หน้าแรก รายงาน

รวมพลังคนชายแดนใต้ส่งเสียงไม่ให้ “ตายเงียบ”

รอคิวตาย

อีกกี่ศพ ถึงจะพอ ท้อบ้างไหม
เมื่อลูกไทย ถูกเข่นฆ่า น่าสงสาร
ผู้อยู่หลัง ต้องเจ็บปวด รวดร้าวราน
เห็นลูกหลาน ด่าวดิ้น สิ้นชีพไป
ถูกฆ่าแล้ว ถูกฆ่าอีก หลีกไม่พ้น
จะทุกข์ทน ทรมาน นานเพียงไหน
จะเคียดแค้น แน่นหนัก สักเพียงใด
เหมือนเราไซร้ ไร้วิญญาณ มานานครัน
ผู้ลอบฆ่า ยังหัวเราะ เหมือนเยาะหยาม
เหมือนไม่คร้าม ต่อกฎหมาย ทั้งหลายนั้น
คล้ายยมราช ผู้พิฆาต ทุกชีวัน
คนชั่วนั้น ยังยืนยง คงชีพทน
อนิจจา หวาดวิตก ตระหนกสิ้น
ทั่วย่านถิ่น หมดสุข ทุกข์สับสน
กลิ่นคาวเลือด หวาดผวา มาเคล้าปน
แต่ละคน รอคิวใหม่ เป็นใครเอย

ข่างต้นเป็นบทกลอนจากใจ ครูวินัย ทองบุญเอียด ญาติ นางสาวเกศนี รมณ์เกศแก้ว หญิงพิการแขนขาที่ถูกกราดยิงด้วยอาวุธสงครามเสียชีวิตหน้าร้านแผงขายของริมถนน บ้านหลวงจันทร์ ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานีเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2557 ที่เขากล่าวในงานเสวนา “หยุดพรากชีวิตผู้หญิงและเด็ก” เมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม 2557 ณ ห้องจะบังติกอ โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี โดยมีญาติผู้หญิงที่เสียชีวิตและผู้เกี่ยวข้องมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากต้นปี 2557 ถึงกลางเดือนกรกฏาคม 2557 มีผู้หญิงถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบชายแดนใต้จำนวนทั้งสิ้น 32 ราย เป็นจำนวนที่น่าตกใจที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีจำนวนมากเช่นนี้โดยที่ไม่มีผู้รับผิดชอบในแต่ละเหตุการณ์ ครูวินัยบอกถึงความเป็นคนสู้ชีวิต ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตาของเกศนีว่า

“ตอนอายุเขาสามขวบแม่ไม่ได้พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ทำให้แขนขาอ่อนแรงและพิการ ไม่ได้เรียนภาคบังคับ แต่เธอสู้ชีวิตทำงานทุกอย่างเท่าที่ทำได้ จนอายุ 22 ปี ได้อยู่กินกับสามีชาวสะบ้าย้อย มีลูกสาวหนึ่งคน ไม่นานทางฝ่ายสามีก็มาเอาลูกสาวไป เธอเป็นหญิงพิการแต่รักลูกสุดหัวใจ มีเพียงเงินยังชีพคนพิการที่เก็บสะสมไว้นำไปซื้อลูกหมูมาเลี้ยง ซื้อหมากมาทำหมากแห้ง รับจ้างทำงานบ้าน ถอนหงอก ทำทุกอย่างที่เธอทำได้ อดทน เพียรพยาม เป็นที่รักและเอ็นดูของคนทั้งหมู่บ้าน

วันเกิดเหตุเธอไปรับจ้างถอนหงอกเจ้าของร้าน นั่งกันอยู่หลายคน มีมอเตอร์ไซค์มาจอด เจ้าของร้านเห็นปืนจึงตะโกนให้ทุกคนวิ่งหนี แต่เธอหนีไม่ทันเพราะพิการแขนและขา เธอถูกยิงเป็นสิบนัดที่หน้าอกและลำตัว เป็นการกระทำที่เหี้ยมโหดมากกับคนที่ไม่มีทางสู้เช่นเธอ วันรดน้ำศพและวันเผาศพจึงเป็นวันที่เธอได้พบหน้าลูกสาวที่ถูกพรากไปอีกครั้ง”

เป็นเรื่องราวความเศร้าที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ไม่มีทางสู้ ความดีที่เธอทำยังคงอยู่ให้เพื่อบ้านได้จดจำ ผู้ร่วมงานหลายคนหลั่งน้ำตาให้กับเธอเมื่อได้ทราบความเป็นจริง

นางเอกจิตรา จันทร์จิตจริงใจ ผู้สูญเสียสามีจากเหตุความไม่สงบเมื่อปี 2550 บอกว่า ชีวิตต้องเดินไปข้างหน้า โดยการปรับวิธีคิดของตนเองและสู้ต่อไป

“ในแผ่นดินนี้ทุกคนอยู่ในตามรางวิถีกระสุน คนที่มีพลังต้องขับเคลื่อนให้เห็นว่า พลังแห่งความรักมีจริง เมื่อรู้ข่าวหากไปได้ก็จะไปกอดเขา อ้อมกอดของเราเป็นความอบอุ่น ความเข้าใจ คนที่เข้มแข้งแล้วต้องช่วยดูแลกันและกัน ไม่มีใครเข้าใจคนที่สูญเสียเท่ากับคนที่สูญเสียเช่นกัน อ้อมกอดของเราจะปกป้องพวกเราได้ ต้องช่วยกันคิดต่อว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่ตายแล้วเงียบ ให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นภาระขอองทุกคน ขับเคลื่อนปัญหาอย่างจริงจัง เราเสียงบประมาณในการแก้ปัญหาชายแดนใต้เยอะมาก ยิ่งแก้ยิ่งรุนแรง เรามาผิดทางหรือเปล่า เราสูญเสียกันมามากพอแล้ว สันติภาพที่อยากให้เกิดเป็นจริงได้หากรวมพลังกันจริง ไม่มีผลประโยชน์จากเหตุร้าย ความร่ำรวยที่เกิดจากคราบน้ำตาเรียกร้องให้ผู้ได้ผลประโยชน์จากเหตุร้ายยุติเสียที และการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมทำให้ผู้ได้รับผลกระทบเจ็บปวดและฝังลึก”

ด้าน นางแวลีเมาะ จิเลาะ จากอ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี แม่ของเด็กชายนิโซเฟียน ที่ถูกระเบิดเสียชีวิตบริเวณตลาดเปิดท้าย กลางเมืองปัตตานีเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2555 และตัวเองได้รับบาดเจ็บสาหัสด้วยบอกว่า ทุกวันนี้ยังหวาดผวาและนึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้นอยู่ตลอด

“ทำใจยากมากที่ลูกชายคนเดียวเป็นเด็กบริสุทธิ์ต้องมารับเคราะห์ในเรื่องแบบนี้ ฉันเองต้องรักษาตัวเกือบปีกว่าจะเดินได้สะดวก ยังท้ออยู่บ้างกับชีวิตที่ต้องอยู่คนเดียว ขอร้องด้วยใจว่าให้หยุดทำเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อยากให้สงบอย่างจริงจังเสียที”

“สิ่งที่เหลืออยู่คือใบมรณบัตร ไม่ต้องการเงินเยียวยา อยากได้ชีวิตลูกสาวคืนมา ชีวิตมีคุณภาพที่เลี้ยงมาด้วยสองมือแม่ แต่คนอื่นมาฆ่าเสียง่ายๆ ลูกใครๆ ก็รัก” นวลแข แซ่ลิ้ม แม่ของนางสาวศยามล แซ่ลิ้ม พนักงานธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนหนองจิก จ.ปัตตานี ที่ถูกยิงเสียชีวิตขณะขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้านพักใน อ.ปะนาเระ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 บอกถึงความรู้สึกในใจของเธอ

“ในใจลึกๆ สุดที่จะบรรยาย เหตุที่เกิดคนทำได้อะไร อาจสาสมใจที่ทำลูกสาวฉัน ยิงแล้วมาเผาเขาอีก ลูกร้องว่าช่วยน้องด้วย มีรถผ่านไปหลายคันบอกว่า ช่วยไม่ได้จริงๆ ทุกคนก็กลัวเหตุจะเกิดกับตัวเองด้วย”

ด้วยความเป็นครูทำให้เธอต้องออกจากบ้านทุกวัน แต่โชคดีที่เป็นโรงเรียนใกล้บ้าน นวลแขบอกว่าชีวิตทุกวันนี้ไม่กล้าออกไปไหนคนเดียว

“วิถีชีวิตเปลี่ยนไปมาก วันที่ไปโรงเรียนก้าวออกไปก้าวแรกคิดว่าตาย กลับมาถึงบ้านก็คือรอดตายไปหนึ่งวัน กลับมาปิดประตูเงียบอยู่ในบ้าน จะไปไหนก็บอกทหารหรือให้ลูกศิษย์ซื้อมาให้ ต้องอาศัยคนอื่น เป็นชีวิตที่อึดอัดเต็มทีเพราะปกติจะทำทุกอย่างด้วยตัวเองตลอด คนเป็นพ่อแม่ ย่ายาย เตรียมตัวเตรียมใจตอลดเวลาหากต้องสูญเสียลูกหลานไป คนหนุ่มสาวต้องฝากคนชรามาเก็บศพเก็บกระดูก ฉันไม่มีลูกแล้วไม่รู้ใครจะมาเก็บกระดูก กำลังใจที่จะทำงานต่อก็หมดลงทุกวัน เวลาที่เหลืออยู่ก็น้อย เหตุดูจะรุนแรงขึ้นทุกวัน ไม่อยากให้เกิดอีก ไม่น่าเกิดซ้ำซาก รู้ถึงความสูญเสีย เมื่อได้ยินข่าวร้ายใจไม่อยู่กับตัว แล้วแต่ใครจะไปคิวไหน รอคิวตาย”

การเยียวยาไม่ใช่การปัญหา ตายก็เยียวยากันเป็นแค่ปลายเหตุ ไม่จบไม่สิ้น ทุกคนที่สูญเสียก็หัวอกเดียวกัน อยากได้ชีวิตคนที่เรารักกลับคืนมา ฝากรัฐให้ดูแลสามจังหวัดให้เข้มแข็งกว่านี้ ให้เหตุร้ายสงบเสียที แต่แม้จะเกิดเหตุแค่ไหนไปไหนไม่ได้เพราะที่นี่คือบ้านเกิด ขอตายที่นี่ โชคดีที่ลูกไม่ทิ้งภาระอะไรไว้ ฉันต้องอยู่โดยเข้มแข็งให้ได้ แต่เหมือนอยู่ในนรกทั้งเป็น”

ในงานนี้มีเสียงเพลงแด่ผู้สูญเสียจากตำรวจสภอ.กาบัง ส.ต.อ.ดนัย มีสวัสดิ์ ให้ฟังกัน ซึ่งส.ต.อ.ดนัย บอกว่า หลังจากได้ทราบข่าวนักศึกษาวิทยาลัยสาธารณสุขยะลาสองคนถูกยิงเสียชีวิตที่ตลาดอ.ยะหา ทำให้เกิดความรู้สึกอยากแต่งเพลง

“เป็นเรื่องเศร้ามาตั้งแต่ต้นปีที่ผู้หญิงในพื้นที่ถูกกระทำอย่างโหดร้าย จนมาถึงเรื่องที่เกิดกับน้องสองคน ไม่ทราบว่าคนทำต้องการอะไร เขาเป็นนักศึกษาและเป็นผู้หญิงที่ไม่มีทางสู้เลย ถ้าเป็นผู้ชายหรือเป็นเจ้าหน้าที่ก็พอได้ต่อสู้กันสมศักดิ์ศรี แต่ถ้าเป็นเด็ก ผู้หญิง เป็นเป้าหมายอ่อนที่คนกระทำไม่มีศักดิ์ศรี รังแกคนไม่มีทางสู้ อยากให้คนที่ทำคิดใหม่และหยุดการกระทำเลวร้ายต่อทุกคน”

กำแพงแห่งความเงียบถูกทลายลงบ้างในวันนี้ มีเสียงเพรียกและเรียกร้องจากผู้หญิง ผู้ชาย ให้ผู้ไม่หวังดีหนยุดการกระทำที่โหดร้ายต่อทุกคน ทุกคนอยากได้ความสุข ความร่มเย็นกลับคืนมา หวังเพียงว่า เสียงเพรียกครั้งนี้คงไม่เงียบหายไปเช่นครั้งก่อนมา

แถลงการณ์

ทลายกำแพงแห่งความเงียบ: หยุดพรากชีวิตผู้หญิงและเด็ก
(Breaking the Wall of Silence: Save the Life of Children and Women)
วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ณ โรงแรม ซี เอสปัตตานี จังหวัดปัตตานี
*****************************************************************************

การเสียชีวิตของผู้หญิงและเด็กจากเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นความตายอย่างเงียบ ๆ ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง และไม่มีนโยบายรวมทั้งมาตรการที่จำเป็น เพื่อหยุดยั้งการกระทำที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมเช่นนี้ การสังหารผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก นอกจากจะส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมานทั้งทางกายและจิตใจในครอบครัวแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวในสังคมเป็นอย่างมาก ในหลายกรณี ผู้ก่อเหตุลงมือฆ่าเหยื่อกลางชุมชน พื้นที่ตลาด หรือบริเวณโรงพยาบาล โดยไม่เกรงกลัวกฎหมายของประเทศ รวมทั้งไม่เคารพกฎหมายมนุษยธรรมและกฎหมายว่าด้วยความขัดแย้งที่ใช้อาวุธ (Law of Armed Conflict) ซึ่งเป็นหลักการสากลที่ใช้อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งทั่วโลก ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวไม่อนุญาตให้กองกำลังฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเมิดสิทธิและทำร้ายพลเรือน, ผู้หญิง, เด็ก รวมถึงผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ การทำร้ายบุคคลดังกล่าว นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังขัดกับคำสอนของศาสนาอิสลามที่ห้ามการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง หญิงตั้งครรภ์ เด็ก ผู้พิการ และคนชรา อีกด้วย

ตั้งแต่ปี 2547 ถึงวันที่ 31 ต.ค.2556 รายงานของกลุ่มด้วยใจร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุว่ามีเด็กเสียชีวิตจากความรุนแรงที่ใช้อาวุธในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทยจำนวน 62 คน บาดเจ็บ 374 คน นอกจากนี้ยังพบว่าระหว่างเดือนมกราคม -กรกฎาคม 2557 มีผู้หญิงถูกทำร้ายจนเสียชีวิต 32 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 60 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิต 32 ราย พบว่าอายุน้อยสุด 2 ขวบ มากสุด 62 ปี ส่วนใหญ่ของผู้หญิงที่เสียชีวิตเป็นชาวไทยพุทธ ในด้านอาชีพพบว่ามีความหลากหลาย ได้แก่ เกษตรกร ลูกจ้าง เจ้าของร้านค้าย่อย แม่ค้าขายของในตลาด พนักงานธนาคาร ครู บุคลากรทางสาธารณสุข ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน นักศึกษา ภรรยาตำรวจ ซึ่งบางรายกำลังตั้งครรภ์ รวมกระทั่งหญิงพิการ ผู้หญิงบางคนนอกจากถูกฆ่าแล้วยังถูกผู้ก่อเหตุเผาทำลายศพ ตัดคอ ซึ่งตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้วถือว่าเป็นการ “ลดทอนศักดิ์ศรีของเหยื่อ” และยังขัดกับคำสอนของศาสนา โดยเฉพาะศาสนาอิสลาม

ในโอกาสที่เดือนกรกฎาคมปีนี้จะตรงกับเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนแห่งการถือศีลอด การให้อภัย และประกอบคุณงามความดีของมุสลิมทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ขณะเดียวกันก็เป็นเดือนที่มีวันสำคัญทางพุทธศาสนา คือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นเสมือนวันที่เริ่มการเผยแพร่ประกาศศาสนาพุทธขึ้นในโลก ผู้ที่ลงนามในแถลงการณ์นี้ ทั้งในนามของบุคคลและขององค์กรภาคประชาสังคม จึงเห็นว่าเป็นเวลาอันสมควรอย่างยิ่งที่เราจะร่วมกันทลายกำแพงแห่งความเงียบ เพื่อส่งเสียงไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้หาทางยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นแก่ผู้หญิงและเด็ก โดยเราขอเรียกร้องไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

• ขอให้ทุกฝ่ายในความขัดแย้งที่ใช้อาวุธยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนและคำสอนของศาสนา เคารพในคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิในชีวิตร่างกายของพลเรือนผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก

• ขอให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน และสร้างมาตรการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองผู้หญิงและเด็กจากความรุนแรงทุกรูปแบบ เช่น ตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้หญิงและเด็ก ซึ่งจะรับผิดชอบในการค้นหาข้อเท็จจริง เร่งรัดกระบวนการยุติธรรม และดูแลการฟื้นฟูเยียวยาทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่ครอบครัวเหยื่อ รวมถึงชุมชน และสังคม

• ขอให้มีการสานเสวนาระหว่างศาสนาเพื่อสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันของศาสนิกชนทุกศาสนา

• ขอให้คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross)ให้ความสำคัญในการปกป้องบุคลากรทางสาธารณสุข ตลอดจนผู้หญิงและเด็กในพื้นที่ความขัดแย้งที่ใช้อาวุธ เพื่อให้ปลอดภัยจากความรุนแรงทุกรูปแบบ

• ขอให้มีการเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในระดับการกำกับนโยบายการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพอย่างเป็นทางการ

เรา ผู้ลงนามในแถลงการณ์นี้ ทั้งในนามของบุคคลและขององค์กรภาคประชาสังคม เชื่อว่าการดำเนินการของทุกฝ่ายอย่างจริงจัง จะสามารถยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นแก่ผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก และสามารถนำสันติภาพและการร่วมทุกข์ร่วมสุขของทุกศาสนิกให้กลับคืนมาได้

• กลุ่มด้วยใจ 18. นางเรืองรวี พิชัยกุล
• กลุ่มเซากูน่า 19. นางยุพา ภูสาหัส
• ชนพุทธกลุ่มน้อย 20. นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
• เครือข่ายไทยพุทธเพื่อสันติภาพ 21. นางสาวงามศุกร์ รัตนเสถียร
• เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์กลุ่มปัตตานี 22. ดร.ชาญชัย ชัยสุโกศล
• เครือข่ายสตรีชายแดนใต้ 23. ดร.ประทับจิต นีละไพจิตร
• เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ
• เครือข่ายวิทยุชุมชนปัตตานี
• เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ
• มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
• มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
• มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน
• สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ
• สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
• สภาประชาสังคมชายแดนใต้
• ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชน จังหวัดยะลา
• ศูนย์ประสานอาสาสมัครเพื่อสันติภาพ