ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง “การสื่อสาร ความขัดแย้ง และกระบวนการสันติภาพ : ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย” (Communication, Conflicts and Peace Processes :Landscape of Knowledge from Asia and the Deep South of Thailand) หรือ CCPP ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 21-22 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา มีงานสัมมนาน่าสนใจเวทีหนึ่งคือ “บนเส้นทางสันติภาพ: ชายแดนใต้/ปาตานีในสถานการณ์ใหม่” ที่มี พล.ต. นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ,ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการ STEP ,พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม รอมฏอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, ดอน ปาทาน ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศปาตานีฟอรั่ม และ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระ ร่วมวงเสวนา
นางสาวรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “เส้นทางกระบวนการสันติภาพปาตานี” กล่าวว่า การพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการนับเป็นพัฒนาการก้าวที่สำคัญมาก ก่อนหน้านี้แม้รัฐไทยจะเคยไปพูดคุยกับฝ่ายขบวนการแต่ก็มักจะดำเนินการแบบปิดลับ และไม่เคยยอมรับที่จะพูดคุยอย่างเป็นทางการ การที่ตัวแทนฝ่ายบีอาร์เอ็นได้แสดงจุดยืนผ่านเอกสารชี้แจงข้อเรียกร้อง 5 ข้อมายังรัฐบาลไทยว่าไม่ได้ต้องการจะแยกเป็นรัฐอิสระ แต่ต้องการที่จะเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองนั้น นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีว่าการพูดคุยสันติภาพน่าจะเป็นเวทีที่คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจะสามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ จึงอยากให้กองทัพเปิดใจกว้าง ไม่ตั้งเงื่อนไขที่จะทำให้คู่เจรจาปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการพูดคุยตั้งแต่แรก
พล.ต. นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า รัฐบาลไทยควรสื่อสารกับคนทั้งประเทศว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพที่ภาคใต้ จึงจะสามารถดำเนินการได้ และควรเปิด Road Map (แผนที่นำทาง) ให้ทราบกันทั่วไปเพื่อสร้างความเชื่อมั่น
“ทิศทางของสถานการณ์ปัจจุบันมีพัฒนาการดีขึ้น จากประกาศของ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ฉบับที่ 96 ให้ความสำคัญกับกลุ่มงานในการหาทางออกของความขัดแย้ง เป็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนซึ่งมี 7 กลุ่มงานที่ทำหน้าที่โดยตรง และ ฉบับที่ 98 เป็นโครงสร้างของบูรณาการ มีเอกภาพ มีทิศทางแก้ปัญหาที่เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อสถานการณ์การเมืองไม่แทรกแซง เกิดเป็นรูปธรรมและเดินไปข้างหน้า
การปรับโครงสร้างการพูดคุยสันติภาพมี 3 ระดับคือ 1. ระดับนโยบาย มีกลุ่มที่มีอำนาจในการตัดสินใจมาเกี่ยวข้อง 2.ระดับขับเคลื่อน มีทั้งแบบปิดลับและแบบเปิด และ 3.ระดับพื้นที่ เป็นความรับผิดชอบของกอ.รมน.ภาค 4 มีการบูรณาการของทุกภาคส่วนรวมทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความชัดเจนของรูปแบบต้องรอการประกาศจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ปลายเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งแนวโน้มของการพูดคุยสันติภาพต้องมีการพูดคุยในระดับบนก่อน (Track1) จากนั้นจะมีการสื่อสารถึงกลุ่มต่างๆทันที กรอบการพูดคุยสันติภาพ ยังคงกรอบเดิมที่มีข้อเรียกร้องที่เกิดจากกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นกรอบในการพูดคุยกันต่อ รัฐจะบริหารจัดการความขัดแย้งบนฐานของความแตกต่างอย่างไร
ประวัติศาสตร์ตัดตอนสร้างความแตกแยก เรื่องบูรณาการอำนาจและบูรณาการดินแดน ต้องยอมรับว่าดินแดนไหนอ่อนแอก็อาจถูกยึด ปัญหาภาคใต้จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการเมือง ต้องยุติสภาพปัญหา สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ฝ่ายข้าศึกที่สู้กับฝ่ายรัฐเราสู้ได้ แต่หากประชาชนตายหนึ่งคน ก็จะมีคนเกิดขึ้นมาสอง”
พล.ต.นักรบ บอกว่าหน้าที่ของ กอ.รมน. คือการป้อง ปราม แก้ไข ยุทธศาสตร์ที่ทำให้เกิดความสงบสุขคือความปลอดภัยของประชาชน ในการรบมีคนอยู่ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายเรา ฝ่ายตรงข้าม และฝ่ายตรงกลาง หากฝ่ายใดที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายตรงกลางก็เป็นฝ่ายชนะ เพราะประชาชนคือจุดสมดุล ฝ่ายความมั่นคงต้องดูเรื่องประเทศ เรื่องแยกหรือแตกแยกเป็นอันดับแรก การพูดคุยสันติภาพที่มีพัฒนาการและมีการสนับสนุน นโยบาย 9 ข้อที่ประกาศออกมาเป็นการหาทางออกจากความขัดแย้ง แต่หากนโยบายนี้สะดุด ทุกคนก็ด่าทหาร ทหารคือตัวรองรับ ทหารจึงต้องทำทีละขั้น 10 ปีที่ผ่านมา กับ 7 รัฐบาลที่มีความเสถียรทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ต่อเนื่อง
“บทเรียนของรัฐในการพูดคุยคือการจัดทำโรดแมปไม่ดี ต้องพร้อมในการพูดคุย และถามว่าการพูดคุยสันติภาพตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่หรือไม่ หนึ่งปีของการพูดคุยประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม ต้องดำเนินการในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจก่อน แต่เมื่อการพูดคุยสันติภาพเริ่มต้นขึ้นแล้ว การเมืองก็เร่งเร้า เนื่องจากในปี 2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจึงเร่งพูดคุย”
พล.ต.นักรบ บอกว่าในทางการข่าวเชื่อว่า ฮัสซัน ตอยิบ คือตัวจริงในการเป็นสายข่าวในต่างประเทศ ซึ่งทุกคนต้องยอมรับเพียงแต่ฮัสซันอาจไม่สามารถประสานกับกลุ่มเคลื่อนไหวในพื้นที่โดยตรง เมื่อไม่มีการพูดคุยภายในทำให้เกิดการไม่ยอมรับผู้นำในการคุย นักเคลื่อนไหวและกลุ่มเยาวชนก็ไม่ยอมรับการนำของฮัสซัน จึงแตกออกมาเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มเห็นด้วย กลุ่มไม่เห็นด้วย และกลุ่มที่รอดูท่าที
“เมื่อมาถึงขั้นเป็นโรดแมปต้องทำใน 3 เรื่องคือ เริ่มต้นด้วยขั้นตอนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ก่อนจะมีการลงสัตยาบันและการพูดคุยในรายละเอียดเนื้อหาเป็นขั้นตอนสุดท้ายเนื่องจากการเมืองเร่งเร้าทำให้ขาดการสื่อสารกับประชาชน การพูดคุยสันติภาพที่มีประสิทธิภาพต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อยากให้เชื่อมั่นและศรัทธารัฐบาล เพราะการพูดคุยเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา นโยบายของรัฐ 9 ข้อ เขียนไปถึงการเจรจา และให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รับผิดชอบการพูดคุย เนื่องจากแต่ละระดับมีความต้องการที่แตกต่าง จึงต้องมีการพูดคุยและรับฟังทุกภาคส่วน ซึ่งรัฐบาลใหม่อยากคุยต่อและจะดียิ่งขึ้นหากการพูดคุยในครั้งนี้มีผู้ที่รู้ทั้งนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติเพื่อลดความรุนแรงในพื้นที่ร่วมด้วย”
นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า กระบวนสันติภาพไม่ควรสิ้นสุด ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะมีการต่อสู้ด้วยอาวุธหรือมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน”
“การมองสถานการณ์ใหม่ในเวอร์ชั่นเก่า การบังคับใช้กฎอัยการศึกทั้งประเทศ ในทางกฎหมายมีการยกเลิกกฎอัยการศึกเป็นบางช่วงก่อนการปฏิวัติในปี 2549 พอมีกรปฏิวัติในปี 2550 มีเหตุเกิดที่ชายแดนใต้มมากขึ้น ผลคือมีการออกหมายจับบุคคลมากขึ้น ซึ่งต้องมีการจัดการที่รัดกุม ดูแลถูกต้อง มีหลักฐาน นำไปสู่กระบวนการซักถาม การจับซ้ำซ้อนทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น อยากให้ยกเลิกกฎอัยการศึกทั้งประเทศ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคนในการสร้างพื้นที่สันติภาพ”
ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงการพูดคุยสันติภาพว่า ที่ผ่านมาโต๊ะเจรจาให้ความสำคัญกับผู้ใช้ความรุนแรง แต่เรื่องการละเมิดสิทธ์และความไม่เป็นธรรมจากทางรัฐและไม่ใช่รัฐที่ผู้ถูกกระทบได้รับไม่มีการพูดถึง ต้องชวนกันพูดถึงในห้วงสิบปีนี้ว่าใครต้องรับผิดชอบแค่ไหน เพราะหากไม่พูดผู้ที่ได้รับผลกระทบก็ไม่ได้รับอะไรเลย การเยียวยาด้วยเงินไม่ได้ทำให้ความเจ็บปวดในใจหายไป ญาติเหยื่อของเจ้าหน้าที่ก็อมทุกข์ กระจายอคติไปทั่ว ไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เป็นการถ่วงการเดินหน้าของสันติภาพ
ด้าน นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้กล่าวว่า การลงนามการพูดคุยสันติภาพเป็นการเปิดให้เห็นว่าปัญหาหลักในภาคใต้คืออะไร
“เมื่อคิดถึงการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งต้องนิยามให้ชัดว่าเจอปัญหาอะไร เมื่อรู้ก็จะรู้ยุทธศาสตร์การคลี่คลายได้ ซึ่งกระบวนการสันติภาพเป็นส่วนหนึ่งนอกจากนี้ การเริ่มต้นพูดคุยอย่างเป็นทางการยังช่วยยกระดับการพูดคุยเรื่องอนาคตของ “ปาตานี” การส่งสัญญาณพูดคุยสันติภาพเป็นสิ่งที่ดีที่เดินหน้า ขบวนการก็สะท้อนว่ารัฐบาลที่มาจากทหารก็ทำได้ “วาระแห่งชาติ” นี้จึงมีความหมายมากสำหรับคนที่นี่ มีการพูดคุยเปิดเผยมากขึ้น เพดานการถกเถียงขยับขึ้น และภาคประชาสังคมต้องเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนนี้ด้วย”