หน้าแรก รายงาน

ย้อนคำพิพากษา ลดโทษจำคุกตลอดชีวิต รอสดี มะยามา

เป็นข่าวครึกโครมอีกครั้ง ที่ศาลฎีกายืนประหารชีวิต”รอสดี มะยามา” ฐานเป็นกบฏขบวนการแบ่งแยกดินแดนและเป็นอั้งยี่ ปล้นปืนค่ายทหารกองพันพัฒนา แต่ให้คำรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อคดี จึงลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต

โดยเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 15 พ.ย.2556 ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ อ.1450/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายรอสดี มะยามา ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ที่จ.นราธิวาส เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นกบฏ ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักร, สะสมกำลังพลหรืออาวุธ, ใช้กำลังประทุษร้ายก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต, ปล้นทรัพย์หรือรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 113, 114, 135/1-2, 209, 210, 212, 213, 340 และ 357

โดยโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2551 สรุปว่า ก่อนเกิดเหตุหลายปีมาแล้ว จำเลยกับพวกอีกหลายคนเป็นสมาชิกของ”กลุ่มเมืองหนึ่ง” โดยมีจำเลยเป็นหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดนของราชอาณาจักรไทย จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส จ.สตูล และ อ.สะเดา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ออกจากการปกครองของรัฐบาลประเทศไทย ตั้งตัวเป็นรัฐอิสระปกครองตนเอง เรียกว่า “รัฐปัตตานี หรือ รัฐปัตตานีดารุลสลาม”

โดยมีแผนการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ อย่างรุนแรงและต่อเนื่อง สะสมกำลังพล และอาวุธ ทำการโฆษณาชวนเชื่อยุยง และปลุกระดมราษฎรให้หลงเชื่อ เกิดความรู้สึกเกลียดชังข้าราชการและรัฐบาลไทย สร้างแนวคิดเข้าสู่กลุ่มเยาวชนที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมตามโรงเรียนปอเนาะ และโรงเรียนอื่นๆ ก่อเหตุรุนแรงหลายครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย และทรัพย์สินของรัฐและเอกชน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชนเกิดความหวาดกลัว เหตุเกิดที่ทุกตำบลและอำเภอใน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ อ.สะเดา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เกี่ยวพันกัน

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2552 ว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 113 (3), 114, 135/1 วรรคสอง, 135/2, 209 วรรคแรก, 210 วรรคสอง, 212(2) (3), 213 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ซึ่งการกระทำของจำเลย มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งแยกดินแดน จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 113 (3) ฐานเป็นกบฎ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้ประหารชีวิต แต่คำให้การรับสารภาพของจำเลยชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 แล้วคงให้จำคุกตลอดชีวิต

ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ก.ค.54 ยืนตามศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิตจำเลยฐานเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดนและเป็นอั้งยี่ แต่ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยตลอดชีวิต จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมหารือกันแล้วเห็นว่า โจทก์มีประจักษ์พยานเป็นทหารตำแหน่งหัวหน้าส่วนปฏิบัติการศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เบิกความว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2551 เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 ได้ส่งตัวจำเลยมาที่ค่ายอิงคยุทธ เพื่อให้พยานซักถามจำเลย โดยจำเลยรับว่าเป็นสมาชิกของขบวนการแบ่งแยกดินแดนด้วยการชักชวนจากนายมะซูกี เซ็ง และได้รับมอบหมายให้จำเลยทำหน้าที่ร่วมกับกลุ่มสมาชิกปล้นอาวุธปืน ค่ายทหารกองพันพัฒนาที่ 4 จ.นราธิวาส โดยได้วางแผนตัดต้นไม้เพื่อขวางเส้นทางจราจร เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ซึ่งรับคดีนี้ไว้เป็นคดีพิเศษ ได้แจ้งข้อหากับจำเลยในชั้นสอบสวนและทำการสอบสวนจำเลยถึง 3 ครั้ง ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพโดยตลอด ส่วนที่จำเลยนำสืบว่ามีการข่มขู่และทำร้ายทำให้จำเลยต้องยอมรับสารภาพนั้น คงมีแต่ตัวจำเลยเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของพยานและเจ้าพนักงานสอบสวนตลอดคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนแล้วรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยร่วมกันวางแผนและดำเนินการเพื่อแบ่งแยกดินแดนและยึดอำนาจปกครองดังเช่นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา

ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน ให้ประหารชีวิตจำเลยฐานเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดนและเป็นอั้งยี่ แต่ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยตลอดชีวิต

ในวันนั้น(15พ.ย.)ศาลได้อ่านคำพิพากษาให้โจทก์ฟังเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้ศาลได้อ่านคำพิพากษาให้นายรอสดี จำเลย ซึ่งถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกลางสงขลาไปแล้วเมื่อวันที่ 21 ต.ค.2556