หน้าแรก รายงาน

สถาปัตยกรรมมลายู ศิลปะประจำพื้นถิ่นดินแดนชายแดนใต้

สถาปัตยกรรมมลายูเป็นศิลปะประจำพื้นถิ่นดินแดนชายแดนใต้มานาน ดินแดนที่มีความหลากหลายของพหุวัฒนธรรม ดินแดนที่มีอารยธรรมของพุทธ พราหมณ์ และฮินดูมาก่อนที่อิสลามจะเผยแผ่เข้ามา อิทธิพลของอารยธรรมเดิมจึงยังคงหลงเหลืออยู่ในงานศิลปะหลายแขนง รวมทั้งลวดลายประดับในเรือนไม้มุสลิม ปัจจุบันยังมีลวดลายอะไรที่ยังเหลืออยู่ ช่วงพัฒนาการของลายที่นิยม ลายเก่า ลายใหม่ และลายผสม เป็นความเข้าใจของแต่ละช่วงสมัยที่ทำให้รูปแบบเปลี่ยนไป เมื่อถึงปัจจุบันไม่สามารถทำให้ลูกหลานภูมิใจจึงไม่อยากอนุรักษ์ไว้ เพราะยึดติดกับวัตถุนิยม ไม่สนใจรากฐานของมลายู ศิลปะแห่งความงามนี้กำลังจะเลือนหายจึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) จัดเสวนา “เสน่ห์และภูมิปัญญาแห่งลวดลายประดับเรือนไม้มุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ณ สถาบันฯ โดยมี นายิบ อาแวบือซา ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม, ตีพะลี อะติบู ปราชญ์ชาวบ้านแห่งลวดลายลังกาสุกะ และ รอฮานี ดาโอ๊ะ นักวิจัยของสถาบันฯ ที่ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ร่วมเสวนา

ตีพะลี อะติบู ปราชญ์แห่งลวดลายลังกาสุกะและผู้ชำนาญเรื่องกริช บอกกล่าวถึงพัฒนาการด้านลวดลายมลายูว่า ดอกลายเป็นพหุวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เปรียบเสมือนการบอกให้ความหมาย ประยุกต์ใช้ตามปรัชญาต่างๆ หากทำตามกีตาบก็จะเรียนรู้ตั้งแต่ที่มาของ “บ้าน” ที่มาเชื่อมด้วยความเชื่อ

“บ้านเชื่อว่าเป็นรัง ที่หุ้มห่อที่ปลอดภัย บ่งบอกถึงอัตตาของแต่ละบ้าน ดินแดนนี้ก่อนนี้มีพุทธ พราหมณ์มาก่อน มีสัญลักษณ์ให้เห็นตามกระบัง บอกความเป็นตัวตนของคนในบ้าน อย่างลายบูหงูสีลาเป็นลายดอกชั้นสูง เป็นความเชื่อมาจากฮินดู เรื่องเขาพระสุเมรุ ที่ยอดสุดต้องหันหน้าเข้าหากัน ดอกลายเป็นดุอาอฺขอให้มั่งมี แต่ถ้าสถาปนิกไปหันหลังให้กันเหมือนเป็นการสาปแช่งบ้านนั้น ส่วนลวดลายของรั้วบ้านจะเขียนเป็นลายหันหลังหากันเหมือนการจากกันโดยสวัสดิภาพ มีความสุข ที่มาของดอกลายชาติพันธุ์มลายู เช่นดอกลายปางละวะ มีมากว่า 1,200 ปี ฐานของพระพุทธรูปเขียนลายนี้เช่นกัน หรือการทำแนแซ(ป้ายปักบนหลุมฝังศพมุสลิม) ก็มีการผสมลวดลายเช่นกัน มีการประยุกต์จนออกมาเป็นลายมลายู ส่วนลวดลายลังกาสุกะ มีความละเอียดมากเท่ากับเส้นผม และลายปัตตานีก็มีการผสมผสานมาจากหลายส่วน”

นายิบ อาแวบือซา กล่าวถึงพัฒนาการทางด้านสถาปัตยกรรมของปาตานีจากการเป็นศูนย์กลางการค้า รับวัฒนธรรมจากทุกสารทิศได้โดยง่าย

“จากทางสายบุรีที่มีพื้นที่ติดทะเลสัมพันธ์กับด้านรัฐตรังกานูของมาเลเซีย ส่วนทางด้านรือเสาะ เป็นภูเขา ติดต่อทางด้านรัฐเคดาร์ เปรัค และอินเดีย งานศิลปะจึงต่างกันตามรูปแบบและความเชื่อ ลักษณะเด่นของเรือนไม้มลายู มีตีนเสา ตอม่อ รูปแบบทรงหลังคาหน้าจั่ว ปั้นหยา มนิลา ครัวไฟ เป็นหลังคาเก่าแก่มากของอุษาคเนย์ ปรากฏในศาสนสถาน เช่นมัสยิดในรือเสาะที่สร้างตั้งแต่ปี 2502 และยังคงอยู่ การเผยแพร่ศาสนาไม่ได้ถูกลบล้างไปหมด ยังมีให้เห็นในหลายพื้นที่เช่น หน้าบัน ที่ยังเห็นเค้าลางของเขาพระสุเมรุ ลวดลายเรือนมลายู มักใช้ลวดลายธรรมชาติ เรขาคณิต อักษรประดิษฐ์ และเลียนแบบสัตว์ การสร้างลวดลายมลายู ใช้การแกะสลัก ฉลุและการเขียนสี เช่น ลายเป็ดเดินกลับบ้านตอนเย็น สื่อถึงสภาพสังคมที่มีความสามัคคี เชื่อผู้นำ สะท้อนสังคม บางลายใช้กันแพร่หลายจนไม่รู้ว่าเป็นของใคร อย่างบ้านของอ.จิตติมา ระเด่นอาหมัด ที่นำเอาแผ่นไม้บ้านเก่ามาประดับบ้านได้อย่างสวยงาม หรือมัสยิดตะโละมาเนาะมีการผสมผสานลวดลายอย่างมากมาย เหมือนการรวมช่างมาสร้าง”

นายิบบอกว่าในความจริง ศาสนาคือศาสนา ชาติพันธุ์คือชาติพันธุ์ ศาสนสถานบางแห่งก็หยิบยืมช่างมาสร้าง ไม่มีการขีดเส้นพรมแดน เช่น วัดชลาราสิงเหจะเห็นการสร้างเหมือนกับมัสยิด หรือเรือนขนมปังขิงของวังยะหริ่ง อีกประการคือคนมลายูไม่มีการผลิตเฟอร์นิเจอร์ใช้เองเนื่องจากนิยมนั่งกับพื้น ไม่ต้องมีเก้าอี้ แต่จะมีการเล่นระดับของบ้านเป็นที่นั่งไปในตัว และคนมลายูส่งลูกหลานไปเรียนตะวันออกกลางแล้วรับอิทธิพลของอาหรับ ยุโรปเข้ามาด้วย

“สำหรับปัญหาในการอนุรักษ์ลวดลายมลายูคือ การขาดความเข้าใจของช่วงการเรียนรู้ ขาดช่างฝีมือและหาวัสดุยาก เรื่องศิลปวัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องที่นำศาสนาและเชื้อชาติมาแบ่งกั้น สิ่งที่จะให้เกิดสำนึกของคนมลายูคือ สิ่งนั้นต้องมีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน สิ่งที่เป็นความรู้ในอดีตจะตอบสนองในปัจจุบัน และนำไปใช้ในอนาคตได้อย่างไร ต้องให้ตระหนักว่าการสร้างบ้านปูนนั้นไม่เหมาะกับบ้านเรา สถาปนิกต้องประยุกต์ได้ หากเป็นสิ่งที่สถานศึกษาไม่สอน”

ด้าน รอฮานี ดาโอ๊ะ นักวิจัยจากสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ม.อ.ปัตตานี บอกถึงความสนใจศึกษาในเรื่องนี้ว่า จากการเดินทางผ่านเส้นทางปัตตานี-ยะลา เป็นประจำทำให้เห็นบ้านเรือนแถบนี้เปลี่ยนไปมาก แต่ทำอะไรไม่ได้นอกจากการเก็บข้อมูลเอาไว้ ซึ่งเธอได้ศึกษาลวดลายประดับเรือนไทยมุสลิมตามบ้านและมัสยิดที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปจำนวน 30 แห่ง

“ส่วนใหญ่ในขณะนี้จะเป็นรุ่นลูกรุ่นหลานที่ได้รับมรดกบ้าน แต่ไม่รู้เรื่องเทคนิคการสร้างบ้าน บางคนบอกว่าถ้าซ่อมไม่ได้ก็ต้องรื้อแล้วสร้างใหม่ ลวดลายการสร้างต่างกันตามค่านิยมของแต่ละยุคและเศรษฐกิจของบ้านนั้นๆ เช่นมีกลุ่มบ้าน 6 หลังใน อ.ยะหา จ.ยะลา, วังระแงะ, บ้านที่ตะโละกาโปร์ ลวดลายประดับมีทุกส่วน ใช้สอยและสวยงาม มีรูปทรงเรขาคณิต อักษรมลายู อายะฮฺอัลกุรอ่านและลวดลายผสม หรือในบ้านของโต๊ะครูคนหนึ่งมี 4-5 ลาย คาดว่ามีความศรัทธามาจากการมีช่างมาทำหลายคน หลังคา หน้าจั่ว ช่องลม ประตู หน้าบ้าน บันได มีลวดลายต่างกันตามสมัยนิยม รสนิยม วัตถุดิบ ศาสนา และความเชื่อมั่นต่อการออกแบบลวดลาย”

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ศิลปะแห่งลวดลายมลายูเหล่านี้ก็ยังคงอยู่คู่กับผู้ที่เห็นคุณค่า ยังไม่สูญหายไปจากสังคมแห่งนี้ ดังคำกล่าวของอ.ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งม.ศิลปากรคือ “ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว”