หน้าแรก รายงาน

บทสรุปไฟใต้และข้อเสนอแนะ โดยศอ.บต. ยุคทวี สอดส่อง

หมายเหตุ : ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือศอ.บต. ภายใต้การดูแลของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จัดทำรายงานสรุปสถานการณ์ ปัญหาและอุปสรรค การแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้ฉบับแรก ห้วงเวลา ก.ย.2555-ก.ย.2556 มีเนื้อหาที่สำคัญโดยสรุป ดังนี้

ก.บทนำ

ความ ไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้เกิดมานานกว่า 100 ปี รอบปัจจุบันปะทุหลังเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค. 2547

เหตุความไม่สงบเกิดต่อเนื่อง เพิ่มสูงสุดในปี 2550 และลดลง เกือบเท่าตัวในปี 2551 จากนั้นค่อยลดลงในอัตราคงที่จนถึงปัจจุบัน ในรอบปี 2556 มีการพัฒนาเชิงบวกต่อการพัฒนาหลายประการ

1.การลดลงของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่หมู่บ้าน ปี 2555 มีหมู่บ้านเกิดเหตุ 273 หมู่บ้าน จาก 2,917 หมู่บ้านเกิดเหตุลดลง ปี 2556 เหลือ 74 หมู่บ้าน ลดลงร้อยละ 72.89

2.การสูญเสียลดลง ข้อมูลศูนย์ปฏิบัติการเยียวยา จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา พบการเสียชีวิตปี 2556 ห้วงระหว่างการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มที่เห็นต่าง ลดลงจากปี 2555 และปีอื่นๆ อย่างมาก ปี 2556 มีประชาชนเสียชีวิต 122 ราย เป็นการสูญเสียน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี นับแต่ปี 2547 และลดลงจากปี 2555 ที่มีประชาชนเสียชีวิต 189 ราย หรือลดลงร้อยละ 35.45

การ ลดลงทั้งเหตุที่เกิดในหมู่บ้านและการสูญเสียชีวิตเนื่องจากประชาชนตื่นตัว มากขึ้น สามัคคี มีส่วนร่วมแก้ปัญหาและการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ประกอบกับแนวบูรณาการงานด้านความมั่นคง (กอ.รมน.) การบริหารงานของจังหวัดและด้านการศึกษา (ศอ.บต.) ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสริมสร้างความปลอดภัย ความเข้มแข็งของชุมชน หมู่บ้าน ตำบล

3.กระแสการตื่นตัวและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบและการพัฒนาสูงขึ้น

ข.สรุปสถานการณ์ด้านการพัฒนา

1.การบริหารราชการ นโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ชัดเจน และเป็นเอกภาพ

นโยบาย การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 กำหนดวิสัยทัศน์ “มุ่งให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย ปราศจากเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรง มีสภาวะแวดล้อมที่พร้อมและเอื้อต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติ ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจ ไว้วางใจ และมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ”

ศอ.บต.จัด ทำยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและแผนปฏิบัติการ โดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนาและ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

รวม ทั้งหลักรัฐประศาสโนบายสำหรับมณฑลปัตตานีของ รัชกาลที่ 6 ที่วางไว้เมื่อปี 2466 มาเป็นหลักยึดการทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

2.การเปิดเวทีพูดคุยเพื่อสันติภาพ

ปี 2556 ภาครัฐเปิดพื้นที่กว้างให้ประชาชนในพื้นที่และทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมพูดคุยเพื่อสันติภาพ

ศอ.บต.และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินภารกิจตามยุทธศาสตร์การสร้างพื้นที่และสภาวะ แวดล้อมเพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี เพื่อตัดวงจรที่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง และสนับสนุนการพุดคุยเพื่อสันติภาพ จนเกิดความตื่นตัวและยอมรับ

นอกจาก ขับเคลื่อนให้เกิดเวทีพูดคุยของประชาชนในพื้นที่ต่อเนื่อง ยังส่งเสริมการพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลและผู้มีความเห็นต่าง ที่รัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้ประสานติดต่อ จนนำไปสู่การลงนามในเอกสารความร่วมมือเพื่อแสวงหาสันติภาพ และแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคง แห่งชาติกับกลุ่มผู้เห็นต่าง นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็น เมื่อ 28 ก.พ. 2556 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุย

รูป ธรรมที่สืบเนื่องจากการพูดคุยคือการยุติความรุนแรงของสองฝ่ายช่วงรอมฎอน แม้จะไม่เกิดผล 100% แต่แสดงถึงความพยายามร่วมกันสร้างบรรยากาศความสงบสนับสนุนกระบวนการ สันติภาพ

ในระดับนโยบายยังไม่ได้ข้อยุติร่วมกัน แต่ข้อเสนอของกลุ่มผู้เห็นต่างสะท้อนถึงความต้องการหรือเหตุผลที่ต้องจับ อาวุธต่อสู้กับรัฐบาลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบ 10 ปี

การ สำรวจโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วันที่ 21-25 มี.ค. 2556 หนึ่งเดือนหลังการลงนาม พบความเชื่อมั่นของประชาชน ว่าการพูดคุยเพื่อสันติภาพจะทำให้เกิดสันติภาพ

มี คะแนนเฉลี่ย 5.16 หรือร้อยละ 67.17 การสำรวจครั้งที่สอง วันที่ 9-11 มิ.ย. 2556 สามเดือนหลังจากนั้น คะแนนการยอมรับ อยู่ระดับ 5.80 ร้อยละ 76.6

3.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การอำนวยความเป็นธรรมและเยียวยา

3.1 เน้นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนทุกกลุ่ม โดยใช้วิธีการพิสูจน์หลักฐานและนิติวิทยาศาสตร์ ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกพิจารณาคดีกับคู่กรณีที่เป็นมุสลิม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของอิหม่ามและผู้นำศาสนา

3.2 ปรับปรุงประสิทธิภาพการอำนวยความยุติธรรม ให้ถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม ยึดหลักกฎหมาย ข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) พบคดีความมั่นคงปี 2547-2556 มี แนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ช่วง 1 ต.ค. 2554-30 ก.ย.2555 คดีอาญาใน 3 จังหวัดใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เกิดขึ้น 17,424 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีความมั่นคง 530 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.04 คดีที่รู้ตัวผู้กระทำผิดและจับกุมได้ 55 คดี ร้อยละ 10.42

การ ค้นหาความจริงหรือการสืบสวน สอบสวน จับกุม ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงอื่น ขาดความร่วมมือในการเป็นพยานของประชาชนและผู้รู้เห็นเหตุการณ์ การจับกุมจึงอยู่ในระดับต่ำ

3.3 การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งด้านการเงิน ร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ

4.การส่งเสริมด้านการศึกษา ภาษา วัฒนธรรม อัตลักษณ์ของพื้นที่และสร้างการเรียนรู้ภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม

5.การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน

6.ความร่วมมือกับต่างประเทศ มีพัฒนาการเชิงบวกต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

หลัง การลงนามการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ภาพลักษณ์การพัฒนาและแก้ไขปัญหาของไทยดีขึ้นเป็นลำดับ และเป็นผลดีต่อการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศโอไอซี ครั้งที่ 40 วันที่ 9-11 ธ.ค. 2556 ประเทศกินี ซึ่งมีการลงมติเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ของไทยที่เป็นไปในเชิง บวกมากกว่ามติปีที่ผ่านๆ มา

ค.ปัญหาและอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ศอ.บต.ร่วม กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับฟังจากทุกส่วน วิเคราะห์ เสวนา ระดมความเห็นก่อนนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาค ใต้ (กพต.) และมีมติเห็นชอบ

1.ปัญหาและอุปสรรคของจังหวัดชายแดนภาคใต้

อุปสรรค ในการบริหารและการพัฒนาคือ ปัญหาที่เกิดจากความไม่สงบในพื้นที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และบางอำเภอใน จ.สงขลา ซึ่งยอกย้อนกลับไปกลับมา ต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุหรือรากเหง้าของปัญหา และข้อเสนอในการแก้ไข

2.สาเหตุของปัญหาความไม่สงบ

2.1 มุมมองของหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง

กระทรวง กลาโหม : รากเหง้าปัญหาเกิดจากความแตกต่างด้านเอกลักษณ์ ชาติพันธุ์ ความเชื่อ ความศรัทธา วัฒนธรรม และภาษาพูด รวมถึงธุรกิจผิดกฎหมาย อิทธิพลท้องถิ่น ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนในพื้นที่ การไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐในอดีต

กอ.รมน. (กองทัพบก) : รากเหง้าปัญหามีที่มาจากการผนวกดินแดนรัฐปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร สยาม จากสนธิสัญญากำหนดเขตแดนระหว่างสยามและอังกฤษในปี 2452 ประกอบกับการปรับโครงสร้างทางการปกครอง รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ผู้ปกครองรัฐปัตตานีแต่เดิมจึงไม่พอใจและพัฒนามาเป็นขบวนการ ต่อต้านรัฐ ต่อมาแบ่งเป็นขบวนการย่อยๆ หลายกลุ่ม

โดยใช้ เรื่องประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ความเชื่อ ความศรัทธาในศาสนา มาสร้างเป็นอัตลักษณ์เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขหลัก นำเงื่อนไขรองมาขยายผล เช่น การด้อยพัฒนา ด้อยโอกาสในการศึกษา การไม่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียม เชื่อมโยงภัยแทรกซ้อน ทั้งยาเสพติด น้ำมันหลีกเลี่ยงภาษี ธุรกิจผิดกฎหมาย

2.2 มุมมองของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) : เกิดจากกลุ่มบุคคลที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ต้องการมีอำนาจในพื้นที่ ความไม่เป็นธรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน การขาดโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา

ความ หวาดระแวง เจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยให้น้ำหนักการปฏิบัติในมิติความมั่นคงมากจนกดทับต่อ การปฏิบัติงานในส่วนอื่นๆ เจ้าหน้าที่บางส่วนที่โยกย้ายมาขาดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และมีอคติ

2.3 มุมมองของผู้เห็นต่างจากรัฐ : ทั้งกลุ่มบีอาร์เอ็นและผู้ต้องขังในเรือนจำ เห็นสอดคล้องกับกอ.รมน.และกระทรวงกลาโหม

บี อาร์เอ็นเห็นว่าความขัดแย้งกว่า 200 ปี ที่เลือกต่อสู้ด้วยอาวุธเพราะผู้นำของเขาในอดีตเคยต่อสู้ผ่านรัฐสภา เรียกร้องบนหลักสิทธิมนุษยชน เช่น การเรียกร้องของนายหะยีสุหลง กบฏดุซงญอ การชุมนุมประท้วงกรณีสะพานกอตอ ผู้นำมักถูกจับกุม คุมขัง ถูกฆาตกรรมหรือต้องลี้ภัยในต่างแดน

เมื่อประมวล สาเหตุปัญหาและรายงานการวิจัย พบรากเหง้า สืบเนื่องมาจากอดีต เข้าใจได้ว่าเริ่มจากนโยบายรัฐนิยมสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ปลุกระดมให้คนทั้งชาติทำตัวเป็นคนไทย จึงถือว่ารักชาติ

ใต้ นโยบายรัฐนิยม ห้ามใช้รัฐมลายู ห้ามสวมหมวกแบบมุสลิม ห้ามผู้หญิงใส่ผ้าคลุมหัว ผู้ชายห้ามนุ่งผ้าโสร่ง ให้เปลี่ยนชื่อที่ ไม่เป็นไทย

บาดแผลที่เพิ่มความขัดแย้งคือกรณี หะยีสุหลง (บิดานายเด่น โต๊ะมีนา) ยื่นข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหา 7 ข้อ แต่ถูกจับกุมข้อหาปลุกระดมและกบฏ ถูกจำคุก 4 ปี 8 เดือน เมื่อพ้นโทษ วันที่ 13 ส.ค. 2494 หายสาบสูญอย่างไร้ร่องรอยพร้อมลูกชายคนโตและพวกรวม 4 คน หลังเจ้าหน้าที่มารับตัว

และมีการปฏิบัติของเจ้า หน้าที่ในอดีตอื่นๆ ที่ซ้ำเติมตอกย้ำความไม่เป็นธรรม เช่น เหตุการณ์ดุซงญอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อเม.ย. 2491 ที่มีประชาชนเสียชีวิต 400 คน ลี้ภัยไปมาเลเซียหลายพันคน

เหตุการณ์นำ 6 ศพไปทิ้งที่สะพานกอตอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี จนนำมาสู่การประท้วงครั้งประวัติศาสตร์ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ยืดเยื้อ 45 วัน

นับแต่ปีพ.ศ.2547 มีบางเหตุการณ์ซ้ำเติมบาดแผลในอดีต อาทิ เหตุการณ์กรือเซะและตากใบในปี 2547 เหตุการณ์ไอร์ปาแย ปี 2552 เป็นเงื่อนไขให้กลุ่มผู้เห็นต่างนำไปปลุกระดม

3.ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา (บางประการ)

การ ก่อความไม่สงบเป็นโจทย์หลักของการแก้ไขและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ตราบที่ยังไม่สามารถขจัดเงื่อนไขรากเหง้าในการก่อความไม่สงบ ความพยายามทุ่มเททรัพยากรด้านต่างๆ ในการแก้ไข และพัฒนา ก็คงทำได้เพียงการชะลอสถานการณ์ความรุนแรงให้ ลดลงชั่วครั้งชั่วคราว

การขับเคลื่อนการแก้ไขและพัฒนา มีข้อเสนอแนะ 6 ประการ

1) ความปลอดภัยในการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขของพลเมืองในพื้นที่ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม ความเป็นธรรมและความยุติธรรม การทำความจริงให้ปรากฏอย่างตรงไปตรงมา มีหลักประกันความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความโปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมาย

การ บริหารและการพัฒนาต้องน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักรัฐประศาสโนบายของรัชกาลที่ 6 ที่วางไว้สำหรับปฏิบัติราชการในมณฑลปัตตานี ตามพระราชหัตถเลขาที่ 3/78 ลงวันที่ 6 ก.ค.2466 นำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

2) ความเชื่อมั่นในแนวทางสันติวิธี และไม่นำมาใช้เป็นเครื่องมือเอาชนะอีกฝ่าย

3) ความรู้ ความเข้าใจในวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของพื้นที่ การเคารพยอมรับความต่างทางวัฒนธรรม และความคิดเห็นในการอยู่ร่วมกัน

การ ปลุกเร้าเรื่องอุดมการณ์ท้องถิ่นนิยม ชาตินิยม หรือรัฐนิยม บางครั้งนำมาสู่การใช้ความรุนแรงถ้าทำเกินเลยไปถึงเรื่องศาสนา การศึกษา ภาษาและวัฒนธรรม

4) การยอมรับความเป็นจริงในทางประวัติศาสตร์ และการกระทำที่ผิดพลาดในอดีตซึ่งต้องนำมาเป็นบทเรียน

5) การดำเนินนโยบายในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้คำนึงถึงพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษ ในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่อิงฐานของบริบทที่ประชากรส่วนใหญ่มีวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตอย่าง มลายู-อิสลาม

มาเลเซียมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้ประชาชนพื้นที่เปรียบเทียบ จึงต้องปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาพื้นที่นี้ทุกด้าน ให้ทัดเทียมหรือเข้มแข็งยั่งยืนไม่ให้ด้อยกว่า ทั้งด้านกฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การจัดเก็บภาษี การพัฒนาคุณภาพชีวิต คุณภาพการศึกษา การมีอาชีพมีงานทำ

การ ส่งเสริมด้านอัตลักษณ์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และต้องละเอียดอ่อนและรอบคอบในการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในประชาคม อาเซียนและในโลกมุสลิม

6) การส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีส่วนร่วมในการบริหาร การพัฒนา การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ให้โอกาสได้รับราชการมากขึ้น การแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้กลั่นกรองคนดี ซื่อสัตย์ มีความรู้ความสามารถ เปิดกว้าง สงบเสงี่ยมเยือกเย็น ไม่อคติ

หลัก การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สำคัญมากที่สุด คือการทำความเข้าใจกับรากเหง้า อันเป็นสาเหตุที่มาของความขัดแย้ง คลี่คลายความขัดแย้งอย่างรอบคอบ มีสติ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของฝ่ายที่ถนัดใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ทั้งที่เป็นเพียงปรากฏการณ์ของปัญหาระดับผิวหน้า