ชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่มีทุนทางวัฒนธรรมที่แปรเป็นผลผลิตที่เป็นสินค้าของที่ระลึกได้อย่างมีเสน่ห์ และได้มีการพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมีอัตลักษณ์และเสน่ห์ที่เกี่ยวกับความเชื่อ ศาสนา การเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่มีมาตั้งแต่ในอดีตที่ผู้คนและนักท่องเที่ยวที่ได้มาเยือนต่างประทับใจ รวมทั้งเลือกซื้อสินค้าของที่ระลึกกลับไปอย่างมีความสุข ซึ่งได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาตลอด มีสถาบันการศึกษาที่มีผลงานวิจัยเพื่อแปรองค์ความรู้ให้เป็นรูปธรรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ภาคธุรกิจมีความมั่นใจในการลงทุน แก้ไขปัญหาการว่างงาน พัฒนาศักยภาพและสามารถเชื่อมโยงตลาดในและต่างประเทศ ยกระดับการผลิตให้ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับการเปิดตลาดการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งจะช่วยสร้างจุดแข้งให้สินค้าของที่ระลึกในชายแดนใต้มีมาตรฐาน มีคุณค่า และมีอัตลักษณ์
ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการออกแบบและสร้างสรรค์สินค้าของที่ระลึก “โครงการนวัตกรรมของที่ระลึกสำหรับการท่องเที่ยวในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้” ประจำปี 2557 ภายใต้ความร่วมมือของ 5 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูลและสงขลา โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ การตลาดเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการผลิตและเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การอบรมในครั้งนี้จัดขึ้นใน 5 จังหวัด ซึ่งการอบรมครั้งที่ 1 จัดระหว่างวันที่ 2- 10 เมษายน 2557 ส่วนการอบรมครั้งที่ 2 เป็นการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพจากการอบรมครั้งที่ 1 เพื่อเข้าอบรมเชิงลึกระหว่างวันที่ 7-9 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมโกลเด้นคราวน์พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จากนั้นวิทยากรลงพื้นที่เพื่อผลิตร่วมกับผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฏาคม 2557 และคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพไปทดสอบตลาดต่างประเทศ ประมาณเดือนกรกฏาคม 2557
นายสักกฉัฐ ศิวะบวร เจ้าของนิตยสาร I-design และที่ปรึกษาโครงการนี้ กล่าวว่า การทำให้เรื่องนี้สำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและผู้ผลิตที่ต้องมีความตั้งใจจริง
“โครงการนี้ตั้งใจทำให้ลังกาสุกะฟื้นตัวฟื้นชีวิตขึ้นมาจากการหลับไหล ด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ผู้คนคือทุนทางวัฒนธรรมที่ยังมีลมหายใจ ที่ยังต้องดำรงชีวิต เป็นเนื้อที่เราเคลื่อนที่ได้ ต้องร่วมมือร่วมใจกันระหว่างทุกหน่วยงานที่ต้องบูรณาการกัน และผู้ผลิตที่มีความตั้งใจและขยายออกมาสู่สังคม เชื่อมกับการเปิดอาเซียนได้ง่ายมากขึ้น ไม่ใช่ใครก็ทำตามงบของใคร โครงการทางวัฒนธรรมไม่ได้แบ่งตามรัฐศาสตร์การปกครอง ไม่มีเส้นแบ่ง สามารถไปได้ทั้งดิน น้ำ ฟ้า นวัตกรรมอยู่รายรอบตัวเรา ในพื้นที่นี้อาจมีนักท่องเที่ยวไม่เท่าที่อื่นด้วยเหตุผลบางอย่าง จึงต้องทำนวัตกรรมให้อยู่ในโอกาสที่ขับเคลื่อนได้ เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาก็ต้องซื้อของกลับไป ซึ่งผู้ผลิตต้องคิดถึงใจของคนซื้อด้วย”
เขาบอกต่อว่า หัวใจเรื่องนี้คือไม่ได้เอาของดั้งเดิมมาขาย เป็นการเอาเสน่ห์ที่มีมาเชื่อมโยงกับของดั้งเดิม มีความร่วมสมัยและไปถึงของจริง มีจุดขาย ของแท้คือของแท้ เป็นการต่อยอดทางทุนวัฒนธรรม ต่อยอดทางเสน่ห์ทุนดั้งเดิม ไม่ได้เอาวัฒนธรรมมาขาย แต่สามารถเพิ่มมูลค่าเดิมได้ใหม่ และใช้เทคโนโลยีช่วยในการขายเสน่ห์ ใช้ความคิดสร้างสรรค์และเสน่ห์ของพื้นที่มาใช้เป็นเอกลักษณ์ที่ดี ถอดลวดลายลงในสินค้า เป็นอัตลักษณ์ที่คนพร้อมจ่ายเงิน
“การทำการค้ามีช่องทางใหม่เกิดขึ้นมากมาย นักท่องเที่ยวมาพร้อมข้อมูลและการสื่อสาร พร้อมการตัดสินใจที่เร็ว การถ่ายภาพและการแชร์ข้อมูลของลูกค้าเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าที่ดีและไปได้เร็วมาก ผู้ผลิตจึงต้องปรับตัวให้ทันพฤติกรรมผู้ซื้อ สินค้าต้องตรงใจและความต้องการของลูกค้า เข้าใจเงื่อนไข เห็นโอกาส เสน่ห์เป็นเรื่องสำคัญของการผลิตสินค้า เสน่ห์คือ ความมีอัตลักษณ์ ราคาเหมาะสม มีคุณภาพและประโยชน์ จุดเด่นของสินค้า ฉลากและบรรจุภัณฑ์
การสร้างแบรนด์(ตราสินค้า) เป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีพัฒนาการผลิตเพื่อไปเจอลูกค้ากลุ่มใหม่ หัวใจคือทำอย่างไรให้ขายสินค้าได้ ซึ่งต้องดูต้นทุนของถิ่นที่สามารถพัฒนาให้เห็นนวัตกรรมทางความคิด ดูว่าผลิตแล้วใครเป็นคนซื้อ ต้องชัด สินค้าควรใช้เมื่อไหร่ วิธีการใช้ ฤดูการขาย ทำไมต้องซื้อสินค้าเรา สุดท้ายคือ ความคิดและเสน่ห์ของท้องถิ่น”
นายสักกฉัฐ กล่าวว่า ธุรกิจทุกวันนี้มี 3 รูปแบบคือ 1)รับจ้างผลิต 2) รับจ้างผลิตและพัฒนาแบบ 3)ผลิต ออกแบบ พัฒนาและมีตราสินค้าเป็นของตนเอง หากใครทำได้ตามข้อที่ 3 ถือว่า สำเร็จไปในขั้นแรกแล้ว เหลือเพียงการพัฒนาให้ต่อยอดไปได้ให้ไกล
นางประทีป ปิวิถะ เจ้าของผลิตภัณฑ์ไก่กอและกระป๋อง บอกว่า ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และขยายกลุ่มเครือข่ายในการผลิตเพื่อขยายรายได้ลงไปยังหลายกลุ่ม รวมทั้งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อตั้งใจไปยังเป้าหมายคือ การส่งออก
เมื่อมีความตั้งใจและร่วมมือของหน่วยงานที่รับผิดชอบและผู้ผลิตที่ตั้งใจอย่างเต็มที่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างมี “เสน่ห์” เชื่อว่า ความสำเร็จในเป้าหมายอยู่ไม่ไกลแน่นอน