“ดีใจและภูมิใจมากที่ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลนี้ เพราะไม่เคยคิดและทำงานโดยไม่ได้หวังรางวัลใด” ยะห์ อาลี ประธานเครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ และนักจัดรายการวิทยุชุมชนจากเครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2556 ประเภทบุคคลภาคสื่อมวลชน จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กสม.จัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี 2557 ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีการมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวม 31 รางวัล
ปัจจุบัน ยะห์ อาลี เป็นผู้จัดรายการเสียงจากเครือข่ายสตรีเพื่อสันติภาพทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย(สวท.) จ.ปัตตานี และผู้จัดรายการวิทยุชุมชน เวลา19.35-20.00 น. และรายการเสียงวานิตา ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 16.10-17.00 น. ผลิตโดยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จ.ปัตตานี โดยทั้งสองรายการเผยแพร่ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี FM 107.25 รวมถึงการทำงานเป็นประธานเครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ ที่สนับสนุนโดย โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ ระยะขยาย(ช.ช.ต.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (แอลดีไอ)
“เริ่มเรียนรู้กระบวนการจัดรายการวิทยุจากการเป็นผู้ประสานงานวิทยุชุมชนและลงพื้นที่จัดเวทีในชุมชนต่างๆ ทั้งจุดเตราะบอน ทรายขาว และจุดเมือง ทำเรื่องสวัสดิการชุมชน จัดตั้งสวัสดิการผู้นำจากองค์กรต่างๆ ของปัตตานี จัดตั้งเครือข่ายวิทยุชุมชน จ.ปัตตานีเมื่อปี 2549 จัดเวทีอบรมผลิตรายการให้ความรู้เรื่องธรรมรัฐท้องถิ่น ให้ความรู้เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การบริหารจัดการท้องถิ่น การเมืองรากหญ้า เขียนบทรายการวิทยุ นำเสนอเป็นภาษาไทยและภาษายาวี”
บทบาทของยะห์ต่อวิทยุชุมชนปัตตานีมีอีกมาก แม้วิทยุชุมชนจะถูกปิดตัวลงทั่วประเทศ เธอมิได้หวั่นไหว ยังคงทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างมุ่งมั่นตั้งใจในการสื่อสารจากสถานีวิทยุอื่น
“ผลกระทบจากการปิดวิทยุชุมชนที่เห็นได้ชัดในพื้นที่ชายแดนใต้คือ ชาวบ้านไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารในเรื่องศาสนาและอื่นๆ ที่สำคัญในชีวิตประจำวัน เพราะวิทยุเป็นสื่อที่เข้าถึงง่ายและมากที่สุดในพื้นที่นี้ รวมถึงการตกงานของผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำวิทยุชุมชน แต่ตัวเองไม่เคยท้อ มีสถานีวิทยุอื่นที่เสนอให้จัดรายการและทำมาจนทุกวันนี้”
ในด้านการทำงานเพื่อสังคม เธอบอกว่าผู้หญิงต้องพัฒนาในด้านการสื่อสารอีกมาก และผู้หญิงสามารถเป็นคนสร้างเรื่องรางที่ดีที่มีในพื้นที่ได้อีกมากเช่นกัน
“ด้วยวิธีการสื่อสารที่มีมากในปัจจุบัน ต้องเตรียมและสร้างคนในพื้นที่ให้พร้อม ให้เป็นกับการขับเคลื่อนในอนาคตที่จะมีทีวีชุมชน”
“สำหรับการทำงานของเครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพที่ทำงานในการช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา และเป็นตัวเชื่อมไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่นการลงพื้นที่ร่วมกับศูนย์ทนายความมุสลิมในการช่วยเหลือผู้ต้องสงสัยในคดีต่างๆ ซึ่งดูในความต้องการ ความคาดหวังของครอบครัวและผู้ต้องสงสัย เป็นสื่อกลางนำความช่วยเหลือ ติดตามความคืบหน้า ประสานงาน รวมทั้งนำสิ่งที่ได้รับรู้ในการลงพื้นที่ในแง่มุมต่างๆ มาสื่อสารในรายการวิทยุอีกด้วย”
ในกลุ่มที่ยะห์ได้รับรางวัลมีผู้ได้รับรางวัลอีก 2 ราย ได้แก่ นางราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร เจ้าของศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) และนายศักดินา รักษ์อุดมการณ์ เจ้าของเสียงรายการช่วยชาวบ้าน ช่อง 7 สี
รางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน” จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยตรี ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิชาการจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 2) นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
รางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2556 ประกอบด้วย ประเภทบุคคลทั่วไปผู้ได้รับการคัดเลือก จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน 2) นางกรวรรณ พนาวงค์ ครูโรงเรียนเวียงหวาย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ประเภทเด็กและเยาวชน ได้แก่ กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (กลุ่มดาวดิน) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นประเภทบุคคลภาคสื่อมวลชน ผู้ได้รับการคัดเลือก จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1) นางสาวยะห์ อาลีนักจัดรายการวิทยุและผู้ประสานงานเครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี 2) นางราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร เจ้าของศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) และ 3)นายศักดินา รักษ์อุดมการณ์ เจ้าของเสียงรายการช่วยชาวบ้าน ช่อง 7 สี ประเภทองค์กรภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประเภทองค์กรภาคเอกชน องค์กรที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1) เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่น ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย และ 2) สมาคมรักษ์ทะเลไทย (โดยมีนายบรรจง นะแส เป็นนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย)
ประเภทองค์กรสื่อสารมวลชนหรือรายการที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน มีรายการที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 2 รายการ ได้แก่ 1) รายการจับเข่าบรรเทาทุกข์ สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ 2) รายการเปิดปม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ส่วนรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2557 มีรายชื่อผู้สมควรได้รับรางวัลแต่ละประเภท ดังนี้รางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน” จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1) รองศาสตราจารย์ ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานศูนย์สาธารณะประโยชน์และประชาสังคม 2) นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย และนักพัฒนาชุมชนบนเขตภูเขา ต.แม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย จ.และ 3) นายวัชรินทร์ ปัจเจกวิญญูสกุล ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 6
ส่วนรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2557 มีดังนี้ ประเภทบุคคลทั่วไป จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1) นางทัศนีย์ คีรีประณีต ผู้หญิงหม้ายชาวกะเหรี่ยง ผู้มอบชีวิตใหม่ให้เด็กกำพร้าชาวกะเหรี่ยงในสถานพักพิงบ้านทัศนีย์ 2) นายบารมี พานิช หรือน้องเด่นจันทร์ บัณฑิตวิทยาลัยสหวิทยาการสังคมศาสตร์ วิชาเอกการจัดการทรัพยากรทางสังคมและวัฒนรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งแต่งกายเป็นบัณฑิตหญิงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร และ 3) นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ ผู้ประสานงานเครือข่ายจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน ประเภทเด็กและเยาวชนจำนวน 2 รางวัล ได้แก่ 1) นางสาวกิษศิญาพัฒน์ สิงหเดช นักเรียนโรงเรียนพุทธชินราชพิทยา จ.พิษณุโลก ผู้ได้รับคัดเลือกในโครงการสรรหา “คนดีศรีสังคม” ของศาลเยาวชนและครอบครัวในภาค 6 และ 2) นายอรรถสิทธิ์ เหลืองไพบูลย์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดนนทบุรี
ประเภทบุคคลภาคสื่อมวลชน จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ 1) นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชยผู้สื่อข่าวรายการข่าว 3 มิติ และ 2) นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้ก่อตั้งเว็บ prasong.com และอดีตผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าวสืบสวนสอบสวนการทุจริตของนักการเมืองและองค์กรภาครัฐ ประเภทองค์กรภาครัฐ จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1) เทศบาลตำบลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด 2) บ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดนนทบุรี 3) สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดสมุทรสาคร
ประเภทองค์กรภาคเอกชน จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1) มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน 2) สภาองค์กรชุมชนตำบลคูหาใต้ และเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา และ 3) สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา และเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ประเภทองค์กรสื่อสารมวลชนหรือรายการที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1) รายการนักข่าวพลเมืองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส 2) วงดนตรี โฮป แฟมิลี่ และ 3) สถานีวิทยุ จส.100