จากการเปิดเผยตัวเลขผู้สูญเสียของฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้(Deep South Incident Database – DSID) ในช่วงสิบวันแรกเดือนรอมฏอนปีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับของปีอื่นๆ ย้อนหลัง พบว่า ของรอมฎอนปีนี้เหตุรุนแรงเริ่มกลับมามีจำนวนมากขึ้นจากปีที่แล้วที่ลดลงไป
เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2557 ณ ห้องประชุมมะปราง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(Deep South Watch -DSW) และสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “อ่านสถานการณ์รอมฎอน” เพื่อเปิดตัวระบบฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้ (DSID) ในการหนุนเสริมสันติภาพ
นางสาวสุภาภรณ์ พนัสนาชี ผู้ปฏิบัติงานฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSID) กล่าวถึงการจัดทำระบบและพัฒนาฐานข้อมูลที่เริ่มต้นทำตั้งแต่เดือนมีนาคม 2547 โดยการสำรวจ จัดเก็บ วิเคราะห์ข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากแหล่งข่าวคือ หนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับ, ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน โทร.1881 ศชต., กอ.รมน.ภาค 4 สน. รวมทั้ง News Center
“นำข้อมูลทุกด้านมาเปรียบเทียบและตรวจการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์จัดทำเป็นรายงานความรู้เพื่อเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสนับสนุนข้อมูลให้แก่สถาบันทางวิชาการ นักวิชาการ สื่อมวลชน การนำเสนอในครั้งนี้เป็นระบบฐานข้อมูลที่ได้พัฒนาขึ้นใหม่ที่มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำระบบข้อมูลกับสถาบันวิชาการนานาชาติจากมหาวิทยาลัย Uppsala ประเทศสวีเดน และธนาคารโลก สำนักงานอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการยกระดับฐานข้อมูลเพื่อเชื่อมต่อความรู้และเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น”
ดร.เมตตา กูนิง จากศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) กล่าวว่าทาง ศวชต.ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบมาตั้งแต่ปี 2549 โดยมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและร่วมมือกับหน่วยงานราชการในหลายภาคส่วน ทำให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในเรื่องการได้รับการเยียวยามากขึ้น และเป็นระบบฐานข้อมูลที่ให้ความสะดวกและความคล่องตัวกับหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
“ในปี 2556 ได้รับโครงการของศอ.บต. ตรวจสอบผู้ได้รับผลกระทบหมื่นกว่ารายว่าได้รับการรับรอง 3 ฝ่ายกี่ราย ตรวจสอบแล้วมีเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในการนำเสนอบนเว็บไซต์จะมีจุดแดงบนจุดเกิดเหตุ อยากให้มีจุดน้ำเงินว่าเคลียร์แล้ว พูดมาสิบปีแต่เจ้าหน้าที่ยังทำไม่ได้ หากทำอย่างโปร่งใส เช็คได้ก็นำเสนอได้ เป็นเข็มทิศในการทำงาน การร้องเรียนก็จะเบาบางลงได้ พบว่ากว่าทั้งสามฝ่ายจะพิสูจน์หลักฐานก็ใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งผู้บาดเจ็บอาจย้ายออกนอกพื้นที่ทำให้หลุดการเยียวยาไปได้ ศอ.บต.จึงควรมีศูนย์ร้องเรียนที่รับแจ้งการย้ายเพื่อไปเยียวยาได้และควรมีระบบตรวจสอบออนไลน์ สแกนเอกสารสำคัญเข้าระบบไว้เพราะแต่ละรายจะต้องมีเอกสารสำคัญในแต่ละคดีไม่ต่ำกว่า 15 รายการ เมื่อศอ.บต.จ่ายเงินเยียวยา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พ.ม.) แต่จะจังหวัดต้องดูว่าจ่ายใคร สามารถตรวจสอบได้หมดและช่วยเหลือต่อเนื่องครอบคลุมอย่างมีประสิทธิภาพ”
ดร.เมตตากล่าวถึงงานวิจัยและการเก็บข้อมูลเรื่องสถานการณ์มีผลกับผู้หญิงและเด็กอย่างมาก คือ หญิงตั้งครรภ์ขาดสารอาหารจำนวนมาก และพบว่าเด็กอายุ 3-5 ปี ที่เรียนในโรงเรียนรัฐบาลมีไอคิวต่ำกว่าเด็กที่เรียนโรงเรียนเอกชนเพราะโรงเรียนรัฐได้เรียนไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ปิดบ่อย ส่วนเด็กที่รับข่าวสารความรุนแรงอยู่ประจำมีไอคิวต่ำ ซึ่งทางศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ได้ออกแบบการติดตามดูเป็นระยะเวลา 10 ปีว่าจะเป็นอย่างไร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาร่างกายและจิตใจ
ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อเรื้อรัง 10 ปีที่ผ่านมา คือความจริงที่ไม่มีใครอยากฟังเกี่ยวกับความขัดแย้ง
“รอมฎอนปีที่แล้ว มีลักษณะพิเศษเพราะมีข้อตกลงหยุดยิงจากการพูดคุยสันติภาพ โดยคาดหวังว่าจะมีเหตุการณ์ลดลงอย่างมีนัยยะ ในข้อเท็จจริงเหตุการณ์ก็ลดลงไปบ้าง จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ลดลงเล็กน้อย แต่มีความน่าสนใจจากข้อมูลที่พบคือ จำนวนผู้เสียชีวิตของรอมฏอนสันติภาพน้อยที่สุดในรอบ 9 ปี และเหตุการณ์ความไม่สงบรายเดือนช่วงแรกของเดือนรอมฎอน ก.ค. 2556 ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ถือว่าเป็นการทำลายสถิติ พอปลายเดือน ก.ค.-ส.ค. ความรุนแรงก็ถีบตัวสูงขึ้น โดยคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายผิดข้อตกลง”
จำนวนเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมดตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมามีเหตุแล้ว 14,329 ครั้ง และจากการเปรียบเทียบตัวเลขจำนวนเหตุรุนแรงตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2557 พบว่าปีที่แล้วซึ่งเป็นปีที่มีการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลและกลุ่มบีอาร์เอ็น ความรุนแรงช่วง 10 วันแรกของเดือนรอมฏอนถือว่าต่ำสุด คือ 7 ครั้ง ส่วนปีนี้เกิด 16 ครั้ง ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มจาก 2 เป็น 8 และบาดเจ็บจาก 14 เป็น19 คน สำหรับปีที่มีสถิติสูงสุดคือปี 2547 เกิดเหตุรุนแรงช่วง 10วันแรกของรอมฏอน 41 ครั้ง รองลงมาคือปี 2552 เกิดเหตุ 39 ครั้ง
ผศ.ดร.ศรีสมภพได้วิเคราะห์จากฐานข้อมูลว่า การที่สถิติตัวเลขความรุนแรงอยู่ในลักษณะคงที่ไม่สามารถดีดให้ความรุนแรงสูงขึ้นไปได้ ตีความได้ว่า กลไกภายในของความรุนแรงหรือดุลยภาพของความขัดแย้งและความรุนแรงภายในพื้นที่กำลังทำงานถ่วงดุลกัน เช่น นโยบายทางการเมือง การตื่นตัวของภาคประชาสังคมในพื้นที่ การส่งเสียงของประชาชนในพื้นที่ขยายตัว การริเริ่มกระบวนการสันติภาพ การเปิดพื้นที่ทางการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีแรงส่งผลให้ฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงทุกฝ่ายไม่สามารถใช้ความรุนแรงได้มากขึ้น
“จากสถิติที่ผ่านมาการโจมตีเป้าหมายความรุนแรง ตัวเลขสูงอยู่ที่พลเรือนที่ไม่ถืออาวุธ แต่ช่วงที่มีกระบวนการสันติภาพชัดเจน เป้าหมายการก่อเหตุเคลื่อนย้ายอย่างชัดเจนไปที่เจ้าหน้าที่รัฐที่ติดอาวุธอย่างชัดเจน แต่หลังจากต้นปี 2557 ที่กระบวนการสันติภาพชะงักไป เห็นแนวโน้มว่า การโจมตีเป้าแข็งลดลง และเป้าหมายการก่อเหตุที่มุ่งไปสู่เป้าอ่อนเริ่มกลับมาสูงขึ้น”
ตูแวดานียา มือรีงิง ผู้สื่อข่าว TV3 มาเลเซีย แลกเปลี่ยนว่าอยากให้มีการวิเคราะห์แรงจูงใจในการก่อเหตุความรุนแรง โดยเฉพาะกรณีการฆ่าเป้าหมายที่เป็นผู้หญิงและเด็กที่สุดโต่งทั้งการฆ่าและเผา ยิงและเผาทันที มีแรงจูงใจทางการเมืองหรือวิธีคิดใดกำกับในการก่อเหตุ ทั้งที่ๆ เดือนรอมฎอนปีนี้มีการเรียกร้องให้เป็นรอมฎอนสันติภาพ หากเป็นการเรียกร้องข้างเดียวกับฝ่ายที่ก่อเหตุ แต่ภาครัฐที่ติดอาวุธและกองกำลังมากกว่ากลับไม่ได้ลดปฏิบัติการ เมื่อเป็นเช่นนี้จะหวังให้ความรุนแรงลดลงได้อย่างไร
นางซีตีมาเรียม บินเยาะ จากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพกล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2557 เป็นต้นมา ผู้หญิงและเด็กเป็นเป้าการก่อเหตุสูงมากขึ้นเห็นอย่างเห็นได้ชัดและน่าสะเทือนในหลายกรณี โดยเฉพาะการใช้ระเบิดก่อเหตุที่ไม่สามารถควบคุมวิถีการทำลายล้างได้ ยิ่งส่งผลกระทบต่อเป้าหมายมากขึ้น จึงขอเรียกร้องกับผู้ก่อความรุนแรงทุกฝ่ายให้ละเว้นการโจมตีผู้บริสุทธิ์
ด้าน นางสาวประทับจิต นีละไพจิตร นักวิชาการจากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในการจัดทำระบบฐานข้อมูลที่เป็นอยู่ การบังคับให้บุคคลสูญหายอาจยังไม่ถูกนับรวมในฐานข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรงชายแดนใต้ เนื่องจากการหายไปของบุคคลยังไม่ถูกนับเป็นเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งที่มีการศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศพบว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางการเมืองและสังคมมีผลทำให้การบังคับบุคคลสูญหายมากขึ้น