หน้าแรก รายงาน

ฝันที่เป็นจริงของ “สีตีนอร์” 10 ปีที่รอคอยห้องน้ำ

นับตั้งแต่สามี อับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ ของ สีตีนอร์ เจ๊ะเลาะ ถูกศาลชั้นต้นปัตตานีพิพากษาตัดสินประหารชีวิตจากเหตุการณ์กรือเซะ 28 เมษายน 2547 ทั้งที่สามีของเธอถูกว่าจ้างให้ขับรถพาคนไปถางป่าที่อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อถึงอ.แม่ลาน จ.ปัตตานีได้เกิดเหตุโจมตีหน่วยงานราชการขึ้น สามีเธอรอดชีวิตเพียงคนเดียว ส่วนคนอื่นเสียชีวิต เขาถูกส่งไปยังเรือนจำบางขวาง กรุงเทพฯ และเพิ่งได้ย้ายกลับมาเรือนจำกลางสงขลาเมื่อปีที่แล้ว

สิบปีที่ผ่านมาเธอจึงต้องแบกรับภาระการเลี้ยงดูลูกชายและลูกสาวจำนวน 5 คน มาตลอด หากรายได้เพียงน้อยนิดจากการกรีดยางไม่ได้เพียงพอในการใช้จ่ายประจำวันและส่งเสียลูกใหได้เรียนหนังสืออย่างทั่วถึง ลูกชายคนโตจึงต้องทำงานช่วยเหลือตัวเอง ลูกสาวคนรองเรียนโรงเรียนปอเนาะที่ อ.ยะหา จ.ยะลา จบม.6 ปีนี้ ลูกสาวอีกคนก็เรียนโรงเรียนปอเนาะในพื้นที่ ส่วนลูกสาวอีกสองคนเธอส่งให้ไปเรียนและอยู่ในความดูแลของมูลนิธิอัลเกาษัร จ.สมุทรปราการ ที่ดูแลช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเด็กยากจน แม้เธอจะมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ลำบาก หากยังมีน้ำใจช่วยเหลือเยียวยาคนที่มีฐานะดีและลำบากกว่าเธอด้วยความเต็มใจ

“10 ปีที่ผ่านมาไม่เคยลืมจนถึงทุกวันนี้ แต่ยังอยู่ได้เพราะมี ลูกๆ เพื่อนๆ ญาติๆ ให้กำลังใจทำให้ลุกขึ้นมาได้ แม้จะลำบากอย่างไรแต่ก็มีกำลังใจและทำความเข้าใจกับทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิต ได้รับความช่วยเหลือและกำลังใจจากหลายคนและหลายหน่วยงาน ได้รับประสบการณ์และโอกาสให้เปิดหูเปิดตาแก่ตัวเอง สำคัญคือได้ช่วยเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ด้วย”

จากการที่เธอประสบชะตากรรมเช่นนี้ และก้าวผ่านความเจ็บปวดมายืนอยู่ได้ในทุกวันนี้ ทำให้เธอได้รับการคัดเลือกจากองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย มอบรางวัล “สตรีต้นแบบ” (Women Across Barriers) ในฐานะสตรีผู้สร้างแรงบันดาลใจ และร่วมสร้างสรรค์สันติภาพอันยิ่งใหญ่ในชุมชน ร่วมฉลองวันสตรีสากล โดย ฯพณฯ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานมอบรางวัล เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา ณ มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ

“ถ้าอาแบอยู่ด้วยกันไม่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำถึงทุกวันนี้ อาแบต้องสร้างห้องน้ำให้ลูกเมียได้ใช้แล้ว ตอนนี้ลูกก็โตกันหมดแล้ว ที่ผ่านมาก็อาศัยเข้าห้องน้ำบ้านญาติ เมื่อมีคนใจบุญบริจาคและมาช่วยลงแรงทำอีก รู้สึกดีใจและขอบคุณเป็นอย่างมาก เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่สำหรับครอบครัวของเรา”

น้ำเสียงและแววตาแห่งความปิติของ สีตีนอร์ เจ๊ะเลาะ บ่งบอกถึงความรูสึกของเธอได้เป็นอย่างดี ห้องน้ำขนาด 3*3 เมตร ที่เป็นทั้งห้องส้วม อาบน้ำ และซักผ้า อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับบางคนหรือคนทั่วไป แต่สำหรับเธอและลูกเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และรอคอยมาเป็นสิบปี บนที่ดินของสามีเธอมีเพียงบ้านกั้นด้วยสังกะสีที่มีเพียงห้องเดียวโล่งมีไฟเพียงดวงเดียว เป็นทั้งห้องนอน ทำกับข้าว และจิปาถะของเธอและลูก มีบ่อน้ำที่ขุ่นข้างบ้านกลางต้นหมากไว้อาบและใช้อย่างอื่นเพราะไม่มีน้ำประปา เมื่อฝนตกมากน้ำก็ท่วมขังใต้ถุนบ้าน

สำหรับน้ำใจที่ช่วยเหลือให้เธอและลูกๆ ได้มีปัจจัยพื้นฐานของชีวิตในครั้งนี้ เธอบอกว่า “ปลาบปลื้มมากๆ ที่ยังมีคนให้ความสำคัญ มีน้ำใจและมาช่วยเหลือ มันยิ่งใหญ่มากสำหรับเรา ขอบคุณมากๆ ที่ให้ของขวัญชิ้นใหญ่สำหรับครอบครัวของเราในครั้งนี้”

ซิตีมาเรียม บินเยาะ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ แกนนำในการขอรับบริจาคครั้งนี้บอกด้วยน้ำเสียงชื่นใจไม่แพ้กันว่า

“เมื่อสองสามปีก่อนได้รู้จักกับสีตีนอร์และช่วยประสานงานให้ลุกสาวของเธอไปอยู่ที่มูลนิธิอัลเกาษัร ได้มาเยี่ยมบ้านทำให้เห็นว่ายังไม่มีห้องน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของชีวิตคนเรา จนเมื่อเธอได้รับรางวัลจากอ็อกแฟม ฉันได้ไปด้วยและได้พูดคุยกันกับเพื่อนๆ ที่ได้รับรางวัลด้วยกันซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกเครือข่ายฯ ว่า ช่วยเหลือคนอื่นมามาก ยังมีเพื่อนในกลุ่มที่ลำบากคือสีตีนอร์ จึงคิดมาช่วยสร้างห้องน้ำให้โดยการบริจาคของเพื่อนๆ ส่วนหนึ่งและคนอื่นๆ อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งใช้เงินประมาณสองหมื่นต้นๆ เมื่อกลับมาก็ได้ปรึกษากับทางผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพปัตตานีถึงเรื่องนี้ ท่านได้อนุญาตให้อาจารย์นำนักศึกษาที่มีจิตอาสามาช่วยสร้างฐานและขึ้นโครงสร้าง จากนั้นลูกชายและน้าของสีตีนอร์ก็ช่วยทำกันต่อ”

ซีตีมาเรียมบอกต่อว่า การสร้างห้องน้ำเป็นรูปธรรมของการช่วยเหลือที่สัมผัสได้ หากสิ่งที่นอกเหนือจากนั้นคือ การแสดงน้ำใจและการให้กำลังใจที่บ่งบอกว่า ในแผ่นดินแห่งนี้ยังมีสิ่งเหล่านี้อยู่จริงจากพี่น้องทุกศาสนิก

ด้าน อ.สัญญา วิบูลย์อรรถ จากสาขาช่างก่อสร้าง วิทยาลัยการอาชีพปัตตานี ที่มาช่วยในการก่อสร้างครั้งนี้พร้อมนักศึกษาที่มีจิตอาสาบอกว่า ในพื้นที่ต้องการจิตอาสาช่วยเหลือชาวบ้านและคนที่เดือดร้อนอื่นๆ อีกมาก อยากให้ออกมาช่วยเหลือสังคมกันมากกว่านี้

“ผมมาอยู่ในพื้นที่นี้มากว่า 16 ปี คุ้นเคยกับพี่น้องและพื้นที่ เวลาลงพื้นที่และชุมชนรู้สึกอบอุ่นกับการต้อนรับและให้ความเป็นกันเอง เรื่องอขงการบริการชุมชนเป็นนโยบายของวิทยาลัยอยู่แล้วที่เป็นระบบทวิภาคี การออกพื้นที่เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ประสบการณ์นอกห้องเรียนกับการทำงานจริง ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างานได้ เมื่อทราบเรื่องนี้จากทางท่านผอ.ก็ตกลงมาและประสานงานกับเด็กเพราะอยู่ในช่วงปิดเทอม แต่ยังมีนักศึกษาที่มี่น้ำใจมาช่วยเหลือ เห็นงานแล้วก็ชื่นใจและดีใจกับก๊ะด้วย”

น้ำใจจากเพื่อนพ้องน้องพี่ในชายแดนใต้ยังมีให้เห็นและสัมผัสได้จริง ยังเป็นสิ่งดีงามที่ช่วยเยียวยาจิตใจของผู้คนได้ดีอยู่เสมอ เป็นความปลาบปลื้มที่มิต้องเอื้อนเอ่ยออกมาหากยังสัมผัสได้ถึงความปรารถนาดีนั้น