หน้าแรก รายงาน

ศิลปะบนผืนผ้า KAIN DI SELATAN (กัยน์ ดี สลาตัน)

ในงานผ้าดีที่ชายแดนใต้ KAIN DI SELATAN (กัยน์ ดี สลาตัน) คืนความสุขให้คนตานี ที่สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี มีงานศิลปะบนผืนผ้าทั้งงานผ้าทอมือลวดลายโบราณที่เก็บรักษาไว้ งานบาติก ผ้าทอมือ งานประดิษฐ์จากผ้า มาร่วมอวดความงาม

สะดุดตาและใจกับลวดลายดั้งเดิมบ่งบอกอัตลักษณ์ของพี่น้องมลายูจากบล็อกไม้ที่ช่างบรรจงกดลายจากน้ำเทียนลงบนผืนผ้า ปรากฏลายต่อเนื่อง สวยงาม เมื่อลงสีทั่วผืนผ้าจึงก่อเกิดเป็นบาติกลวดลายชวนมอง
“แม่พิมพ์ไม้พบที่ปัตตานีเมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว ที่เห็นอยู่คือแม่พิมพ์ที่แกะลายเอง เป็นลายช่องลมของวังทั้ง 7 วัง ลายจากแม่พิมพ์ขนมต่าง วัฒนธรรมการละเล่นเช่น ว่าว ลายประตูจีน ลายกล้วยหินเมืองยะลา ลายกนกบิด ลายดอกรักใหญ่ ลายผ้าจวนตานี และอีกสารพัดลาย เพื่อรักษาวัฒนธรรมเดิมด้วยการนำเรื่องราวมาเล่าเรื่องด้วยสี และลายที่บอกที่มาของพื้นถิ่นได้ ลายผ้าทุกผืนทำด้วยมือทั้งหมด”

อ.ปิยะ สุวรรณพงษ์ ประธานกลุ่มศรียะลาบาติก บอกเล่าเรื่องราวของบาติกบล็อคไม้ ชิ้นงานสร้างสรรค์บนผืนผ้าด้วยใจพร้อมสืบสานสิ่งดีงามแห่งลวดลายอัตลักษณ์ของชายแดนใต้ให้ยังคงอยู่

“เมื่อปีพ.ศ. 2472 มีการพบเห็นผ้าปะลางิงซึ่งเป็นผ้าทอมือพิมพ์ลายด้วยบล็อคไม้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่นในชายแดนใต้ ในขบวนรับเสด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จประพาสที่ปัตตานี จากนั้นผ้ามรดกนี้ได้หายสาบสูญไปพร้อมกับการเลิกเลี้ยงไหม ทางกลุ่มฯได้สืบสานภูมิปัญญานี้เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสคุณค่าที่เป็นมรดกสิ่งทอจากบรรพชนด้วยการอนุรักษ์ลวดลายต่างๆ เอาไว้”

อ.ปิยะ บอกว่าในการผลิตสินค้าสักอย่างต้องมีการวางกลุ่มเป้าหมาย ราคา อายุลูกค้า วิเคราะห์ตลาด ผลิตแล้วต้องสามารถตอบโจทย์ได้ เชื่อว่าแม้จะราคาแพงแต่งานมีคุณภาพ มีคนซื้อแน่นอน

“ต้องขายความเป็นตัวตนที่ชัดเจน ซึ่งงานบาติกบล็อคไม้จะมีลวดลายต่อเนื่องสวยงาม เน้นลายได้ด้วยข้อมือของคนทำเพราะไม่ร้อนเหมือนเหล็ก สีที่ใช้ของกลุ่มฯ เป็นสูตรใหม่ที่ผลิตมาจากยางพารา สามารถลงสีได้ในทุกเนื้อผ้า ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ วัตถุดิบ อาชีพให้กับกลุ่มพระดาบสซึ่งเป็นกลุ่มแม่บ้านที่มาทำงานกับกลุ่มฯในการออกแบบสี ตัดเย็บ ทุกคนสามรถทำได้ในทุกขั้นตอนเพราะเป้นกลุ่มที่แข็งแรง อยู่ได้ รวมทั้งถ่ายทอดให้กับพิพิธภัณฑ์ขุนละหาร ซึ่งเขาสามารถผลิตงานได้อย่างมีเอกลักษณ์และมีรายได้เลี้ยงพิพิธภัณฑ์ได้”

“คนมีไลฟ์คนสไตล์กับคนมีเงินไม่เหมือนกัน คนมีรสนิยมไม่เหมือนคนอื่น สามารถสร้างการจดจำได้ ภูมิใจในการมีผ้าดีๆ เก็บไว้สักผืนมากกว่าการมีผ้าตามท้องตลาดเป็นสิบผืน” อ.ปิยะบอกถึงตัวตนของคนที่มีศิลปะในหัวใจ

ผลผลิตของศรียะลาบาติกวางอวดสายตาอยู่ที่คิงส์พาวเวอร์ ร้านภูฟ้า โรงแรมและสปาอีกหลายแห่งในเมืองไทย อวดอัตลักษณ์แห่งชายแดนใต้ให้โลกได้รับรู้

“ผมชอบและสนใจในงานศิลปะที่คุณตาทำในผ้าปาเต๊ะและบาติก เห็นแม่พิมพ์ ลายโลหะ กระทะต้มเทียน คู่มือการผสมสีมาแต่เด็ก จนเข้าเรียนศิลปะที่ม.ราชภัฎยะลา นำความรู้มาสร้างสรรค์การทำผ้าปาเต๊ะ แม่พิมพ์โลหะมาเป็นผ้าบาติกลายเขียนที่มีความสวยงามแปลกแทรกในงานศิลปะในลายผ้า ทั้งรูปแบบ สี ลายเส้นและพื้นผิว”

บาติกลายหินอ่อน คือเอกลักษฺณ์ของอาดือนันบาติก ที่ อาดือนัน กาปา ภูมิใจและเป็นเจ้าของ ด้วยเทคนิคการเขียน การสะบัด เกิดลวดลายบาติกที่จินตนาการไม่เหมือนใคร

“ได้แรงบันดาลใจจากลายหินอ่อนที่เคยมีเหมืองหินอ่อนในยะลา ประยุกต์มาเป็นบาติกลายหินอ่อนให้เป็นเอกลักษณ์ของยะลา เมื่อเห็นลายนี้จะนึกถึงยะลา ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีคู่แข่ง แต่ละตัวจะมีลายไม่ซ้ำกัน ลายและสีปรับเป็นสากลสามารถใส่ได้ทุกโอกาส”

ทุกวันนี้ “บาติก” งานศิลปะบนผืนผ้าด้วยลวดลายงดงามเป็นงานฝีมือที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ การออกงานในงานเทศกาลต่างๆ ในพื้นที่และต่างพื้นที่สร้างมูลค่าและรายได้ที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีออเดอร์จากส่วนราชการ หน่วยงานต่างๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ ด้วยผลงานที่ได้รับการยอมรับ เอกลักษณฺที่แตกต่าง รวมทั้งชิ้นงานที่มี “หนึ่งเดียว” ไม่ซ้ำใคร

ศิลปะบนผืนผ้า ยังคงเป็นความประทับใจและภูมิใจของผู้ที่รู้คุณค่า มีเพียงชิ้นเดียวนับค่ามากมายกว่าสิบชิ้นที่เกลื่อนกลาดตามท้องตลาด ชายแดนใต้มีความงดงามและน่าภูมิใจอย่างควรค่าแก่การบอกกล่าวและสรรหามาเป็นเจ้าของ