หน้าแรก รายงาน

หญิงเก่ง “วรรณา อาลีตระกูล” กับงานประจำที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี และกิจการส่วนตัว ร้านปันตัยและปาเต๊ะ@ปัตตานี

ใครที่ได้ไปเยือนปัตตานี และเข้าพักที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี หรือเข้าร่วมอบรม เสวนา ที่นี่ มักเห็นสาวสวย อัธยาศัยดี ยิ้มแย้มต้อนรับ พูดคุยอย่างเป็นกันเองคนนี้ วรรณา อาลีตระกูล ผู้จัดการฝ่ายขายและประชาสัมพันธ์ คอยบริการอย่างเต็มใจและเต็มที่

วรรณา หรือ เจ๊าะ ที่ใครๆ เรียกกัน เป็นชาวปัตตานีโดยแท้ ทำงานที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานีมา 18 ปี เป็นงานประจำที่เธอรักและตั้งใจทำอย่างเต็มที่ในทุกๆ วัน แม้หมดเวลางานหากเป็นงานสำคัญและต่อเนื่องเธอก็จะดูแลจนงานลุล่วง

“ทำงานที่นี่เหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง เกือบยี่สิบปีแล้วที่อยู่ที่นี่ เป็นประสบการณ์ที่ดีแก่ชีวิตเป็นอย่างมาก มีเจ้านายที่น่ารักและดูแลอย่างดี ทำให้การทำงานประจำทุกวันเหมือนไม่ใช่งานประจำ มีความสุขกับสิ่งที่ทำ และได้รับสิ่งดีๆ มากมายกลับมา ตั้งใจทำไปจนกว่าจะทำไม่ได้”

นอกจากงานประจำที่ซี.เอส.แล้ว เจ๊าะยังมีกิจการของตนเองทั้งร้านขายของที่ระลึกจากผ้าปาเต๊ะคือ ปาเต๊ะ@ปตานี และ ร้านปันตัย@ปัตตานี ร้านอาหารบนถนนเจริญประดิษฐ์ ซึ่งจุดก่อเกิดของปาเต๊ะ@ปตานี มาจากการที่เจ้านายคือ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ได้สนับสนุนให้นำผ้าปาเต๊ะที่เป็นสัญลักษณ์ของชายแดนใต้มาตัดเป็นชุดฟอร์มของพนักงานโรงแรม และเป็นสัญลักษณ์ของซี.เอส.ปัตตานีที่ใครๆ จำได้

“จากการนำปาเต๊ะมาตัดเป็นชุดพนักงานที่มีเอกลักษณ์ของพื้นถิ่น เห็นว่าปาเต๊ะทำได้มากกว่าแค่เป็นผ้าถุง จึงเปิดร้านปาเต๊ะ@ปตานีมา 5 ปีกว่าด้วยจุดเริ่มต้นของปาเต๊ะที่ตลาดเปิดท้าย โดยมีทั้งเสื้อ กระโปรง กางเกง ของที่ระลึก เสื้อทีม รับทำตามสั่ง สนับสนุนการเอาปาเต๊ะมาตัด ได้รับการตอบรับอย่างดีจากหน่วยงาน องค์กร บุคลากรต่างๆ”

ส่วนร้านปันตัย ตั้งอยู่บนถนนสายเศรษฐกิจของเมืองตานี หรือถนนสาย ม.อ.ที่รู้จักกัน เธอบอกว่า ตั้งใจให้เป็นจุดหนึ่งที่ทุกคนสามารถเข้ามานั่งได้ ด้วยบรรยากาศสบายๆ

“จากความชอบกินอาหารร้านริมทาง อยากมีร้านอาหารริมถนน เห็นทำเลตรงนี้อยู่ใกล้วงเวียนหน้าม.อ.ปัตตานีและริมถนนด้วย ตรงใจ เริ่มทำร้านโดยเช่าหน้าร้านก่อน ตั้งโต๊ะเล็กๆ 5-6 โต๊ะ เปิดตอนเย็น เน้นชาชัก โรตี อาหารทานเล่น ชื่อปันตัย มาจาก ปันตัยอีนี พ้องเสียงกับคำว่า ปาตา แปลว่า ทะเล ซึ่งม.อ.ปัตตานีติดริมทะเล “ปันตัยไม่ได้ปันใจเพราะเราไม่คิดปันใจไปจากปัตตานี” จนได้เช่าทั้งร้าน พยายามหาความแตกต่าง นำเสนอความเป็นพื้นเมืองทั้งอาหารและการแต่งกายของพนักงาน และลูกค้าให้การตอบรับดี”

ปันตัยยังมีจุดขายที่เป็นหนึ่งเดียวในปัตตานีคือ ภาพวาด 3 มิติ ปลาโลมาสีชมพู จากผลงานวาดภาพของ สุไลมาน ยาโม ศิลปินชื่อดังของปัตตานี

“ได้รู้จักคุณสุไลมาน ยาโม ศิลปินวาดภาพเหมือน ชาวปัตตานี ตอนที่วาดรูปถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ ครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จมาเสวยพระกระยาหารที่ซี.เอส. จากนั้นเขาได้วาดรูปให้ และเขาอยากแสดงผลงานและฝีมือวาดภาพสามมิติให้กับร้านปันตัยที่เป็นภาพเกี่ยวกับปัตตานี เป็นภาพปลาโลมาสีชมพู ซึ่งจากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าโลมาจะเข้ามาที่ปากอ่าวปัตตานีชุกในช่วงเดือนพ.ย.-ก.พ.ทุกปี แต่ไม่ใช่ว่าใครไปแล้วจะเห็น จึงตกลงเป็นภาพโลมาสีชมพู เป็นการคืนกำไรให้ลูกค้า รวมทั้งเพิ่มมุมของฝากจากตานีเจ้าดังๆ หาซื้อกันได้ที่ปันตัย”

“ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ต้องบริหารให้ดีก็สามารถอยู่ไปได้ เพราะถนนสายนี้เป็นสายเศรษฐกิจของในเมืองปัตตานี หากเกิดเหตุก็เงียบสักสองสามวันแล้วก็ไปต่อตามปกติ ปรับสภาพกันไป เพราะเรื่องของอาหารการกินเป็นเรื่องจำเป็นของชีวิต”

เจ๊าะบอกว่า ตอนนี้กำลังเตรียมเปิดปันตัยในช่วงเช้า รองรับลูกค้ากลุ่มต้องการเพิ่มพลังงานตอนเช้า ด้วยเมนูอร่อยสารพัดเมนู พร้อมเสริมทีมงานอย่างแข็งขันเพื่อบริการอย่างเต็มที่

ทุกงานที่เธอทำ มาจากความรัก ความตั้งใจ และมั่นใจในถิ่นฐานบ้านเกิดของเธอ ปัตตานี และไม่คิดย้ายไปไหนจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ