หน้าแรก รายงาน

หอศิลป์เมืองตานี กับความตั้งใจของ เจ๊ะอับดุลเลาะ

เจ๊ะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ศิลปินวัยสามสิบต้นๆ แห่งปัตตานีบอกกล่าวถึงความตั้งใจในการทำงานศิลปะและการก่อเกิดของหอศิลป์ เล็กๆ แห่งนี้ในเมืองปัตตานี Patani Contemporary Arts Gallery ว่า “เปิดกว้างกับทุกศาสนาทุกคนที่ต้องการนำเสนออัตลักษณ์ของตัวเองและผลงาน อย่างเต็มที่ เหมือนบ้านที่เปิดอยู่ตลอด ลมก็จะเข้ามาตลอด เป้าหมายของผมคือ ปลูกดอกไม้ให้คนดมได้สบาย”

ด้วยความเป็นลูกหลาน ของแผ่นดินเกิด “ปัตตานี” แห่งบ้านดอนรัก อ.หนองจิก ที่ฐานะทางบ้านยากจน เมื่อจบป.6 เขาเกือบไม่ได้เรียนต่อ หากความมุ่งมั่นเอาดีของเขา ทำให้มุมานะตั้งใจใฝ่ดีในการเรียนทางด้านศิลปะ จนเข้าเป็นนักศึกษารุ่นแรกของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) เมื่อปี 2545 เมื่อเรียนจบทำงานศิลปะอยู่สองปีแล้วไปเรียนต่อที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

“ตอน เรียนปี 1 ยังไม่รู้ว่าจะเรียนศิลปะไปทำอะไร จนปี 2 ได้ไปเวิร์คชอปกับศิลปินแห่งชาติ เห็นชีวิตที่อยากให้เป็นไปในบ้านเราที่มีเอกลักษณ์ รากเหง้า แต่อาจถูกกดทับไม่ให้ได้แสดงออกมาเต็มที่ ตอนนั้นทำงานชุดวิถีวัฒนธรรมมลายู ออกมา และได้รับการคัดเลือกให้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้ได้เห็นโลกกว้างของจริง เห็นการทำงานของศิลปินที่มีความหลากหลาย จึงตั้งใจว่าต้องกลับมาทำงานศิลปะที่บ้านเกิดให้ได้ แม้จะเป็นเพียงเสียงเล็กๆ ที่อาจไม่สำเร็จตอนเรามีชีวิต แต่อีก 100 ปีก็สามารถเป็นไปได้”

ผศ.เจ๊ะอับดุลเลาะ บอกว่าตอนเรียนปริญญาโทส่งงานเข้าประกวดระดับชาติ ได้เหรียญทองจิตรกรรมบัวหลวงซึ่งเป็นงานประกวดเก่าแก่ที่ไม่มีใครได้รางวัล มา 5 ปี ตกใจเหมือนกันว่างานของเขาสามารถเข้าไปอยู่ในระดับนั้นได้ หลังจากนั้นศิลปะชายแดนใต้ได้เปลี่ยนทิศทางเกิดศิลปะมลายูอีกแขนงหนึ่ง ซึ่งงานที่ได้รางวัลครั้งนั้นคือ ชุด “รูปลักษณ์ของชาวมลายูท้องถิ่นปัตตานี” ซึ่งชื่องานชุดนี้ทำให้มีหน่วยงานด้านความมั่นคงมาเกี่ยวข้องขอให้เปลี่ยน ชื่อเป็น “รูปลักษณ์ของชาวไทยมลายูท้องถิ่นปัตตานี” เพื่อให้ดูนุ่มนวลลง ซึ่งเขาก็เปลี่ยนเพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กรรมการก็บอกว่า ศิลปะไม่ได้อยู่ที่ชื่อ เนื้องานสำคัญกว่าชื่อ ไม่มีผลกระทบกับอัตลักษณ์ที่อยู่ข้างใน

จาก นั้นเขาได้ค้นพบแนวทางการทำงานศิลปะของตัวเองที่ไม่เหมือนใคร และทำมาตลอดด้วยความมุ่งมั่น กว่า 12 ปีที่เขาใช้ชีวิตในการทำงานศิลปะทำให้เห็นพัฒนาการของศิลปะในพื้นที่แห่งนี้ ที่เป็นไปอย่างน่าชื่นใจ

“ปัตตานี ถูกหยิบยื่นโอกาสทางศิลปะอย่างจริงจังจากอ.พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ที่เป็นผู้บุกเบิกให้เยาวชนในพื้นที่ได้มีพื้นที่ มีเวทีในงานศิลปะอย่างมีคุณภาพ 12 ปีที่ผ่านมาศิลปะบ้านเรามีพัฒนาการไปมาก นักศึกษาจากศิลปกรรมม.อ.ปัตตานีคว้ารางวัลระดับชาติมาได้ทุกรายการ เพียงสิบปีที่เราสามารถทำได้ สมัยเรียนไม่มีตัวเปรียบเทียบ ไม่ได้ออกหาประสบการณ์ ผลผลิตของคณะยังไม่ได้ส่งออก อยู่กันแต่ในพื้นที่ เมื่อทำงานออกไป มีเสียงตอบรับกลับมาจากคนนอกว่า ที่นี่เป็นกรุที่มีงานศิลปะดีๆ อยู่มากมาย ปี 2554 เป็นปีแรกที่ออกไปแสดงงานกันที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร มีเสียงตอบรับดีมาก และเทียบเท่าฝีมือได้กับม.ศิลปากรจากผลงานนักศึกษาที่ได้รับรางวัลระดับชาติ มาหลายรางวัล จึงต้องมองไกลไปถึงอาเซียนเพราะศิลปะเป็นสากลที่ในอาเซียนมีชาติพันธุ์มลายู ที่เราได้เปรียบ งานมีกลิ่นอายและเอกลักษณ์ท้องถิ่น รวมทั้งรสนิยม ความคิดที่เป็นมลายูเหมือนกัน จะทำอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้นได้”

เขา บอกต่อว่าเยาวชนในพื้นที่มีความสามารถแต่ขาดการชี้นำที่มีความรู้อย่าง แท้จริง 80 เปอร์เซ็นต์ของนักศึกษาศิลปะไม่มีพื้นฐานศิลปะมาเลย ครูจึงต้องทำงานหนักสองเท่า

“ต้อง ให้นักศึกษามาฝึกนอกเวลาเพื่อเพิ่ม ทักษะ จึงต้องเริ่มปลูกฝังแต่เด็ก คนเป็นครูต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ต้องทำงานด้วยใจ สอนให้ศิษย์สำเร็จกว่าตัวเอง ไม่ใช่ไม่ให้รู้ทันตัวเอง ยิ่งเป็นครูศิลปะยิ่งต้องทำงานให้เห็นประจักษ์ จำเป็นต้องเป็นศิลปิน ไม่ใช่แค่การบอกกล่าว และเป็นที่น่าหดหู่ใจเพราะวิชาศิลปะถูกลดความสำคัญ หลายโรงเรียนไม่มีครูศิลปะ ศิลปะถูกทำให้เป็นวิชาเลือก ไม่มีการสนับสนุน เป็นความผิดพลาดในการบริหารประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ สะท้อนว่า ไม่ได้ปลูกต้นรักในจิตใจ การจะพัฒนาสิ่งเหล่านี้เป็นนามธรรม ผู้บริหารต้องเปิดใจ เห็นความสุขของเด็กก็คือตัวชี้วัดที่สำเร็จแล้ว

การ ทำให้เกิดความคิดเป็นเรื่องสำคัญมาก และต้องไปด้วยกันกับทักษะ แกนของศิลปะคือ ตอบสนองความรู้สึก ไม่ต้องหาเหตุผล มีจิตวิญญาณอยู่ข้างใน จับอัตลักษณ์ตัวเองให้มากที่สุดให้โดดเด่น บางคนมีความคิดดีแต่ไม่มีทักษะ พรสวรรค์และความคิดฝึกกันไม่ได้ ทักษะเปรียบเหมือนร่างกาย ความคิดคือลมหายใจ ขาดอย่างใดไม่ได้ คนที่มีทักษะเยอะจะสอนยากเหมือนน้ำที่เต็มแก้ว คนที่มีทักษะปานกลางจะสำเร็จ ส่วนคนที่ไม่มีทักษะจะสดมากเพราะรับทุกอย่างได้เต็มที่ การเป็นครูศิลปะจึงต้องวินิจฉัยมนุษย์ บอกอาการได้เมื่อเห็นเนื้องาน ในแต่ละรุ่นก็มีคนโดดเด่นออกมา ปีแรกเข้ามา 30-40 คน พอปีสองเริ่มทยอยออกเพราะรู้ตัวเองว่าจะไปต่อในเส้นทางนี้ไหวหรือไม่ เพราะเรียนหนัก เหลือแต่คนที่แกร่งและอดทน ลูกศิษย์ที่จบไปเป็นศิลปิน เรียนต่อ ทำงานศิลปะและเป็นครูสอนศิลปะที่รู้ว่าจะถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กได้ดี อย่างไรและรู้ว่า ศิลปะทำให้รู้จักการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ดี”

จาก ตัวอย่างของอ.เจ๊ะอับดุลเลาะ และเส้นทางของคนทำงานศิลปะในปัจจุบันทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มสนับสนุน ว่าการเรียนศิลปะมีประโยชน์ไม่แพ้อาชีพอื่นซึ่ง อ.เจ๊ะอับดุลเลาะบอกว่า

“ผม เลือกเส้นทางที่ถูกต้อง อดทน สิบปีที่ผ่านมาเป็นการหาตัวเองว่ามาถูกทาง อีกสิบปีดูว่าสำเร็จหรือไม่ อีกสิบปีคือกำไร จึงต้องทำทั้งชีวิต ผมกำลังอดทนทำอยู่และเรียนรู้เพื่อทำให้ดีที่สุด คนในหมู่บ้านเห็นว่าผมไม่เกเร ไม่เบียดเบียนคนอื่น ผมคิดว่าเป็นการดะวะฮฺอย่างหนึ่งที่ไม่ต้องใส่ชุดโตป ศิลปะเป็นสื่อตัวแทนในการถ่ายทอดสิ่งที่ดีที่สะท้อนให้คนดูระลึกถึงความดี งาม ศิลปะจรรโลง เจียรนัยเข้าถึงความดีงาม มีลูกศิษย์คนนึงมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ทำละหมาดครบ เขาบอกว่าศิลปะทำให้เขาเปลี่ยนไปสู่หนทางของศาสนา ได้ทบทวนตัวเอง จิตใจสงบ อัลลอฮฺให้ได้รับองค์ความรู้ผ่านศิลปะ ศิลปะกับศาสนาใกล้เคียงกันมาก เป็นนามธรรมเช่นกัน ผมกำลังสร้างกระแสใหม่ว่าการทำงานศิลปะไม่จำเป็นต้องสูบบุหรี่ ยกระดับตัวเองให้มีความเปลี่ยนแปลง หากเชื่อในสวรรค์ที่สัมผัสได้ก็ต้องทำความดี เช่นเดียวกับศิลปะที่ต้องทำให้ดีอย่างสม่ำเสมอและเชื่อว่าทำสำเร็จด้วยการ อุทิศและตั้งใจ ศิลปะเป็นอาชีพที่ยากที่สุดแต่เป็นอาชีพที่ดีที่สุด เป็นเจ้านายตัวเองที่ต้องมีความอดทนอย่างสูง ขอบคุณความยากจน ขอบคุณพ่อแม่ที่ทำให้ผมมีความเข้มแข็ง พบความลำบากมาก่อนจนมีวันนี้ ตอนนี้พ่อแม่และครอบครัวเป็นกำลังใจที่ดีมาก พ่อช่วยทำหอศิลป์ที่บ้านด้วย”

จาก ความตั้งใจที่จะสร้างหอศิลป์ในแผ่นดินบ้านเกิดที่บ้านดอนรักให้เป็นสถาน ที่จัดนิทรรศการหมุนเวียน นิทรรศการถาวรและเก็บของเก่าที่มีคุณค่า เพื่อเปิดพื้นที่ให้มีบรรยากาศและการแสดงออกในการทำงานศิลปะ ซึ่งกำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่างและค่อยเป็นค่อยไปตามกำลังทรัพย์และกำลังคนใน เนื้อที่ 2 ไร่ จึงตัดสินใจมาเปิดพื้นที่ในเมืองปัตตานีก่อนกับ Patani Contemporary Arts Gallery และได้รับการตอบรับที่ดี

“วาง การแสดงงานแต่ละชุดไว้หนึ่งเดือน ในปีนี้วางไว้หมดแล้ว เป็นผลงานของศิลปินในพื้นที่ทั้งหมด เปิดกว้างกับทุกศาสนาทุกคนที่ต้องการนำเสนออัตลักษณ์ของตัวเองและผลงานอย่าง เต็มที่ เหมือนบ้านที่เปิดอยู่ตลอด ลมก็จะเข้ามาตลอด เป้าหมายของผมคือ ปลูกดอกไม้ให้คนดมได้สบาย ถ้าใครระแวงหรือมีอคติกับศิลปะก็ไม่ใช่มนุษย์ เพราะศิลปะไม่เคยทำร้ายใคร ทุกอย่างอยู่ที่เหนียต(เจตนา) ศิลปะของมุสลิมต่างกับศาสนาอื่นคือทำเพื่ออัลลอฮฺ เรามีศาสนาที่สอนได้ทุกศาสตร์ ถ้าเราใช้และไปในแนวทางที่อัลลอฮฺประสงค์คือ เอาคำสอนของศาสนามาเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งจะเห็นในผลงานของนักศึกษามุสลิมทุกคนแล้วแต่ว่าจะนำเสนอออกมาในแง่มุม ไหน

ผมเป็น คนตัวเล็กๆ ที่ภาวนาให้มีโอกาสต่างๆ เข้ามาร่วมสร้างวัฒนธรรมบ้านเราให้แข็งแกร่งในความหลากหลาย ให้มีความสำคัญเท่ากัน คนส่วนใหญ่ยังมองศิลปะว่าไร้สาระ ไม่ให้อะไรกับสังคม แต่ศิลปะไม่เคยทำร้ายสังคม และประเทศชาติ เป็นเรื่องของจิตใจ หากขาดศิลปะก็เหมือนขาดสภาวะภายในจิตใจ อย่างโครงการที่ให้นักศึกษาศิลปะได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนเปิดหูเปิดตาที่ สหรัฐอเมริกาเป็นโครงการที่ดีที่สุดที่พวกเขาได้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดและ สร้างคนที่ไม่ใช่เป็นแค่นามธรรม หวังให้มีศิลปินแห่งชาติด้านทัศนศิลป์ที่เป็นคนในพื้นที่ หวังให้เกิดในยุคนี้ ให้ศิลปะเบิกบานสู่สาธารณชน”

ขณะ นี้มีนิทรรศการ Landscape pattani งานจิตรกรรมและวาดเส้นสะท้อนความเป็นอัตลักษณ์และความเรียบง่ายของวิถีชีวิต ในปัตตานี จัดแสดงถึงวันที่ 30 เมษายน 2557 และรับสอนศิลปะเด็กและผู้ใหญ่ที่ Patani Contemporary Arts Gallery ในซอยโรงแรมปาร์ควิวรีสอร์ท เยื้องบิ๊กซี ปัตตานี