ท่ามกลางกระแสภาวะเศรษฐกิจถดถอย การลงทุนค้าขายต้องไตร่ตรองอย่างดีเพื่อไม่ให้ขาดทุนและอยู่ได้ หากเรื่องราวของอาหารการกินยังมีช่องทางก้าวไกลเนื่องจากอาหารเป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ยิ่งเป็นสูตรที่ไม่เหมือนใคร มีจุดขาย ทำเลดี ยิ่งทำให้ธุรกิจนั้นอยู่ได้อย่างสบายไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร BAGUS CHICKEN กลางทำเลทองในเมืองปัตตานีจึงเติบโตอย่างน่าสนใจ
หัวมุมถนนเจริญประดิษฐ์(ถนนสายม.อ.) วงเวียนหอนาฬิกา คือที่ตั้งของ BAGUS CHICKEN ร้านอาหารฮาลาลร้อยเปอร์เซ็นต์ บริหารโดยมุสลิมในพื้นที่คือ มูฮาหมัด ดูมีแด และ โรฮาณีย์ ปูเต๊ะ เจ้าของกิจการ ทั้งสองเป็นคนปัตตานีโดยกำเนิด บอกถึง เหนียต(เจตนา)ตั้งแต่แรกทำร้านบากุสว่า เพื่อให้ลูกค้าได้ทานไก่ทอดที่ฮาลาลจริงๆ
“เริ่มทำร้านแรกเมื่อสองปีกว่าซึ่งอยู่ใกล้กับร้านปัจจุบัน เป็นร้านสองชั้นเพียงคูหาเดียว เล็กๆ บรรยากาศอบอุ่น เน้นไก่ทอด บากุสเป็นภาษามลายูแปลว่า ดี มีหนังสือให้อ่าน ลูกค้าแรกๆ เป็นกลุ่มนักศึกษา ครอบครัวเล็กๆ จนเริ่มขยับขยายไปยังชั้นสอง รองรับลูกค้าได้มากขึ้น เป็นการบอกกันปากต่อปากของลูกค้า ซึ่งจะรู้ว่าถ้ามาทานที่นี่ต้องรอประมาณ 15 นาทีเพราะเราไม่ทอดไก่ตั้งไว้ อยากให้ลูกค้าได้ทานไก่ที่กรอบ อร่อย มาจากเตาจริงๆ และมีพิซซ่า สปาเกตตี้บริการด้วย”
ก่อนมาเป็น BAGUS CHICKEN ใหญ่โตในปัจจุบัน ที่ตรงนี้เคยเป็นร้านอาหารมาก่อนเช่นกันซึ่งเปิดบริการมาพักนึงและสู้กับค่าเช่าไม่ไหวจึงถอยทัพ เจ้าของตึกจึงติดป้ายให้เช่าและเซ้งอยู่หลายเดือน ทั้งสองบอกว่าเห็นป้ายแต่ไม่คิดอะไรเพราะคิดว่าไม่คิดการใหญ่ ไม่มีเวลาและคงจ่ายค่าเช่าไม่ไหวเช่นกัน จนวันหนึ่งเมื่อพนักงานในร้านบอกว่าอยากทำร้านใหม่ จึงมาคุยกัน
“เห็นเขาติดป้ายให้เช่าตรงนี้มาสามเดือน วันนึงเดินเข้าไปในร้านเดิมแล้วได้ยินพนักงานวางแผนกันว่าจะทำหน้าที่อะไรในร้านใหม่ ก็มาคิดและคุยกัน หันกลับไปมองทำเลใหม่ว่า เป็นประตูเมืองที่ใครผ่านไปมาก็จะเห็นง่าย ติดต่อทางเจ้าของที่ เขาให้เสนอแผนงานไปดูว่าจะอยู่ได้หรือเปล่าในภาวะเช่นนี้ เมื่อตกลงกันก็เซ็นสัญญากับที่นี่สองปีพร้อมอุปกรณ์ในร้านทั้งหมด ซึ่งสภาพยังดีเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ตกแต่งเพิ่มเติมสไตล์บากุส เปิดชั้นหนึ่งและชั้นสอง มีห้องละหมาด ส่วนชั้นสามยังว่างอยู่ กำลังวางโครงการจะทำให้เป็นประโยชน์”
มูฮาหมัดบอกว่า ตั้งแต่เปิดบริการมาเมื่อต้นเดือนมกราคมปีนี้ ผลประกอบการดีขึ้นเรื่อยๆ และพอใจเป็นอย่างมาก จนเขาตัดสินใจลาออกจากการเป็นพนักงานธนาคารมาดูแลร้านอย่างเต็มที่
“มุสลิมกล้าจ่ายในเรื่องของสิ่งที่ฮาลาลของอาหารและการพักผ่อน เพราะไม่มีต้นทุนเรื่องของการเที่ยวกลางคืนและเรื่องสิ่งฮารอม(สิ่งต้องห้ามในศาสนาอิสลาม) ยอดเกินเป้าที่วางไว้ ยิ่งเคเอฟซีปิดตัวลูกค้ายิ่งเพิ่มขึ้น และฐานลูกค้าเดิมก็ช่วยบอกปากต่อปากและทางโซเชียลมีเดียโดยไม่ได้โฆษณาอะไร ร้านใหม่สามารถรองรับลูกค้าได้เป็นร้อยคน มากันเป็นครอบครัวเยอะมาก นัดเลี้ยงรุ่น เลี้ยงแสดงความยินดี เราบริการให้ทุกกลุ่มทุกศาสนา เรามีลูกค้าทุกวัย ด้วยเมนูฮาลาลที่หลากหลาย”
นอกจากนั้นเมื่อสาขานี้อยู่ตัวและมั่นคง ทั้งสองคิดขยายสาขาไปยังยะลาและนราธิวาส พร้อมมองการณ์ไกลไปถึงการเปิดตลาดค้าเสรีอาเซียนที่จะมีลูกค้าต่างชาติเข้ามาใช้บริการอาหารฮาลาลได้อย่างสบายใจ
ความมีเอกลักษณ์อีกอย่างของบากุสคือ มีพนักงานชายเกือบทั้งหมด 30 คน เว้นแต่พนักงานล้างจานที่เป็นผู้หญิง ด้วยเหตุผลคือ ทุกหน้าที่ในร้านเป็นสิ่งที่เหมะสมกับผู้ชาย ผู้หญิงไม่เหมาะกับงานบริการด้วยหลายเหตุผล คือสิ่งที่โรฮาณีย์บอกกับเรา
“คิดไว้ตั้งแต่ต้นเช่นกันว่าจะรับเฉพาะพนักงานผู้ชาย สิ่งสำคัญที่เป็นปรัชญาของบากุสคือ อยากสร้างความเป็นผู้นำให้กับผู้ชายในพื้นที่ในแนวทางเป็นผู้ประกอบการในอนาคต เมื่อขยายสาขาก็ดึงเด็กผู้ชายไป เป็นผู้นำในสาขาอื่นๆ ได้ จากสองคนหลักที่มาจากร้านเดิม ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้เด็กในชุมชนพวกเขาอีกเป็นสิบคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กมาจากตากใบ นราธิวาสเยอะเพราะเขาดึงมาทำงานกัน ให้โอกาสเขาทำงาน พิสูจน์ตัวเองและความอดทน บางคนจบปริญญาตรี ให้วันละ 300 บาท วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ที่มีลูกค้าเยอะก็จะให้พิเศษอีก มีโบนัส วันหยุดสองเท่าพิเศษ มีสวัสดิการและประกันสังคม กำลังจะทำระบบกองทุนช่วยเหลือพนักงาน และเก็บคนละนิดมาสมทบเป็นหุ้นบากุสแล้วให้เขาเอาไปเป็นทุน อนุญาตให้ลาคนละ 10 วันพร้อมเบี้ยเลี้ยงแบคแพคไปเที่ยว ผลัดกันไป สร้างเด็กให้เรียนรู้จากการไปท่องเที่ยวที่อื่นเพราะเราสองคนชอบท่องเที่ยวและชิมอาหารตามที่ต่างๆ มาปรับปรุงรสชาติของเรา”
“ตอนนี้มีร้านไก่ทอดเล็กๆ ขึ้นมามาก เขามองเป็นโอกาสและเป็นอาหารที่ขายได้ เราจึงหยุดนิ่งไม่ได้เพราะเท่ากับฆ่าตัวตายทันที มีเมนูใหม่ๆ มานำเสนอเป็นช่วงๆ ตลอดเพื่อความไม่จำเจ”
นอกจากนี้บากุสยังคิดคืนกำไรกลับสู่สังคมจากธุรกิจนี้ด้วยการจ่ายซะกาต มูฮาหมัดบอกว่า คิดทำเป็นมูลนิธิโดยหัก 2.5 เปอร์เซ็นต์จากกำไรสุทธิเข้ากองทุน ซึ่งเริ่มทำมาตั้งแต่เดือนมกราแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนมูลนิธิ และจะดูว่าจะเอาไปใช้ในด้านใดบ้าง ซึ่งโดยปกติมีการช่วยเหลือเกื้อหนุนกับการขอสปอนเซอร์จากหน่วยงาน นักศึกษา และสนับสนุนในกิจกรรมที่มีสาระประโยชน์ตลอดมา
ด้วยฐานที่มีลูกค้าเชื่อถือและใช้บริการทำให้บากุสตัดสินใจลงทุนในธุรกิจอาหารญี่ปุ่น ณ ห้างโลตัส จะนะ ในนาม บากูชิ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับร้านเคเอฟซี เพื่อเป็นทางเลือกและบริการอาหารญี่ปุ่นฮาลาลแก่ลูกค้าอีกทางหนึ่ง ซึ่งอยู่ในช่วงตกแต่งและจะเปิดบริการในเร็ววันนี้
“เหมือนพระเจ้าประทานให้เราได้ทำเลในโลตัส จะนะอย่างไม่มีอุปสรรค ทั้งที่เราเคยติดต่อทางบิ๊กซีปัตตานีแต่ค่าเช่าแพงมากและเหตุผลอื่นๆ อีก เป็นสิ่งที่ขอดุอาอฮฺมาตลอดให้ได้อยู่ในที่ที่เหมาะสม และสมหวังจริงๆ”
ก้าวย่างของ BAGUS CHICKEN ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจขาลงในปัจจุบันเป็นเรื่องน่าสนใจ บวกกับความต้องการของคนในพื้นที่ที่เป็นอยู่เป็นบทพิสูจน์ได้ว่า และมีความอิคลาศ(บริสุทธิ์ใจ) และตั้งใจจริงในการงานใด ย่อมได้รับความสำเร็จเช่นเดียวกัน