับประถมศึกษา เป็นกรรมการมัสยิด 78 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไปพบแพทย์บ่อยด้วยโรคทางเดินหายใจ ปัจจัยที่สัมพันธ์คือคณะกรรมการมัสยิดสูบบุหรี่ถึง 61.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่สูบ 10 ปีขึ้นไป ระดับการติดนิโคตินระดับกลาง สามารถทำให้เลิกได้ สูบเพราะติดใจในรสชาติ อยากได้ความรู้สึกที่ผ่อนคลาย หากจะซื้อบุหรี่ สามารถหาซื้อได้เป็นเรื่องง่ายจากร้านขายของชำถึง 66 เปอร์เซ็นต์ สถานที่สูบก็หาง่าย ขณะที่ 66 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าบุหรี่เป็นสิ่งฮาราม ต้องห้าม ส่วนใหญ่ไม่มีแผนที่จะเลิก หากจะเลิกด้วยเหตุผลคือ ทำลายสุขภาพตนเองและคนใกล้ชิด สิ่งที่จะทำให้เลิกได้คือ ตัวเอง ภรรยา ลูก คนรัก เมื่อเลิกได้ สุขภาพดีขึ้น เป็นแบบอย่างที่ดี
“สาเหตุที่การสูบบุหรี่ยังมีในสังคมคือ ได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมเดิม หาซื้อได้ง่าย ไม่มีกฎกับการสูบในบ้าน ไม่มีมาตรการของชุมชนในการลดการสูบ บรรทัดฐานทางศาสนาจึงมีผลอย่างมากต่อความหมายของการสูบบุหรี่ ผู้นำศาสนาจึงเป็นตัวขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลงและเลิกสูบบุหรี่ของสมาชิกชุมชน รวมทั้งสามารถนำไปออกแบบในการเลิกสูบบุหรี่ในชุมชนต่างๆ ได้ และทำให้สถานการณ์สูบบุหรี่ของปัตตานีลดลงเหลือ 15 เปอร์เซ็นต์ได้” อ.สรินฎา กล่าวทิ้งท้าย
รศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช จากมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งรับผิดชอบโครงการ “การควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน” กล่าวว่า มองสุขภาพให้กว้าง เพื่อสร้างความสุขให้สังคม โดยเริ่มต้นเลิกบุหรี่ในเดือนรอมฏอน ช่วงที่ได้ทำบุญกับร่างกาย
“โครงการ “การควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน” มีในปัตตานี และนราธิวาส โดยช่วงเดือนรอมฏอนเป็นจุดดีของการเริ่มต้น เป็นการให้ทุนลงทำงานเชิงรุกที่รพ.สต. ในทุกชุมชน ในปีนี้ให้ทุนในปัตตานีซึ่งเป็นพื้นที่เริ่มต้นประมาณ 7 ล้านบาท จำนวน 36 โครงการ เชื่อมั่นว่าทุกพื้นที่มีพลัง มีศักยภาพทำให้เกิดรูปธรรม
หัวใจของแผนคือ การช่วยให้เลิกบุหรี่ เน้นการเลิกบุหรี่เป็นหลัก ชุมชนเป็นรากฐานของทุกอย่าง หนุนให้ชุมชนทำกิจกรรม โดยให้ชุมชนมีนโยบายคือ สถานที่สาธารณะในชุมชนปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย และร้านค้าไม่จำหน่ายให้เด็ก ชุมชนปฏิบัติตามกฎหมายยาสูบ ลด ละ เลิกการบริโภคยาสูบและบุคคลต้นแบบ มีนโยบายและมาตรการควบคุมยาสูบในชุมชน พัฒนาระบบการบริการให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย มีเครื่องตรวจปอดสำหรับคนสูบบุหรี่”
สำหรับเป้าหมาย 10 ปีของสสส. (2555-2564) คือ ลดอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยให้ลดลงร้อยละ 10 ในปี 2562 , ลดอัตราการดื่มสุราของคนไทยในปี 2563 น้อยกว่าร้อยละ 27, ลดความชุกของการติดเชื้อเอดส์รายใหม่ปี 2559 ลงสองในสามของที่คาดประมาณไว้, เพิ่มอัตราการบนิโภคผักและผลไม้อย่างพอเพียง, ลดความชุกของภาวะน้ำหนักตัวเกิน,ลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนน และเพิ่มสัดส่วนของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป
“โจทย์คือ จะทำอย่างไรให้ปัตตานีมีอัตราการสูบลดลง ความหวังของประเทศในปี 2568 คือลดเหลือ 15 เปอร์เซ็นต์ สิ่งสำคัญของโครงการคือ ชุมชนมีส่วนร่วม ผู้นำร่วมมือ การประยุกต์ใช้ทุนทางวัฒนธรรมชุมชนโดยใช้ศาสนาเข้ามาร่วม โครงการนี้เคยเกิดในหลายพื้นที่ ได้นำหลักศาสนามาประยุกต์เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ให้รอมฏอนเป็นโอกาสในการฟื้นคืนสุขภาพที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นละ ละ เลิกบุหรี่และพิเศษสุดสำหรับชีวิตของทุกคน”
นายอับดุลลาวัลณ์ มามะ กรรมการมัสยิดดารุลอามาน บ้านชามูต.ปิตูมุดี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี บอกว่า “ปกติสูบทุกวัน เวลาไปเจอเพื่อน สูบทั้งใบจากและบุหรี่ซอง เป็นไปตามอัตโนมัติ อดใจไม่ได้ พอเดือนรอมฏอนเหลือวันละ 1 มวน และตั้งใจว่าจะเลิกให้ได้”
“ก่อนหน้านี้ที่มีโครงการงดสูบบุหรี่ของสสส.ลงมา มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการและเลิกได้เด็ดขาด 10 คน เมื่อวันงดสูบบุหรี่โลกที่ผ่านมาได้พาไปเป็นบุคคลต้นแบบการเลิกบุหรี่ที่ห้างบิ๊กซี ปัตตานี ในเดือนรอมฏอนคนที่คิดเลิกสูบบุหรี่ก็จะเลิกได้เพราะกลางวันสูบไม่ได้ จะพูดคุยหลังละหมาดทุกเวลาเพราะเป็นช่วงที่ชาวบ้านมารวมตัวกัน พูดให้เขาฟังถึงพิษของบุหรี่ และมีคนพูดว่าตั้งใจจะเลิกให้ได้ในเดือนรอมฏอนนี้ เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่สุด”นายรอเซะ มะเซ็ง ผู้ใหญ่บ้านบ้านบางปลาหมอ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี บอกกล่าวถึงความสำเร็จในการเลิกบุหรี่ของชาวบ้านบางปลาหมอ และตั้งใจเลิกอีกในเดือนรอมฏอนนี้
ด้าน นายมะรุดิง สือรี อิหม่ามมัสยิดกาโต ต.ตรัง อ.มายอ จ.ปัตตานี ผู้เคยสูบบุหรี่และเลิกเด็ดขาด กล่าวว่า “ศาสนาและวิทยาศาสตร์ต้องไปด้วยกัน ต้องมีความตั้งใจและแรงขับ ก่อนหน้านี้เมื่อสอนตาดีกาครบ 40 นาทีก็ดูดบุหรี่ ลูกเห็นและเล่นกับเพื่อนๆ โดยเอากิ่งไม้มาสูบเหมือนที่เราสูบ น้ำตาไหล คิดว่าต้องเลิกและเลิกได้จริง ความตั้งใจจริงจึงจะทำได้สำเร็จ เริ่มต้นในเดือนรอมฏอนเป็นสิ่งที่ดีและจะช่วยบอกกล่าวถึงโทษของบุหรี่แก่พี่น้องในชุมชน”
เช่นเดียวกับ นายยูกิมลี ฮาเระ อิหม่ามมัสยิดบ้านมายอ อ.มายอ จ.ปัตตานี รอมฏอนเป็นจุดเริ่มต้น ของการพักร่างกาย ในหนึ่งเดือนหยุดทั้งอาหารและเครื่องดื่ม เมื่อหยุดบุหรี่ ร่างกายก็จะดีขึ้น ถ้ารอมฏอนแล้วไม่ได้ทำอะไรเลยเป็นความเสียหาย เพราะรอมฏอนอัลลอฮจะให้อภัยทุกอย่าง ควรใช้โอกาสของรอมฏอนในการหยุดสิ่งไม่ดี รอมฏอนเป็นช่วงเวลาที่ดูได้ว่าใครดีอย่างไร แค่เดือนเดียวที่ทำเพื่ออัลลอฮฺ เพื่อตัวเอง บุหรี่เป็นเรื่องของจิตใจ ใครที่ยังไม่สูบ อย่าสูบ ถ้าสูบแล้วเลิกดีกว่า เพราะทำร้ายตัวเองและทำร้ายผู้อื่น
อิหม่ามยูกิมลีบอกว่า 5 อย่างที่มุสลิมต้องทำ คือ รักษาชีวิต รักษาสมอง รักษาทรัพย์สมบัติ รักษาเผ่าพันธุ์ และรักษาศาสนาหากสูบบุหรี่จะเข้าไปทำลายทุกอย่างที่กล่าวมา จึงขอให้หยุดและเลิกสูบบุหรี่จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ใช้ช่วงเวลาแห่งเดือนพิเศษ รอมฏอนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการลด ละ และเลิกเจ้าภัยร้าย…บุหรี่ นับเป็นความดีแก่ตนเองและคนรอบข้างอย่างน่าชื่นใจ