กามีละ อิละละ บัณฑิตหมาดๆ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เจ้าของรางวัลดาวเด่นบัวหลวงยอดเยี่ยม ปี 2557 ในโครงการประกวดศิลปิน “ดาวเด่นบัวหลวง 101” จากผลงานชุด “เจ้าสาว” ขาว-ดำ ที่ใครต่างตั้งคำถามว่าทำไมไม่เป็นสีหวานเหมือนชุดเจ้าสาวทั่วไป
ศิลปินมุสลิมะฮฺคนนี้เป็นชาวโกตายารู อ.รามัน จ.ยะลา จบม.ปลายสายศิลป์จากโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา ประกอบกับได้ทุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) มาเรียนที่ม.อ.ปัตตานี ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่นี่เป็นจุดเริ่มให้กามีละเดินตามเส้นทางนี้ จนถึงวันที่ผลงานได้รับรางวัลระดับประเทศ
“ส่วนตัวชอบในเรื่องศิลปะอยู่แล้ว แต่พอมาเรียนจริงแล้วเครียด ไม่เหมือนที่คิดว่าเป็นเรื่องการวาดรูปธรรมดา แต่มันมากกว่าและลึกซึ้งกว่าที่คิดมาก ต้องใช้ความเป็นตัวตนของตัวเอง ซึ่งในปี 1-3 ยังหาแนวทางของตัวเองไม่เจอ จนถึงปี4 ที่ต้องทำงานศิลปะนิพนธ์จึงได้รู้แนวของตัวเอง
ศิลปะช่วยให้ค้นหาตัวเองว่าต้องการอะไร เหมือนเป็นการดะวะฮฺแบบหนึ่ง อย่างการได้ไปแสดงงานที่อเมริกาทำให้คนที่โน่นตื่นตาตื่นใจกันมาก เขาอยากรู้เรื่องราวของชุดเจ้าสาวมุสลิม เราก็ได้อธิบายให้เขาได้กระจ่างว่าต้องคลุมผมเพราะอะไร การได้รับโอกาสนี้ทำให้เห็นว่าศิลปะบ้านเขาไปไกลมาก แค่เรื่องการจัดวาง การป้องกัน การดูแลภายในหอศิลป์ที่เขาให้ความสำคัญมาก แม้กระทั่งเด็ก คนแก่ มาดูงานศิลปะกันเต็มไปหมด เป็นรสนิยมของเขา ซึ่งหอศิลป์บ้านเราเปิดให้ดูฟรีก็ยังมีคนมาดูกันน้อย”
กามีละบอกถึงผลงานที่เธอบรรจงสร้างสรรค์ขึ้นมาในชุด “เจ้าสาว” ว่า “ชอบทำงานแนวสวยๆงามๆ ผู้หญิงและใช้สีจัดจ้านมาตลอด จนเทอม 2 ของปี3 มีเหตุการณ์ที่เจ้าสาวต้องสูญเสียเจ้าบ่าวในวันแต่งงานที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ก็เอามาคุยกันกับเพื่อนอย่างจริงจัง เพื่อนบอกว่าเอามาทำงานเลย จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ทำงานชุดนี้ บวกกับความรู้สึกของการใช้ชีวิตคู่ในปัจจุบันที่ค่อนข้างหาความสุขได้ยาก ผู้หญิงเกิดความกลัว ระแวงว่าคู่ของเราจะเป็นอย่างไร คาดหวังความสุขความสมบูรณ์ แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น หากในมุมของศาสนาอิสลามส่งเสริมให้มีการแต่งงาน จึงต้องเอาทั้งสองอย่างมาให้สัมพันธ์กัน ชุดขาวแทนความปรารถนาของผู้หญิง ส่วนชุดดำแทนความคาดหวังกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”
เรื่องของการแต่งงาน กามีละบอกถึงความเห็นส่วนตัวว่า ต้องมองที่ความพร้อมของแต่ละคน อย่างตัวเธอเองยังมีความฝัน เป้าหมายที่วางไว้และภาระรับผิดชอบอีกหลายอย่างจึงยังไม่คิดถึงเรื่องนี้ หากสำเร็จดังที่วางเป้าหมายไว้แล้วค่อยคิดเรื่องคู่ครอง
การเรียนศิลปะของเธอเป็นที่กังขาของทางบ้านและชุมชนมาโดยตลอด ซึ่งทุกคำถามเธอมีคำตอบให้เสมอ
“แถวบ้านจะมองว่าการวาดภาพเป็นการขัดต่อหลักศาสนา ซึ่งจะตอบเขาว่า ทุกการกระทำอยู่ที่เจตนา การวาดภาพไม่ได้ทำให้ศาสนาเสื่อม เราเรียนศิลปะและเรียนรู้ศาสนาควบคู่กันไป อย่างเรียนกายวิภาคก็วาดแค่ครึ่งตัว เจอกับคำถามว่าเรียนไปทำไม อยู่ได้ยังไง ซึ่งคนที่อื่นเขาทำกันมานานแล้วแต่บ้านเรามีคนทำน้อย จึงยังจินตนาการไม่ออก อยากเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ อยากเรียนศิลปะ เปิดมุมมองให้กว้างว่ามีอาชีพนี้บนโลกใบนี้ด้วย อาจารย์เคยบอกว่าไม่ได้ต้องการให้เป็นศิลปินกันทุกคน ทำยังไงที่จะนำวิชาศิลปะไปถ่ายทอดให้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งศิลปะไม่ใช่แค่การวาดรูป เป็นนามธรรมที่ต้องใช้ใจพิจารณา”
จากปี 1 ที่มาเรียนศิลปะและถูกทางบ้านค้านมาตลอด วันนี้กามีละพิสูจน์ให้เห็นว่า เส้นทางที่เธอเลือกคือเส้นทางที่ถูกต้อง และเลือกเดินในเส้นทางนี้ต่อไป
“พอเข้าประกวด ได้รางวัล ทางบ้านเริ่มเข้าใจว่าที่เรียนมาเป็นเช่นไร การกระทำของเราบอกตัวเองได้โดยไม่ต้องอธิบาย เชื่อว่าถ้าตั้งใจและศรัทธาจะทำให้เราพบความสำเร็จ ให้อะไรกับใครไปอย่างเต็มที่ ไม่ช้าหรือเร็วก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดีกลับมาแน่นอน”
“ตั้งใจเรียนต่อสาขาศิลปะไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรแต่ต้องสอบให้ผ่านก่อนในปีหน้า ถ้าไม่ได้ก็ทำงานศิลปะต่อและจะสอบให้ผ่านให้ได้ ไปเรียนโดยไม่ต้องรบกวนทางบ้าน มีทุนจากการประกวดเป็นทุนเรียนต่อ อยากทำแกลเลอรี่ในพื้นที่ เป็นเฟืองอีกตัวที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านงานศิลปะ คืนความสุขให้กับพี่น้องในพื้นที่ เป็นโครงการในหัวที่อยากให้เป็นจริงมากที่สุด”
นอกจากรางวัลดาวเด่นยอดเยี่ยมบัวหลวงแล้ว กามีละยังได้รับรางวัลดีเด่นของพานาโซนิค, รางวัลเหรียญทองแดงศิลปกรรมเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ปี2557 จากผลงานชุดเจ้าสาวเช่นเดียวกัน
วันนี้เธอยังทำงานศิลปะชุดใหม่ ด้วยความหวังที่ว่า “เจ้าสาวไม่ได้ทุกข์เสมอไป ต้องมีสีสันเข้ามา เป็นการพัฒนางานไปอีกขั้น”