หน้าแรก รายงาน

กัลยา โสพาศรี …รักยะลาด้วยใจจริง

โรงงานไม้ยางพาราขนาดใหญ่แถวสะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา คือ ที่ทำมาหากินของหญิงสาวผู้มาจากจ.หนองบัวลำภู ดินแดนที่ราบสูงที่เธอจากมานาน ชีวิตของเธอผูกพันมั่นอยู่ที่โรงไม้แห่งนี้มานานจนถึงปัจจุบัน “ส้ม” หรือ “กัลยา โสพาศรี” ยังคงยืนหยัดใช้ชีวิตอยู่ ณ ชายแดนใต้แห่งนี้อย่างไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคในชีวิตพร้อมลูกชายอีก 4 คน

ชีวิตประจำวันของส้มกับการทำหน้าที่เสมียนในโรงไม้ บริษัทเอ็นวู้ด แปรรูปไม้ยางอบแห้ง ที่ทำมา 7 ปี รวมทั้งการนับไม้เป็นหน้าที่โดยตรงที่ทำทุกวัน เป็นงานที่เธอบอกว่าต้องมีเทคนิคในการนับไม้ อาทิตย์นึงมีวันหยุดวันเดียวคือวันศุกร์และวันที่โต๊ะเลื่อยหยุดเธอก็ได้หยุดด้วย

“อยู่ยะลามายี่สิบกว่าปีแล้ว มาทำที่โรงงานไม้ยางได้เจ็ดปี เมื่อก่อนที่นี่มีคนงานเป็นร้อยคน ตอนนี้ไม่ค่อยมีคนงานเท่าไหร่แล้วประมาณสามสิบกว่าคน มีมุสลิมเยอะ ที่ออกไปเยอะเพราะเขาไม่มั่นใจว่าโรงงานจะทำต่อหรือไม่ เจ้าของดรงไม้อยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้เข้ามาดูแลโดยตรงแต่จะบริหารสั่งงานมาทางโทรศัพท์และไม่แน่นอนว่าจะทำต่อหรือจะยังไงในตอนนี้ ได้แต่ประคองอยู่ไปอย่างไม่มีอนาคต”

ส้มเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับความสูญเสียและผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ เธอสูญเสียสามีไปเมื่อปี 2553 สามีของเธอเป็นชาวจ.ศรีสะเกษ ทำงานตัดท่อนไม้ยางในโรงงานไม้ยางพาราที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส โดยเดินทางไปกลับวัน ยะลา-นราธิวาสทุกวัน พร้อมกับเถ้าแก่ วันเกิดเหตุกำลังเดินทางกลับบ้านที่ยะลากันสองคันรถ มีคนมาดักยิงรถคันที่เถ้าแก่ขับ เมื่อสามคนที่เหลือจากอีกคันลงมาดูจึงถูกยิงด้วย สามีเธอถูกยิงเข้าจุดสำคัญและหล่นลงไปในคูข้างถนน และหลบเข้าไปในเถาวัลย์จนเสียชีวิต

“ตอนเกิดเหตุนั้นใกล้ค่ำที่ ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่ไม่เข้าเคลียร์พื้นที่แล้วต้องรอจนเช้า เถ้าแก่เขาเสียชีวิตด้วย เขาก็เสีย ก่อนนั้นเคยบอกให้เขามาทำงานในยะลาแต่เขาบอกว่าที่โน่นรายได้ดีกว่าเป็นเท่าตัว ตอนพี่สะใภ้โทรมาบอกยังไม่เชื่อว่าเรื่องร้ายจะเกิดขึ้นกับเรา เหมือนความฝันหากมันคือความเป็นจริงที่ต้องยอมรับ กินข้าวไม่ได้หลายวันเหมือนจะตามเขาไป แต่พอมองเห็นหน้าลูกก็ต้องสู้ต่อ”

“การเยียวยาตนเองคือการคิดถึงอนาคตของลูกทั้งสี่คนที่กำลังอยู่ในวัยเรียนทุกคน เป็นภาระที่หนักมาก มีรายได้จากโรงไม้เดือนละ 7,000 บาทบวกกับเงินเยียวยาโครงการจ้างงานเร่งด่วนที่ไปทำที่อำเภอเมืองทุกเย็นอีก 4,500 บาท ประหยัดอะไรได้ก็ทำ อดได้ก็อด เคยเพาะเห็ดที่โรงงานไม้ยาง เขาให้ที่เพาะนิดนึง ช่วงนั้นมีรายได้ดีมากได้เดือนละหลายพัน ขี้เลื่อยก็ซื้อจากโรงงาน แต่ก็ต้องหยุดเพราะความไม่แน่นอนว่าโรงงานจะอยู่ต่อหรือไม่ ถ้าลงทุนก้อนเชื้อเห็ดไปแล้วไม่มีที่วางก็ขาดทุน ทำต่อก็เครียด ตอนนี้รายได้เสริมจากเพาะเห็ดก็หายไป”

ส้มบอกว่า ประทับใจในยะลาที่มีความอุดมสมบูรณ์ เงินหาง่าย ใช้คล่อง สำคัญคือเธอรักที่นี่

“ในความเป็นจริงที่นี่ผู้คนไม่แบ่งแยก อยู่ร่วมกันได้ พึ่งพาอาศัยกันกับเพื่อนมุสลิมที่ทำงานด้วยกัน ที่เป็นได้ทั้งพี่ เพื่อนและแม่ของเรา ช่วยดูแลกัน อยากกินอะไรก็ได้กินกับความมีน้ำใจของเขา ทำให้รู้สึกผูกพันกับที่นี่และไม่คิดจะไปอยู่ที่อื่นแม้สถานการณ์จะเป็นอย่างไร เรื่องกลับบ้านยังไม่คิดเพราะผูกพันที่นี่เหมือนบ้านเราเอง”

ชีวิตของส้มที่ยังยืนหยัดอยู่ ณ ชายแดนใต้ทำเธอได้รับการคัดเลือกให้เป็น “สตรีต้นแบบ” หนึ่งในสิบคนจากชายแดนใต้ จากองค์การอ็อกแฟมแห่งประเทศไทย โดยเข้ารับรางวัลเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2557 จากประธานองคมนตรี นายพลากร สุวรรณรัฐ ณ มิวเซียมสยาม กรุงเทพมหานคร และเริ่มทำงานเยียวยาช่วยเหลือแนะนำผู้ได้รับผลกระทบคนอื่นๆ ร่วมกับเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้