เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา กลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ (The Dream South youth) ได้ตั้งวงสนทนาสาธารณะ จิบชา ถอดบทเรียน 10 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ
นายดันย้าล อับดุลเลาะ เลขากลุ่มฯ บอกกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมดังกล่าวว่า เพื่อสร้างบรรยากาศเชิงบวกในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและความรุนแรง กระตุ้นให้เกิดพื้นที่การพูดคุยและถกเถียงทางวิชาการในพื้นที่สาธารณะ กระตุ้นการตื่นตัวในการถกเถียงเชิงวิชาการแก่เยาวชน และเปิดพื้นที่สาธารณะแก่เยาวชนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวน 25 คน
ประเด็นหลักในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้คือ ที่ผ่านมาได้เยาวชนได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ตากใบ มีทัศนะต่างๆจากผู้เข้าร่วม โดยอาศัยทักษะจากที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมา ผู้เข้าร่วมมาจากหลายสาขาวิชาคือ สาขาตะวันออกกลางศึกษา สาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์การปกครอง สาขารัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สาขากฎหมายอิสลาม สาขานิเทศศาสตร์ สาขาชีววิทยา และสาขาพัฒนาสังคม ซึ่งส่วนใหญ่มีประสบการณ์การทำกิจกรรมทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และอื่นๆ
นายอัสรี จะมะจี ประธานกลุ่มฯ ได้แสดงความเห็นว่า ผู้ที่กล่าวว่า การเยียวยาด้วยตัวเงินยังไม่พอ ส่วนใหญ่คือผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง หรือกล่าวง่ายๆว่า คือผู้ที่ไม่ได้รับเงินในส่วน 7.5 หรือ 4 ล้านหรือเท่าไหร่ก็ตาม เงินซื้อชีวิตไม่ได้ และใครก็ตามที่ใช้ความรุนแรงถึงร่างกาย ชีวิต การลงโทษด้วยวิธีการใดๆ ก็ไม่คุ้ม
“มีการใช้กรณีตากใบ กรือเซะ ในกระบวนการผลิตซ้ำทางความคิดแม้แต่เหตุการณ์ยุทธการบาเจาะ ผมคิดว่ามีการใช้ข้อผิดพลาดของกระบวนจัดการต่อเหตุการณ์ต่างๆ ในหาผลประโยชน์ บางท้องที่มีข้อความชัดเจนว่ามีการปลุกระดม หากสมมติว่า รัฐชี้ว่าการชุมนุมที่ตากใบเป็นความผิด และการสลายการชุมนุมชอบโดยหลักการทางกฏหมาย และรัฐไม่จำเป็นต้องเยียวยา มันจะเกิดอะไรขึ้น จะเกิดอะไรกับครอบครัวที่สูญเสียเสาหลัก เขาเหล่านั้นจะลุกขึ้นยืนอย่างไร ผมหมายถึงกรณีอื่นๆด้วย”
“บางอย่าง ในกระบวนการยุติธรรมในสมัยนั้น เราเข้าไม่ถึง เป็นเรื่องของศาลทหาร”หากมองในมุมของความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่ก็เล็งเห็นว่ามีการตายเกิดขึ้นจากการขนย้ายผู้ชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่แก้ไขต่อสิ่งที่เกิดขึ้น”
นายอัลก็อฟฟาร์ ยือโร๊ะ สมาชิกกลุ่มฯ ได้แสดงความเห็นว่า “หากการเยียวยายังไม่พอ เมื่อเราเทียบกับการตายที่มีการเยียวยากับการตายแบบไม่มีการยื่นความช่วยเหลือเลย แบบไหนเป็นมุมบวกมากกว่ากัน สำหรับคนที่เหลืออยู่ ผู้ถูกกระทำจากเหตุการณ์ใช้ความรุนแรง ในประเภทกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ส่งผลต่อร่างกายและชีวิต เข้าข่ายการถูกละเมิดตามกฏหมายระหว่างประเทศ การซ้อมทรมานในเหตุการณ์ต่างๆ หรือการถูกกระทำความรุนแรงจากเจ้าหน้ารัฐต่อพลเมือง แม้จะเป็นเรื่องภายใน เนื่องจากเกิดในประเทศ แต่เราก็เห็นว่ากลไกทางการเมืองระหว่างประเทศก็มีองค์กรระหว่างประเทศเข้ามากดดันในการสอบสวนไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อให้เป็นไปตามกรอบของข้อกฏหมายระหว่างประเทศ”
“การเข้ามาทักท้วงหรือตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่ตากใบ ถือว่าเป็นการกดดันอย่างหนึ่งจากองค์กรระหว่างประเทศ หากมองอีกมุมหนึ่ง การสลายการชุมนุมที่ตากใบ ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า มีการสื่อสารที่ผิดพลาด และความผิดพลาด นัยหนึ่งคือเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิด “คิลลิ่งฟิล””
นายวุฒิพงศ์ บอซู สมาชิกกลุ่มฯ อีกคน ได้บอกว่า “แม้จะมีอนุสัญญาหรือกฏหมายระหว่างประเทศที่รัฐไทยได้ลงให้สัตญาบันไว้เป็นมาตรฐานเพื่อออกกฏหมายที่สอดคล้องกับบริบทของรัฐไทย แต่รัฐไทยไม่ได้ลงนามหรือเรียกว่า รัฐไทยได้สงวนท่าทีในเรื่องการไต่สวนในศาลอาญาระหว่างประเทศ เราไม่ได้ยินยอมให้มีการพิพากษาศาลอาญาระหว่างประเทศ”
“มีเอกสารที่ UNHCR ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลข้อเท็จจริง (ผู้บันทึกไม่สามารถแนบเอกสารมาด้วยได้) แต่รัฐไทยขอสงวนท่าทีบางข้อในอนุสัญญาการป้องกันการซ้อมทรมาน แม้จะอ้างถึงสนธิสัญญาเจนีวา แต่มีการใช้หลัก เชอคุท(ผู้บันทึกไม่สามารถให้ความหมายและคำเขียนในภาษาอังกฤษได้)อีกทั้งยังมีการใช้หลักการลิดรอนสิทธิ”
นายอิบรอเฮม แวอิบรอเฮม สมาชิกกลุ่ม ได้แสดงความเห็นว่า “ผมขอตีความว่า เรื่องราวของตากใบคือเรื่องใหม่ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้าน รวมไปถึงการเยียวยา ทำให้การจัดการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักการชุมนุม หลักการสลายการชุมนุม รวมไปถึงการเยียวยามีปัญหา เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมชายแดนใต้แม้จะมีลงนามในอนุสัญญาและสนธิสัญญาต่างๆ หลักการออกกฏหมายและการปฏิบัติย่อมต้องไม่ขัดต่อเหล่าอนุสัญญาหรือสนธิสัญญาต่างๆที่รัฐไทยลงนามไว้”
“รู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วมาก 10 ปีแล้วหรือที่เราอยู่กันในภาวะแบบนี้ หากย้อนไป 10 ปีที่แล้ว ผมยังเรียนประถมอยู่เลย เราอยู่แบบนี้มา 10 ปีแล้วหรือ”
นายดันย้าล อับดุลเลาะ เลขาธิการกลุ่มฯ แสดงความคิดเห็นว่า “ไม่อาจจะกล่าวได้ว่า ใครถูกใครผิด แต่เราเห็นว่า หลังเกิดเหตุการณ์ตากใบ เรามีประสบการณ์มากขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และประขาชนคนธรรมดาทั่วไป จะเห็นว่า การชุมนุมในปี 2550 หน้ามัสยิดกลางปัตตานี ผู้ชุมนุมเลือกที่จะชุมนุมในสถานที่ที่มีสัญลักษณ์อะไรบางอย่าง สถานที่ตั้งยากต่อการปิดล้อมหากเกิดการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ยอมให้มีพื้นที่ในการเรียกร้องหรือการแสดงออกทางการเมือง แม้แต่การเลือกสถานที่ในการเคลื่อนไหว เราพบว่ามีการใช้สถานที่เป็นกลาง ไม่มีสัญลักษณ์ความรุนแรง เช่น สถาบันการนศึกษา(พื้นที่ทางวิชาการ มหาวิทยาลัย) และมัสยิด”
“ผมมองว่าการเยียวยายังไงก็ไม่คุ้ม ไม่ว่าการตายใดๆ ก็ไม่คุ้มค่า ไม่สามารถประเมินค่าของชีวิตได้ แต่การเยียวยาเองก็ส่งผลในด้านบวกได้ บางครอบครัวขาดผู้นำครอบครัว สามารถตั้งต้นใหม่ แม้จะช้าไปก็ตาม ”
ความเห็นของผู้เข้าร่วมถอดบทเรียน
“ควรมองบทเรียนและเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อแก้ไขในอนาคต ไม่มีใครแก้ไขอดีตได้ เรามีบทเรียน ต้องก้าวข้ามการมองเหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์บนพื้นฐานของอารมณ์ และความรู้สึก แต่สิ่งสำคัญคือ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐต้องมองถึงความรู้สึกของชาวบ้านด้วย”
“ไม่อาจจะเดาได้ว่า ความรู้สึกของครอบครัวผู้สูญเสียจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญคือการมองไปข้างหน้า ชีวิตที่ยืนหยัดได้ในวันนี้ หรือการหาหนทางที่ชีวิตจะดำเนินต่อไป”
“ในภาวะความขัดแย้งที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่ทางการเมืองแคบลง การแสดงความเห็นทางการเมืองมักจะมีกำแพงกั้นทางความคิดอยู่สมควร ไม่ว่าจะแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างไร หากความเห็นนั้นไปเป็นมุมบวกหรือมุมลบ ทั้งที่เป็นข้อเท็จจริง ผู้แสดงความเห็นมักจะถูกผลักให้เป็นอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ ความเป็นกลางอาจจะไม่มีจริง แต่สิ่งสำคัญไม่ใช่การเลือกข้าง ความสำคัญอยู่ที่การนำเสนอข้อเท็จจริงว่ามีการบิดเบือนหรือไม่”
ข้อเสนอของวงสนทนาสาธารณะมีดังนี้
1.การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องเป็นไปตามหลักกฏหมายสากล
2.เปิดพื้นที่สื่อสารเพื่อลดการเหมารวมจากคู่ขัดแย้ง
3.จะต้องมีการจัดตั้งพื้นที่ปลอดสัญลักษณ์ความขัดแย้ง
4.ภายใต้ภาวะความขัดแย้งที่ต้องการเปิดพื้นที่ทางการเมือง จำเป็นที่จะต้องเร่งสร้างพื้นที่เสรีในการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพ
5.จำเป็นต้องเริ่มต้นการพูดคุยสันติภาพในเร็ววัน