หน้าแรก รายงาน

ผืนดินงอกใหม่′ตะโล๊ะสมิแล′ แหล่งเที่ยวใหม่ ความภูมิใจชุมชน

ผืนดินที่ครั้งหนึ่งเคยหายไป

เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ แต่ทว่าก็เกิดขึ้นจริงแล้ว

หาดทรายสีขาวเกิดขึ้นใหม่ตามแนวชายฝังทะเลอ่าวไทยระยะ 1 กิโลเมตร ในพื้นที่ระหว่างหมู่ 1-3 บ้านตะโล๊ะสมิแล ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี หลังจากตลอดช่วง 20 ปี ที่ผ่านมาคลื่นได้กัดเซาะเอาผืนดินของชาวบ้านนับร้อยๆ ไร่ หายไปในทะเล

แต่ช่วงปีหลังๆ มานี้ เมื่อมีการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตกันคลื่นกัดเซาะ กลับมีผืนทรายงอกเงย จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่

จากที่มีโอกาสได้ไปสำรวจในพื้นที่ดังกล่าว มีโอกาสได้พูดคุยกับ มะลีเป็ง มะแต หรือ “อาเยาะเป็ง” อายุ 70 ปี ซึ่งเล่าให้ฟังถึงผืนดินที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้ด้วยรอยยิ้มปนเสียงหัวเราะ พร้อมส่งสายตาแห่งความหวังสว่างเจิดจ้า

อาเยาะเป็งบอกว่า จำได้แม่นกับเหตุการณ์พายุพัดถล่มหลายหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลแหลมโพธิ์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 จนบ้านเรือนทรัพย์สินชาวบ้านพังเสียหายและยังมีผู้คนเสียชีวิต ถึงแม้ว่าภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะคลื่นลมมรสุมจะเข้าทำลายล้างพื้นที่หลายต่อหลายครั้งก็ยังถือว่าเป็นเพียงการทดสอบของพระผู้เป็นเจ้าแต่พวกเราก็จะยังคงภูมิใจที่จะอยู่ดูแลผืนแผ่นดินแห่งนี้เหตุผลเพียงเพราะเป็นพื้นที่ของบรรพบุรุษที่มาสร้างไว้

เหตุการณ์นี้ ทำให้คนไทยทั่วสารทิศเข้ามาหยิบยื่นน้ำใจให้ความช่วยเหลือ เป็นข้อพิสูจน์ในความอดทนว่า ในภัยพิบัตินั้นก็ยังตอบแทนด้วยน้ำใจจากคนภายนอกที่เข้ามาช่วยเหลือ ส่วนพื้นที่ริมทะเลยซึ่งจมหายไป วันนี้เริ่มงอกเป็นผืนทรายขึ้น อาเยาะเป็นบอกว่า…

“เปรียบเหมือนหนึ่งว่าการผ่านบททดสอบนั้นเสมือนธรรมชาติก็ได้ให้รางวัลกับเราด้วยเหมือนกัน

“สิ่งเดียวที่ทำให้ชาวบ้านทุกคนอยู่ได้จนถึงวันนี้เพราะผืนดินแห่งนี้เป็นของบรรพบุรุษที่มาสร้างไว้แม้ปากทางเข้ามาหมู่บ้านที่เป็นพื้นดินเข้ามาจะมีขนาดเล็กเพราะที่ผ่านมาก็ยังเจอกับคลื่นลมมรสุมกัดเซาะฝั่งขาดหายและทางหน่วยราชการก็เข้ามาช่วยเหลือ ซ่อมแซม ทำที่กันคลื่นกัดเซาะ และที่ผืนทรายแห่งนี้ก็งอกเงยขึ้นมาเรื่อยๆ หลายจุด

“แม้ที่ผ่านมา พื้นดินที่เคยอาศัยอยู่จะหายไปบ้าง แต่ทุกคนก็อยู่ได้ด้วยรักและยังหวงแหน เพราะถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษที่เลือกสถานที่ได้ถูก อีกทั้งด้วยความรักและศรัทธาต่อผู้เป็นเจ้าและต่อพื้นที่ของบรรพบุรุษได้ก่อเกิดมาจากเม็ดทรายจนงอกเงยกลายเป็นผืนดินมองว่าเป็นสิ่งตอบแทนที่พวกเราชาวบ้านยังคงอยู่หากินในที่แห่งนี้”อาเยาะเป็งกล่าว

มุมหนึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อ อีกมุมหนึ่งเป็นเรื่องของความศรัทธาของพวกคนซึ่งอยู่ที่นี่

ทุกคนเชื่อว่าอยู่ด้วยความถูกต้อง ด้วยความรัก อยู่ด้วยความสามัคคี ไม่เคยทำลายธรรมชาติและสิ่งที่ผู้เป็นเจ้า จึงได้รับรางวัลตอบแทนจากธรรมชาติ คือการเกิดแผ่นดินจากผืนทราย ทำให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ มีการค้าขาย มีงาน มีรายได้ของชาวบ้านในพื้นที่

นิเฮง นิตยารักษ์ อายุ 46 กล่าวว่า เดิมนั้นมีที่ดินเนื้อที่ 70 ไร่ ติดขายทะเล แต่ก็ถูกคลื่นกัดเซาะทำให้เนื้อที่หายลดลงเรื่อยๆ จนเมื่อปีกว่าได้เกิดผืนทรายเพิ่มขึ้นเป็นแนวชายหาดยาวบนเนื้อที่ติดทะเลของชาวบ้านหลายๆ คน และเริ่มมีผู้คนเดินทางมาท่องเที่ยว จากนั้นก็เริ่มมีการขายของ ขายอาหาร บางรายก็สร้างบังกะโลเล็กๆ ให้กับนักท่องเที่ยวได้มาเช่าพักค้างคืนช่วงหมดหน้าคลื่นลมมรสุม

“ผมอยากจะหาประโยชน์จากที่ดินของตัวเองอยากขายของอยากทำบังกะโลให้นักท่องเที่ยวมาพักผ่อนแต่ยังไม่มีเงินทุนและยังคงมีชีวิตที่ลำบาก ทุกวันนี้เห็นผู้คนมาเดินเล่นอยู่ในที่ดินของผมเอง ยิ่งมองเห็นเขาสนุกเขาหัวเราะ เขายิ้ม ผมก็ยิ้มหัวเราะด้วย เพราะดีใจที่เห็นเขามีความสุขและเริ่มรู้สึกว่าตัวเองก็เริ่มมีความหวังที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้เกิดรายได้และเกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่” นิเฮงกล่าว

เมื่อถามว่า ถ้าเกิดมีนายทุนจากข้างนอกมองเห็นประโยชน์เช่นกัน และเข้ามากว้านซื้อ?

นิเฮงบอกว่า ก็อยากจะแบ่งขายเหมือนกัน แต่อยากให้กับชาวบ้านในพื้นที่มากกว่า เพราะที่ยังราคาถูกกว่าพื้นที่ข้างนอกซึ่งเจริญแล้ว ที่คิดอย่างนี้ก็เพราะอยากเห็นคนอื่นๆ ได้มีความสุขด้วย เพราะการมีความสุขอยู่คนเดียวไม่สนุก ที่สำคัญจะยิ่งทำให้ทุกคนในพื้นที่มีความรู้สึกรักและหวงแหน ร่วมกันรักษาพื้นที่ดินบรรพบุรุษของตนเองเอาไว้ด้วย

ด้าน คอดียะ แวนาเซ อายุ 42 ปี นักท่องเที่ยวในพื้นที่ เผยว่า ชอบพาครอบครัวมาเที่ยวพักผ่อนเป็นประจำ เพราะรู้สึกรักและหวงแหนหาดทรายแห่งนี้มาก หากมีนายทุนที่จะมากว้านซื้อหาดแห่งนี้ไปจนหมดก็คงจะไม่ยอมและเสียดาย เพราะเคยอยู่และเห็นชายหาดแห่งนี้มาตั้งแต่เด็กๆ ก่อนที่วันหนึ่งก็หายไป จนมาถึงวันนี้ลูกๆ ก็ยังได้มาเหยียบพื้นทรายแห่งนี้

“เมื่อก่อนไม่ได้มีความสวยงามและมีหาดทรายมากขนาดนี้ นี่คือความสุข ที่ไม่ใช่แต่คนในชุมชน เพราะหลังจากที่เริ่มมีการพัฒนา มีร้านค้า มีที่พัก คนภายนอกก็เริ่มเข้ามาท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงวันหยุดเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านก็เริ่มจะมีรายได้จากการขายของเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย” คอดียะกล่าว

ขณะที่ปัญญาศักดิ์ โสภณวสุ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (ปภ.) เผยว่า ที่ผ่านมาทางหลวงชนบทมีการแก้ไขปัญหาทะเลกัดเซาะชายฝั่งมานับ 10 ปี หลายวิธี ทั้งการทิ้งหินขนาดใหญ่ การใช้ถุงแกเบี้ยน หรือตะข่ายหุ้มหินทิ้งไว้ตลอดแนวชายหาด แต่ก็ไม่สามารถป้องกันลูกคลื่นกัดเซาะได้ จนล่าสุดหลังภัยพิบัติ ปี 2553 ได้มีการของบประมาณจากรัฐบาล เพื่อมาปรับใช้วิธีการปักเสาเข็มตลอดแนวชายฝังจนสามารถป้องกันได้และยังช่วยให้ผ่านภัยพิบัติในช่วงปี 2555 ได้ด้วย

นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เกิดผืนดินที่มาจากทรายธรรมชาติเพิ่มในที่ของชาวบ้านตลอดแนวชายฝั่งหลายจุดจนเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแต่ก็ต้องมีการติดตามต่อไปว่าวิธีการปักเสาเข็มลักษณะนี้จะสามารถป้องกันการกัดเซาะได้ดี มีความถาวรในระยะยาวด้วยหรือไม่

ถึงแม้ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจะร้ายแรงต่อชาวบ้าน ต.แหลมโพธิ์ ขนาดไหนและการสูญเสีย แม้จะร้ายแรงเพียงใด หรือผืนแผ่นดินแห่งนี้จะเคยหายไป แต่นั่นก็เพียงหนึ่งบททดสอบของธรรมชาติที่จะให้ทุกคนได้กลับมาร่วมกันปกปักรักษาธรรมชาติ ด้วยความรักและศรัทธา ต่อรางวัลและโอกาสที่ได้รับอีกครั้ง