หลังเหตุการณ์ตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ได้มีการขัดงานรำลึกทุกปีในวันเดียวกับเหตุการณ์ จนถึงวันครบรอบ 10 ปีในปีนี้ เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพปาตานี ได้จัดขึ้นเพื่อร่วมถอดบทเรียนอันมีค่าที่ผ่านมา มีนักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก
ในเวทีเสวนาประกอบด้วย ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน รอมฏอน ปันจอร์ บรรณาธิการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) รุซดา สะเด็ง อุปนายก สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERWANI) ตูแวตานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา(LEMPAR) และ อัซฮาร์ ลูเละ ผู้สื่อข่าว สถานีวิทยุมีเดียสลาตัน ร่วมเสวนา
อับดุลเราะห์มาน ยวงใย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฎสงขลา ที่มาร่วมบอกความรู้สึกผ่านบทกวีในเวทีเสวนา “ถอดบทเรียนตากใบสู่อนาคตปาตานี” ในวันครบรอบ 10 ปี ตากใบ 25 ตุลาคม 2557 ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี
ทศวรรษแห่งความคับแค้นเพิ่งผ่านพ้นมา
ความตายของเรา ยังเต็มไปด้วยลมหายใจ
ความตายของเรา ยังไม่เคยเลือนหาย
นั่นเพราะเรา ยังไม่เคยได้รับการปลดปล่อย
เราไม่อาจคิดด้วยภาษาของเรา
ทศวรรษแห่งความคับแค้นเพิ่งผ่านพ้นไป
ท่านจองจำเราไว้ในคุกขังของความคับแค้น
และเรายังคงตามล่า อากาศฆาตกร
เรายังคงถูกสาปให้กลายเป็นแพะ
ส่วนท่านยังคงกวาดต้อนฝูงแพะสู่คอกขัง
บรรดาเมียและลูกสาวของฉันถูกข่มขืน
บรรดาพ่อและลูกชายถูกท่านจับขัง
ครั้งแล้วครั้งเล่า ปวงเรากลายร่างเป็นหยาดน้ำตา
ครั้งแล้วครั้งเล่า เราถูกกวาดต้อน
ไปสู่อาณานิคมแห่งความโศกเศร้า
เราไม่อาจพูดด้วยภาษาของเรา
ทศวรรษแห่งความคับแค้นเพิ่งผ่านพ้นมา
สันติภาพราวล่องลอยอยู่ในอากาศ แต่ทว่าไม่อาจคว้าจับ
กระสุนปืนมิอาจผลิบานกลายเป็นดอกไม้
ขบวนแถวชุดลายพรางคือคำสาป
ท่านมิอาจสร้างสันติสุขด้วยนกกระดาษหรือปืนพญาตานีจำลอง
แต่อิสรภาพของเราถูกจำกัดด้วยรองเท้าคอมแบตและกฎอัยการศึก
เราไม่อาจเป็นในสิ่งที่เราเป็น
ทศวรรษแห่งความคับแค้นเพิ่งผ่านพ้นมา
เราหลั่งน้ำตารินรดดอกผลของความสูญเสีย
ขบวนแถวชุดลายพรางคือคำสาป
ท่านเสี่ยงทายลูกเต๋าแห่งความมักง่าย
โยนกุญแจมือแห่งความอยุติธรรมลงมา
กดขี่ จองจำ ทำร้ายเรา
ผู้คนกลายร่างเป็นฝูงแพะ
เด็กชายวัยสิบสี่ถูกยัดเยียดให้กลายเป็นขุนโจร
ท่านยังคงแจกจ่ายความตายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
แล้วโปรยหว่านธนบัตรเย้ยหยันความตายของเรา
ครูคนใจจะปลูกฝังให้เด็กรักความสันติ
ตราบที่เด็กเด็กของเราเติบโตท่ามกลางความตาย
ทศวรรษแห่งความคับแค้นเพิ่งผ่านพ้นมา
ทศวรรษที่เรามิอาจพูด แต่เรามิอาจเงียบ
เสียงตะโกนของเราราวเงียบใบ้
ความตายของเราราวเงียบใบ้
สันติสุขยังไม่กลับคืนมา
ตราบที่รองเท้าคอมแบตยังไม่กลับคืนไป
เราไม่อาจคิดด้วยภาษาของเรา
เราไม่อาจพูดด้วยภาษาของเรา
เราไม่อาจเป็นในสิ่งที่เราเป็น
ความตายของเรายังคงดำเนินต่อไป
ทศวรรษแห่งความคับแค้นครั้งใหม่
ยังคงสืบเท้าผ่านเข้ามา
ด้าน ตูแวตานียา ตูแวแมแง สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา บอกว่า เป็นเรื่องปกติที่มีการจัดงานรำลึกตากใบมาทุกปี
“เมื่อมองเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ สังคมไทยยกย่องว่าเป็นวีรชน เป็นวีรกรรมของผู้ชุมนุม แต่ตากใบมีความสูญเสียมากมาย เขาเหล่านั้นก็เป็นวีรชนตากใบได้เช่นเดียวกัน หรืออาจตกหล่นไปเพราะไม่มีคนศาสนิกอื่นด้วยหรืออย่างไร ทำให้สังคมไทยไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นสิทธิพลเมืองแบบสันติวิธี ทุกคนในพื้นที่จึงได้รับผลกระทบจากตากใบ 10 ปีก็ไม่ได้มีความพึงพอที่สัมผัสได้ในการตัดสินของรัฐ คนที่มีใจรักความเป็นธรรมรู้สึกว่ายังไม่สิ้นสุดตามหลักมนุษยธรรม” ตูแวตานียา กล่าว
ส่วน รุซดา สะเด็ง จากสมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERWANI) บอกว่า เหตุตากใบเป็นการกระทำที่จงใจ ประมาทและขาดการเคารพความเป็นมนุษย์
“ความเป็นมนุษย์ที่หายไปที่มีคนเสียชีวิตบนรถเกือบร้อยคน คนบาดเจ็บจากการถูกกดทับจนกล้ามเนื้อตาย สิทธิของความเป็นพลเมืองปาตานีอยู่ตรงไหน มีการเยียวยาเกิดขึ้น ชดเชยในสิ่งที่คนๆ นั้นขาดหายไปทั้ง ชีวิต ความสมบูรณ์ของร่างกาย ความเป็นผู้นำครอบครัว ทุกอย่างหายไปหมด จะกี่ร้อยล้านก็ต้องชดเชยและเป็นสิทธิชอบธรรม และอากาศจึงเป็นฆาตกรและอาชญากรต่อไป”
ขณะที่ รอมฏอน ปันจอร์ จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า “เราไม่อาจมองเรื่องตากใบแค่เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 แต่ ต้องมองย้อนไปยังหลายเดือนก่อนหน้านั้นที่มีเหตุระเบิดเยอะ มีการสังหารพระครั้งแรกที่ยะลา จนมาถึงเหตุตากใบที่ตีความโดยง่ายคือมีมือที่สามมาปลุกปั่นให้เกิดเหตุ เป็นความจริงที่ต้องจดจำกับบาดแผล เช่นเดียวกับปาตานีมีประวัติศาสตร์ที่มีบาดแผล และไม่มีความยุติธรรมที่เราต้องการ เป็นการเมืองแบบหนึ่ง ความยุติธรรมอีกทางอาจมาจากการเยียวยาที่มีทั้งเงิน โอกาส อาชีพ ซึ่งเป็นการเยียวยาระหว่างทางที่เราทำได้โดดเด่นมากท่ามกลางความขัดแย้งที่ ยังไม่ตกตะกอน อาจลดเงื่อนไขได้แต่ลดความรู้สึกไม่ได้เลย”
“ทำอย่างไรให้เรื่องตากใบเป็นเรื่องของทุกคนทุกฝ่าย ต้องแสวงหาทางออกด้วยการเมืองดีใจที่รัฐให้โอกาสจัดงานนี้ มีพื้นที่แลกเปลี่ยนกันได้ เป็นเงื่อนไขที่ต้องเรียนรู้ทางการเมือง ออกซิเจนฆ่าคนที่ตากใบ แต่ทำอย่างไรไม่ให้ฆ่าเราด้วย คือ อย่าให้เป็นการจำกัดการแสวงหาทางการเมือง ต้องให้อากาศตากใบ โอกาส และสันติภาพได้ถกเถียงกัน คนที่ไม่ได้ใช้อาวุธมีอำนาจต่อรองเพิ่มมากขึ้น ให้ตากใบมีชีวิตชีวา และอากาศทำได้ดีในคนที่มีชีวิต” รอมฏอน กล่าว
ปิดท้ายด้วย อัซฮาร์ ลูเละ ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุตากใบด้วย บอกว่า สายไปแล้วที่จะมีคำขอโทษกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น
“ความหวาดระแวงจากผู้มีอำนาจทำให้เกิดวันวิปโยค เป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับทุกฝ่าย สายไปแล้วที่จะมีคำขอโทษ ขอให้รู้ว่าเรื่องนี้มันฝังอยู่ในใจ การมองพวกเราในภาพลบคือคุณกำลังคิดผิด และไม่มีวันก้าวเข้าไปถึงการพูดคุย เจรจาสันติภาพได้เลย คนที่มีอำนาจต้องมาคุยกัน” อัซฮาร์ ลูเละ กล่าว