หน้าแรก รายงาน

อัสมิง ตาเละ นายทวารฟุตซอลทีมชาติไทย ตั้งใจสานฝันเยาวชนชายแดนใต้

อัสมิง ตาเละ หรือ หมิง ชายหนุ่มวัย 26 ปีคนนี้คือเลือดเนื้อเชื้อไขลูกหลานชายแดนใต้จากบ้านป่าทุ่ง ต.บางเก่า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี นายทวารทีมฟุตซอลทีมชาติไทย แชมป์เหรียญทอง กีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 27 เนปิดอว์เกมส์ ที่ประเทศเมียนมาร์

เส้นทางสู่ทีมชาติของอัสมิงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จากเด็กภูธรชายแดนใต้ที่ชอบเล่นฟุตบอล บวกกับเมื่อเห็นรุ่นพี่ในชุมชนเป็นนักฟุตบอล เมื่อมีการแข่งขันมีคนไปเชียร์กันเป็นคันรถ ยิ่งเป็นแรงบันดาลใจให้อัสมิงอยากเป็นเช่นรุ่นพี่บ้าง

“ผมเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนป่าทุ่ง เห็นบรรยากาศแบบนั้นตอน ป.4 แล้วเริ่มมาเล่นฟุตบอลจริงจังจนจบ ป.6 ได้เป็นตัวแทนจังหวัดปัตตานีไปแข่งกีฬากรมสามัญศึกษาที่ศรีสะเกษ ตอนนั้นตกรอบแต่ไปสะดุดตาโค้ช เขาชวนไปเรียนที่โรงเรียนศึกษานารีที่กรุงเทพฯ ในโครงการช้างเผือก เป็นการเริ่มต้นเข้าวงการฟุตบอลอย่างเต็มตัว ไปอยู่หอพักของโรงเรียนที่นักเรียนโควตานักกีฬามาอยู่รวมกัน ซ้อมเช้าซ้อมเย็น กลางวันเรียนตามปกติ แข่งทุกรายการที่นักเรียนแข่งได้ จนจบม.6 เรียนต่อที่ ม.นอร์ทกรุงเทพ เริ่มเกเรไปบ้างแต่กลับตัวมาได้ เรียนอยู่ 2 ปีเล่นแต่ตัวสองตัวสามไม่แจ้งเกิดสักที ย้ายไปอยู่ม.ศรีปทุม มีทีมฟุตซอลก็ไปขอซ้อมด้วย เขาส่งไปแข่งทีมลีกอาชีพได้ปีนึงก็ติดทีมชาติ ปี 2008 ก็ได้แชมป์อาเซียน ได้ทำตามฝันที่อยากเล่นทีมสโมสรและได้ใส่เสื้อทีมชาติมา 4 ปีกว่าแล้ว”

ตอนนี้อัสมิงเรียนจบปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา เขาบอกว่าเคยท้อเหมือนกันและอยากกลับบ้าน แต่เมื่อคิดว่ากลับมาคงต้องเจอกับสภาพแวดล้อมที่มีเพื่อนติดยา ไม่มีอนาคต เขาคงต้องเหมือนเพื่อนเพราะสังคมใกล้ชิดพาไปจึงฮึดสู้ใหม่โดยมีครอบครัวเป็นกำลังใจที่ดีในทุกเรื่อง

ความเป็นมุสลิมของอัสมิงไม่ได้ทำให้การเป็นนักกีฬาของเขาพบอุปสรรคเพราะเขารู้จักการวางตัวและใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ในการแข่งขันแต่ละครั้งหรือการฝึกซ้อม เขาจะเตรียมตัว เตรียมอาหาร พร้อมการปฏิบัติศาสนกิจที่ทำได้พร้อม

“ตอนใหม่ๆ ก็ยากนิดนึง เราต้องรู้จักเลือก วางตัว จะไปที่ไหนก็วางแผนกับเรื่องอาหารฮาลาล เตรียมไปเองหรือหาข้อมูลที่สามารถไปทานได้ เรื่องของศาสนกิจก็ทำได้สะดวกเพราะเวลาซ้อมก็ไม่ตรงกัน นอกจากในเดือนถือศีลอดก็ขอเลื่อนเวลาซ้อมได้ อยู่ที่การวางตัวของเรา ในทีมต่างคนก็ทำตามศาสนาของตัวเอง ถึงเวลาซ้อมก็รวมเป็นหนึ่ง ซ้อมกันทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เช้าและเย็น เข้าแคมป์อาทิตย์ละสามวัน การสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนในทีมเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก หากคนหนึ่งไม่พร้อมจะทำให้เวลาลงแข่งทีมจะไปไม่รอด”

เขาบอกว่าการทำทีมกีฬาของไทยยังด้อยกว่าหลายประเทศด้วยเหตุผลคือ การขาดประสบการณ์ความเป็นมืออาชีพ การจัดการที่มีปัญหาในเกือบทุกสมาคม ส่วนกีฬาเดี่ยวจะไปได้รุ่งกว่าเพราะอยู่ที่ตัวบุคคล ถ้าไม่เอาก็ไม่ต้องทำ ไม่มีใครบังคับ

อัสมิงวางแผนไว้ว่าในอนาคตจะกลับมาพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ ด้วยเห็นว่าเด็กในบ้านเกิดมีฝีมือและฝีเท้าไม่ได้ด้อยกว่าเด็กในพื้นที่อื่น หากขาดซึ่ง “โอกาส” ที่มาไม่ถึงและผู้ใหญ่ที่คอยนำแนวทางที่ถูกต้อง

“อยากให้ผู้ใหญ่ในพื้นที่ช่วยกันให้โอกาสและสนับสนุนอย่างจริงจัง ไม่ให้เด็กฝันลมๆ แล้งๆ เปิดสนามให้เขาทดสอบฝีมืออย่างจริงจัง เพราะกีฬาช่วยแก้ปัญหาได้หลายเรื่อง รวมทั้งเป็นอาชีพที่สามารถทำรายได้ได้เป็นอย่างดีทีเดียว ผมเริ่มต้นด้วยเบี้ยเลี้ยงวันละ 50 บาท ตอนนี้ได้รับเงินเดือนเดือนละ 6 หมื่น ถ้าติดทีมฟุตบอลก็ได้เป็นแสน ตอนนี้น้องชายคนเดียวก็กำลังเรียนชั้น ม.ปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยด้วยโควตานักฟุตบอล เขามีความฝันที่อยากติดทีมสโมสรและทีมชาติเช่นกัน ช่วงนี้ผมเองเริ่มมองถึงอนาคต หาอาชีพทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจเพื่อเป็นอาชีพที่มั่นคง อีกสักปีสองปีก็คงรีไทร์ตัวเองเพราะได้ก้าวผ่านจุดที่ฝันไว้กลายมาเป็นความจริงแล้ว ”

บู่ และ รอยะ ตาเละ แม่และพ่อของอัสมิง คือกำลังใจสูงสุดของเขา สนับสนุนให้เขาเดินตามฝันแม้ครอบครัวจะไม่มีปัจจัยให้อย่างพอเพียง เมื่อเขาก้าวมาถึงจุดสูงสุดเช่นนี้ ความภาคภูมิใจและชื่นใจของพ่อแม่จึงเป็นสิ่งที่อัสมิงชื่นใจมากที่สุดเช่นกัน

หมิงเป็นคนยิ้มง่าย มีความคิดบวก มองโลกในแง่ดีเพื่อเป็นกำลังใจให้เดินต่อไปข้างหน้า เขาบอกว่าการตั้งเป้าหมายของชีวิตเป็นสิ่งสำคัญที่อยากให้เยาวชนทุกคนมี

“อยากให้ทุกคนตั้งเป้าหมายในชีวิต เดินตามที่ฝันไว้ รู้จักการวางตัว ในสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมบ้านเราที่เป็นเช่นนี้ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อไม่มีทางเลี่ยงก็เอามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตให้เอาตัวรอดให้ได้ อยากให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจดี มีคุณธรรมและคุณภาพ” อัสมิง ตาเละ กล่าว