หน้าแรก รายงาน

ฝันแห่งสันติสุขของคนรุ่นใหม่ชายแดนใต้

เมื่อไม่นานมานี้มีการเสวนารับฟังหลากหลายทัศนะของคนรุ่นใหม่ ภาคการศึกษา ในงาน “นานาทรรศนะ สู่ฝันสันติสุข” ที่ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ร่วมกับ กอ.รมน.จังหวัดปัตตานี และหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี(สนอ.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี( ม.อ.ปัตตานี) โดยมีตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เข้าร่วมเสวนา

ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ซึ่งเข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้กล่าวว่า เงื่อนไขหลักของการสร้างสันติภาพ คือ ความยุติธรรม

“ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน เมื่อมีความผิดพลาดทำให้เกิดความวุ่นวาย ส่วนความอธรรม คือ ระเบิดเวลา เป็นเงื่อนไขที่มีมานาน รอเวลาปะทุขึ้นมา การสร้างความอธรรมคือการสร้างระเบิดในพื้นที่นั้น สันติภาพอยู่ด้วยกันไม่ได้กับความรุนแรง เมื่อความรุนแรงมาสันติภาพจะตายทันที การสร้างสันติภาพมีสองประการ หนึ่งคือการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจ เพราะการเรียนรู้คือกุญแจของความสำเร็จ สองคือการสร้างสันติภาพในตนเอง เริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วค่อยขยายวงกว้าง สัญชาตญาณของมนุษย์ต้องการความสงบสุข อิสลามคือ สงบสุข สันติ สอดคล้องกับศาสนาของอัลลอฮฺที่ทรงสร้างมนุษย์ สร้างศาสนา อัลลอฮฺไม่อธรรมต่อบ่าวของพระองค์ หากทำตามแนวทางของพระองค์จะเป็นสันติภาพที่ถาวร”

ด้าน ผศ.นิฟาริด ระเด่นอาหมัด รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวัฒนธรรม ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า การสร้างความเข้าใจให้กับคนในพื้นที่ ทุกคนต้องมีศาสนาเป็นกรอบในการนำทาง มีวิทยาศาสตร์นำทางความรู้ และอย่ามองข้ามความเป็นไทยในการเคารพความคิดของผู้ใหญ่และเด็ก ให้มีการศึกษาที่ดีที่สุดแล้วความฝันก็จะเป็นจริง

นายอัสริ ปาเกร์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า นักศึกษาเป็นตัวการสำคัญในการขับเคลื่อนสันติภาพ ให้ภาครัฐและประชาชนทำงานร่วมกันให้ได้

“เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น เจ้าหน้าที่ไม่กล้าไปพูดคุยกับชาวบ้านเพราะกลัวถูกลอบทำร้าย ส่วนชาวบ้านก็ไม่กล้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐเพราะกลัวถูกข่มเหงรังแก กลุ่มนักศึกษาจึงเป็นตัวกลางสำคัญในการเข้าไปในชุมชนและนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาสะท้อนให้เห็นถึงความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน เสริมสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ด้วยความเป็นนักศึกษาเป็นที่ไว้วางใจของชาวบ้านและช่วยให้ชาวบ้านไว้วางใจรัฐมากขึ้น การที่ กปปส. หรือ นปช. ใช้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็น เครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายตนเอง โจมตีกันไปมาบ่งบอกได้ว่า พวกเขาไม่เข้าใจแก่นปัญหาชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง ทำให้สังคมไม่เข้าใจคนที่นี่ว่าทำไมคนสามจังหวัดไม่รักชาติ ต้องพูดจากสาเหตุว่ามาจากอะไร สื่อให้สังคมรับรู้ความจริง”

นายสนั่น หลีนายน้ำ ประธานชมนักศึกษารักสันติ คณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฎอนี กล่าวว่า การให้โอกาสทางการศึกษาและด้านอื่นๆ แก่คนในพื้นที่คือการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ให้โอกาสกลุ่มนักศึกษาได้กล้าและพัฒนาด้านความคิด จะสามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้เช่นกัน ทุกคนเสริมสร้างสันติภาพในตัวเองได้ ส่วนไหนเจ็บก็เจ็บเช่นกัน เป็นกระบวนการนำสันติภาพมาสู่ที่นี่ ทุกการทำงานต้องมีใจบริสุทธิ์ ทำดีความดีต้องตอบแทน จงเคารพความคิดและสิทธิของผู้อื่น แล้วจะพบกับสันติภาพ

นายสุไฮมี ดูละสะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMas) กล่าวว่า มีข้อเสนอ 3 ข้อให้รัฐไทยในการทำให้พื้นที่ชายแดนใต้สงบสุขคือ 1)เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้สิทธิทางการพูดและความคิด ถอนกฎหมายพิเศษต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ชอบธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชน 2)ถอนทหารที่มาจากนอกพื้นที่ภาค 4 ออกไปให้หมด เพื่อ เพื่อให้คนที่เห็นต่างจากรัฐได้คลายความอึดอัดและกล้าแสดงออกมากขึ้น ให้รัฐทบทวนพิจารณาว่าปัญหาก่อนที่จะปะทุคืออะไร เพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหา และขอให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดแนวทางการเดินหน้าต่อไปในอนาคต และ 3)ลดเงื่อนไขทั้งหมดที่มีมาก่อน ปี 2547

นายอาร์ฟาน วัฒนะ ประธานเครือข่ายเยาวชนอิสระจังหวัดชายแดนใต้ (IRIS) กล่าวว่า นักศึกษาเป็นตัวเชื่อมรัฐและประชาชนให้ได้ฟังเสียงความต้องการที่แท้จริง การที่จะสร้างให้ปาตานีเกิดสันติภาพนั้น ทุกฝ่ายต้องเปิดใจเรียนรู้ปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน มีความจริงใจในการแก้ปัญหา และมีพื้นที่ที่ปลอดภัยที่ประชาชนสามารถแสดงออกทางการเมืองได้

นายอัสรี จะมาจี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี คณะทำงานกลุ่ม dream South กล่าวว่า ขณะที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในกรุงเทพเพียงไม่กี่วัน มีการออกมาคัดค้านให้ถอนการใช้กฎหมายนี้ออกไป จึงเรียกร้องให้รัฐบาลหันมามองดู พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ประกาศใช้มานานถึง 10 ปีด้วย

“ถึง แม้จะมีการเปิดพื้นที่ปลอดภัยอย่างแพร่หลายเพียงใด แต่ถ้ามีการปิดกั้นทางความคิด การเปิดพื้นที่เหล่านั้นก็ไร้ประโยชน์ สิ่งนี้เป็นตัวการหนึ่งที่ปิดกั้นทางความคิด ในปัจจุบันขอชื่นชมทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่ใช้กฎหมายพิเศษนี้น้อย ลง เพราะยิ่งใช้มากเท่าไหร่ก็เท่ากับสร้างนักรบรุ่นใหม่ที่ถูกกระทำโดยอำนาจที่ ไม่เป็นธรรมมากขึ้น และการได้รับบทเรียนที่เจ็บปวดในเวลาที่ผ่านมา อยากให้ทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง”

หลากหลายทัศนะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีอำนาจต่อเรื่องที่พวกเขาต่างบอกเล่า หากเรื่องราวเหล่านี้ได้รับการสานต่ออย่างจริงจังและจริงใจ เชื่อแน่ว่า สันติภาพที่อยากมีอยากเห็นคงไม่ไกลเกินเอื้อม