หน้าแรก รายงาน

ปาตานีฟอรั่มหนุนตั้ง “สื่อปาตานี” พร้อมเสนอ 4 นโยบายสื่อสารหนุนสันติภาพ

สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ชายแดนใต้มากว่าทศวรรษ ส่งผลกระทมบต่อประชาชนในพื้นที่ทุกด้าน สื่อจึงมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข่าวสารและเหตุการณ์ต่างๆให้สังคมได้รับรู้ ซึ่งผลจากการนำเสนอข่าวมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งมักจะสะท้อนให้สังคมเห็นแต่ภาพความรุนแรง ทั้งที่ความเป็นจริงอีกหลากหลายของชายแดนใต้มิได้ถูกนำเสนอ ปาตานีฟอรั่มจึงสนใจศึกษาการนำเสนอข่าวสารของสื่อกระแสหลัก จึงได้จัดเวทีสาธารณะในภูมิภาคต่างๆ เพื่อฟังข้อเสนอแนะจากประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้และจัดตั้งสภาสื่อที่มาจากการรวมตัวเฉพาะกิจของสื่อในพื้นที่ ซึ่งได้จัดเวทีมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 2557

ปาตานีฟอรั่มได้การจัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายฯในเรื่องนี้ในภูมิภาคต่างๆ คือ วิทยาลัยทุ่งโพธิ์ อ.จะนะ จ.สงขลา, สมาคมสื่อชุมชนภาคใต้นครศรีธรรมราช, มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย, มูลนิธิสื่อสร้างสุข จ.อุบลราชธานี, ร้าน Book Re:public จ.เชียงใหม่, คณะวิทยาการจัดการ ม.ราชภัฎยะลา, เครือข่ายภาคประชาสังคมจ.นราธิวาส และ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี

ปาตานีฟอรั่มจึงจัดเวทีนำเสนอรายงานข้อเสนอนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อหนุนเสริมสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 40 คน จากหลากหลายสถาบัน อาชีพ ดังนี้ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี, สถานีวิทยุมีเดียสลาตัน, สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี, ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา, สำนักพิมพ์อาวานบุ๊ค, โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้, เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้, โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ (ช.ช.ต.) ระยะขยาย, กลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์ชายแดนใต้, กลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ (Dream South), สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PERMAS), เครือข่ายนักศึกษาอิสระเพื่อสังคม (ตูปะ) และเครือข่ายเยาวชนอิสระชายแดนใต้ (IRIS), หน่วยเฉพาะกิจ(ฉก.ปัตตานี) 23 เป็นต้น เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ณ ห้องประชุมขวัญจุฑา 1 โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท จังหวัดปัตตานี

อ. อันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี รายงานว่า ระยะเวลากว่า 6 เดือน กับ 8 เวทีรับฟังความคิดเห็นของปาตานีฟอรั่ม ในการจัดทำรายงานข้อเสนอเชิงนโยบายต่อสาธารณะเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพในปาตานี/ชายแดนใต้ สามารถจัดประเด็นความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของทุกเวทีออกมาได้ทั้งหมด 4 มิติดังนี้

1.มุมมองของประชาชนต่อภาพลักษณ์ และพัฒนาการในการรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักในรอบทศวรรษของเหตุการณ์ในปาตานี / ชายแดนใต้ มีความคิดเห็นจากประชาชนว่าสื่อกระแสหลักมีพัฒนาการการรายงานข่าวที่ดีขึ้น มีความหลากหลายแง่มุมในการนำเสนอข่าว เปิดโอกาสให้เสียงของคนในพื้นที่เข้าไปอยู่ในการนำเสนอมากขึ้น มีการเปลี่ยนการใช้ภาษาจากคำที่ให้ความหมายในแง่ลบหรือเป็นการตัดสินตีตรา ไปสู่คำที่มีความหมายที่เป็นกลางมากขึ้น

หากในความเป็นจริง สื่อกระแสหลักยังคงเอารัฐเป็นศูนย์กลาง ประเด็นหลักในการรายงานข่าวและภาพข่าวในพื้นที่ชายแดนใต้ยังคงยึดโยงอยู่กับเรื่องของความรุนแรง สะเทือนขวัญ ตามกระแส ซึ่งมักมองว่าเป็น ข่าวที่ “ขาย” ได้ จึงทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการนำเสนอข่าวที่จะให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง

2. ความต้องการของประชาชน ต่อการรายงานข่าวเรื่องราวของปาตานี / ชายแดนใต้ ในสื่อกระแสหลัก ความคิดเห็นที่ต้องการเห็นจากสื่อกระแสหลักคือ ความเป็นจริง การอยู่ร่วมกัน วิถีชีวิต วัฒนธรรม เพื่อความสมดุลกับข่าวความรุนแรง การนำเสนอเรื่องราวของผู้ได้รับผลกระทบ การช่วยเหลือเยียวยา และประเด็นมิติทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่เป็นชุดความจริง

3.ความคาดหวังต่อการพัฒนาการในการรายงานข่าวและนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสามจังหวัด ความคาดหวังหลักคือ การนำเสนอข่าวที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เป็นกลางและรอบด้าน การรายงานข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวน และรายงานข่าวโดยเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความรู้ความเข้าใจในมิติสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่ และในพื้นที่ความขัดแย้งสื่อต้องนำหลักประมวลจริยธรรมมาใช้จริง

4.ข้อเสนอต่อสื่อทางเลือก สิ่งที่ประชาชนในหลายเวทีต้องการคือ ต้องการเห็นการสร้างความเข้มแข็งของการทำงานแบบเครือข่ายของสื่อทางเลือกทั้งใน และนอกพื้นที่ เพื่อเป็นแรงหนุนการพัฒนาทักษะในการทำงาน และเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ กับพื้นที่อื่นๆ และไม่ต้องการให้สื่อทางเลือกถูกแทรกแซงจากรัฐ

อ.อัณธิฌากล่าวต่อว่า รายงานฉบับนี้เป็นความกล้าหาญที่จะเป็นพื้นที่กลางอย่างเป็นทางการระหว่างสื่อทางเลือก สื่อปาตานี ระหว่างคนนอกและคนใน ทั้ง 4 มิติคือภาพกว้างที่ต้องการให้เห็นนั่นคือ การสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ จากคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี กล่าวถึงรายงานนี้ว่า เป็นจุดน่าสนใจที่เห็นการขยับตัวของนักกิจกรรมและนักสื่อสารในพื้นที่ รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่จะต้องเปลี่ยนภูมิทัศน์ข่าวสารที่ไม่เน้นความรุนแรง ต้องดึงเอาทุกๆฝ่าย ทุกๆเสียงมานำเสนอในระดับสาธารณะให้ได้ สร้างความเป็นธรรมในการสื่อสาร สร้างความเข้มแข็งของสื่อในพื้นที่ซึ่งจะช่วยสร้างสันติภาพได้

“เห็นระบบการตรวจสอบการทำงานของสื่อที่กล้าเดินออกมาอยู่บนเวทีของการถกเถียง เปิดพื้นที่ให้วิพากษ์ตนเอง สร้างพื้นที่กลางของสื่อ การขับเคลื่อนที่ขยายฐานออกไป เห็นมิติการมองปัญหาหลากหลาย ที่ต้องสร้างความหลากหลายของคนและกลุ่มที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่กลางมากขึ้น ตอบปัญหาความเป็นอิสระจากการพึ่งทุนและกล้าพูดเรื่องปาตานีได้มากขึ้น ต้องมานิยาม เป้าหมายสันติภาพปาตานีว่าเป็นอย่างไร ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่อื่นๆ และในพื้นที่ปาตานี เพราะจะทำให้ผู้รับสารให้คุณค่าข่าว ซึ่งจะทำให้สื่ออื่นๆ ค่อยปรับตัวไปตามคุณค่าของคนรับข่าวสารต้องสร้างกลไกในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน ทุกสื่อมีวาระร่วมกันได้ แต่ประเด็น เนื้อหา ข้อมูล จะแตกต่างหลากหลายกันได้ สิ่งที่กลับมาเป็นการสะท้อนตัวตนของคนทำงานสื่อในพื้นที่”

ด้าน อิสมาอีล ฮายีแวจิ บรรณาธิการบริหาร สำนักสื่อ WARTANI กล่าวว่า รายงานนี้สะท้อนต่อผู้เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา ชี้ให้เห็นพัฒนาการของสื่อกระแสหลักในการรายงานข่าวสถานการณ์ในพื้นที่ที่ต้องปรับตัวและสะท้อนความจริงเพื่อความทันเหตุการณ์ ขณะเดียวกันสื่อทางเลือกในพื้นที่ต้องทบทวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง สามารถต่อรองกับรัฐได้ว่า สิ่งที่ทำอยู่คือหนุนเสริมสันติภาพในพื้นที่ รวมทั้งหนุนเสริมสื่อทางเลือกด้วยกันเองเพื่อเพิ่มสิ่งที่เป็นจุดแข็ง และพัฒนาส่วนที่เป็นจุดอ่อนเพื่อจะเป็นสื่อที่มีมาตรฐาน มีศักยภาพเดียวกันกับสื่อกระแสหลัก

นายแวหามะ แวกือจิก จากสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน กล่าวว่ารายงานฉบับนี้ เป็นกระดุมเม็ดแรกที่จะทำให้สื่อในพื้นที่กระตุ้นตัวเอง มองเห็นผลสะท้อนแบบกว้างของข่าว 3 จังหวัดว่าการสื่อสารในข่าว ควรมีเนื้อหาของชีวิตหลากหลาย เป็นสิ่งที่คนทำสื่อในพื้นที่จะต้องพัฒนาศักยภาพในทศวรรษข่าวสารต่อไป และแนะนำว่า

“รายงานข้อเสนอแนะ ยังขาดแง่มุมที่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของบุคลากร คนในพื้นที่ที่เป็นสื่อกระแสหลัก ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสะท้อนความเห็นในรายงาน จึงควรมีแนวทางที่ทำให้สื่อกระแสหลักและสื่อกระแสรองในพื้นที่ร่วมมือกัน”

ส่วนความเห็นของผู้เข้าร่วมฟังรายงานครั้งนี้คือ สื่อทางเลือกในพื้นที่ต้องทำงานเชิงรุก อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำงานเชิงรุกกับกลุ่มเป้าหมายเยาวชนให้มากขึ้น ต้องทำความเข้าใจว่า ความเป็นรัฐจะมีการโฆษณา ชวนเชื่อ เป็นลักษณะของรัฐทุกรัฐ ต้องตระหนัก ย้ำเตือนตัวเอง เพื่อไม่หลงไปสู่การให้เกิดการแทรกแซงได้ง่าย

ท่ามกลางกระแสสันติภาพปาตานี /ชายแดนใต้,การสร้างการ “ตื่นรู้” ของสื่อปาตานี และกระแสการเมืองไทยที่อ่อนไหว แนวทางการสนับสนุนเครือข่ายองค์กรสื่อในพื้นที่ด้วยกัน และวาระร่วมของสื่อปาตานี นายปรัชญา โต๊ะอิแต ผู้จัดการปาตานีฟอรั่ม ได้สรุปถึงการระดมความคิดเห็นว่าเป็นไปในแนวทางเช่นนี้คือ

แต่ละองค์กรต้องสร้างพลังและพัฒนาศักยภาพของสื่อทางเลือก เชื่อมโยงเครือข่ายและการทำงานร่วมกัน ประสานประเด็นข่าว เนื้อหา ที่ต้องคำนึงถึงจริยธรรม ความเป็นมืออาชีพ และช่องทางการสื่อสาร ตรวจสอบกันและกัน ให้ความสำคัญเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มีหลักการที่ชัดเจน ควรกำหนดประเด็นในการทำข่าวร่วมกันอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะทำให้ข่าวมีพลัง ให้ข้อมูล ข้อเท็จ ถูกสื่อสาร นำเสนออย่างอิสระ ให้พื้นที่ในการให้ข้อมูลการหักล้างกัน เป็นพื้นที่กลางของทุกข้อมูลและข้อเท็จจริง นำเสนอโดยมีหลักการด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก

การทำงานเพื่อสื่อสารประเด็นอ่อนไหว ซึ่งประเด็นการขับเคลื่อนด้วยนักศึกษา ทำให้ได้ข้อมูลอีกด้านที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากพื้นที่ เป็นข้อมูลที่สนับสนุนต่อสื่อปาตานี เนื้อหาที่ได้มาจากกลุ่มนักศึกษา ควรจะมีการมองรอบด้าน ความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ ไม่ยึดติดเฉพาะคนมลายูมุสลิมเท่านั้น หากพื้นที่ไหนเรียกร้องไม่ว่าจะเป็นพุทธ หรือมุสลิม กลุ่มนักศึกษาก็พร้อมจะลงไปเก็บข้อมูล ควรมีเนื้อหาในแถลงการณ์ อธิบายถึงการลงพื้นที่เหตุการณ์ ทุกครั้งก่อนลงพื้นที่

ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมการทำงานของสื่อทางเลือกอื่นๆ หยิบยกประเด็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มิติมลายูพุทธ-มุสลิม เตรียมพร้อมในเรื่องภาษามลายูกลาง ภาษาอังกฤษ หากต้องการยกระดับไปสู่ระดับอินเตอร์ ต้องยอมรับความจริงจากข้อมูลที่ค้นพบได้ แม้จะขัดแย้งกับมุมมอง ทัศนคติของตนเอง และต้องกล้าสื่อสารออกไป พัฒนาศักยภาพสื่อปาตานีให้เป็นข่าวที่มีชีวิต

ในการทบทวนวาระปาตานี ต้องมีหลักการสำคัญ คือ ความเป็นเอกภาพในผสานการทำงานและประเด็น เพื่อนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อย่างมีพลัง ควรจะมีการพูดคุยกันบ่อยๆ เพื่อพัฒนาการทำงานทั้งในแง่ประเด็นและแนวทางการทำงานร่วมกัน ขับเคลื่อนแนวทางการทำงานเครือข่ายสื่อทางเลือกระดับภูมิภาคเพื่อเชื่อมการทำงาน แชร์ข้อมูลข่าวสาร แลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง ในอนาคตอันใกล้ ควรขับเคลื่อนการเปิดพื้นที่และประเด็นพื้นที่ เพื่อสอดคล้องกับการรับรู้ของหน่วยงานภาครัฐ ประเด็นการพูดคุยสันติภาพ สันติสุข เป็นนโยบายรัฐ แต่สื่อปาตานีต้องมีเป้าหมายคือ เข้าใจวาระปาตานี

ในเวทีนี้มีการนิยาม คำว่า “สื่อปาตานี” ซึ่งในอดีตมีนัยยะลักษณะต่อต้านรัฐ สื่อปาตานีจึงต้องทำในลักษณะการเข้าใจชีวิต ความรู้สึก ความคิดของคนปาตานี วิถีปาตานี ประวัติศาสตร์ปาตานี จากพื้นที่ปาตานี ซึ่งเป็นเรื่องหลักมนุษยธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน, สื่อปาตานี ต้องยืนยันว่า ไม่ได้ปฏิเสธการนำเสนอเรื่องราว ความขัดแย้ง ความรุนแรง แต่จำเป็นจะต้องอธิบายความเป็นมาของความขัดแย้ง ความรุนแรง มีนัยยะเพื่อส่งเสริมสันติภาพในพื้นที่ ส่งเสริมความสัมพันธ์ ความผูกพันของคนเหมือนกัน ต้องยืนยันในหลักการการนำเสนอความเป็นจริง ให้น้ำหนักกับการนำเสนอข่าวด้านบวกเปรียบเป็น “ประภาคารแห่งแสง” ที่ชี้นำแสงสว่าง ให้ความรู้ ความหวัง โอกาส อย่างไม่เลือกปฏิบัติ สร้างความแตกต่างและความหวังของพื้นที่ได้