ผู้หญิง 10 คนคือ แยน๊ะ สะแลแม, นฤมล สาและ, ดวงสุดา นุ้ยสุภาพ, อารีด้า สาเมาะ, กัลยา โสพาศรี, มาริสา สมาแห, นิเด๊าะ อิแตแล, อรอุมา ธานี, สม โกไศยกานนท์ และ สีตีนอร์ เจ๊ะเลาะ คือผู้หญิงสิบชีวิตจากชายแดนใต้ที่ได้รับการคัดเลือกจาก องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย มอบรางวัล “สตรีต้นแบบ” (Women Across Barriers) ในฐานะสตรีผู้สร้างแรงบันดาลใจ และร่วมสร้างสรรค์สันติภาพอันยิ่งใหญ่ในชุมชน ร่วมฉลองวันสตรีสากล โดย ฯพณฯ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธาน มอบรางวัลในวันที่ 11 มีนาคม 2557 พร้อมนิทรรศการภาพถ่าย “ดอกไม้กลางไฟใต้” Women Across Barriers : Deep South Insight เรื่องเล่าจาก จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ มิวเซียมสยาม กรุงเทพมหานคร
ทั้งสิบคนคือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และสามารถลุกขึ้นยืนก้าวข้ามความเลวร้ายในชีวิตมาได้ แต่ละคนทำหน้าที่ต่างกันและกลายเป็นผู้ให้แก่ผู้อื่นในปัจจุบัน เช่น นิเด๊าะ อิแตแล ผู้หญิงนักขับเคลื่อนเพื่อสร้างชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง มีรางวัลเป็นเครื่องการันตีมากมาย ยังเป็นประธานชุมชน อสม.อำเภอยะหา จ.ยะลา เป็นแกนนำกลุ่มสร้างอาชีพจากตำบลบาโงยซิแน อำเภอยะหา ปี 2550 โรงงาน ข้าวเกรียบของกลุ่มถูกลอบวางเพลิง เธอสามารถก้าวข้ามสิ่งที่มากระทบต่อตัวเองและชุมชน จนสามารถก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาใหม่ ด้วยแรงสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน,มาริสา มาแห ครูโรงเรียนบ้านพ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัต ตานี สามีเป็น อส.ถูกยิงเสียชีวิต เธอสามารถก้าวข้ามความเจ็บปวดนั้นได้ โดยใช้หลักศาสนา กำลังใจ ความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง และองค์กรภาคประชาสังคม จนปัจจุบันเธอเป็นคณะอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์และประเมินผลการเยียวยาผู้ ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ สม โกไศยกานนท์ ภรรยานายตำรวจที่ถูกยิงเสียชีวิตจากสถานการณ์ความรุนแรงรายวัน ก้าวข้ามความเจ็บปวด ลุกขึ้นมาทำงานช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วยกัน ฝึกสอนและสร้างอาชีพให้กลุ่มแม่บ้าน ปัจจุบันเป็นอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ, สีตีนอร์ เจ๊ะเล๊าะ สามีเป็นจำเลยในเหตุโจมตี สภ.อ.แม่ลาน ในเหตุการณ์กรือเซะ ถูกจำคุกตั้งแต่ปี 2547 ศาลอุทธรณ์ตัดสินประหารชีวิต แต่ที่สุด ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต เพราะสามียืนยันว่าถูกจ้างไปขับรถ ไม่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุ แต่เธอและลูกๆ ถูกประณามว่าเป็นครอบครัวผู้ก่อความไม่สงบ จึงดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความอดทนอย่างที่สุด ฯลฯ
“อรอุมา ธานี” หรือ ไซตูน หนึ่งในสิบของสตรีที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ชีวิตของเธอได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โดยตรงเมื่อสามีถูกลอบยิงเสียชีวิต โดยมีลูกน้อยสามคนอยู่ในที่เกิดเหตุ เธอตัดสินใจลุกขึ้นยืน มีชีวิตใหม่ได้เพราะเพื่อนพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ ปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มน้ำพริกเซากูน่า สร้างงาน สร้างรายได้ให้ผู้ได้รับผลกระทบด้วยกัน
อรอุมาเป็นชาวขอนแก่นที่ตัดสินใจมาปักหลักใช้ชีวิตกับสามีชาวปัตตานีเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว เธอเข้ารับอิสลามและยังคงยึดมั่นในทางนำนี้อย่างเที่ยงตรงแม้สามีจะจากเธอไปแล้วก็ตาม
วันที่ 12 กรกฏาคม 2550 เป็นวันที่เธอได้รับข่าวร้าย สามีเธอถูกยิงและมีลูกสามคนอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย ลูกเธอต้องกำพร้าพ่อ มีเพียงเธอที่ต้องประคองชีวิตทั้งสี่ไปข้างหน้าเพียงลำพัง ลูกทั้งสี่คือกำลังใจที่ทำให้เธอลุกขึ้นมาก้าวไปข้างหน้า เมื่อวันเวลาผ่าน จิตใจแข็งแรง ลูกคนโตก็ถูกส่งไปเรียนหนังสือที่มูลนิธิอัลเกาษัร ที่พระประแดง สมุทรปราการ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ส่งเสริมและให้การสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เด็กกำพร้าและผู้ด้อยโอกาส ส่วนลูกๆ อีกสามคนก็ได้เรียนในโรงเรียนที่ดี มีศาสนา เธอเองก็ได้ทำงานดูแลคนป่วยเป็นอัมพาตเกือบปี คนป่วยก็ได้เสียชีวิตลง และได้ทำให้เธอได้รู้จักกับคนใจดีชวนให้เธอกับเพื่อนๆ รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มอาชีพเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวและมีอาชีพที่มั่นคงภายใต้ชื่อ “กลุ่มน้ำพริกเซากูน่า”
ในปี 2552 “เซากูน่า (ZAUQUNA)” ซึ่งเป็นภาษาอาหรับ มีความหมายว่า “รสชาติของเรา” จึงจัดตั้งขึ้น
ความหมายของชื่อกลุ่มคือ รสชาติของชีวิตที่มีผู้คนหลากหลายมารวมกลุ่มกัน มีทั้งหญิงหม้ายจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้หญิงที่ประสบปัญหาความยากจนและด้อยโอกาส เริ่มต้นด้วยการทำน้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกขิงปลาดุกฟู น้ำพริกนรก ต่อมาได้ลองทำเมี่ยงคำสำเร็จรูปด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมุ่งเน้นในเรื่องของการคัดสรรวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นที่มีคุณภาพ ทั้งเม็ดมะม่วงหิมพานต์ กุ้งแห้ง มะพร้าว มีวางขายตามร้านขายของฝากบรรดาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ร้านอาหารในตัวเมืองปัตตานี ไปรษณีย์เมืองปัตตานี ร้านค้าชุมชน งานแสดงสินค้าต่างๆ ออกร้านขายตามสถานที่ที่จัดงานประชุม นอกจากนี้ยังมีการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าอีกด้วย
ทุกวันนี้การดำเนินงานของกลุ่มกำลังไปได้ด้วยดี เซากูน่ามีโรงเรือนอย่างมั่นคงซึ่งเป็นสถานที่ผลิตน้ำพริกและเมี่ยง ตั้งอยู่ในชุมชนตะลุโบะ หน้าโรงเรียนอามานะศักดิ์ ชานเมืองปัตตานี ผลิตภัณฑ์ได้รับมาตรฐาน อ.ย. จะลงคัดสรรผลิตภัณฑ์โอทอปของจังหวัดในปี 2558 และ ตอนนี้อยู่ในระหว่างยื่นขอขึ้นทะเบียนมาตรฐานฮาลาล ซึ่งจะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่าง ประเทศ รวมทั้งสามารถเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและขยายตลาดได้มากขึ้น ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้ที่มากขึ้นและมั่นคง และยังเป็นการส่งเสริมการจ้างงานให้กับคนที่อยู่ในชุมชนแห่งนี้อีกด้วย
จากการรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยกันสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงแล้ว ไซตูนบอกว่าการรวมกลุ่มยังคงได้ช่วยกันเยียวยาจิตใจ เป็นกำลังใจให้แก่เพื่อนๆ ภายในกลุ่ม มีการจัดตั้ง ‘กองทุนบริสุทธิ์’ โดยหักเงินจากกำไรสุทธิ (รายได้หลังจากหักต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายแล้ว) เป็นจำนวน 15 % เข้ากองทุน เพื่อให้สมาชิกสามารถกู้ยืมเงินไปลงทุนประกอบอาชีพ หรือกู้ยืมไว้ใช้ในยามที่เดือดร้อนจำเป็น โดยได้ดำเนินการตามหลักการของอิสลาม ปลอดดอกเบี้ย เมื่อสมาชิกในกลุ่มเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะนำเงินจากกองทุนบริสุทธิ์นี้ไปช่วยเหลือเพื่อนๆ ได้อีกด้วย
“ตอนนี้ไม่ได้ไปขายส้มตำตามตลาดแล้วเพราะมีออเดอร์เข้ามามากขึ้น เข้ามาทำงานที่กลุ่มกันเกือบทุกวัน ออเดอร์มาจากเครือข่าย การออกงาน เพจของกลุ่ม และหน่วยงานสั่งซื้อ รวมทั้งไปส่งขายตามร้านต่างๆ ในตัวเมืองปัตตานีด้วย คนรู้จักผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมากขึ้น ทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้น โดยจะจัดสรรแบ่งกันสามเดือนครั้งนึง ทำให้ได้เงินก้อน กำลังมีโครงการรับคนเข้ามาทำงานเพิ่มซึ่งจะช่วยเหลือคนที่ลำบากให้ได้มีอาชีพมาร่วมกันทำงาน โดยจะดูคนในชุมชนก่อน”
ไซตูนได้รับโอกาสในชีวิตจากการเข้าร่วมกิจกรรมของเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้หลายอย่าง เธอได้ร่วมจัดรายการวิทยุเสียงผู้หญิงจากชายแดนใต้ ซึ่งเป็นงานท้าทายที่ไม่เคยทำมาก่อน การเข้ารับการฝึกอบรมทำให้เธอมีความมั่นใจและรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นกระบอกเสียงแทนหญิงมุอัลลัฟ(ผู้หญิงที่เข้ารับอิสลาม) ที่แม้ในวันที่ต้องสูญเสียเสาหลักของครอบครัว แต่หากเพราะความศรัทธาในศาสนาอันแข็งแกร่งและการมีกลุ่มอาชีพ จึงทำให้สามารถยืนหยัดและมั่นคงมาได้จนถึงทุกวันนี้
“เรายังมีอัลลอฮฺอยู่ อัลลอฮฺจะทรงช่วยเหลือเรา ขอเพียงแค่เราเชื่อมั่นและศรัทธา ไม่ คิดกลับบ้านแล้ว ตั้งใจใช้ชีวิตที่นี่ไปจนกว่าจะตาย ปัตตานียังเป็นที่ที่น่าอยู่สำหรับเรา ยังทำมาหากินได้และหยุดไม่ได้เพราะลูกกำลังโต ตั้งใจส่งเสียลูกให้ได้เรียนหนังสือจนจบ มีความรู้ที่เขาสามารถมีอาชีพและการงานที่ช่วยเหลือตัวเองได้ เราไม่มีเงินทองที่จะให้นอกจากความรู้ ประการสำคัญคือลูกๆ ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนที่มีพื้นฐานการสอนศาสนาที่แข็งแรงทำให้สบายใจว่า ลูกได้รับและมีพื้นฐานของศาสนาที่ดีและนำพาเขาไปสู่หนทางที่ดีได้แน่นอน”
ลูกสาวคนโตของไซตูนจบม.6 กำลังหาที่เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ลูกสาวคนรองเรียนชั้นม.2 ลูกสาวคนที่สามเรียนชั้นป.5 และลูกคนเล็กเรียนชั้นป.3 ทุกคนเรียนที่โรงเรียนอามานะศักดิ์ โรงเรียนที่อุปถัมภ์ช่วยเหลือเธอและลูกมาตลอด และเธอยังเช่าบ้านหลังเดิมอยู่แถวแยกตะลุโบะด้วยเหตุผลคือ เจ้าของบ้านเช่าที่มีน้ำใจกับเธอมาโดยตลอด
การได้รับรางวัลในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ไซตูนบอกว่า ไม่คาดคิด
“ตกใจว่าได้จริงหรือเปล่า เราเป็นม้ามืด สิ่งทีทำมาไม่ได้หวังรางวัลอะไรแต่สิ่งที่อัลลอฮฺตอบแทนมามากกว่าที่คิดมากนัก เป็นสิ่งที่ดีใจมากกับการทำงานและการชีวิตที่มุ่งมั่น อดทน ยืนหยัด มองคนรอบข้างมากกว่าตัวเองและได้รับผลตอบแทนกลับมาเช่นนี้”
ขอเป็นกำลังใจให้แก่ผู้หญิงต้นแบบทั้งสิบคน เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ผู้หญิงที่ประสบชะตาชีวิตเช่นนี้ได้มีกำลังใจ ก้าวข้ามบททดสอบในชีวิตให้สามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงบนโลกใบนี้ไปได้จนกว่าจะสิ้นลมหายใจ