ดงต้นจากริมน้ำทอดแถวยาวสุดลูกตาชูใบท้าแสงตะวันอย่างไม่หวั่น เป็นสัญลักษณ์ว่ามาถึงชุมชนบ้านพ่อเทพ ตำบลไทรทอง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานีแล้ว ที่นี่มีต้นจากล้อมรอบหมู่บ้านที่เป็นเกาะติดคลองและทะเลทั้งสองฝั่ง ต้นจากจึงเป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้หลักของคนที่นี่ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพลอกใบจากขายโดยเป็นการสืบทอดภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษ
ชุมชนบ้านพ่อเทพหรือ สะบือรังบารู ชุมชนมุสลิมกว่า 50 ครัวเรือนมีวิถีชีวิตเรียบง่าย ทำมาหากินด้วยอาชีพประมงและขายใบจากเป็นหลัก ริมคลองรอบๆหมู่บ้าน บนเนื้อที่ประมาณ 98.4 ไร่ ต้นจากเป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้สำคัญของคนบ้านพ่อเทพ ต้นจากขึ้นในที่สาธารณะที่คนที่นี่ถือว่าต้นจากเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล จากการที่คนเฒ่าคนแก่ในอดีตได้จับจองพื้นที่แสดงความเป็นเจ้าของ และส่งต่อกรรมฺสิทธิ์การถือครองการใช้ประโยชน์ ซึ่งทุกคนในบ้านพ่อเทพต่างยอมรับและเคารพในกติการ่วมของชุมชน ทำให้ไม่เกิดการกรณีพิพาทเรื่องการใช้ประโยชน์จากต้นจากตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ชาวบ้านพ่อเทพใช้ประโยชน์จากต้นจากหลัก คือ ลอกใบจากและทำน้ำส้มจากขาย ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์จากต้นจากอย่างคุ้มค่า ปริมาณของก้านจากและทางจากที่เหลือจากการลอกใบจากมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เป็นวัสดุเหลือใช้ที่ไร้ประโยชน์ นำก้านจากและทางจากไปทิ้ง เผาและปล่อยให้ทับถมไป ในช่วงฤดูฝนก็จะลอกใบจากไม่ได้ทำให้มีรายได้ไม่พอใช้ในครัวเรือน เนื่องจากต้องรอยอดจากขึ้นยอดใหม่ประมาณ 2-3 เดือนถึงจะตัดได้ ทำให้ชาวบ้านบางส่วนต้องสั่งซื้อยอดจากจากจังหวัดสตูลและนครศรีธรรมราช เพื่อหารายได้ระหว่างรอยอดจากงอก
ประโยชน์จากต้นจากตั้งแต่รากถึงยอดคือ ใบจากแก่ ใช้ห่อทำขนมจาก และทำหมวกกันแดดและฝน ก้านจากช่อดอกอ่อนของต้น ทำน้ำส้มจาก เมล็ดจากเนื้อใน ทำลูกจากลอย ช่อดอกอ่อน ที่เรียกว่านกจาก ใช้ทำยำยอดจาก ก้านใบจาก ในอดีตเคยทำเป็นเสวียนหม้อมาใช้ในครัวเรือน รากจาก เป็นยาสมุนไพร
ในปี 2554 บัณฑิตอาสา รุ่นที่ 7 จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เข้ามาทำงานในชุมชนบ้านพ่อเทพและเห็นว่าควรนำก้านจากเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านพ่อเทพ และร่วมกันจัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพการสร้างผลิตภัณฑ์จากก้านจาก เพื่อให้คนในชุมชนเกิดการรวมกลุ่ม สามารถใช้วัสดุเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ และมีรายได้เสริมจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์
นางแมะ วาดิง แกนนำกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านพ่อเทพ ย้อนความถึงวันเริ่มต้นตั้งกลุ่มฯ ให้ฟังว่า “ในชุมชนมีชาวบ้านลอกใบจากขายและทิ้งก้านจากมานานเพราะไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ใช้ประโยชน์ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ พอหน้าฝนก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีแดดตากใบจาก จนบัณฑิตอาสาจากม.อ.เข้ามา เขานัดประชุมคุยกันกับชาวบ้านว่าจะทำโครงการพัฒนาก้านจากและจัดตั้งกลุ่มฯ โดยมีสมาชิกยี่สิบกว่าคน ไปดูงานการทำผลิตภัณฑ์จากก้านจากกันที่บ้านนายอดทอง-ทุ่งไพร อ.กันตัง จ.ตรัง สองครั้งจนกลับมาทำได้โดยเริ่มจากการทำเสวียนหม้อ ซึ่งเป็นการจักสานที่บรรพบุรุษเคยทำมาก่อนแต่ไม่มีใครสืบทอด และเกิดกลุ่มอนุรักษ์ป่าจากบ้านพ่อเทพ เพื่อรองรับจากการใช้ประโยชน์จากต้นจากที่เพิ่มขึ้นในอนาคต สมาชิกกลุ่มได้ตระหนักถึงความยั่งยืนของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น”
เสวียนหม้อ หรือที่รองก้นหม้อ คือผลิตภัณฑ์แรกที่กลุ่มฯ ได้ทำและทำได้ จากนั้นมีการพัฒนามาเป็น ฝาชี กล่องทิชชู กล่องดินสอ โคมไฟ ตะกร้า เป็นต้น จากการจัดกิจกรรมทำให้กลุ่มสตรีพัฒนาบ้านพ่อเทพมีแนวทางในการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการกลุ่ม สมาชิกกลุ่มมีทัศนคติที่ดี มีแผนงาน มีเป้าหมายที่จะทำต่อในอนาคต สมาชิกกลุ่มได้เรียนรู้รูปแบบ และวิธีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
“ปกติแม่บ้านที่นี่จะลอกใบจากอยู่กับบ้าน พ่อบ้านก็ไปทำงานประมงและงานอื่นๆ การมาทำจักสานก้านจากเป็นการเสริมรายได้ที่ดีและทำให้พวกเรามีความร่วมมือและสามัคคีกันมากขึ้น ได้ไปออกงานตามที่ต่างๆ ทำให้กล้าพูดกล้าแสดงออก ได้ประสบการณ์กับตัวเอง เวลามีงานถ้าใครสะดวกก็จะไปกันทั้งกลุ่ม คนที่ทำเก่งก็ไปสาธิตให้ดู คนอื่นก็ไปเก็บประสบการณ์มาพัฒนาฝีมือและผลิตภัณฑ์”
กลุ่มฯ มีพัฒนาการด้านการบริหารจัดการกลุ่มผ่านกระบวนการคิด การพัฒนาของกลุ่มที่เป็นระบบมากขึ้นที่นางแมะบอกว่า มีการประชุมกลุ่มอย่างน้อย 2 ครั้งต่อเดือนเพื่อสร้างสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกถ่ายทอดความรู้ด้านผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดความประณีตจากเดิม ถ้าทำจริงจังเดือนนึงสามารถทำได้หลายสิบชิ้นต่อคน เมื่อไปออกงานขายได้ กลับมาก็จะแบ่งเงินให้แก่คนที่ทำ โดยหัก 10 เปอร์เซ็นต์เข้ากลุ่ม มีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างโปร่งใส บัญชี ซื้อ-ขาย ผลิตภัณฑ์ทั้งปลีก-ส่ง และสามารถกำหนดราคาตามขนาดของผลิตภัณฑ์ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีคนซื้อ เพราะทางกลุ่มมีการรับซื้อผลิตภัณฑ์ของสมาชิกกลุ่ม อย่างน้อยเดือนละ 3 ครั้ง
จากการเริ่มต้นของบัณฑิตอาสา ได้มีการสนับสนุนโครงการนี้ด้านต่างๆ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กศน.ต.ไทรทอง เกษตรอำเภอ และอบต.ไทรทอง ทั้งการศึกษาดูงาน แนะนำ เพิ่มองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ เตรียมตัวในการเข้าโอทอปและการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย
ทางกลุ่มฯ บอกถึงสิ่งที่อยากให้มีและเป็นจริงคือ “อยากมีที่ทำการกลุ่มถาวรเพื่อที่จะสามารถวางสินค้าขายได้ ประชุมและพูดคุยเรื่องอื่นได้ด้วย พร้อมทั้งอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มากแบบกว่านี้ ไปออกงานมากขึ้นและมีตลาดกว้างขึ้น
นางแมะ บอกกล่าวถึงความรู้สึกอย่างภูมิใจถึงการทำงานต่อยอดจากก้านจากว่า “ดีใจที่มีคนและหน่วยงานมาช่วยเหลือและให้คำแนะนำ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้มีรายได้เข้ามาและเป็นการลดค่าใช้จ่ายอีกด้วย สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ได้จากโครงการนี้คือ ทำให้คนในหมู่บ้านมีความร่วมมือ แบ่งปันและเอื้ออารีต่อกัน เราตั้งใจว่าจะไม่ขายที่ทางที่มีต้นจากอย่างแน่นอน”
จากการพัฒนาอาชีพเสริมจาก “ต้นจาก” อย่างคุ้มค่าตั้งแต่รากถึงยอดของชุมชนบ้านพ่อเทพ เห็นถึงพัฒนาการความก้าวหน้าของบุคคลและผลิตภัณฑ์ ที่หลายภาคส่วนได้ร่วมมือร่วมใจช่วยกันหนุนเสริมให้ชาวบ้านได้มีฐานที่แข็งแรง พร้อมเดินได้ด้วยตัวเองและพัฒนาโดยยั่งยืนโดยมีความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นเป้าหมายหลัก