เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2557 ซึ่งตรงกับวันที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความมุสลิมที่ช่วยเหลือพี่น้องในชายแดนใต้ในหลายคดีได้หายตัวไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาในเวที “10 ปี กฎอัยการศึก 10 ปี ณ ปาตานี กับการบังคับให้สูญหายของเสียงเรียกร้อง” จากหลากหลายสาขาอาชีพจนล้นห้องประชุมอิหม่ามอันนาวาวีย์ อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) ที่ทางมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จัดขึ้น
ในงานนี้ ดร.วิสุทธิ์ บินล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรีประจำภาคใต้ ได้ปาฐกถา “ภาระหน้าที่ของมุสลิมต่อความอยุติธรรมในสังคม” ถึงการสะท้อนความเจ็บปวดของคนในสามจังหวัดว่า
“อิสลาม สอนให้มีส่วนร่วมในการสร้างคุณงามความดี ภายใต้สิทธิและเสรีภาพที่ทุกคนต้องดำรงการละหมาดญามะอะฮฺ(การละหมาดร่วม กัน)และการจ่ายซะกาตเพื่อสร้างเศรษฐกิจ ร่วมกันขจัดสิ่งเลวร้าย ความยุติธรรมที่ใกล้ชิดที่สุดคือ การตักวา(ยำเกรง)ต่ออัลลอฮฺ อย่าให้ความรู้สึกเกลียดชังมาทำให้เสียความยุติธรรม ถ้าดำเนินชีวิตตามบัญญัติของอัลลอฮฺ ความอยุติธรรมก็ไม่สามารถทะลวงให้สังคมอ่อนแอ เพราะทุกคนมีจิตสำนึก ความอยุติธรรมหลายครั้งที่เกิดขึ้นเพราะสังคมอ่อนแอเกินไป ซึ่งความอยุติธรรมมาจากภายในตัวเอง และจากภายนอกคืออำนาจรัฐภายใต้ความพยายามทำให้ความเป็นชาติหนึ่งเดียว ไม่ยอมรับความแตกต่างทางชาติพันธุ์ การขจัดสิ่งเหล่านี้ทุกคนต้องกลับไปสู่บัญญัติของอัลกุรอ่านที่ต้องมีส่วน ร่วมรับผิดชอบสังคม ผดุงความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น เมื่อมาถึงจุดเสื่อมของสังคมในปัจจุบัน แม้ไม่สามารถตักเตือน แต่หัวใจต้องปฏิเสธไม่เอาคนชั่วมาเป็นเพื่อนและเป็นผู้นำ หากมองแต่เรื่องส่วนตัวไม่มองส่วนรวมก็มีความอัปยศไร้เกียรติเกิดขึ้น คนที่ถูกข่มเหงจึงต้องต่อสู้ตามลำพังในสังคมเช่นนี้
มูลนิธิทนายความมุสลิมได้ทำหน้าที่เพื่อความยุติธรรมในพื้นที่นี้ สิ่งที่อยากเห็นคือเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมจากอุลามะฮฺที่ควรมีมากกว่านี้ ต้องสร้างโครงสร้างสังคมที่มีความแข็งแกร่งแก่อุมมะฮฺ(ประชาชนมุสลิม) เมื่อสังคมเข้มแข็งใครก็มาย่ำยีไม่ได้ ต้องยืนหยัดต่อต้านความชั่วร้าย อย่าให้สิ่งที่เขากล่าวหาสังคมมุสลิมว่าไม่มีกระดูกส่วนใดหยัดยืนต่อสู้ เหมือนสังคมอมีบา จึงต้องอาศัยกำลังของอุลามะฮฺที่ส่งเสียงมากกว่านี้ ความเป็นเอกภาพของสังคมไม่เอาความเป็นส่วนตัวมาตัดสิน ต้องเป็นโครงกระดูกที่ยืนได้ ถ้าไม่ยืนหยัดแล้วเมื่อไหร่จะได้ลิ้มรสความเป็นธรรม จึงอย่าได้มีความแตกแยก ต้องช่วยกันทั้งระยะสั้นแลระยะยาว แสดงถึงพลังให้หยัดยืน เอาคนถูกเหยียบย่ำให้ยืนหยัดได้เพื่อสังคมที่เป็นปึกแผ่น”
สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิทนายความมุสลิม กล่าวถึงผลเสียที่นำเอากฏอัยการศึกที่เป็นกฏหมายชราภาพมาใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้ว่า
“กฎอัยการศึกในชายแดนใต้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งใช้ได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล กฏหมายนี้ไม่ให้ทนายความหรือญาติเข้าไปเยี่ยม จึงต้องมีการล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อยกเลิกซึ่งพี่สมชายส่งเอกสารพร้อมใบปะหน้าที่เห็นความจำเป็นในเรื่องนี้ แต่ไม่ทันได้ส่งเพราะพี่สมชายได้หายไปก่อน พี่น้องในพื้นที่จึงต้องทนทุกข์กับการไม่ถูกตรวจสอบและถ่วงดุลย์ซึ่งมี 3,000 กว่าเรื่องที่ศูนย์ความมุสลิมรับเรื่องร้องเรียนมา กฎหมายนี้ถ้าเป็นคนคือตายไปแล้วเพราะออกมาเมื่อ 100 ปีที่แล้วคือพ.ศ.2457 เป็นกฎหมายที่ชราภาพแต่ยังนำมาบังคับใช้ในชายแดนใต้”
ด้าน อนุพงษ์ พันธชยางกูร อดีตกำนันโต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส และอดีตจำเลยในคดีปล้นปืนกองพันทหารพัฒนาที่ 4 เมื่อปี 2547 เขาถูกพล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา และพวกซ้อมทรมานจนฟันกรามหัก 2 ซี่ มัดขาแล้วโยนตัวออกจากเฮลิคอปเตอร์จนห้อยโตงเตงกลางทะเล จับใส่ห้องเย็น จับตัวลูกและเมียมาทรมานต่อหน้า กำนันโต๊ะเด็งจึงยอมทุกอย่างเพื่อแลกกับความปลอดภัยของลูกเมีย เขาขอพบทนายสมชายและรับรู้ว่าทนายสมชายถูกทำให้เสียชีวิต ถูกบังคับให้แถลงข่าวยอมรับสารภาพว่าเป็นคนปล้นปืนในค่ายทหารปี 2547 และให้พูดตามที่เตรียมไว้คือ ให้ใส่ร้ายหะยีสุหลง พ่อของนายเด่น โต๊ะมีนา และกลุ่มวาดะห์ในพรรคไทยรักไทยว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน หลังจากศาลได้ยกฟ้องทุกข้อหา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556
กำนันโต๊ะเด็งได้เล่าถึงความจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และยอมให้อภัยคนที่ใส่ร้ายและทำร้าย รวมทั้งมาเปิดเผยในเวทีนี้เป็นครั้งแรกว่า “ใครสั่งฆ่าทนายสมชาย นีละไพจิตร”
อนุพงษ์เผย ทำไมต้องฆ่าทนายสมชาย… ใครสั่งฆ่า
“ผมพูดเรื่องนี้เป็นครั้งแรกบนเวทีนี้ ตอนที่ถูกควบคุมตัวที่เขาตันหยงอาการผมยังไม่สาหัส จนเที่ยงคืนถูกคุมตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปกรุงเทพฯ มี พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รอง ผบช.ก.เป็นหัวหน้าชุด ควบคุมตัวผมขึ้นเครื่องบินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำตัวผมไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เขาซ้อมผมจนไม่รู้สึกตัว ล่ามกับเก้าอี้ ฟันผมหักสองซี่ผมยังเก็บไว้เป็นหลักฐาน ตอนนั้นผมไม่ได้รู้จักกับทนายสมชายเป็นการส่วนตัว รู้แต่ว่าเป็นทนายมุสลิมที่เสียสละมาช่วยพี่น้องในชายแดนใต้และผมอยากให้มาช่วย ผมถูกซ้อมหลายครั้ง ถูกล่ามโซ่ไว้กับโต๊ะ ถูกกระทืบ เขานั่งกินไวน์กัน ฉี่ใส่ปากผม เขาพูดกันว่า ผมเรียกร้องจะเอาทนายสมชายอย่างเดียว จะทำอย่างไร ถ้าทนายสมชายยังอยู่ก็จะหาหลักฐานมาหักล้างได้หมด ต้องทำคดีอื่นมาใหม่โดยให้ผมแถลงข่าว จากนั้นผมถูกทำร้ายร่างกายจนหมดสติ พอฟื้นมาก็ถูกจับไปขังในห้องเย็นที่หนาวจัดจนปวดหัว เขาบอกให้ผมรับสารภาพ ผมบอกว่าถ้าผมเป็นคนปล้นปืนไปกว่า 300 กระบอกแล้วจะเอาปืนที่ไหนมาคืน จนวันที่ 8 มีนาคม 2547 พี่สมชายนัดมาว่าจะเจอผมแต่พวกเขาไม่ให้เจอ เขามาถามว่ายังอยากเจอทนายสมชายอีกมั้ย มีกระดาษโน้ตมาบอกว่า พี่สมชายจะมาหาวันที่ 15 มีนาคมแต่ไม่รู้ว่าเป็นลายมือพี่สมชายจริงหรือไม่
พวกเขามานั่งกินเหล้ากันที่เดิมแล้วถามผมว่ายังอยากเจอทนายสมชายอีกมั้ย เขาบอกว่ากูส่งมันไปหาอัลลอฮฺแล้ว เอามันไปเผาที่ราชบุรี และจะส่งมึงไปด้วย คนที่สั่งฆ่าทนายสมชายคือนายตำรวจที่อยู่ต่อหน้าผม คนที่อยู่ในเฮลิคอปเตอร์และทรมานผม ผมอยู่ในคุกอีกสักพัก ร่างกายเริ่มแข็งแรงขึ้น เจอตำรวจที่เคยทรมานผมเข้ามาอยู่ในคุก ผมเข้าไปถามว่าฆ่าพี่สมชายทำไม เขาบอกว่า นายสั่ง เพราะนายกลัวตำแหน่งรองผบ.ตร.หายถ้าความจริงปรากฏ และนายเขาก็ได้ตำแหน่งนั้นจริง”
“ผมต่อสู้โดยกระบวนการยุติธรรมให้รู้ว่ามีความถูกต้อง ออกจากคุกมาต่อสู้เป็นคดีเดียวที่กล้าฟ้อง ถูกสังคมพิพากษาว่าผมเป็นโจรใต้ทั้งที่ศาลพิพากษาว่า ผมบริสุทธิ์ คดีอื่นมีแต่เอาปืนไปสู้เลยช้า หากต่อสู้ตามแนวทางของทนายสมชายจะรู้ว่า มุสลิมไม่ใช่คนที่นิยมความรุนแรง ฝากไปถึงศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ที่ชอบไปสนับสนุนความรุนแรง แต่ไม่เคยสนับสนุนมูลนิธิทนายความมุสลิมเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ ให้งบประมาณมาอุดหนุน ฟ้องกลับไป ให้เจ้าหน้าที่รัฐถูกขังบ้าง ความรุนแรงก็จะหายไป ความเป็นธรรมเกิดยากหากยังเป็นแบบนี้”
อนุพงษ์อยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 2 ปี 2 เดือน 22 วัน และออกมาฟ้องร้อง พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และอดีตรอง ผบ.ตร. พร้อมพวก รุมทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพในคดีปล้นปืน ทั้งนี้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556 ศาลพิพากษายกฟ้อง นายอนุพงศ์ พันธชยางกูร หรืออดีตกำนันตำบลโต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส และอดีตจำเลยในคดีปล้นปืนกองพันทหารพัฒนาที่ 4 เมื่อปี 2547 จำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ จากกรณีจำเลยยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ กล่าวหา พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และอดีตรอง ผบ.ตร. พร้อมพวก รุมทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพในคดีปล้นปืน
โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่เพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยแจ้งความเท็จ พิพากษายกฟ้อง ซึ่งคดีนี้ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 3613/2552 สรุปว่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จำเลยได้ถูกชุดพนักงานสืบสวนสอบสวนที่มีโจทก์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรอง ผบช.ก.เป็นหัวหน้าชุด ควบคุมตัวขึ้นเครื่องบินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อไปสอบสวนที่กองปราบปราม จำเลยได้อ้างว่าถูกซ้อมทรมานทำร้ายร่างกาย เพื่อให้รับสารภาพในคดีปล้นปืนและคดีฆ่า ด.ต.ปัญญา ดาราฮีม และยังได้อ้างว่าหลังจากนำตัวกลับมาควบคุมที่ สภ.ตันหยง จ.นราธิวาส ยังได้ถูกโจทก์พร้อมด้วยตำรวจอีกหลายนายซ้อมทรมานให้รับสารภาพในคดีดังกล่าว
ต่อมาจำเลยในคดีนี้ถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับพวกอีกรวม 4 คนในข้อหาปล้นปืนและร่วมกันฆ่า ด.ต.ปัญญา ดาราฮีม ที่ศาลอาญา เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1689/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 1479/2549 ซึ่งศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสี่และศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืน ต่อมาจำเลยคดีนี้ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษว่าโจทก์ได้ร่วมกับพวกซ้อมทรมานทำร้ายร่างกายต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ซึ่งดีเอสไอได้ทำการสอบสวนและส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดโจทก์ ต่อมา ป.ป.ช.ได้ชี้ว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าโจทก์กับพวกปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ