หน้าแรก รายงาน

“เฌอบูโด” หวังเมล็ดพันธุ์สันติภาพเบ่งบานในสังคม

“พวกเราเป็นเพียงเมล็ดพันธุ์เล็กๆ จากเทือกเขาบูโด ที่พร้อมจะเติบโตหยั่งรากระบัดใบแผ่ร่มเงาปกคลุมเพื่อบรรณาการความชุ่มชื่น ฉ่ำเย็นแก่ผืนแผ่นดินอันเป็นที่รักยิ่งต่อไป” คือปณิธานของ “เฌอบูโด” ที่มีที่มาจากปี 2550 นักเขียน ช่างภาพ อาจารย์ คนในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้ได้รวมตัวกันก่อตั้งสำนักพิมพ์ “หัวใจเดียวกัน” เพื่อพูดถึงเรื่องราวในพื้นที่ ศิลปวัฒนธรรม นำเสนอแง่มุมต่างๆ ผ่านงานเขียน และสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ เชิงสังคม ทั้งในและนอกพื้นที่แห่งนี้เพื่อเป็นหนึ่งในองคาพยพที่มีส่วนร่วมคลี่คลาย ปัญหาในพื้นที่อย่างแท้จริง

สำนักพิมพ์หัวใจเดียวกันดำเนินกิจกรรมหลากหลายทั้งด้านการอ่าน การเขียน การสื่อข่าว การถ่ายภาพ โดยมี ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ เป็นหัวเรือใหญ่ มีสมาชิกและการทำงานที่ขยายมากขึ้น จนเป็นที่มาของการก่อตั้งกลุ่ม “เฌอบูโด”

เพาซี พะยิง ที่ปรึกษาของกลุ่ม บอกเล่าถึงเรื่องราวที่เฌอบูโดทำงานในพื้นที่ และโครงการเด่นที่สุดคือโครงการนักเขียนน้อย โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนระดับมัธยมในพื้นที่ชายแดนใต้ กว่า 50 คนเข้าร่วมอบรมกัน 3 คืน 4 วัน ณ โครงการพิกุลทอง ในโครงการ “ตามรอยบ้านของพระราชา” โดยมีกลุ่มนักเขียนมาร่วมเป็นวิทยากร

“วันแรกๆ ยังจับทางกันไม่ถูก บอกน้องๆ ไปว่างานเขียนมีหลากหลาย ให้เขียนตามแนวคิด โดยเป็นการลงพื้นที่หาข้อมูลที่ในหลวงทรงเสด็จในพื้นที่ชายแดนใต้ หาคนต้นเรื่อง ตอนที่พระองค์เสด็จมาว่ารู้สึกอย่างไร สิ่งที่ได้ถามชาวบ้านก็บันทึกมาเป็นงานเขียน จนรวบรวมงานเขียนได้ 1 เล่ม กระทรวงวัฒนธรรมดูแล้วเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ให้คนในพื้นที่เล่าเรื่องของ ในหลวงที่ผ่านคนต้นเรื่องและเหตุการณ์จริง น่าจะมีการต่อยอดเรื่องนี้เพราะบางเรื่องสั้นมากมาเป็นหนังซึ่งมี บ.อานามอร์ฟิค คนเขียนบท และวิทยากรทำหนังมาร่วมกัน คัดเลือกจาก 50 เรื่องเหลือเพียง 9 เรื่อง ที่เด่นสุด ถ่ายทำทั้งในสถานที่จริงและกรุงเทพฯ เมื่อเผยแพร่ออกไปคนดูก็อึ้ง สำคัญคือเด็กและวิทยากรที่ไม่คิดว่าจะได้ทำเป็นหนัง จากภาษาดิบๆ แต่เข้าถึงแก่นแท้ความรู้สึก เด็กก็ภูมิใจที่เรื่องของเขาได้ออกอากาศเป็นที่ประทับใจ กระทรวงวัฒนธรรมนำไปฉายที่กรุงเทพฯ และออกอากาศในรายการรอมฏอนไนท์ช่วงเดือนรอมฏอนปีที่แล้วและทางไทยพีบีเอสได้ นำมาออกอากาศอีกครั้ง”

มุกตา นาลี ประธานกลุ่มเฌอบูโด ซึ่งร่วมงานกับหัวใจเดียวกันมาตั้งแต่ก่อนตั้งกลุ่มบอกว่า ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มเฌอบูโดเป็นพี่เลี้ยงช่วยโครงการต่างๆ มาตลอด เมื่อถึงเวลาเหมาะสมจึงเหมือนเป็นการเปิดตัวกลุ่มเฌอบูโดในการทำงาน

“ได้รวบรวมเยาวชนมาคุยกัน จัดโครงสร้าง เริ่มทำกิจกรรมเป็นพี่เลี้ยง เป็นตัวขับเคลื่อน มีสมาชิกแกนหลัก 20 กว่าคน สมาชิกร่วม 500 กว่า คน แต่ละกิจกรรมจะดูความเหมาะสมว่าต้องใช้คนเท่าไหร่ เราทำกิจกรมแสดงภาพ ทำหนัง ค่ายนักเขียน ร่วมกับองค์กรต่างๆ พี่ย่องจึงคิดทำธุรกิจเชิงสังคมเพื่อหากองทุนเข้ากลุ่ม ให้มีรายได้ด้วยอย่างยั่งยืน ด้วยการรับโครงการ มาทำ มีเวทีสำเร็จรูป ลำโพง โครงภาพถ่าย อุปกรณ์ของตัวเองให้เช่า สามารถ เขียนโครงการ บริหารจัดระบบได้ เรียนรู้กระบวนการ เป้าหมายหลักคือ ทำงานเชิงสังคมและอยู่ได้ มีการต่อยอดโครงการเช่น โครงการต้นกล้านักเขียนกับโครงการภาพถ่ายทำให้เด็กและผู้ใหญ่ได้ลดช่องว่าง ระหว่างกัน ได้เรียนรู้รากเหง้าประวัติศาสตร์ของตัวเอง เสริมกระบวนการคิดให้เยาวชน เพราะเยาวชนบ้านเรายังไม่รู้ข้อมูลของบ้านตัวเอง เป็นการสอนไปในตัว ลดช่องว่างของข้อมูล ว่าทุกคนมีค่าบนแผ่นดินที่ตัวเองอยู่ ให้มีความภาคภูมิใจในบ้านเกิด เกิดความสามัคคี ลดความแตกแยก อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เด็กจะขยายไปหาผู้ใหญ่”

มุกตาบอกว่าเอกลักษณ์ของเฌอบูโดคือการสอนด้วยรุ่นพี่ แล้วปล่อยให้ทำเอง สอนไปในตัวให้เรียนรู้ทุกกระบวนการแล้วสามารถทำได้ ทีมงานมีพัฒนาการขึ้น เริ่มอ่านหนังสือ เขียนงาน แลกเปลี่ยนโครงการ สรุปเนื้อหาสาระ ประสานงาน จนสามารถทำได้ทั้งหมดทั้งกระบวนการ

นอกจากนี้เฌอบูโดยังได้ก่อตั้งกลุ่มเล็กๆ คือ “วาวบูแล” วงดนตรีเร็กเก้มลายู ที่สมาชิกในวงแต่งเพลงเอง ร้องเอง เนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนในชายแดนใต้ นอกจากการแสดงในพื้นที่ยังมีการติดต่อไปเล่นตามที่ต่างๆ อีกด้วย

“ทุกคนชอบเพลงแนวนี้อยู่แล้ว เราเอามาปรับเป็นเร็กเก้มลายู ไม่ทิ้งรากเหง้าของตัวเอง เนื้อร้อง ทำนองเป็นภาษามลายู ปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิด ธรรมชาติ สังคม ให้ดนตรีเป็นตัวช่วยประสานทุกกิจกรรมเพื่อให้ได้ซึมซับง่ายขึ้น เอาเนื้อเพลงที่น้องๆ เขียนในค่ายมาเป็นเพลง จุดประกายบางอย่างให้แก่เขาได้ มีมิตรภาพ รอยยิ้ม ประสบการณ์ อย่างไปเล่นที่เบตง หน้าลานวัฒนธรรม มีโรตี ขนม จากคนดูมาให้ เวลาไปเล่นไม่คาดหวัง ให้คนดูได้จินตนาการ มีแง่คิดและพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ที่ ผ่านมาได้รับการตอบรับดีทุกที่ที่ไปเล่น ได้กำลังใจกลับมามาก เราทำกิจกรรมกับเยาวชนนอกระบบมากกว่าในระบบ ซึ่งเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง เมื่อดึงเขามาก็ต้องเปิดพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก ลดเวลาไปมั่วสุม”

“ทุกครั้งที่เจอคนแปลกหน้าจะยิ้มให้เขาก่อน เมื่อสองฝ่ายก้าวเท้าเข้ามา ผลตอบรับกลับมาคือรอยยิ้ม เรียนรู้การอยู่ร่วมกันเพื่อสังคม มุสลิม เป็นกลุ่มใหญ่ในชายแดนใต้ แต่หากไม่ยอมรับความแตกต่าง ใจแคบ แบ่งแยกก็ไม่มีความหมาย เฌอบูโดมีเพื่อนทุกศาสนิก เปิดกว้าง เปิดใจทำงานและสานสัมพันธ์ต่อกัน พยายามสื่อสารกับสังคมให้รับรู้ด้านบวกของพื้นที่บ้านเรา ทำเพื่อบ้านเกิดเพราะถ้าเราไม่ทำแล้วจะรอให้ใครมาทำให้”

มุกตาบอกว่า สิ่งที่ทำอยู่ทำเต็มที่เท่าที่ศักยภาพของทุกคนมีอยู่ หากคนในพื้นที่ไม่ช่วยกันแล้วใครจะมาช่วย

“เรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเรากว่าสิบปีที่ผ่านมา รัฐไทยต่อสู้เพื่อประชาชนแล้วมีการตายตลอด จะการันตีได้มั้ยว่าเมื่อกลุ่มนี้ออกไป กลุ่มใหม่ที่มาจะมีสันติสุข อาจร้ายกว่าเดิม อยู่ที่กิเลสของคน ต้องปรับเรื่องนี้ให้ได้ก่อน ชาวบ้านต้องการให้ทหารออกไปจากพื้นที่ ไม่มีการสอดแนม ไม่มีปืน รถยีเอ็มซี รถหุ้มเกราะและไม่ตั้งฐานทหารในวัด

ทุกคนในเฌอบูโดไม่มีเงินเดือนประจำแต่อยู่ได้ ไม่ยึดติดกับชีวิตเพราะจะเครียด มีความสุขกับสิ่งใกล้ตัวให้มากที่สุด กำลังคิดโครงการจัดคอนเสิร์ตถนนเพื่อสังคมในชายแดนใต้เพื่อนำรายได้ไปช่วย เหลือเด็กยากจน หากเราอยู่เฉยก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่หากทำกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคมผลดีคือเราจะได้บุญ มีศักยภาพทำได้ก็ขอเป็นมือบนช่วยคนที่ด้อยกว่า เริ่มจากเล็กๆ ไปหาเรื่องใหญ่ๆ