หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวชายแดนใต้

ตลาด ถนน โรงเรียน วัด มัสยิด ป้อมชรบ. ผู้หญิงชายแดนใต้ขอเป็นพื้นที่ปลอดภัย

พื้นที่ (กลาง) ตลาดเทศวิวัฒน์ 1 กลางเมืองปัตตานี คือวงเสวนารณรงค์สาธารณะของผู้หญิงชายแดนใต้ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ของผู้หญิงที่ต้องการให้ “ตลาด ถนน โรงเรียน วัด มัสยิด และป้อม ชรบ.” เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีความปลอดภัย

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ “Women’s Agenda for Peace” (PAW) จัดเวทีรณรงค์สาธารณะ ในงาน พื้นที่ “กลาง” ตลาด “พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและทุกคน” Safe Market Save Life ณ ตลาดเทศวิวัฒน์ 1 เทศบาลเมืองปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยมีสมาชิกเครือข่ายคณะทำงานวาระผู้หญิงเข้าร่วมงานประมาณ 300 คน โดยมีการเสวนาในหัวข้อ “พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและทุกคน” และการประกาศเจตนารมณ์และแถลงการณ์

โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 ถึงเดือน เมษายน 2559 คณะทำงานฯได้ลงพื้นที่ 5 ครั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นที่เกี่ยวกับความต้องการของผู้หญิง คือ 1.เวทีนักจัดกิจกรรมคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ที่อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 7-8 ตุลาคม 2558 2.ลงพื้นที่ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2558 3.พื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2559 4.อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี 2559 5.อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ข้อสรุปจากการลงพื้นที่พบว่าผู้หญิงต้องการให้พื้นที่สาธารณะเหล่านี้เป็นพื้นที่ปลอดภัย คือ ตลาด ครอบคลุมถึงตลาดนัดและร้านค้าในชุมชน ถนน ทั้งถนนสายรองและถนนสายหลัก โรงเรียนทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา สถานที่ประกอบศาสนากิจ เช่น วัด มัสยิด เป็นต้น และต้องการให้ป้อมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.) ให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีความปลอดภัยด้วย
นางสาวลม้าย มานะการ สมาชิกคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ กล่าวว่า จากการลงทำเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้หญิงในพื้นที่ คณะทำงานวาระผู้หญิง จึงมีข้อเรียกร้องเพื่อปกป้องรักษาพื้นที่สาธารณะให้เป็นให้ปลอดภัย โดยมีข้อเสนอต่อผู้ที่ใช้อาวุธทุกฝ่าย ทั้งรัฐและฝ่ายที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ

ข้อเสนอต่อผู้ที่ใช้กำลังอาวุธคือ

1.ขอให้ยุติก่อเหตุความรุนแรงและปฏิบัติการทางทหารของทุกฝ่ายในพื้นที่สาธารณะ พร้อมประกาศให้พื้นที่สาธารณะเป็นเขตปลอดอาวุธ

2.ขอให้แสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธีทางการเมืองและนำประเด็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้หญิงเป็นวาระสำคัญในการพูดคุย

3.เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงภาคประชาสังคมได้ทำงานอย่างปลอดภัยและเป็นอิสระ เพราะที่ผ่านมามีผู้หญิงนักกิจกรรมถูกระแวงไม่ไว้วางใจ ถูกติดตาม จับตาจากหน่วยงานความมั่นคงและผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ จนทำให้รู้สึกกลัวและไม่ปลอดภัย รวมทั้งถูกแทรกแซงจนขาดอิสระในการทำงาน

สำหรับข้อเสนอต่อชุมชน กลุ่ม องค์กร และเครือข่ายภาคประชาสังคมชายแดนใต้ พร้อมขอเชิญชวนท่านซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญของผู้หญิงคือ

1.ให้ร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงในพื้นที่ของการทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม และการทำงานขับเคลื่อนสันติภาพ ตลอดจนช่วยผลักดันให้ข้อเสนอเชิงนโยบายพื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงชายแดนใต้เป็นวาระสำคัญที่คู่ขัดแย้งต้องรับพิจารณานำไปสู่โต๊ะการพูดคุย

2.ขอให้ท่านเข้ามามีส่วนร่วมและช่วยกันพัฒนามาตรฐานการรักษาความปลอดภัย ในพื้นที่สาธารณะในเขตของท่าน ตามบริบทพื้นที่

นางโซรยา จามจุรี สมาชิกคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ กล่าวว่า “การสร้างสันติสุข และสันติภาพอาจต้องคิดนอกกรอบ จึงจะสามารถเห็นสิ่งเหล่านั้นเป็นจริง”

23 องค์กรสมาชิกคณะทำงานผู้หญิงชายแดนใต้
1. กลุ่มเซากูน่า 2. กลุ่มด้วยใจ 3.กลุ่มเครือข่ายสตรีเสื้อเขียวชายแดนใต้ 4. กลุ่มออมทรัพย์สัจจะสตรี 5. เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (Civic Women) 6. เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ 7. เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ 8. เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้ 9. เครือข่ายชุมชนศรัทธา 10. เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี 11. เครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก 12. เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ 13. เครือข่ายผู้หญิงธรรมาภิบาลชายแดนใต้ 14. ชมรมข้าราชการมุสลีมะห์นราธิวาส15. ชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส 16 มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า 17. สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace) 18. สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา 19. สภาประชาสังคมชายแดนใต้ 20. สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ 21. ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา 22. ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า 23. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DeepSouthWatch)

FullSizeRender FullSizeRender1 FullSizeRender2 FullSizeRender3 FullSizeRender4 FullSizeRender7 IMG_7711