หน้าแรก รายงาน

สม โกไสยกานนท์… จิตอาสาเพื่อพี่น้องชายแดนใต้

แทบทุกครั้งที่เจอ”พี่สม”และสมาชิกของกลุ่มไปช่วยกันขายน้ำยาล้างจานน้ำยาซักผ้า และน้ำยาปรับผ้านุ่ม ตามงานต่างๆ อดใจไม่ไหวที่ต้องอุดหนุนด้วยคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่เยี่ยมยอดและราคาย่อมเยา

ผู้หญิงเหล่านี้มารวมกลุ่มกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เปี่ยมด้วยคุณภาพ ต่างคนต่างที่มา หากมี “ความสูญเสีย” เช่นเดียวกัน เพียงแค่ได้มาเจอหน้ากัน ความทุกข์ยากของพวกเธอก็ได้รับการปลดปล่อยและแปรเปลี่ยนด้วยพลังแห่งความรักและการแบ่งปัน ดังเช่นชื่อของ กลุ่ม “หัวอกเดียวกันแบ่งปันน้ำใจ”

เมื่อไปประชุม อบรม สัมมนา ที่ไหน ถ้ามีพี่สม โกไสยกานนท์ จะต้องได้ยินเสียงเธอ นำเสนอความคิดเห็นดีๆ เสมอ พี่สมสูญเสียสามีที่เป็นตำรวจไปเมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา สามีของเธอคือ พ.ต.ต.กร้าว โกไสยกานนท์ สารวัตรสำนักนโยบายและแผน บก.ภ.จว.ยะลา วัย 53 ปีขณะนั้นเสียชีวิตจากการถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ด้านความมั่นคงในพื้นที่

พี่สมเป็นลูกครึ่ง พ่อเป็นคนจีนมาจากเมืองไหหลำ แม่เป็นคนเวียดนาม พี่สมเกิดและเติบโตที่จังหวัดยะลา จึงพูดภาษามลายูได้ตั้งแต่เด็ก

“พี่สมมาจากกำปงป๊าวตำบลบาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา มีโอกาสคลุกคลีกับเพื่อนมุสลิมตั้งแต่อายุ 4 ขวบ จนถึง 20 เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีของมุสลิมเป็นอย่างดีพอโตขึ้น มาใช้ชีวิตอยู่ที่อำเภอเมืองยะลา แม่เสียชีวิตตอนพี่อายุ 13 ปี ตอนนั้นต้องออกจากโรงเรียนมาเป็นแม่ค้า ช่วยพ่อดูแลครอบครัวและช่วยทำมาหากิน”

ชีวิตครอบครัวของพี่สมอบอุ่นเธอแต่งงานกับข้าราชการตำรวจ มีลูกชาย 2 คนจนเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2547 เธอต้องเผชิญหน้ากับความสูญเสียเมื่อสามีถูกยิงเสียชีวิต

“ตอนเริ่มเหตุการณ์ใหม่ๆ ป่วยอยู่ด้วย ประมาณ 5-6 เดือน ป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับอย่างรุนแรงมีคุณหมอพานักจิตวิทยามาเยี่ยมให้กำลังใจและรักษาด้วย เขาดูแลอย่างดี จนดีขึ้นเยอะมากลุกขึ้นสู้กับชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยแรงบันดาลใจจากหมอและเพื่อนที่มาเยี่ยม เพื่อนบอกว่าพี่ต้องเข้มแข็ง ทำไมต้องทิ้งความเก่งจมกับความล่องลอยอยู่แบบนี้ ทำไมไม่คิดเอาสิ่งที่มีอยู่ในตัวออกมาช่วยเหลือคนอื่น อีกอย่างคือก่อนสามีเสียเรามีสัญญาใจกันว่า เขาจะอยู่ในราชการอายุสักประมาณ 55 ปี ก็จะลาออก จะนำความรู้ความสามารถไปสอนตำรวจหรือประชาชนโดยไม่คิดค่าตอบแทน”

คำพูดของสามีจึงเป็นอีกหนึ่งกำลังใจหรือสัญญาใจ ที่ทำให้พี่สมต้องลุกขึ้นมาให้ได้

เมื่อผ่านคืนวันอันเลวร้าย พี่สมสามารถก้าวข้ามความเจ็บปวดมาได้แล้วยังจัดตั้งกลุ่มดูแลหญิงหม้ายด้วยกัน เพื่อให้กำลังใจ ช่วยกันสร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับเธอ

“ตอนแรกพี่สมได้รับการเยียวยาโดย การศึกษานอกโรงเรียน(กศน.)มาฝึกอาชีพให้ได้มีการเรียนรู้ ฝึกอาชีพ 1 วัน 1 ผลิตภัณฑ์ เราไปฝึกกัน 7 วัน 7 อย่าง พาสมาชิกไป 20 กว่าคน ไปฝึกการทำผลิตภัณฑ์ใช้ในครัวเรือน พี่จึงคุยกับสมาชิกว่าน่าจะลองทำขายดีไหม แต่เราต้องจัดตั้งกลุ่มก่อนพี่ก็รวบรวมสมาชิกเข้ามาซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด พูดง่ายๆ คือเป็นหญิงหม้ายทั้งหมดที่ยากจนและต้องดูแลลูกหลายๆ คนตั้งชื่อว่า “กลุ่มหัวอกเดียวกัน แบ่งปันน้ำใจ” ทุกวันนี้ดำเนินการผลิตเพื่อจำหน่าย ใช้ในครัวเรือน จำหน่ายเป็นรายได้เสริมและลดรายจ่ายในครัวเรือน”

ทุกวันนี้ พี่สม ยังทำงานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบรายใหม่ๆ เธอได้รับแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เป็นประธานผู้ได้รับผลกระทบของจังหวัดยะลา ทำหน้าที่ดูแลผู้ได้รับผลกระทบทั้งจังหวัด ดูแลเด็กกำพร้า ผู้พิการ เป็นคณะกรรมการกองทุนด้วยรักและห่วงใยของตำรวจ เป็นแกนนำเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และได้รับความไว้วางใจจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ให้ช่วยงานบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ ไปช่วยชี้แนะ มอบสิ่งของ พูดคุย ทำความรู้จัก ซึ่งเธอทำมาเกือบสองปีแล้วและยังทำต่อไป โดยไม่ขอรับค่าตอบแทน

“อย่างน้อยเราก็ได้ดูแลคนรอบข้าง รู้สึกภาคภูมิใจมากที่ได้ทำงานนี้ เพราะเราทำด้วยใจ ผลกระทบที่มีโอกาส เมื่ออยู่สบายไม่เดือดร้อนแล้ว น่าจะเผื่อแผ่โอกาสที่ตัวเองมีอยู่ ดูแลเผื่อแผ่คนรอบข้างด้วย เพราะว่ายังมีผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องการความช่วยเหลืออีกมากในพื้นที่“ กลุ่มหัวอกเดียวกันฯ รวมกลุ่มกัน โดยไม่แบ่งข้าง แบ่งฝ่าย แบ่งศาสนา มาร่วมทำน้ำยาซักผ้าทำครั้งหนึ่งได้ประมาณ 800 กว่าลิตร ได้ประมาณ 400 กว่าขวด รวมทั้งน้ำยาล้างจานและน้ำยาปรับผ้านุ่ม รายได้ตกประมาณเดือนละ 2,000-3,000 บาท นอกจากจะทำน้ำยาอเนกประสงค์ด้วยกันแล้ว ยังกิจกรรมอื่นที่ทำพวกเธอร่วมกันทำอีกเช่น ชวนกันไปทำขนมเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ศูนย์เด็กกำพร้าชายแดนภาคใต้ และมีกิจกรรมที่ทำด้วยกันคือ ลงเยี่ยมผู้ได้รับผลกระทบ

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง ไปกันเป็นผู้หญิงทั้งหมด พี่สมขับรถไปลงพื้นที่เยี่ยมเคสคนพิการที่อำเภอรามัน บังเอิญวันนั้นมีการปะทะเกิดขึ้นเหมือนกันหน่วยทหารที่อยู่ในพื้นที่ถามว่าจะไปไหนกัน พี่สมบอกว่าจะไปเยี่ยมเคส เขาบอกว่าข้างหน้ามีการปะทะเกิดขึ้น พี่สมบอกว่ายังไงก็ต้องไป”

สิ่งที่ทำให้พี่สมกล้าไปเพราะว่า “ไม่กลัวแล้วที่ผ่านมามันพ้นขีดความกลัวไปหมดแล้วเราทำด้วยใจ ที่ผ่านมาระยะเวลายาวนานทำให้รู้สึกว่า เราต้องช่วยกันแล้ว ถ้าเราไม่ช่วยกันสังคมนี้จะผ่านไปไม่ได้เหตุการณ์นี้ไม่มีทางที่จะสงบลงได้ ต้องมีคนกลุ่มหนึ่ง ส่วนหนึ่งที่เข้ามาจุนเจือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มันถึงจะอยู่รอด”

นอกจากการรวมกลุ่มกันสร้างอาชีพ ออกเยี่ยมเยียนผู้ได้รับผลกระทบ กลุ่มฯ ยังออกไปให้ความรู้ตามหมู่บ้านอีกด้วย พี่สมบอกว่าเป็นวิทยากรฝึกอาชีพระยะสั้น ไม่ได้เลือกว่าต้องสอนเฉพาะกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ สอนตั้งแต่ชุมชน คนในชุมชน คนในตำบล และตามพื้นที่ต่างๆ ที่มีความต้องการสอนทำผลิตภัณฑ์สอนการแปรรูปวัตถุดิบที่มีในพื้นที่ การทำอาหาร และการทำขนม

“อย่างการทำขนมแล้วแต่ว่าเขาจะเลือก จะสอนเฉพาะขนมที่ใช้อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่มีในบ้านไม่จำเป็นจะต้องไปจะเป็นพวกเป็นขนมสด ขนมทอด เช่น พวกโดนัท เค้ก ขนมหัวเราะ ดอกจอก ถั่วแผ่น โดนัทฟักทอง สอนสิ่งที่ชาวบ้านทำได้และทำง่ายที่สำคัญคือ เขาสามารถนำสิ่งที่สอน ไปประกอบเป็นอาชีพเสริมได้ มีอาชีพ มีรายได้ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนปีหนึ่งเข้าไปสอนประมาณ 20-30 ครั้ง”

ด้วยอดีตที่เคยเป็นแม่ค้า พี่สมจึงสามารถสอนการบริหารจัดการ การตลาด ได้อีกด้วย และความที่เป็นภาษามลายูตั้งแต่เด็ก ทำให้ง่ายต่อการสอนพี่สมเป็นคนที่เห็นความสำคัญของภาษา และคิดว่าหากสามารถสื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจได้ เป็นการช่วยลดช่องว่างทางสังคมได้อีกทางหนึ่ง

“เวลาเราไปสอนในพื้นที่ ชาวบ้านเขาจะชอบมากในการสื่อสารเป็นภาษามลายู เพราะบางคนเวลาลงพื้นที่ ก็จะฟังภาษาไทยไม่ค่อยรู้ เราได้มีโอกาสใช้ภาษามลายู ทำให้เขาเข้าใจ สอนทำให้เขาเป็นได้ง่ายกว่าภาษามลายูเรียนรู้เพื่อให้สื่อสารกับเขาได้มากที่สุด บางคนไม่เห็นคุณค่าในภาษาของตนเอง ทุกภาษาเป็นการสร้างความเข้าใจในจิตใจ และการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายอย่างสามจังหวัด บางทีเราสามารถสื่อสารกับคนเฒ่าคนแก่ได้ และอธิบายให้ได้ อันนี้เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งซึ่งในพื้นที่นี้ คนไทยพุทธมีความรู้ความสามารถพูดภาษามลายูได้มากเท่าไรก็ยิ่งดี”

“ในเรื่องของการสร้างสันติภาพระยะยาวในพื้นที่ ทุกๆ หน่วยงาน ทุกๆ องค์กรควรหันหน้าเข้าหากัน เพื่อสร้างสันติภาพ การใช้การสื่อสารทั้งสองภาษาเข้ามาช่วยเหลือผู้อื่น สื่อสารให้อีกคนหนึ่งเข้าใจเป็นการสร้างสันติภาพอย่างหนึ่ง ยามที่เขาทุกข์ยาก เราก็ทุกข์ยากสาหัสด้วยกัน วันหนึ่งวันใดเพื่อนเราสาหัสเราสามารถไปเยียวยาเพื่อนกันได้ ไปสร้างอาชีพให้เขา นับเป็นการสร้างสันติภาพได้อีกทางหนึ่ง”

การก้าวข้ามทุกสิ่งของพี่สมมาถึงทุกวันนี้คือ การยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น เดินไปข้างหน้า ซึ่งบริบทของแต่ละคนมาเหมือนกัน ตั้งสติและทบทวน ก้าวข้ามอย่างมีธงและหมุดหมายที่แน่นอน คิดทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่าหายใจทิ้งไปวันๆ

หากความรุนแรงนำมาซึ่งความสูญเสีย การรวมกลุ่มกันของผู้ได้รับผลกระทบเป็นดั่ง…พลังแกร่งกว่าหินผา พลังแห่งหัวใจที่รวมกันฝ่าฟันอุปสรรค ก้าวข้ามไปด้วยกัน

ท่ามกลางวิกฤติไฟใต้ที่กำลังคุกรุ่น มีคนเก่ง คนเข้มแข็ง ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เยียวยาตนเอง

พี่สม เป็นตัวอย่างของคนที่ได้รับผลกระทบที่สามารถก้าวข้ามความเจ็บปวดได้ อีกทั้งยังลุกขึ้นมารวมกลุ่ม ทำงานขับเคลื่อนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วยกัน โดยไม่ได้รอเพียงเงินช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐเพียงอย่างเดียว

พลังใจที่แน่วแน่ เด็ดเดี่ยว มั่นคง ช่วยนำทางชีวิตให้พบเจอหนทางแห่งแสงสว่างได้เสมอ