“ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก” คำคมนี้ยังใช้ได้เสมอมาจนถึงปัจจุบัน และดนตรีไม่เคยทำร้ายใคร
เสียงเพลงยังคงเป็นสิ่งที่ผู้คนโหยหาในทุกพื้นที่ แม้ในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ เพราะดนตรีคือสื่อกลางที่เชื่อมร้อยผู้คนให้รับรู้ในสิ่งเดียวกันได้ แตกต่างกันในความชอบ รสนิยม หากสิ่งที่ได้รับอรรถรสจากเสียงเพลงคือสิ่งที่ผู้คนใฝ่หา ซึ่งในพื้นที่แห่งนี้มีวงดนตรีที่มีฝีมือมากทีเดียว ในปัตตานีเช่นเดียวกันที่มีวงดนตรีที่เป็นที่รู้จักกันคือ วง 360 เมษา วงดนตรีที่รวมตัวเล่นกันมาเกือบยี่สิบปีและจะยังคงเล่นตลอดไป
สมศักดิ์ หุ่นงาม หรือ โจม หนุ่มเจ้าเนื้อ อารมณ์ดี นักร้องนำ มือกีตาร์และสารพัดหน้าที่ พูดคุยถึงเรื่องราวของสมาชิกและแนวทางดนตรีของวงให้ได้ฟัง
“เราเริ่มทำวงกันตั้งแต่ปี 2538 เพราะเรียนโรงเรียนเดียวกัน ตอนนั้นมี 4 คน เล่นกันทุกงานในโรงเรียน ตั้งชื่อว่า วงเมษา เพราะทุกคนเกิดเดือนเมษายนกันหมด จนจบม.ปลาย ก็แยกย้ายกันไปเรียน ยุบวง ผมยังเล่นในปัตตานีกับคนอื่นๆ เมื่อเรียนจบ ยศมาเปิดห้องซ้อมดนตรีที่ปัตตานี จึงได้กลับทาทำวงกันอีดกครั้ง จนปี 2551 มีร้านอาหารเปิด เรารวมตัวกันไปเล่นที่ร้านนั้น พวกเราเล่นกันได้ทุกแนว ไม่จำกัด ตอนนั้นดูทีวีรายการ 360 องศาจึงมาเป็นชื่อ ”วง 360 เมษา” มีสมาชิกคือ ผม ยศ แชมป์ วุฒิ ออฟ และน้องอีกคน รวม 6 คน รับเล่นงานทั่วไปในปัตตานี ซึ่งมีหลากหลายหน่วยงานและกิจกรรมที่ให้เราไปร่วมงานเป็นประจำ”
สมาชิกทั้ง 6 คือ สมศักดิ์ หุ่นงาม Vocal – Trumpet/ ยุทธศาสตร์ นวลเจริญ Bass /ชาตรี จือมือรา Drum/ วุฒิพงษ์ จองเดิม Guitar /จิดาภา จองเดิม Vocal /พิชชากร พุ่มแก้ว Violin
จุดเด่นของ 360 เมษาที่โจมบอกว่าทำให้คนดูจำได้คือ ความเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ที่ดี มีมุขตลอด ฝีมือดนตรีที่เข้าขั้นพอตัว
“พูดแล้วกึ่งเหมือนจะเก่ง ในการตอบรับของคนดูขึ้นอยู่กับงาน คนดูโอเค เราก็โอเค ต้องเตรียมตัวทำการบ้านก่อนที่จะไปเล่นทุกงาน ดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนเล่น แก้ปัญหาตรงนั้น เราเล่นให้อารมณ์สนุกเองก่อนแล้วคนดูก็จะสนุกด้วย เห็นคนดูยิ้ม เราก็มีความสุข เราเล่นได้ทุกแนว แนวถนัดคืออินดี้ บางงานก็ต้องปรับ บางงานก็โอเค เพลงไหนมาแรงก็เล่นได้ คาราบาว กร๊ฟไรเดอร์ หญิงลี เล่นให้อยู่ในกลิ่นอายของเขาแต่เป็นสไตล์ของเรา”
โจมบอกว่า ก่อนหน้านี้ในชายแดนใต้มีการจัดดนตรีกันเยอะและถี่มาก ทั้งการประกวด คอนเสิร์ต ศิลปินดังๆ มาบ่อย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครมาเล่นนอกจากงานใหญ่จริงๆ และหากจะเอาใครมาเล่นคนจัดงานต้องมีเงินประกันซึ่งเป็นจำนวนมาก ศิลปินจึงจะมาเล่น
“สถานการณ์บ้านเราทำให้เรื่องของดนตรีเบาลง ทั้งที่ดนตรีไม่เคยทำร้ายใคร ดนตรีช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น มีแต่คนที่ทำร้ายกันเอง ดนตรีทำให้เราปลดปล่อย เวลาอยู่กับดนตรีไม่คิดถึงเรื่องอื่น บรรเทาความเครียดในวิกฤตอย่างนี้ไปมาก ขึ้นอยู่กับว่าเราเล่นดนตรีอะไร ได้อยู่กับตัวเอง เสพถึงสัมผัสของดนตรีนั้น เวลาเล่นเราคือศิลปินที่ไม่ต้องเด่นดังแต่สร้างความสุขให้คนดู นักดนตรีไม่จำเป็นต้องใช้ยา บางคนเสพยาแต่ก็ยังเล่นไม่ถึงขั้น ไม่เกี่ยวกัน อยู่ที่ตรงนั้นคุณเป็นใครมากกว่า วงเรารับเล่นทั่วไป ใครจ้างก็ไปเล่น ส่วนใหญ่เป็นงานในปัตตานี คิดว่ามีคนรู้จักในระดับนึง ในปัตตานีมีวงดนตรีหลากหลายวงและแนว วงเราคุยง่าย บางครั้งวงอื่นขาดคนโทรมาตามเราก็ไปเล่นให้ เราทำได้ทุกอย่าง ทุกคนมีงานประจำกันทุกคน ซ้อมกันวันเสาร์-อาทิตย์ หรือเวลาว่าง ก่อนไปเล่นแต่ละงานก็มาซ้อมกันก่อน”
“เราจะเล่นกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีใครจ้างไปเล่นหรือถึงจุดอิ่มตัวกัน แต่คิดว่าคงเล่นแบบนี้กันไปยาว เล่นแล้วมีความสุข เป็นพี่เป็นเพื่อนเป็นน้อง ปรึกษาหารือคุยกันได้หมดในวง” เป็นคำสรุปถึงความรักและหลงใหลในดนตรีของพวกเขาได้เป็นอย่างดี