หกสิบกว่าปีแล้วที่ชายคนนี้ถือกำเนิดมา วารินทร์ สุคนธชาติ ลูกหลานชาวแหลมตะลุมพุก นครศรีธรรมราช หากมาเติบใหญ่ในยะลา จังหวัดใต้สุดแดนสยาม และยังคงอยู่ที่ยะลามาจวบจนปัจจุบัน
ลุงสั้น หรือ วารินทร์ ผู้ชายอารมณ์ดี ชอบแต่งเพลง บทกลอน และมีคำคมให้กับคู่สนทนาอยู่เสมอ โต๊ะม้าหินหน้าช้างทองการพิมพ์ ถนนผังเมือง 4 หน้าซอย 6 คือที่ประจำที่ลุงสั้นใช้ทำงาน และพูดคุย พร้อมนอนพักผ่อนไม่ใส่เสื้ออย่างสบายอารมณ์ เป็นที่คุ้นตาคุ้นชินของชาวเมืองยะลากับอิริยาบถแบบถึงลูกถึงคนของลุงสั้น
ในช่วงบ่ายของวันฝนตกหนัก ลุงสั้นย้อนความหลังให้ฟังว่า พ่อแม่ญาติพี่น้องเป็นชาวต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ลุงสั้นมีพี่น้อง 10 คน พ่อแม่ทำมาหากินด้วยอาชีพประมง เมื่อปี 2505 เกิดวาตภัยสร้างภัยพิบัติแก่ชาวแหลมตะลุมพุกทุกครัวเรือน จนมีการเกิดนิคมกือลอง(นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดยะลา) อ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่ให้พี่น้องที่เดือดร้อนได้เข้ามาให้พื้นที่ทำมาหากินและสร้างบ้านเรือน ครอบครัวของลุงสั้นตัดสินใจมายังยะลาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ส่วนลุงสั้นได้ตามมาเมื่อปี 2509
“คนนครบ้านเราทำมาหากินกับการออกเรือประมง ออกเช้ากลับมาก็ได้กินได้เงิน มาอยู่ที่นี่ต้องรอกว่าจะทำมาหากินได้เงินมา จึงกลับไปกันเยอะ ผมขึ้นรถไฟมาจากนครถึงสถานีรถไฟยะลาแล้วรถที่จะเข้านิคมหมดจึงต้องนอนที่สถานี มีเงินแค่ 10 บาท ต้องรอรถอีกวันครอบครัวผมยังอยู่ที่นี่ต่อเพื่อตั้งต้นชีวิตใหม่ด้วยความอดทน ขยัน สู้ชีวิต และนับถือนายทวีป ทวีพาณิชย์ ผู้ปกครองนิคมกือลองในสมัยนั้นเป็นพ่ออีกคนที่ให้ชีวิตใหม่แก่พวกเรา ท่านเป็นแบบอย่างในทุกด้านแก่ผม 11 ปีที่ท่านอยู่ที่นิคม ให้อาชีพและหลายอย่างกับผม ทุกคนในนิคมต่างมีความสุข มีคอบครัวและอาชีพที่ดี”
“ตอนนั้นผมเป็นหัวหน้างานพัฒนานิคมซึ่งเป็นงานใหม่ที่ตั้งหลังจากจัดตั้งนิคมสำเร็จ ดูแลเรื่องศาสนา การพัฒนา การมีส่วนร่วม ดูว่าชาวบ้านอยากได้อะไร เรามีวัสดุ มาพบกันครึ่งทาง ดูศักยภาพของหมู่บ้านว่าหาทรัพยากรได้แค่ไหน หากไม่มีรัฐหาให้แต่เขาต้องออกแรงเอง เขาก็มีความภูมิใจว่าได้ลงแรง เสียสละ เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างชาวบ้านจะสร้างมัสยิดก็ใช้กระบวนการนี้เช่นกัน เป็นการร่วมคิดร่วมทำ มีความจริงใจต่อกัน ซึ่งต่างกับทุกวันนี้ที่รัฐคิดและปฏิบัติเองหมด ข้าราชการขาดความจริงใจในการแก้ปัญหาทั้งที่เมื่อชาวบ้านมีปัญหาคือมีพระคุณกับข้าราชการที่ได้ทำงาน ได้ช่วยเหลือและมีเงินเดือนประทังชีวิต”
เมื่อสามปีที่แล้ว ลุงสั้นเกษียณงานในหน้าที่มาดูแลโรงพิมพ์ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงทุกวันนี้
“ตอนนั้นทำได้ปีกว่าแล้วหุ้นส่วนก็หนีไป แต่ขอบคุณที่เขาทำให้เราแกร่ง ได้เรียนรู้ บุญที่ทำมาได้ช่วยเป็นทุนแห่งคุณความดี ใช้ระบบเครดิตเป็นหลัก สร้างลูกน้องเป็นเถ้าแก่ไปหลายคน ลูกน้องที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมที่ให้โอกาสได้แสดงฝีมือในการทำงาน”
“ผมเป็นโรคหัวใจ ไขมันอุดตันแต่ยังไม่ผ่าตัด ไม่ไปทุกข์รอมัน ผมชอบแต่งเพลง แต่งกลอน กับเรื่องราวใกล้ๆ ตัว นั่งแต่งได้ทุกวัน เอามาประโยคเดียวก็แต่งได้แล้ว เอาสัจธรรมมาเขียนทำให้เขียนง่าย คำสอนของศาสนาก็นำมาใช้ได้หมด ทุกสิ่งเป็นสัจธรรมที่ต้องคิดตาม อารมณ์ดีแม้จะมีหนี้สิน”
ลุงสั้นบอกว่าปัญหาของทุกวันนี้คือคิดไม่เป็น ทำอะไรไม่ได้ บางคนเอาปัญหามาตั้ง ปัญหาคือวัคซีนที่ป้องกัน ทุกอย่างอยู่ที่กระบวนการคิด ข้าราชการกลัวความล้มเหลว ไม่กล้าคิดนอกกรอบ ขอให้นายสั่งอย่างเดียว จึงช่วยชาวบ้านไม่ทัน บางครั้งตีนโยบายไม่แตกแต่เอามาทำแล้ว สิ่งที่ในหลวงพูดคือกรองมาแล้ว มีทุกเรื่องพระราชดำรัสของพระองค์มี 3-4 บรรทัดแต่คือการสรุปความเช่น “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์แห่งมหาชนชาวสยาม” ทุกอย่างก็ตามมา หรือความพอเพียงไม่ได้สอนให้เกียจคร้าน คือการทำให้เหลือ แล้วขายแล้วแจก มีน้ำใจต่อกันกับเพื่อนบ้านและชุมชน แต่กลับไม่กรองเอามาทำเลย การที่มีในหลวง มีพระพุทธเจ้า มีอัลลอฮฺ มีพระเยซู แต่ยังปฏิบัติกันแค่เปลือก ไม่เข้าถึงแก่นของศาสนาและทำได้ยาก
“ปัญหาของครอบครัว สังคม ประเทศชาติและโลก เกิดจากคำสี่คำคือ ความไม่เข้าใจ ทุกคนมีหน้าที่ที่จะเป็นยางลบมาลบคำว่า “ไม่” ออก จะเหลือเพียง “ความเข้าใจ” ทุกอย่างจะมีความสุข ความเข้าใจกัน พ่อแม่เข้าใจลูก รัฐเข้าใจชาวบ้าน ชาวบ้านเข้าใจรัฐ ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด”
ลุงสั้นฝากถึงสิ่งที่ช่วยให้หลายอย่างผ่านไปด้วยดีคือ การทำงานทุกหน้าที่ต้องทำด้วย 3 ช.คือ การสร้างความเชื่อ สร้างความชอบและการช่วย ส่วนคนที่จะพึ่งพาได้ต้องดู 3 จ.คือ ยามจน ยามเจ็บ และยามจาก สำหรับ การยิ้มแย้ม ยกย่อง และเยือกเย็น เป็น 3 ย.ที่สำคัญ, ให้มองงานที่ทำตรงหน้าคืองานที่สำคัญที่สุด, คนสำคัญที่สุดคือคนที่อยู่ตรงหน้า,ปัญหาทำให้เกิดปัญญา และหน้าที่คือธรรมชาติ
ความฝันและหวังของลุงสั้นในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่คือ จัดตั้งมูลนิธิช่วยคนให้พ้นทุกข์ ซึ่งลุงสั้นบอกว่า
“หากยังไม่ตายจะทำให้ได้”