งานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง “การสื่อสาร ความขัดแย้ง และกระบวนการสันติภาพ : ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย” (Communication, Conflicts and Peace Processes :Landscape of Knowledge from Asia and the Deep South of Thailand) หรือ CCPP ณ วิทยาลัยอิสลามศึกษา และคณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เมื่อวันที่ 21-22 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากจากหลากหลายวงการ
Sanjana Yajitha Hattotuwa นักเคลื่อนไหวทางด้านสื่อสารมวลชนและหัวหน้าหน่วยสื่อ ศูนย์นโยบายทางเลือก (Centre for Policy Alternatives) ประเทศศรีลังกา ร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ระหว่างสองทางเลือกอันเป็นหายนะ : การใช้ศักยภาพของสื่อใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง (Between Scylla and Charybdis : Harnessing the Potential of New Media for Conflict Transformation” ย้ำว่า การสื่อสารกับสันติภาพต้องไม่แยกออกจากกัน เสรีภาพการสื่อสารจะนำไปสู่ฉันทามติในเรื่องต่างๆ พร้อมชี้ทางให้นักสันติภาพใช้สื่อและเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านสู่สันติภาพได้
ซานจานา (Sanjana) กล่าวว่า “ปาตานีมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพได้ ผมกระตุ้นสังคมให้รู้สึกว่า ต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพ ด้วยการสื่อสารผ่านสื่อหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ เหมือนกรณีปัญหาความขัดแย้งในประเทศศรีลังกาที่เทคโนโลยีและการสื่อมีส่วนช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศได้”
“ศรีลังกาจมอยู่ในความขัดแย้งมานานหลายปี จึงมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพูดถึงความขัดแย้งและจัดการความขัดแย้ง การใช้สื่อเป็นสิ่งที่เหนื่อยยาก แต่ได้ผลในการที่ทำให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองจากหลายฝ่ายในเรื่องกระบวนการ ผมดีใจที่เห็นภาคใต้ของไทยให้ความสนใจในเรื่องการสื่อสารเพื่อสันติภาพ ผมสงสัยว่าทำไมงานวิชาการครั้งนี้ถึงแยกออกเป็น 3 ส่วนคือ ระหว่างความขัดแย้ง การสื่อสารและสันติภาพ ทั้งที่จริงเรื่องทั้งหมดต่างมีความเชื่อมโยงกันอย่างยิ่งในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพ”
“การใช้ชีวิต” คือกระบวนการสร้างสันติภาพในความหมายของซานจานา เขากล่าวว่า ศรีลังกามีการใช้ระเบิดพลีชีพเป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลก ฉะนั้นการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพคือ การสื่อสาร การพูดคุยระหว่างผู้คนในประเทศที่เกิดความขัดแย้งนั้นๆ และต้องดึงคนที่พูดคุยสื่อสารกันในสื่อ ออกมาเจอกันในทางกายภาพด้วย
“ทุกวันนี้ผู้คนต่างใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสาร เราสามารถเห็นโลกในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เราไม่เคยเห็นข้อมูลข่าวสารของโลกกว้าง แต่สื่อใหม่ทำให้เราเห็น และสามารถสร้างข้อมูลของเรามาแบ่งปันต่อให้คนอื่นๆ รอบโลกได้อ่าน ฉะนั้นผู้ที่เป็นเหยื่อของความขัดแย้ง ยังสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแสดงในการแก้ไขความขัดแย้งได้ด้วย ด้วยการใช้เทคโนโลยีในการเขียนเล่าเรื่องราวของตัวเอง เสนอเรื่องราวเพื่อให้ได้ข้อคิดเห็นหลากหลายมาช่วยจัดการความขัดแย้งนั้น”
“หลังจากปีค.ศ. 2009 ศรีลังกาได้รับสันติภาพ สงครามสิ้นสุดลง เรากำลังมีอนาคตที่ค่อนข้างสดใส แต่ต้องตระหนักด้วยว่า ความขัดแย้งและความเกลียดชังยังคงอยู่ในจิตใจของใครหลายคน ต้องศึกษาศิลปะของการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง ไม่ต้องเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในการเรียนวิชาการเปลี่ยนความขัดแย้ง แต่เพียงค่อยๆ เรียนรู้ในสังคมหรือจากเพื่อนบ้าน ต้องทำความเข้าใจเรื่องสื่อใหม่(New Media) ตลอดเวลา เพราะมีสิ่งที่ให้เรียนรู้และท้าทายตลอดเวลา ต้องใช้สื่อในการสืบค้นงานวิจัยและแบ่งปันเรื่องราวความจริง การใช้สื่อใหม่เป็นการท้าทายต่อรัฐบาลศรีลังกา มีการถกเถียงกันว่า การมีเสรีภาพทางการสื่อสารนั้น จะนำไปสู่ฉันทามติที่ดีต่อเรื่องต่างๆ แต่รัฐบาลศรีลังกาคิดหาทางที่จะเซ็นเซอร์ข้อมูลบางอย่างที่คิดว่าเป็นภัยต่อรัฐบาล เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หล่อหลอมทัศนคติของเราได้ด้วยเช่นกัน ทั่วโลกมีการเข้าเฟสบุ๊คและทวีตข้อมูลกันจำนวนหลายล้านคน กว่า 100 ล้านเทราไบต์ต่อวัน เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า คนทั่วทุกมุมโลกกำลังตื่นตัวที่จะเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ และมีการส่งผ่านข้อมูลจำนวนมาก”
เมื่อมีการเคลื่อนย้ายข้อมูลที่มากมายเช่นนี้ ซานจานามองว่า นักสันติวิธีต้องดูว่า มีประเด็นอะไรบ้างที่คุยกันในสื่อ ผู้คนมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อเหตุการณ์นั้นๆ มีการระบุหรือไม่ว่าใครเป็นผู้กระทำต่อเหตุการณ์ความขัดแย้ง ที่ผ่านมาในสื่อใหม่ของศรีลังกาจะให้ความสำคัญกับการพูดถึงเรื่องพุทธศาสนา อัตลักษณ์ของมุสลิม บทบาทหญิงชาย ความแตกแยกระหว่างชุมชนสิงหลกับชุมชนทมิฬ ซึ่งเป็นการพูดถึงหลากหลายแง่มุม เมื่อมีคนพูดถึงขึ้นมาก็จะใช้สื่อในการสืบค้นย้อนหลังไปว่า เมื่อ 10 หรือ 20 ปีที่แล้วมีภาพถ่ายหรือข้อมูลใดบ้างที่พูดถึงเรื่องพวกนั้น ซานจานาเชื่อว่า ทุกคนสามารถผลิตข้อมูลได้และใช้ข้อมูลผ่านสื่อเป็น เมื่อก่อนไม่มีทางทราบความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสงคราม แต่ปัจจุบันรู้ทันข่าว เช่น ข่าวความขัดแย้งในตุรกี หรือการลุกฮือที่อาหรับกรณีอาหรับสปริงได้อย่างรวดเร็ว เขาเชื่อว่า
“เราสามารถใช้สื่อในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้แน่นอน นิวยอร์กไทม์ เคยพาดหัวข่าวและพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำในปาตานี ชุมชนหรือคนยากจนมักใช้สื่อในการค้นหาอย่าง google ในการหาข้อมูลด้านสุขภาพ ด้านการศาสนา การเล่นเกมส์เป็นส่วนใหญ่ แตกต่างกันกับระดับชนชั้นกลางและกลุ่มคนรวยที่ใช้เทคโนโลยีสืบค้นหาข้อมูลด้านที่พักร้อน ร้านอาหารและภัตตาคารระดับหรู แต่เป็นการชี้ให้เห็นว่า ทุกระดับต่างก็มีการใช้เทคโนโลยี อย่างในอินโดนีเซีย จำนวนข้อความที่ถูกส่งผ่านสื่อ แสดงให้เห็นว่า ทุกวันนี้ประเทศอินโดนีเซียกำลังประสบปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร”
เขาบอกว่า Big Data สามารถเก็บข้อมูลที่ผู้คนถกเถียงกันมากที่สุด ทำให้เห็นว่า ศรีลังกาเจอกับปัญหาอะไรบ้าง ผู้คนเกลียดชังเรื่องอะไร ข้อมูลไหนที่ตั้งขึ้นแล้วไม่มีคนตอบก็จะนำข้อมูลนั้นส่งผ่านสื่อเพื่อประโยชน์ในการนำมาวิเคราะห์ได้ และเป็นประโยชน์ในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพได้ หรืออาจเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการต่อสู้ก็เป็นได้เช่น การเลียนแบบรูปการชูมือสามนิ้ว อันเป็นรูปที่แสดงสัญลักษณ์ของการต่อต้าน หลายประเทศอาจจะไม่รู้ว่า ประเทศไทยเกิดปัญหาอะไร แต่ที่ทราบได้คือมีความไม่ปกติในประเทศไทย โดยสัญลักษณ์ชูมือสามนิ้วคนไทยเองก็สืบเลียนแบบมาจากภาพยนตร์ที่ถูกแชร์ผ่านสื่อเช่นกัน ถ้าไม่ติดตามเรื่องสัญลักษณ์เหล่านี้แล้วจะเป็นนักสันติวิธีได้อย่างไร
ซานจานากล่าวว่า สิ่งที่แย่ที่สุดในเอเชียคือ การกลัวศาสนาอิสลาม ในช่วงที่มีความขัดแย้งและความรุนแรงในศรีลังกา มีการปิดกั้นข้อมูลทางสื่ออินเตอร์เน็ต แต่ปรากฏว่ามีผู้คนเข้าค้นหาข้อมูลในกูเกิลเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีส่วนช่วยในการทำความเข้าใจมากขึ้น
“สื่อไม่สามารถแบ่งแยกออกจากเรื่องสันติภาพและสังคมการเมืองได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเรื่องการใช้สื่อและการใช้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านความขัดแย้งสู่สันติภาพให้ได้ ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นผู้ที่กุมข้อมูลต่างๆ ไว้จำนวนมาก หากไม่ได้เป็นแบบนั้นก็ต้องขอพึ่งพาข้อมูลจากผู้ที่กุมข้อมูล ซึ่งเป็นข้อเสียเปรียบของนักสันติวิธี ทุกวันนี้สังคมต้องการข้อมูลที่ชัดเจนและสั้นๆ ต้องทำงานอย่างรวดเร็ว จะพึ่งพาข้อมูลที่นักวิชาการผลิตออกมาคงไม่เพียงพอ ฉะนั้นหากจะพูดถึงเรื่องสันติภาพให้สังคมรับรู้และแลกเปลี่ยนกัน ปีศาจสองตัวจากเทพนิยายกรีก คือมาจากการมองว่า การที่จะก้าวไปข้างหน้าได้นั้น ต้องเดินทางไปสองทางพร้อมๆ กัน ทางที่ศึกษาความขัดแย้ง และทางที่จะใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง อย่าไปคิดว่ารัฐบาลจะเซ็นเซอร์ข้อมูลที่ไม่เป็นมิตรกับรัฐบาล เพราะแท้ที่จริงรัฐบาลไม่สามารถเซ็นเซอร์ได้ทุกอย่าง ข้อมูลและความจริงที่เรากุมไว้สามารถที่จะส่งต่อได้ เครื่องมือเทคโนโลยีที่อยู่ในกระเป๋าของเรา จะมีส่วนในการนำพวกเราไปสู่สังคมที่มีความเท่าเทียม”
ด้าน ดร.Stein Tonnesson จากสถาบันวิจัยสันติภาพแห่งออสโล ประเทศนอร์เวย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “จากระเบิดถึงป้ายผ้า : การเปลี่ยนยุทธวิธีการต่อสู้ด้วยอาวุธสู่การไม่ใช้อาวุธ” โดยนำเสนอผลงานวิจัยการรวบรวมสถิติการต่อสู้ในทวีปเอเชียในรูปแบบที่ใช้ความรุนแรงและสันติวิธี ตอกย้ำถึงสถิติจากทั่วโลกว่า การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงประสบผลสำเร็จมากกว่าการใช้ความรุนแรง และตั้งคำถามว่าเหตุใดกลุ่มต่อสู้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงใช้ความรุนแรงในการต่อสู้
ดร.Stein Tonnesson เป็นนักวิชาการที่ศึกษาวิจัยความขัดแย้งในประเทศเวียดนามและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาได้นำข้อคิดเห็นจากพื้นที่ความขัดแย้งต่างๆ สู่สาธารณะ และให้ข้อสังเกตถึงปัญหาความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ว่ามี 3 ประเด็น คือ 1.ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา 2. ความขัดแย้งทางการเมืองในกรุงเทพฯ และ 3.ความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“ตลอดระยะเวลา 10 ปีของความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่ามีการเสียชีวิตน้อยกว่า หากเปรียบเทียบกับความรุนแรงในตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงที่มีสงครามระหว่างปี 1960 – 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ผู้คนมากมายถูกฆ่าตายแม้ขณะนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีกลุ่มต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงบ้าง แต่มีสถิติการก่อสงครามเกิดขึ้นเพียงปีละ 25 ครั้ง และมีการเสียชีวิตจากการต่อสู้โดยใช้อาวุธปีละ 1,000 คน ซึ่งหากเปรียบเทียบสถิตินี้กับในอดีตถือว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสันติภาพมาก”
สำหรับกลุ่มที่ก่อเหตุความขัดแย้ง ดร.Stein ได้ศึกษากลุ่มที่ก่อเหตุความขัดแย้งถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยการวิจัยเกี่ยวกับลัทธิของอำนาจของประชาชน ซึ่งมีสมมติฐานบ่งบอกว่า เมื่อสงครามยุติลงก็ไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งจะลดลง แต่ความขัดแย้งได้เปลี่ยนรูปแบบไป มีการเจรจาที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จ
“ตัวอย่างการเจรจาสันติภาพในที่ต่างๆ เช่นการเจรจาที่ประเทศเกาหลีเมื่อปี ค.ศ. 1991 ซึ่งถือว่าล้มเหลว เพราะหลังจากนั้นมีการแยกประเทศเป็นเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ หรือปี ค.ศ.2005 ที่มีการเจรจาสันติภาพที่อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ถือว่าเป็นการเจรจาประสบความสำเร็จ เพราะทำให้ความขัดแย้งลดลง เกิดการพัฒนามากขึ้น ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวนับว่า ส่งผลต่อพื้นที่อื่นๆ”
เหตุผลที่การต่อสู้โดยใช้อาวุธไม่ประสบความสำเร็จนั้น ดร.Stein กล่าวว่า เนื่องจากการต่อสู้ในปัจจุบันต้องใช้ต้นทุนของการใช้อาวุธมากขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น สังคมกลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้น มีการสร้างถนนทำให้การคมนาคมสะดวกสบายมากขึ้น ดังนั้นกลุ่มกบฏจึงมีต้นทุนสูงขึ้นตามมารวมทั้งเกิดการแบ่งแยกทางความคิด คือ หากกลุ่มต่อสู้ใช้อาวุธรัฐมักจะตอบโต้โดยอาวุธในการปราบปราม ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ใช้ความรุนแรง รัฐอาจเห็นใจมากกว่า อย่างกรณีการต่อสู้ของพลังประชาชนในเมืองมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ต่อสู้ต่อต้านประธานาธิบดีมาร์กอส ถือเป็นประสบความสำเร็จของประชาชน การต่อสู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรงมีการใช้ยุทธวิธีที่ผสมผสานกัน อย่างกรณี เสื้อเหลือง เสื้อแดงในประเทศไทย มีการใช้ยุทธวิธีและกลยุทธ์ต่างๆ มากมาย เพื่อดึงมวลชนและเพื่อให้รัฐบาลเชื่อ การต่อสู้ดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต หรือมีกรณีกลุ่มเสื้อดำ และเกิดการเกิดรัฐประหารในที่สุด เขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ภายหลังจากสงครามและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอินโดจีน พม่า หรืออินโดนีเซีย เกิดความสงบสุขตามมา โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียภายหลังจากซูฮาร์โตร์หมดอำนาจลง มีนักวิจัยและนักวิชาการหลายคนต่างเขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับความรุนแรงที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีหนังสือเล่มไหนที่พูดถึงว่าทำไมอินโดนีเซียจึงมีสันติภาพ
ดร.Stein ตั้งคำถามต่อความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคำถามคือ ทำไมในปีค.ศ.1990 กลุ่มต่อสู้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงใช้วิธีการฆ่าครู ลอบสังหาร วางระเบิดรายวัน และเหตุใดการก่อเหตุแต่ละครั้งไม่มีการประกาศว่าใครเป็นตัวการที่อยู่เบื้องหลัง,/เหตุใดการต่อสู้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงใช้ความรุนแรงแม้จะมีอัตราในการชนะต่ำ หรือกลุ่มต่อสู้มองว่ารัฐไทยจะล่มสลายในอีกไม่ช้า หรือกลุ่มต่อสู้หวังว่าจะมีการเรียกร้องกันในระดับโลกและมีการแทรกแซงจากต่างประเทศ เหตุที่กลุ่มต่อสู้ยังใช้วิธีการรุนแรงเพราะไม่มีทางเลือกอื่นแล้วหรือ หรือกลุ่มต่อสู้มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม ปกป้องไม่ให้รัฐไทยเข้ามารุกราน หวังเพียงต้องการรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองไว้ หรือหรือกลุ่มต่อสู้คิดว่าการใช้อาวุธเป็นเวลานานๆ จะนำไปสู่การพูดคุยเจรจา
สำหรับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ที่จะเดินหน้าต่อไปดร.Stein บอกว่า การพูดคุยและตัวแทนของบีอาร์เอ็นต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ภาคประชาสังคมเองต้องมองว่ามีอำนาจอย่างไรในการต่อรองกับรัฐไทย ต้องมีข้อเรียกร้องที่ไม่แบ่งแยกระหว่างกัน ต้องเรียกร้องเรื่องการไม่ใช้อาวุธระหว่างการพูดคุย มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และควรมีการอบรมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ใช้ความรุนแรง