ข้างโต๊ะทำงาน มีสายเข็ดขัดเทควันโดกองหนึ่ง กองเศษด้ายกระจุกหนึ่ง กับที่เลาะด้ายอีกชิ้นหนึ่ง
ชายวัย 58 ปี เจ้าของโต๊ะทำงาน บอกว่า ซื้อเข็มขัดมือสองราคาเส้นละ 20 บาท เหล่านี้มาเลาะชื่อเจ้าของเข็มขัดออก แล้วแจกให้เด็กนักเรียนในชั้นเรียนเทควันโดของเขา ที่ไม่ค่อยมีเงินซื้อ
“ถ้าไม่เลาะให้ เด็กมันก็ใช้ไปทั้งอย่างนี้แหละ บางทีชื่ออาจเป็นของคนที่ตายไปแล้วก็ได้”
ชายวัย 58 ปี ผู้เลาะเข็มด้ายเข็มขัดเทควันโดกองนั้น คือ นายขวัญชัย วัฒนศักดิ์ หรือคนที่ถูกลูกศิษย์เรียกขานว่า “ครูขวัญ” เป็นครูสอนวิชาศิลปะป้องกันตัวในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ยาวนานถึง 35 ปี
หลังเรียนจบชั้น ปกศ.สูง(พลศึกษา) จากวิทยาลัยพลศึกษา จังหวัดมหาสารคาม ครูขวัญเดินทางจากนครราชสีมาจังหวัดบ้านเกิด มาศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หลักสูตร 2 ปี ในภาควิชาพลศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. 2522
ด้วยทักษะศิลปะป้องกันตัวที่ติดตัวมา อาจารย์ในภาควิชาพลศึกษาจึงให้เขาสอนวิชาศิลปะป้องกันตัวแก่นักศึกษาในขณะที่เรียนด้วย
ครูขวัญบอกว่าตนได้มีโอกาสทำหน้าที่สอนวิชาศิลปะป้องกันตัวในปัตตานีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นานนับรวมได้ 35 ปีแล้ว
“หลังจากเรียนจบ ครูก็ได้มีโอกาสทำงานเป็นนักวิชาการที่สำนักส่งเสริมการศึกษาต่อเนื่อง ต่อมาก็เป็นเจ้าหน้าที่ในสำนักอธิการบดี ระหว่างที่ทำงานนั้นก็เป็นอาจารย์พิเศษของภาควิชาพลศึกษาไปด้วย จนกระทั่งได้ดำเนินการศึกษาต่อระดับปริญญาโท แล้วเข้ามาเป็นอาจารย์ประจำเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา”
“ตอนแรกหลังเรียนจบ ก็คิดจะกลับบ้าน แต่การโอนย้ายทำได้ยาก และเมื่อได้มาทำงานสอนวิชาศิลปะป้องกันตัวในพื้นที่ที่ด้อยโอกาสในเรื่องนี้ ก็รู้สึกอยากทำต่อเรื่อยๆ ”
ครูขวัญเท้าความถึงจุดเริ่มต้นการเดินทางบนถนนสายนี้ว่า ตอนเด็กเริ่มสนใจศิลปะการต่อสู้จากการดูหนังและอ่านหนังสือที่มีเรื่องราวของมัน เมื่อตอนอยู่ มศ.1 ก็ได้มีโอกาสเรียนและฝึกทักษะกีฬายูโด ที่ศูนย์เยาวชนนครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2516
มองย้อนการเดินทางของครูขวัญบนเส้นทางการเป็นครูสอนวิชาศิลปะป้องกันตัว ก็นับได้ว่า เขาได้เดินทางมาไกลไม่น้อย
ครูขวัญได้มีโอกาสเป็นโค้ชทีมชาติของกีฬาปันจักสีลัตระหว่างปี พ.ศ. 2530-2540 ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2538 ครูขวัญได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตัดสินนานาชาติอินเตอร์เนชั่นแนล คลาส A เป็นระดับผู้ตัดสินอันสูงสุดอีกด้วย
ปี พ.ศ. 2532 กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 15 ที่ประเทศมาเลเซีย นักกีฬาปันจักสีลัต 8 คน ที่ส่งไป ได้เข้าชิงถึง 7 คน นำ 1 เหรียญทอง กับ 6 เหรียญเงินกลับประเทศไทย
ปี พ.ศ.2533 งานเฉลิมฉลองเอกราชของประเทศบรูไน ซึ่งมีการจัดการแข่งขันปันจักสีลัตกีฬาพื้นเมืองของมลายูด้วย ส่งนักกีฬาไปทั้งหมด 12 คน ได้ 6 เหรียญทอง 5เหรียญเงิน และได้ถ้วยรางวัลจากการสะสมเหรียญได้มากที่สุด การแข่งขันปันจักสีลัตครั้งนั้นประเทศไทยได้เหรียญรางวัลมากกว่าประเทศมลายูที่เป็นต้นกำเนิดกีฬานี้เสียอีก
สิ่งนี้คงเป็นชิ้นส่วนแห่งความภาคภูมิใจของครูขวัญกับสถานะการเป็นโค้ชกีฬาปันจักสีลัตทีมชาติไทย ซึ่งครูขวัญบอกว่า “ครูไม่ใช่คนเก่ง แต่ได้จังหวะของตัวเอง”
เมื่อความผิดพลาดคือส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ครูขวัญก็เป็นคนหนึ่งของวงกลมชีวิตวงนั้น ความสุขในมุมของวิชาศิลปะป้องกันตัวมากว่าครึ่งค่อนชีวิตที่ผ่านมาของเขา การทุ่มเทกับงานทำให้เขาต้องสูญเสียความสุขของคำว่าครอบครัวไป ซึ่งไม่อาจย้อนวันเวลากลับไปแก้ไขให้ทุกอย่างเป็นเหมือนเดิมได้
“ครูไม่ชื่นชมตัวเองเลยนะ”
เขาพูดพร้อมน้ำตาลูกผู้ชาย
วิธีการสอนในชั้นเรียนของครูขวัญนั้น เป็นแนวการสอนด้วยการยกตัวอย่าง ตั้งคำถามพร้อมเฉลยคำตอบ ให้เด็กเห็นว่า เมื่อได้ทักษะความรู้นี้แล้ว จะนำไปใช้อย่างไร
อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการเรียนการสอน ครูขวัญจัดซื้อหาด้วยเงินกระเป๋าตนเองทั้งสิ้น โดยไม่ได้หวั่นไหวต่อสถานะทางการเงินของตน
“ครูไม่มีเงินเก็บ แต่ก็ไม่ขาดเงิน เงินหมุนไปเรื่อยๆ”
“เธอดูบนโต๊ะครูสิ กาแฟ อาหาร ที่เห็นเนี่ยก็ลูกศิษย์หรือผู้ปกครองเด็กเอามาให้”
เมื่อตั้งคำถามถึงเหตุผลที่ครูขวัญตัดสินใจปักหลักสอนวิชาศิลปะป้องกันตัวอย่างเต็มตัวในปัตตานี
“อยากจะสอน อยากจะทำ ก็ทำไปเลย ไม่คิดอะไรมาก ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกัน ก็แค่อยากจะทำ”
“ได้นำสิ่งที่ตนเองมี มาถ่ายทอดให้เขาได้นำไปใช้ป้องกันตัวในสภาวะปัจจุบัน ก็รู้สึกไม่เหนื่อย”
ถึงแม้ครูขวัญเป็นชาวโคราชที่มาทำงานในปัตตานี ไม่ใช่ชาวปัตตานีโดยกำเนิด แต่เขาบอกว่าไม่ได้รู้สึกหวั่นเกรงในสถานการณ์ความไม่สงบของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
“ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ มันเป็นเรื่องผลประโยชน์ของผู้ที่เสียผลประโยชน์ รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้วิตกกังวล เพียงแค่ไม่ประมาท สิ่งที่เราทำไม่ได้ขัดขวางใคร”
ครูขวัญพูดถึงศิลปะป้องกันตัวว่า “มือ เท้า เข่า ศอก ในร่างกายของเรา ล้วนเป็นอาวุธได้ทั้งหมด เพียงสร้างความแข็งแกร่งให้แก่มัน และใช้มันให้เป็น”
เขายกตัวอย่างให้ครุ่นคิดถึงความหมายเชิงเปรียบเทียบว่า คนยิงปืนแม่นกับคนยิงปืนเป็นนั้นต่างกัน คนยิงปืนแม่นจะยิงใครก็ยิง ขอแค่ให้ยิงแม่น แต่คนยิงปืนเป็น เขาจะมีสติระลึกรู้ว่า ควรใช้กับใคร ใช้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายหรือเสียหายน้อยที่สุด
คนที่เก่งเรื่องศิลปะการต่อสู้ ก็จะยิ่งระมัดระวังในการนำไปใช้เพื่อทำร้ายผู้อื่น เพราะการเรียนรู้กับครูบาอาจารย์ด้วยความวิริยะอุตสาหะและอดทน ก็จะซึมซับจรรยาบรรณที่ครูบาอาจารย์ได้อบรมขัดเกลา สติและปัญญาที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนรู้ จะช่วยยับยั้งการนำความรู้ไปใช้ในทางที่ไม่ดี
“ศิลปะป้องกันตัวทุกประเภท งานทุกอย่างนั่นแหละ จะมีจรรยาบรรณกำกับไว้ เมื่อเรียนจนถึงจุดหนึ่ง คุณก็จะมีจรรยาบรรณของมัน”
ครูขวัญชูกำปั้นมือ ผิวสันมือที่หยาบหนาบอกให้รู้ถึงการสั่งสมความแข็งแกร่งอย่างหนักหน่วง พร้อมพูดว่า “นี่คืออาวุธที่พระเจ้าให้มา เราลับให้มันคมได้ด้วยศิลปะ”