ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนเราในเกือบทุกเรื่อง ทำให้ต้องมีการเรียนรู้เพื่อเท่าทันเทคโนโลยีเหล่านั้น ซึ่งในการเรียนการสอนในโรงเรียนนับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม หากมีระบบการจัดการที่ดีและเอื้อต่อการเรียนรู้จะสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเด็กให้ได้รับประโยชน์สูงสุด
การเรียนการสอนสมัยใหม่ ด้วย Mobile Learning (mLearning) เอ็มเลิร์นนิ่ง – การเรียนทางเครือข่ายไร้สาย จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
การเติบโตของเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารในช่วงระยะสิบปีที่ผ่านมาเป็นพื้นฐานสำคัญที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสาร และสาระความรู้ได้อย่างไร้ขอบเขตคือ ทุกคนสามารถติดต่อสื่อสารกัน และเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกหนแห่งและตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการใช้อินเทอร์เน็ต เครือข่ายไร้สาย หรือการติดต่อผ่านทางอุปกรณ์พกพาต่างๆ เช่น เครื่องโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาอื่นๆ ที่มีความสามารถคล้ายกันจึงเป็นเรื่องใกล้ตัว
เอ็มเลิร์นนิ่งจึงเป็นแนวโน้มที่เป็นช่องทางใหม่ที่จะกระจายความรู้สู่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะเป็นทางเลือกใหม่ที่ส่งเสริมให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตบรรลุวัตถุประสงค์ได้ดีอีกด้วย เหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนประเด็นนี้ก็คือ มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกกว่า 3.3 พันล้านคน
ดร.มูฮัสซัล และ ดร.ศริยา บิลแสละ สองนักวิชาการจากคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงสนใจในการใช้โมบายเลิร์นนิ่ง และเป็นที่มาของงานวิจัยเรื่อง การใช้โมบายเลิร์นนิ่งเพื่อการเรียนรู้ในจังหวัดชายแดนใต้ : Mobile Learning implementation framework in the Conflict Area of the Four Southernmost Provinces of Thailand
ดร.มูฮัซซัล บอกว่าสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ทำให้โรงเรียนต่างๆ ได้รับผลกระทบไปทั้งหมด โรงเรียนต้องปิดบ่อยด้วยเกรงความไม่ปลอดภัยโดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในอำเภอนอกตัวเมือง เด็กมีเวลาเรียนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเด็กในพื้นที่อื่น เด็กมาเรียนบ้างไม่มาบ้าง และพบว่ามีเด็กที่ยังอ่านหนังสือไม่ออกอีกมาก บางคนจบป.6 ยังอ่านหนังสือไม่แตก ผลสอบโอเน็ตก็ต่ำมาก จึงสนใจว่าจะมีเทคโนโลยีใดมาเติมเต็มได้ ซึ่งมี Mobile ที่ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ มาส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กได้ดี
“ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของคนเราเกือบทุกย่างก้าว ในต่างประเทศเด็กสามารถนำไปใช้ได้ตลอดเวลา จึงอยากรู้ว่าบ้านเราจะใช้อย่างนั้นได้หรือไม่ ในขณะที่รัฐมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาการใช้มือถือจึงมาช่วย 1.สำรวจสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง 2.ค้นหาข้อจำกัดของการเรียนในห้องเรียน 3.ข้อมูลที่เกิดขึ้นจากแหล่งต่างๆ มีการใช้ในพื้นที่อย่างไร 4.ออกแบบและสร้างแนวทาง กรอบแนวคิดให้ผู้บริหารว่าหากจะใช้อุปกรณ์พกพาต้องใช้อะไรบ้าง”
ทั้งสองใช้เวลาในการวิจัยเรื่องนี้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555-พฤศจิกายน 2556 รวมเวลา 18 เดือน ทำให้ได้เห็นถึงประโยชน์มากมายของการใช้อุปกรณ์พกพา
“จริงๆ เรื่องนี้มีประโยชน์มากหากผู้บริหารได้อ่านและนำไปใช้จริง นี่เป็นเฟสแรกของงงานวิจัย ถ้ารัฐจะส่งเสริมตามแนวนี้ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดี อยู่ที่ว่าจะนำไปปฏิบัติหรือไม่หรือจะเอาไปต่อยอด เราได้ค้นพบว่าสามจังหวัดชายแดนใต้ยังห่างไกลมากกับการใช้อุปกรณ์พกพา ขาดครูที่มีประสบการณ์ ขากดกระบบการจัดการที่ดี ขาดการฝึกให้ครูเป็นผู้จัดการ คิดว่าอุปกรณ์พกกามาแทนครู แต่ความจริงคือเป็นการส่งเสริมไม่ใช่มาทดแทน ใช้แค่ 15 นาที ไม่ใช่ใช้เต็มเวลา เกิดความเข้าใจผิด ไม่เข้าใจกระบวนการเรียนการสอน บางโรงเรียนต่อต้านเรื่องนี้เพราะเข้าใจผิด ในความจริงเป็นเครื่องมือที่เราปฏิเสธไม่ได้เพราะยุคนี้เป็นยุคที่ก้าวไปข้างหน้า เทคโนโลยีวิ่งชนเราทุกวัน
รวมทั้งขาดกิจกรรมและเนื้อหาที่ตรงกับความต้องการของเด็ก ไม่มีคลังความรู้ที่ดี ความสามารถในการใช้ภาษาที่ดีของเด็กต่ำ การออกแบบไม่เหมาะสม ผู้ปกครองขาดทักษะร่วมกัน ไม่มีการออกแบบหลักสูตรที่จะใช้กับครูในเรื่องนี้ มีแต่คู่มือแต่ไม่มีรายละเอียดบอกครู ขาดการประเมินเนื้อหาการสอน ครูผู้สอน ผู้เรียน ขาดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการใช้กับเครือข่าย หรือมีแต่ไม่เหมาะสม รวมทั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ตโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ แนวความคิดของของครู ผู้เรียน ผู้ปกครองที่มีต่อเทคโนโลยียังมีการเข้าใจผิดว่าเป็นปัญหาที่ไม่สามารถพัฒนาและส่งเสริมได้”
ซึ่งในกรอบงานวิจัยนี้ ดร.ศริยาบอกว่าหากรัฐจะนำไปใช้ต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมทั้งน้ำหนัก แบตเตอรี่ CPU เนื้อหา ต้องค้นหา สร้าง และประเมินเครื่องมือได้ พุ่งเป้าไปที่การออกแบบให้ใช้งานได้จริง ใช้ง่าย เหมาะกับวัยของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กอ่านง่าย ฝึกเด็กได้ ซึ่งต้องดูตั้งแต่ภูมิหลังของเด็กและครอบครัว เช่นเด็กมุสลิมก็ต้องให้ในเรื่องที่ตรงกับความเชื่อของเขา ไม่ขัดกัน ส่งเสริมในสิ่งที่ถูกต้อง ความร่วมมือของเนื้อหา โรงเรียน ครู รัฐ ต้องให้ความร่วมมือกันได้จริง
“ต้องมีเครือข่าย คุณลักษณะต้องรองรับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลาให้เสถียร มีการจัดการที่ดีและเหมาะสม ใช้การเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ถ้ารัฐให้ความสนใจทุกจุดที่ค้นพบ ในโอกาสต่อไปจะไปสร้างกระบวนการจัดการเรียนการสอนกับครูโดยใช้การบูรณาการเทคโนโลยีเข้าไปในการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ครูที่เชี่ยวชาญจะทำให้ผู้เรียนสำเร็จ จะนำร่องทำในสามจังหวัด จังหวัดละ 2 โรงเรียน ในชั้นป. 3 กับ ป.5 ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โดยพิจารณาจากโรงเรียนที่พร้อม ผู้บริหารพร้อมก้าวไปกับเรา ครูที่คัดเลือกมาต้องพร้อมก้าวไปด้วยกันเช่นกัน ซึ่งเลือกโรงเรียนที่ขาดโอกาสก่อน เป้าหมายอยู่ที่ตัวเด็กไม่ใช่ครู จะทำให้เป็นโมเดลที่ทำได้จริง แล้วจะขยายผลไปยังหลายโรงเรียนเพื่อได้ประโยชน์ตามที่คาดหวัง เราต้องตั้งความหวังไว้สูง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำแล้วสนุก ท้าทาย เน้นการลงมือทำให้ครูได้ลงมือทำโดยมีเราเป็นผู้ช่วย สำคัญคือเน้นให้ผู้เรียนทำเป็น”
เอ็มเลิร์นนิ่งกำลังก้าวเข้ามาเป็นการเรียนรู้คู่กับสังคมอย่างแท้จริง เนื่องจากความเป็นอิสระของเครือข่ายไร้สาย ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา อีกทั้งจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาที่ใช้เป็นเครื่องมือนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญยิ่งของเอ็มเลิร์นนิ่งนั้นอยู่ที่การเรียนรู้ และการมุ่งพัฒนาเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริง งานวิจัยเรื่องนี้กำลังจะพิสูจน์ความจริงนี้