26 องค์กรเครือข่ายสมาชิกสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมรับฟังการแถลงนโยบายยุทธศาสตร์ พ.ศ.2559-2561 ของสภาฯ นำโดย นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาฯ พร้อมคณะกรรมการบริหารสภาฯ ณ ห้องสะบารัง โรงแรมซี.เอส. ปัตตานี เพื่อเป็นพื้นที่กลาง เพิ่มศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ หนุนกระบวนการสร้างสันติภาพและร่วมกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาและสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนณ ห้องสะบารัง โรงแรมซี.เอส. ปัตตานี
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 ณ ห้องสะบารัง โรงแรมซี.เอส. ปัตตานีสภาประชาสังคมชายแดนใต้จัดแถลงนโยบายยุทธศาสตร์สภาประชาสังคมชายแดนใต้ปี 2559 – 2561 โดยมีองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมรับฟังประมาณ 50 คน จาก 26 เครือข่าย
นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทานกล่าวว่า สภาประชาสังคมฯ เกิดจากนักพัฒนาอาวุโสและนักกิจกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อยากมีองค์กรกลางเพื่อประสานงานของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่โดยก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2554
“ความรุนแรงในพื้นที่จำเป็นที่จะต้องสร้างพื้นที่กลางเพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และความรู้สึก ซึ่งสภาประชาสังคมฯ สามารถเป็นพื้นที่กลางได้ จึงเกิดสภาประชาสังคมฯ ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์คือเพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กรภาคประชาชนและภาคประชาสังคม เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนต้องคิดใหม่ทำใหม่ ต้องร่วมกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสานและสนับสนุนระหว่างองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม และสิ่งสำคัญคือ เพื่อสร้างพื้นที่กลางแก่ทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพ”
“สภาประชาสังคมฯ มีความเชื่อว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ไม่สามารถจบลงด้วยการใช้อาวุธและความรุนแรงต้องจบด้วยความพูดคุยสันติภาพเท่านั้น ทุกเครือข่ายของสภาประชาสังคมฯต้องเติบโตและเดินไปด้วยกัน เพื่อนำไปสู่การทำข้อเสนอในอีกหลายๆด้าน รวมทั้งหวังให้เป็นเครือข่ายทางสังคมที่ร่วมกันหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ต่อไป”
ด้าน นายอัศว์มันต์บินยูโซ๊ะ รองประธาน กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของสภาประชาสังคมฯว่า คือ สังคมที่เป็นธรรมและมีสันติภาพที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ส่วนพันธกิจคือหนุนเสริมการสร้างสันติภาพและกระบวนการสันติภาพอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนส่วนเป้าหมาย คือเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดข้อตกลงสันติภาพที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน
“งานนี้เป็นงานใหญ่ ต้องกำหนดการมีส่วนร่วมในยุทธศาสตร์ 3 ประการ คือ 1.การสร้างพื้นที่กลางและผลักดันเชิงนโยบาย ( Common Space and Advocacy) คือ สร้าง/ขยายพื้นที่กลางให้กับภาคประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ได้เข้ามามีส่วนร่วมใน กระบวนการสันติภาพเพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอและผลักดันเชิงนโยบายด้วยความรู้แก่ทุกฝ่าย 2.การเสริมพลัง(Empowerment) เสริมพลัง สร้างความเข้มแข็งและอำนาจ การต่อรองให้กับภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในทุกมิติ 3.การขยายเครือข่าย (Networking) ขยายองค์กรสมาชิก/สมาชิกของสภาประชาสังคมชายแดนใต้รวมทั้งขยายเครือข่ายองค์กรภายในประเทศและต่างประเทศ”
ส่วน นางโซรยา จามจุรี รองประธานสภาประชาสังคมฯ กล่าวถึงการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ในการทำงานของสภาประชาสังคมฯ ที่ผ่านมาและการวางทิศทางต่อไปในอนาคต
“จุดแข็งในการทำงานของสภาประชาสังคมฯ ที่ผ่านมาคือ เป็นพื้นที่ที่สมาชิกและเครือข่ายสามารถหยิบยกประเด็นมาพูดคุยได้ทุกเรื่อง มีความหลากหลายของสมาชิกสูง บทบาทของสภาประชาสังคม ฯ ได้รับการยอมรับที่เป็นทางการ สามารถทำงานเชื่อมต่อภาคประชาสังคมได้จริง รวมทั้งมีความโดดเด่นในการขับเคลื่อนประเด็นกระบวนการสันติภาพและกระจายอำนาจ”
สำหรับจุดอ่อนของสภาประชาสังคมฯ นางโซรยา กล่าวว่าคือ ที่ผ่านมามีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่กว้างเกินไป ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ทุกเรื่อง จำนวนสมาชิกยังน้อยและไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะขาดคนรุ่นใหม่เข้าร่วมทำงานในฐานะสมาชิกสภาฯ และทำงานยังเป็นลักษณะตั้งรับ ขาดการสื่อสารต่อสังคมภายนอกทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ มีอุปสรรคบางอย่างที่ต้องคำนึงในการกำหนดยุทธศาสตร์หรือทิศทางการทำงานในอนาคตคือ ภายใต้ห้วงเวลาของการอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร กฎหมายบางอย่างที่จำกัดการทำงาน และการที่องค์กรภาคประชาสังคมบางส่วนได้รับการจัดตั้งโดยฝ่ายรัฐอาจทำให้ความเป็นอิสระในการทำงานของภาคประชาสังคมหายไป
“หากท่ามกลางอุปสรรคก็ยังเห็นโอกาสที่ในการทำงานของภาคประชาสังคมมากขึ้นคือ การที่มีองค์กรภายในและภายนอกหนุนเสริมประเด็นสันติภาพมากขึ้น อีกทั้งโอกาสที่เกิดจากนโยบายสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ปี 2555 – 2557 ว่าด้วยเรื่อง “การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 ว่าด้วย “การจัดตั้งกลไกการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้” ที่เอื้อให้เกิดการพูดคุยสันติภาพ การมีช่องทางสื่อสาร social media และบรรยากาศของการเปิดประชาคมอาเซียน เป็นโอกาสที่สภาประชาสังคมฯ จะได้ทำงานเชื่อมต่อทั้งในด้านการดำเนินโครงการและองค์ความรู้จากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งจากการวิเคราะห์ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกสามารถที่จะกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของสภาประชาสังคมฯ ได้ ” นางโซรยากล่าว
ด้านประเด็นการขับเคลื่อน ปี 2559 – 2561 นายมันโซร์สาและ รองประธาน กล่าวว่า เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านกระบวนการสร้างสันติภาพในชุมชน พัฒนาศักยภาพและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพในชุมชน และเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ ภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคท้องถิ่นในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพใน รวมทั้งขยายสมาชิกและจัดทำฐานข้อมูลองค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพและงานพัฒนาอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นปัจจุบัน
สำหรับข้อเสนอประเด็นการขับเคลื่อนจากองค์กรภาคีเครือข่าย นายรักชาติ สุวรรณ์ รองประธาน กล่าวว่า 1.สนับสนุนและเปิดพื้นที่กลางในการสร้างดุลอำนาจและการต่อรองต่อคู่ขัดแย้งในการทำงานเพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 2.ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนงานพัฒนาและกระบวนการสร้างสันติภาพให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในพื้นที่3.พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้กับภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ 4.สร้างช่องทางการสื่อสาร ในระดับพื้นที่ นอกพื้นที่และระดับสากล5.ศึกษาวิจัยและรับฟังความเห็นประชาชนทุกหมู่เหล่า เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการไปสู่การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม และบริหารจัดการตนเองได้จริง6.ส่งเสริมอัตลักษณ์ ศาสนา และวัฒนธรรมของประชาชนทุกเชื้อชาติ ทุกชุมชน 7.สนับสนุนการเข้าถึงระบบยุติธรรมของประชาชน เพื่อประชาชนทุกหมู่เหล่าได้รับความเป็นธรรมจากระบบและกระบวนการยุติธรรมเสมอหน้ากัน 8.ส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการเจรจาระหว่างรัฐกับขบวนการก่อความมาสงบเพื่อยุติความรุนแรง 9.สนับสนุนการแก้ปัญหาเร่งด่วนของสังคมโดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ปัญหาสิ่งแวดล้อมปัญหาอาชญากรรมและปัญหาความยากจน 10.สนับสนุนการฟื้นฟู พัฒนา อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม11.ส่งเสริมการยุติความรุนแรงด้วยสันติวิธี12.จัดทำฐานข้อมูลองค์กรและเครือข่ายที่ดำเนินงานพัฒนาและกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้13.เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบและผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกรณีอื่นๆ และ 14.การพัฒนาศักยภาพเยาวชน สตรีและเครือข่ายชาวพุทธ
ในส่วนของข้อเสนอแนะนั้น นายตูแวดานียา มือรีงิง ผู้สื่อข่าวช่อง 3 มาเลเซีย กล่าวว่า ต้องมีการสื่อสารบทบาทของหน้าที่ของสภาประชาสังคมฯให้มากยิ่งขึ้น ทั้งการสื่อสารในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่และต่างประเทศได้รับรับรู้ถึงบทบาทและหน้าของสภาประชาสังคมฯนอกจากนี้ต้องเข้าไปมีบทบาทสำหรับพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กกำพร้าในพื้นที่ หรือช่วยเหลือองค์กรที่ดูแลเด็กกำพร้าในพื้นที่เนื่องจากในพื้นที่มีเด็กกำพร้าจำนวนมาก
นางซิติมาเรียม บินเยาะ ที่ปรึกษากลุ่มเซากูนากล่าวว่า คนในทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมฯในพื้นที่บางคนใส่หมวกหลายใบ ดังนั้นคิดว่าองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่เข้ามาเป็นเครือข่ายสภาประชาสังคมฯ เพื่อสามารถตรวจสอบได้เมื่อมีปัญหา และอยากให้สภาประชาสังคมฯตั้ง “กองทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเด็กยากจน” เพื่อนำไปช่วยเหลือเด็กกำพร้าและยากจนในพื้นที่ต่อไป
นางสาวปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace) กล่าวว่า 12 ปีที่ผ่านมา เหมือนยังทำงานย่ำอยู่กับที่ ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ค่อยมีการพูดถึงสร้างกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ คนที่พูดถึงเรื่องนี้มีเพียงองค์กรภาคประชาสังคมท่านั้น ดังนั้นสภาประชาสังคมฯ ต้องปรับปรุงการทำงาน นอกจากนี้ส่วนใหญ่คนที่ทำงานองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ยังเป็นคนเดิมๆ ไม่มีคนใหม่ๆ เข้ามาทำงานในองค์กร สภาประชาสังคมฯต้องสร้างคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น