แม้โลกการสื่อสารปัจจุบันจะก้าวล้ำนำหน้าไปถึงไหน หากการเขียนและการอ่านยังคงอยู่คู่สังคมและโลกมาเสมอ
เมื่อไม่นานนี้ “รัตนชัย มานะบุตร” หรือ “บังโซ๊ะ” นักเขียนมุสลิมมากฝีมือ เจ้าของเรื่องสั้น “อุทกภัย” และเล่มล่าสุดคือ “ชายผู้อ้างตัวเป็น เซ็ง ท่าน้ำ” เปิดตัวหนังสือในปัตตานีไป ณ ร้านหนังสือบูคู และในกิจกรรม “ตามรอยแผ่นดินทอง ล้านรัก ล้านศรัทธา” ณ สำนักงานมูลนิธิเทพปูชนียสถาน (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวปัตตานี) โดยมี จเด็จ กำจรเดช นักเขียนซีไรต์ และ อังคาร จันทราทิพย์ กวีซีไรต์ ร่วมพูดคุยถึงเรื่องราวการเขียนและการอ่านให้ได้ฟังกัน
เมื่อถามถึงการอ่านหนังสือ รัตนชัยบอกว่า เป็นคนชอบอยู่เงียบๆ อ่านหนังสือได้ทุกแนวเพื่อเป็นพลังในตัวเอง ใครไม่อ่านก็จะไม่รู้เรื่อง เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้หากมีความตั้งใจ
“การจะเป็นนักเขียนนั้นเห็นว่าการเขียนบันทึกเป็นพื้นฐานที่ดี เขียนทุกเรื่องที่เข้ามาในชีวิต หาประเด็น จุดศูนย์กลางของเรื่อง จะเขียนในสมุดหรือเขียนในเฟซบุ๊คก็ได้ให้มีประเด็นยาว เป็นการฝึกฝนภาษาบ่อยๆ และเมื่ออ่านหนังสือก็ต้องตีโจทย์ให้แตก การอ่านสร้างจินตนาการได้อย่างมหัศจรรย์ที่ทุกคนทำได้ เมื่ออ่านเยอะ เขียนเยอะ ประสบการณ์มากขึ้น แต่ละคนมีเรื่องเล่าที่มีวิธีการและภาษาไม่เหมือนกัน สำคัญคือต้องมีประเด็นชัดเจน กว่าจะเป็นหนังสือสักเล่มต้องเคี่ยวเข็ญกันนาน ต้องผ่านคนอื่นที่สำคัญคือ บรรณาธิการ แม้จะคิดว่าเขียนดีอย่างไรก็ต้องผ่านบรรณาธิการ”
ด้าน อังคาร จันทราทิพย์ กวีซีไรต์ บอกว่ากวีในดวงใจคือ พ่อของเขา ที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านมีด จอบ และเสียม
“ทุก อย่างมีภาษาของมันที่ซ่อนเรื่องราวเอาไว้ อยู่ที่เราจะหยิบเอาภาษาที่เขาสื่อสารออกมาอย่างไร การเขียนเรื่องราวใกล้ตัวที่ประทับใจจะเขียนออกมาได้ดี อย่างผมเขียนเรื่องท้องนาแต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เขียนเรื่องท้องนาแต่วิธีการ เล่าเรื่องเปลี่ยนไป จะเห็นแง่มุมไปเรื่อย เป็นสิ่งที่อธิบายตัวตนของคนเขียนได้มากที่สุด การเขียนแต่ละเรื่องไม่กำหนดเวลา แต่กำหนดประเด็นไว้ งานเขียนที่นานที่สุดของผมใช้เวลาสองปี เหมือนงานศิลปะที่ต้องมีองค์ประกอบสองอย่างคือรูปแบบ และเนื้อหา”
“งานที่ทำทำด้วยความรักและชอบ การเขียนคือความสุข การอ่านเป็นสิ่งสำคัญกับชีวิตมาก หนังสือแต่ละเล่มเหมือนโลกแต่ละใบ นักเขียนคนนึงก็สร้างโลกใบนึง คนที่จะเขียนหรืออ่านเป็นการเข้าไปสู่โลกแต่ละใบ อย่างในโลกออนไลน์ที่มีข้อมูลมากมาย ได้เห็นสายใยความเอื้ออาทรผ่านเกมรดน้ำผัก เป็นสายใยในโลกเสมือนที่ออกมาจากใจของคนเล่นเกม เป็นจินตนาการที่หยิบมาเขียนงานได้ ซึ่งอาจจริงกว่าโลกที่สัมผัสได้ก็ได้แต่ต้องมีวิจารณญาณมากๆ ต้องดูแลตัวเองให้ดี เป็นโลกสองใบที่ซ้อนอยู่ ขึ้นอยู่กับความละเอียดอ่อน ความรอบคอบ วุฒิภาวะ และการคัดกรองข้อมูล”
ขณะที่ จเด็จ กำจรเดช นักเขียนซีไรต์ บอกว่างานทุกอย่างหากทำด้วยใจรักก็จะออกมาดี เลือกงานที่รักแล้วจะไม่ต้องทำงาน หากบางครั้งเขาก็ลืมสำรวจตัวเองเหมือนกัน
“เรารักแต่อาจไม่รู้สึกเพราะอยู่กับมันตลอดเวลา แต่หาประเด็นมาได้ตลอด วันไหนไม่ได้เขียนรู้สึกกระวนกระวาย แม้โลกจะเปลี่ยน มีการสื่อสารที่รวดเร็วขึ้นแต่ยังมีการเขียนความรู้สึกที่ผ่านโลกออนไลน์ บันทึกความเป็นมนุษย์ที่รู้สึกในขณะนั้น ถือเป็นการบันทึกอีกแบบ สำคัญคือยังต้องอ่านอยู่ การจะทำให้เป็นวรรณกรรมยังต้องอ่าน เคลื่อนไปตามโลกและเทคโนโลยี มีเว็บไซต์นิยายที่ประโยคอาจสั้น เรื่องไม่ยาวแต่ต้องผ่านกระบวนการคิด อ่านและเขียนเช่นกัน ซึ่งสามารถต่อยอดได้ อ่านเพื่อเปิดโลกทัศน์โดยไม่ต้องอ่านหนังสือร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่หากจะเป็นนักเขียนก็ต้องอ่าน และย่อยจากสื่ออื่นเยอะขึ้น เมื่อทำบ่อยและประจำก็ต้องสำเร็จสักวัน งานสิบชิ้นต้องมีสักชิ้นที่ดี ถ้าเราเอาจริงมันต้องได้ผลตอบแทน ต้องลองให้สุดความสามารถ คนอ่านเองต้องมีความรู้หลากหลาย ขบคิดตามนักเขียน ตามกันให้ทัน บทกวีของผม คำอาจมาทีละประโยค คิดพล็อตเรื่องไว้ กลุ่มคำจะหลุดมาจากไหนไม่รู้เหมือนกัน ภาวะกวีไม่รู้มาตอนไหน แต่ไม่เครียด ถ้าต่อไม่ติดก็เก็บคำไว้แล้วต่อได้แต่ไม่นานเพราะจะต่อไม่ติด”
เรื่องราวน่าสนใจของการเป็นนักเขียน สิ่งสำคัญมาจากการอ่านและเขียนเก็บไว้ เมื่อถึงเวลาจึงต้อง “ปล่อยของ” ที่เป็นอาหารเลี้ยงจิตใจและสมองออกมาให้คนอื่นได้ “เสพ” เพียงแค่หนึ่งประโยคหรือหนึ่งบทในงานเขียนนั้นที่สะกิดใจคนอ่านก็เป็นกำลังใจที่วิเศษล้นของคนเขียน
ตามหาเรื่องราวของ “ชายผู้อ้างตัวเป็น เซ็ง ท่าน้ำ” ของ รัตนชัย มานะบุตร มาอ่านกันได้ตามร้านหนังสือได้แล้ววันนี้