หน้าแรก รายงาน

เจ้าแม่สมัชชาสุขภาพปัตตานี …กัลยา เอี่ยวสกุล

ในการทำงานด้านสุขภาวะและสุขภาพของชายแดนใต้ ไม่มีใครไม่รู้จัก “กัลยา เอี่ยวสกุล” หัวหน้าศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.ปัตตานี เนื่องจากการทำงานอย่างต่อเนื่องในด้านนี้มาเป็นสิบๆ ปี และความตั้งใจมุ่งมั่นของเธอ ทำให้ผลงานที่ทำเป็นที่ประจักษ์ชัด ซึ่งในปัจจุบันความตั้งใจนั้นยังคงมีอยู่เต็มเปี่ยม

กัลยาเริ่มทำงานด้านสุขภาพมาตั้งแต่ปี 2520 ตั้งแต่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) อาสาสมัครพัฒนาชุมชน ทำงานในเครือข่ายเกี่ยวกับสุขภาวะมาจนถึงปี 2547 ที่เกิดสถานการณ์ในพื้นที่ เธอเริ่มทำงานท่ามกลางความหลากหลายเพิ่มขึ้น

“ช่วงนั้นเริ่มเข้ามาทำงานในการช่วยเยียวยาสังคม ใช้ศาสนบำบัดผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เรียนรู้ในวิถีพุทธ มุสลิมและคริสต์ในการทำงานและอยู่ร่วมกันในพื้นที่ มีทีมนักวิชาการเข้ามาช่วยเหลือ มาถึงปี 2550 ผลักดันเข้าสู่นโยบายแห่งรัฐ พอปี 2551 มีการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 1 ได้ผลักดันเรื่องพหุวัฒนธรรม เข้าไปโดยมีนายกรัฐมนตรีรับเรื่อง และสามารถตอบโจทย์ไห้ในหลายเรื่อง”

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นความรุนแรงที่กัลยาบอกว่า ยังทำงานได้เพราะงานด้านสุขภาวะทำได้ในทุกสภาวะ เธอไม่ได้มองว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นทำให้งานต้องชะงัก ยิ่งมีวิกฤตยิ่งทำให้ต้องเพิ่มโอกาสในการทำงาน

“ทีมสมัชชาปัตตานียังทำงานอย่างต่อเนื่องในปัตตานี ซึ่งมีทั้งนักยุทธศาสตร์ นักวิชาการ ร่วมช่วยกันทำงาน เข้าประสานงานสื่อสารได้กับทุกหน่วยงาน ขยายฐานชวนคนมาทำงาน ภาคประชาสังคม ประชาชนก็ร่วมงานกันด้วยดี ไม่ได้สนใจว่าสถานการณ์ในพื้นที่จะเป็นอย่างไรเพราะเรื่องใหญ่กว่าคือ การแก้ปัญหาในชุมชน เราดูแลพื้นที่ปัตตานีอย่างเข้มข้น เป็นงบประมาณยุทธศาสตร์ของจังหวัดเชื่อมกับระบบประกันสุขภาพให้คนในพื้นที่ได้กำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ซึ่งทำในมิติของ กาย ใจ สังคมและปัญญา ต้องแก้ด้วยคน กลไกและสิ่งแวดล้อม ที่ลงไปทำงานขับเคลื่อนกับอบต. โรงพยาบาลประจำตำบลและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอและจังหวัด มีจิตอาสาในพื้นที่ สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เขา เปิดเวทีสร้างการเรียนรู้ กลับไปสร้างในพื้นที่ เตรียมแผนงาน คณะทำงาน เราสนับสนุนงบประมาณ และมีทีมนักวิชาการช่วยสังเคราะห์”

ทุกผลประโยชน์ที่ทำ กัลยาบอกว่าเพื่อตอบโจทย์ของชุมชนให้จัดการตัวเองให้ได้ และพยายามขยับพื้นที่ให้มากที่สุด ซึ่งงานทางด้านสุขภาวะตอบโจทย์ได้ทั้งหมด โดยชูประเด็น ”สร้างนำซ่อม”

“เราเฝ้าระวังและรณรงค์ในเรื่องสมัชชาสุขภาพ ศูนย์ทำงานด้านสมัชชาสุขภาพ เป็นศูนย์ประสานงาน สิทธิบัตรทอง งานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ประชาคมงดเหล้า และสภาประชาสังคม ที่มีการเปิดพื้นที่เรียนรู้ของพี่น้องไทยพุทธ ซึ่งมีการพูดคุยกันมาแล้วสามเวทีในปัตตานีและยะลา และจะคุยร่วมกับพี่น้องมุสลิมในเดือนธันวาคมนี้ พบว่าพี่น้องไทยพุทธในพื้นที่ยังอยู่ได้ เขาไม่ได้คิดเรื่องความขัดแย้ง คิดในเรื่องของการทำมาหากิน เรื่องพื้นฐานของชีวิตและคุณภาพชีวิตมากกว่า”

“เราตั้งเป้าหมายไว้ว่า สุขภาวะคนตานีมีสุขในปี 2559 เป็นการหนุนเสริมที่คน กลไกและสิ่งแวดล้อม ประกอบกัน เดินไปด้วยกันได้ เมื่อ อบต.ขานรับ ชุมชนบริหารจัดการตัวเองได้ ซึ่งเริ่มทำใน 36 ตำบลและขายเป็น 115 ตำบลในปัตตานี”

ความเป็นคนมุ่งมั่น ทำงานอย่างจริงจังของกัลยาทำให้เธอได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า ในหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ รุ่น 2 ซึ่งมีนักศึกษาทั้งหมด 30 คน ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่เธอบอกว่า เป็นโอกาสที่ได้รับจากการทำงาน

“ไม่เคยเหนื่อยกับงาน สนุกกับสิ่งที่ทำ สิ่งที่ให้คนทุกข์มีสุขได้ สิ่งที่สังคมตอบแทนคือ โอกาสที่ได้รับที่ไม่ใช่แค่ตัวเงิน ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง สังคมเปิดโอกาสและยอมรับการทำงานของเรา จนเรียกกันว่า เจ้าแม่สมัชชาสุขภาพปัตตานี และจากการขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพมาตลอดทำให้ในปีนี้ จ.ปัตตานี ยังได้รับรางวัลสมัชชาอวอร์ด จากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะไปรับรางวัลระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม นี้ที่กรุงเทพฯ รางวัลนี้ทำให้ต้องทำให้ดีกว่าเดิม พิสูจน์ให้เห็นว่า เรายังทำงานได้ พยายามลบล้างคำพูดที่เขาสบประมาทหรือพูดในทางที่ไม่ดีต่อปัตตานีให้ได้”

ด้วยความเป็นคนในพื้นปัตตานีคือ อ.แม่ลาน ญาติพี่น้องยังอยู่ในพื้นที่ไม่ย้ายไปไหน ตัวกัลยาเองบอกว่า ไม่มีความคิดที่จะย้ายไปอยู่ที่ไหน ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นไปอย่างไร เพราะที่นี่คือบ้านเกิด

“เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน มาจากสายเลือดเดียวกัน ต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ รักที่นี่ รักปัตตานี เกิดในปัตตานีต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเกิด จะอยู่ที่นี่ไปจนตายและทำงานนี้ไปจนกว่าจะสิ้นแรง ตอนนี้เตรียมคนรุ่นใหม่และทีมให้ได้รู้จักการเรียนรู้และทำงาน ซึ่งยังมีคนรุ่นใหม่ที่มีจิตอาสาทำงานในพื้นที่นี้อีกมาก ที่นี่ยังมีความหวังเสมอ”