หน้าแรก รายงาน

เมื่อชาวบ้านพ่อมิ่งหันหน้าสร้างสันติสุขกับเจ้าหน้าที่

เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้เล็งเห็นว่า สายสัมพันธ์ที่มีต่อกันในชุมชนชายแดนใต้ที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมและวัฒนธรรมเดียว นอกจากชาวบ้านในชุมชนเองแล้ว ความสัมพันธ์นั้นยังครอบคลุมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องภายในชุมชนอีกด้วย ซึ่งการรักษาไว้ในความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ในชายแดนใต้เป็นเรื่องสำคัญ จึงหาแนวทางกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้ดีขึ้นด้วยความเข้าใจ

ซึ่งทางเครือข่ายฯ ร่วมกับ มูลนิธิฮิลาลอะห์มัร ได้จัด การสานเสวนา “แนวทางและความคาดหวังร่วมกันระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่ เพื่อร่วมสร้างสันติสุขในชุมชน” “โครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้หญิงเพื่อการสานเสวนาสันติภาพที่เป็นประชาธิปไตยชายแดนใต้ : ญส.ปต. (Empowering Women for Democratic and Peace Dialogues in the South of Thailand) ซึ่งสนับสนุนโดย UNDEF จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ณ โรงแรมซี.เอส. ปัตตานี

กลุ่มเป้าหมายในครั้งนี้เป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ใน ต.พ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี และเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีบทบาทต่อประชาชนใน ต.พ่อมิ่ง เพื่อหาแนวทางและความคาดหวังร่วมกันในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในชุมชนพ่อมิ่งอย่างจริงจัง

ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ที่มาร่วมโครงการต่างช่วยกันสะท้อนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน

กำนัน ต.พ่อมิ่ง บอกว่า เรื่องหนักใจมากที่สุดคือ ยาเสพติดที่ระบาดหนักในพื้นที่

“อยากให้เจ้าหน้าที่เอาจริงเอาจัง เมื่อจับผู้ค้า ผู้เสพไปแล้ว หรือเมื่อพบว่าเสพจริง อย่าปล่อยออกมา ให้หายหรือให้รับโทษก่อนแล้วค่อยปล่อย มิฉะนั้นก็เป็นเหมือนเดิม เป็นวัฏจักรอยู่แบบนี้คือ จับไปไม่ถึงสองวันก็ถูกปล่อยตัวออกมา จับไปก็จับคนเดิมแล้วปล่อยมาอีก เป็นอย่างนี้ตลอด ต้องเรียกมาพูดคุยกันให้เข้าใจกันและกัน และต้องพัฒนาคนให้อยู่ดีมีสุข กินอยู่อย่างปกติสุขก่อนที่จะไปพัฒนาพื้นที่”

เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฮิลาลอะห์มัร ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ ต.พ่อมิ่งเช่นเดียวกัน บอกว่า อยากให้เจ้าหน้าที่เข้าใจการปฏิบัติงานของรถมูลนิธิฯ ซึ่งบริการแก่ประชาชนทุกศาสนา ไม่เลือกปฏิบัติ

“เราทำงานโดยไม่เลือกศาสนา เป็นรถกู้ภัยที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ชาวบ้านทุกคน บริการทั้งวัดและมัสยิด อยากให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าใจและมองการปฏิบัติงานของพวกเราว่าทำเพื่อสังคม การได้มาแลกเปลี่ยนกันเช่นนี้ทำให้ได้รู้จักกันมากขึ้น ได้ทราบปัญหาและข้อเสนอแนะ ที่ควรปฏิบัติกันในพื้นที่ เป็นสิ่งที่ดีที่ควรส่งเสริม”

“ชาวบ้านไม่เข้าใจหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เช่นเรื่องสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัว จะทำให้ชาวบ้านเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างไร บางคนถูกควบคุมตัวไป 3 วันแต่ไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ไหน อยู่จริงหรือไม่ รวมทั้งไม่ให้ญาติเข้าเยี่ยม สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดความหวาดระแวง ซึ่งสิทธิหลังการควบคุมตัวก่อนปี 2552 มีกฏหมายเยียวยาการถูกควบคุมตัวและชาวบ้านต้องการการได้รับการเยียวยาจากกรณีเหล่านี้” ชาวบ้านพ่อมิ่งอีกคนบอกข้อเท็จจริง

“อยากให้มีเอกสารรับรองจากเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวเพื่อนำเอกสารไปประกอบรับการเยียวยา และการไม่เข้าใจในหลักปฏิบัติของมุสลิม ขาดการเคารพและให้เกียรติคนในพื้นที่ เช่น ไปละหมาดตอนเช้ากันเยอะก็ถูกหวาดระแวงว่าจะไปก่อเหตุ”

ด้านเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่าง นางจุฑาทิพย์ คงประสิทธิ์ ประมงอำเภอปะนาเระ บอกกล่าวถึงการทำงานที่ผ่านมาของตนเองว่า ด้วยความเป็นผู้หญิงในสถานการณ์เช่นนี้การลงพื้นที่เป็นการพูดคุยผ่านตัวแทนซึ่งไปไม่ทั่วถึง แต่ได้ช่วยส่งเสริมอาชีพที่เข้มแข็งได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งต้องมีความโปร่งใส รับรู้ร่วมกัน คนในพื้นที่อาจชินกับเหตุที่เกิดมาหลายปีจนเป็นปกติ หากทุกคนคือผู้ได้รับผลกระทบ การใช้ชีวิตที่ไม่ปกติเหมือนก่อน เมื่อเปิดตลาดเสรีอาเซียนแล้วจะอยู่อย่างไร จึงต้องส่งเสริมเยาวชนให้มีความรู้ มีการศึกษาที่ดี ต้องมองไปข้างหน้าอย่างเดียวแล้วการพัฒนาก็จะเกิด

สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอย่าง ร.ต.อ.ภาณุมาศ แก้วชุมศิลป์ รองสวป.สภ.อ.ปะนาเระ ตำรวจมุสลิมจาก จ.สงขลา ที่ทำงานในพื้นที่นี้บอกว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมตลอดเวลา และต้องดูที่เจตนาของแต่ละคนแต่ละหน่วยที่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้นด้วย

“ตั้งแต่ปี 2547 ที่เกิดเหตุการณ์มา มีการพูดคุยกันว่าเหตุเกิดมาจากอะไร ความไม่เข้าใจคือสาเหตุสำคัญ การที่เจ้าหน้าที่มาจากนอกพื้นที่พูดจาคนละภาษา นับถือคนละศาสนา ไม่เข้าใจว่ามุสลิมในพื้นที่เป็นอย่างไรซึ่งในระดับนโยบายได้มีการอธิบายชัดเจนว่าในการเข้าตรวจค้น เข้าในบ้านจะต้องทำอย่างไร อันดับแรกคือ ต้องแสดงตัวอย่างชัดเจน บอกยศบอกชื่อ ดูหมาย เน้นเรื่องการถอดรองเท้า ต้องมีเจ้าของบ้านเข้าไปตรวจค้นด้วย เช่น บอกให้เปิดดูในตู้ว่ามีอะไรบ้าง ค้นได้แต่อย่าให้เกินความจำเป็น ต้องสุภาพ มีการอบรมกระชับวินัยเป็นประจำ ตำรวจต้องฝึกหลักสูตรจู่โจม ยุทธวิธีในการเข้าจุดเกิดเหตุ ไม่ใช้กำลังตามอำเภอใจ ต้องไปตามระดับ มีการพูดคุยกันในทีมที่มา การสั่งการต้องเข้มแข็ง ขึ้นอยู่กับบุคลิกส่วนตัวของผู้ปฏิบัติด้วย ซึ่งเวลาใส่เครื่องแบบเต็มยศ ถือปืน ใส่หมวก จะต้องแบกน้ำหนักไว้เป็นสิบกิโล”

รองสวป.สภ.อ.ปะนาเระ บอกว่าในการเข้าไปตรวจค้นแต่ละครั้งบอกไม่ได้ว่าจะเจออะไร เป็นความกดดันนาทีชีวิต การออกกลาดตระเวนแต่ละครั้งคิดว่าจะลงแบบก้าวขาเองหรือเพื่อนแบกกลับ เห็นแต่ความสูญเสียสะสม จึงต้องแยกให้ออกระหว่างการสูญเสียกับคนที่ยังอยู่ การทำงานจึงต้องอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมตลอดเวลา

ตัวแทน กอ.รมน.ภาค 4 สน.มองว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเดิมที่กำลังแก้ไข อยากให้เป็นแค่ฝัน ทิ้ง 10 ปีที่ผ่านมาไปให้หมด แล้วมาเริ่มต้นใหม่

“ความสูญเสียกับสิ่งที่ได้รับ การเยียวยาไม่อาจทดแทนได้แน่นอน เมื่อไม่สามารถไปแก้ไขอดีตได้ ก็ต้องก้าวเดินหน้าสร้างอนาคต อยากเห็นหน้าตาสันติสุขเป็นรูปธรรม ลองทำโมเดล เป็นบันทึกที่เกิดขึ้นจริง เป็นจดหมายเหตุที่เรียนรู้ได้และเป็นประวัติศาสตร์การเรียนรู้ของลูกหลาน”

ปิดท้ายกับความเห็นของ ว่าที่ร.ต.ภูษิต ไชยทอง นายอำเภอปะนาเระ ที่กล่าวถึงการนำหลักการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ของในหลวงมาใช้และได้ผลเสมอ

“ไม่ว่าใครจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างไร ท่านก็ไม่ทรงกริ้ว มีแต่อภัยโทษ ตั้งแต่คดีการเมืองมาจนถึงความมั่นคง บางคนยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ ไม่ถึงกำหนดก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ท่านคือตัวอย่างที่ดีของการปรองดองเช่นทุกคนที่ต้องการให้ชุมชนพ่อมิ่งอยู่ในสังคมอุดมคติเชิงบวก”

“ก่อนมาอยู่ที่นี่ผมเข้าใจแบบหนึ่ง เมื่อมาอยู่ร่วมในพื้นที่ได้ทำความเข้าใจใหม่ ผมเป็นนายอำเภอปะนาเระ24 ชั่วโมง การทำหน้าที่คู่กับความรับผิดชอบ ถ้าทุกคนรู้หน้าที่และรับผิดชอบ มีจริยธรรม ชาวพุทธถือศีล 5 ก็เพียงพอแล้วอิสลามก็มีคำสอนที่เป็นของจริง พิสูจน์ได้ ทุกศาสดาเอกสอนให้ทำความดี ละความชั่วทั้งสิ้น อดีตคือประวัติศาสตร์ จำอดีตเพื่อปัจจุบันและอนาคตที่สดใส หากจำแต่สิ่งที่ขมขื่นจะจำไปทำไม ต้องเคารพสิทธิของคนอื่น เคารพความแตกต่าง ใน ต.พ่อมิ่งมี 4 หมู่บ้าน มีครบทุกอย่าง การพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ดูถูกเหยียดหยามกัน เคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ปกปิดกันเรื่องยาเสพติด ทุกฝ่ายต้องเคารพกฎในชุมชนและ

กฎหมาย และต้องอดทนก้าวข้ามความปวดร้าวที่อยู่ไปให้ได้”

สิ่งเหล่านี้คือความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในชุมชนพ่อมิ่งและอีกหลายชุมชนในพื้นที่ชายแดนใต้ หลากหลายความคิดและหลากหลายหนทางแก้ปัญหา ต้องนำพา “ความเข้าใจ” เป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยทำให้เรื่องราวทั้งหลายที่ขมวดได้คลายปม นำไปสู่สันติสุขที่ทุกคนปรารถนาได้