งานรวบรวมภูมิปัญญาแห่งผ้าและลวดลาย ณ ชายแดนใต้ จัดขึ้น ณ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2556 เพื่อมองผ่านเรื่องราวของผู้คน อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ผ่านลวดลายแห่งสารพันผ้า
งานนี้จัดโดย กระทรวงวัฒนธรรม สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา และป่าใหญ่ครีเอชั่น มีการเสวนา “มรดกแห่งภูมิปัญญาชายแดนใต้สู่วัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์” โดย อ.เผ่าทอง ทองเจือ, รศ.จุรีรัตน์ บัวแก้ว นักวิจัยเรื่อง “ผ้ากับวิถีชีวิตชาวไทยมุสลิมในห้าจังหวัดชายแดนภาตใต้ของไทย”และ รัศมินทร์ นิติธรรม เจ้าของพิพิธภัณฑ์ขุนละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส
อ.เผ่าทอง ทองเจือ กล่าวว่า ทุกวัฒนธรรมมีการใช้ผ้าที่ต่างกัน เมื่อย้อนไปในอดีตการได้มาของผ้าแต่ละผืนใช้เวลานานมาก ต้องขุดดิน ปลูกต้นหม่อน เก็บยอดมาเลี้ยงไหม เก็บไข่ไหม สาวไหม ฟั่นไหม ฟอกไหม ย้อมสี เข้ากี่ทอ เช่นเดียวกับผ้าฝ้าย
“ผ้าแสดงถึงพื้นที่อย่างชัดเจนรวมถึงสี และลาย ในชายแดนใต้ที่มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ ที่ผู้หญิงมุสลิมต้องปกปิดร่างกายมิดชิด หากกี่ทอผ้าสมัยก่อนมีหน้ากว้างแคบเพียง 60 เซ็นติเมตรทำให้ต้องใช้ผ้าหลายผืนในการนุ่งห่ม ซึ่งในภาคอื่นก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน จนสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงแก้ไขเรื่องนี้มากว่า 60 ปี ค่อยๆ ขยายมาเป็น 1.1 เมตร และเป็นภูมิปัญญาที่ทำหน้าผ้าได้กว้างอย่างดี”
“ในวัฒนธรรมดั้งเดิมยังไม่มีการตัดเย็บ เรียกว่า “เครื่องนุ่งห่ม” ต้องใช้ผ้าหลายชิ้น ในภูมิภาคอินโดจีนนิยมนุ่งผ้าจีบท ผ้าส่าหรี ไม่มีการทำเป็นไซส์ ผ้าชิ้นเดียวใช้ได้ทั้งครอบครัว เมื่อชำรุดก็ปะ ชุน ซึ่งวัฒนธรรมในชายแดนใต้เป็นวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง เปลี่ยนแปลงช้าที่สุดซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่เรื่องที่เชย เพราะวัฒนธรรมที่อ่อนแอคือการเปลี่ยนแปลงที่เร็วที่สุด”
เรื่องที่น่าดีใจคือ ลวดลายของผ้าไทยได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นของคนไทยเรียบร้อยเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยไว้คู่สังคมไทยได้เป็นอย่างดี มิฉะนั้นจะต้องเสียเอกลักษณ์ของไทยไปให้กับต่างชาติเป็นแน่นอน อ.เผ่าทองบอกถึงเรื่องการจดสิทธิบัตรลวดลายผ้าที่มีถึง 7,200 ลายนี้ว่า
“เมื่อ 8 ปีที่แล้ว สมเด็จพระราชินีนาถทรงรับสั่งว่ามีชาวญี่ปุ่นมาสอบถามว่าได้จดสิทธิบัตร THAI SILK หรือยัง หากยังไม่จดเขาจะไปจด ซึ่งเป็นเรื่องที่พระองค์ทรงเป็นห่วงมากให้ดำเนินการด่วนที่สุด เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหม่อนไหมมาคุยกันหลายร้อยคน กำหนดทิศทางเป็น 4 แบบ โดยมีตรานกยูงพระราชทาน เป็นนกยูงทอง นกยูงเงิน นกยูงฟ้า และนกยูงเขียว ซึ่งนกยูงทองจะมีคุณภาพดีที่สุด และไปจดสิทธิบัตร ไหมไทย และ THAI SILK จกสิทธิบัตรลายผ้าที่มีทั่วประเทศไทย 7,200 ลาย เป็นลายผ้าของคนไทยทั่วประเทศที่ชาวไทยสามารถใช้ลายไหนก็ได้ และกำลังจัดพิมพ์หนังสือรวมลายผ้า 5 ภาษา ออกมาเป็นเซ็ทมีทั้งหมด 40 เล่ม”
อ.เผ่าทองฝากถึงพี่น้องชายแดนใต้ในการรักษาอัตลักษณ์และวัฒนธรรมให้คงอยู่ว่า ความอยู่ยงของวัฒนธรรมชานแดนใต้อยู่ในมือของพี่น้องทุกคนที่จะเปลี่ยนแปลงหรือจะให้อยู่ยง ขอให้ชายแดนใต้เป็นสังคมที่เข้มแข็งที่สุดของไทยเหมือนในอดีต
ด้าน รัศมินทร์ นิติธรรม เจ้าของพิพิธภัณฑ์ขุนละหาร ที่สืบสานเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษในการรักษาข้าวของอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษา ด้วยความเป็นห่วงสังคมที่กำลังจะล่มสลายทางวัฒนธรรม
“จากการที่พ่อเป็นคนชอบวาดรูป เล่านิทาน แกะสลัก และสะสมภูมิปัญญาเก่าไว้เยอะ เมื่อเติบโตมากับสิ่งเหล่านี้ทำให้ซึมซับไปโดยปริยาย เมื่อพ่อเสีย ไปเรียนที่กรุงเทพฯ กลับมาเป็นอบต. เป็นผู้ใหญ่บ้าน คิดสานต่อความฝันของบรรพบุรุษคือขุนละหารที่เป็นทวด ช่วงนั้นกำลังสร้างบ้านและได้ไปดูพิพิธภัณฑ์ที่ทำโดยเอกชนที่มาเลเซีย ภาพเก่าในอดีตเข้ามาในสมอง กลับมาสร้างพิพิธภัณฑ์ แม่ก็เอาลวดลายที่พ่อออกแบบไว้เกือบ 200 ลายมาให้ ลวดลายที่ได้มาคิดว่าน่าไปทำผ้า จึงไปเรียนรู้การทำผ้าโดยเอาต้นทุนทางสถาปัตย์และปรัชญามาถ่ายทอดเพื่อให้เกิดรายได้เข้าพิพิธภัณฑ์ ขณะนี้ผ้าในชายแดนใต้กำลังล่มสลายจากการขาดความเอาใจใส่ของชาวบ้านและรัฐ ลวดลายสวยงามถูกถ่ายทอดไปยังประเทศเพื่อบนบ้านเกือบหมด”
รัศมินทร์บอกว่า ทุกชุมชนต้องร่วมกันยืนยันปกป้องสิ่งสำคัญของชุมชน เพราะเป็นวิถีชีวิตของเรา สร้างพลังขึ้นมาดูแล ด้วยการมีจิตสำนึกร่วมกัน อย่างลวดลายของวังระแงะ จ.นราธิวาส ที่อยู่ในตัวเมืองแต่ขาดการดูแลที่ดีทำให้ทรุดโทรม มีลวดลายที่เคยถูกขายไป แต่คนที่ซื้อเก็บไว้ไม่ได้ เมื่อได้ซื้อกลับมาจึงหวังว่ารัฐบาลจะเห็นความสำคัญและช่วยบูรณะวังระแงะ และจะคืนลวดลายนี้ให้ได้กลับไปอยู่ในที่ที่คู่ควร
รศ.จุรีรัตน์ บัวแก้ว นักวิจัยเรื่อง “ผ้ากับวิถีชีวิตชาวไทยมุสลิมในห้าจังหวัดชายแดนภาตใต้ของไทย” กล่าวว่า ผ้าเป็นปัจจัยสี่ที่สำคัญมาตั้งแต่ในอดีต ในชายแดนใต้มีผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ เช่น ผ้ายกตานีมาจากอาหรับ ผ่านมาทางเขมร ลวดลายและรูปแบบจึงคล้ายของเขมร
“ผ้าแสดงบทบาท เพศ และวัฒนธรรมที่ลื่นไหล มีพัฒนาการมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เริ่มมีการใส่เสื้อ ผ้าสะท้อนถึงชีวิตของผู้คนแถบนี้ได้เป็นอย่างดี มีการรับขวัญเด็กแรกเกิดด้วยการเอาผ้าของบรรพบุรุษมาทำพิธีรับขวัญ ใช้ในพิธีมะโซะยาวี(เข้าสุนัต) เป็นของหมั้นในงานแต่งงาน สวมใส่ในวันฮารีรายอ และทำพิธีทางศาสนา ผ้าเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตของผู้คนตั้งแต่เกิดจนตาย รวมทั้งส่งเป็นเครื่องบรรณาการไปยังหัวเมืองต่างๆ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปอย่างไรแต่ผ้ายังไม่ตาย ยังคงอยู่ในวิถีชีวิต”
รศ.จุรีรัตน์ กล่าวว่า ได้ศึกษาเรื่องนี้อยู่ 5 ปี จนได้เขียนลายใหม่ออกมา และยังดีใจที่เห็นการทอผ้าอย่างจริงจังและตั้งใจของผู้คนในชายแดนใต้ ไม่สูญหายไปจากวิถีชีวิต แม้ไม่ได้ใช้กันทุกวันก็ตาม และผ้าจวนตานีเป็นสุดยอดแห่งผ้าทอ ต้องมีการเผยแพร่และอนุรักษ์ ให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่ได้ตื่นตัวแล้วสิ่งสำคัญเหล่านี้จะไม่สูญหาย
สารพันผืนผ้าและลวดลายที่นำมาแสดงในงาน บอกเล่าเรื่องราวและตัวตนของผู้คนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีว่า มีอัตลักษณ์และตัวตนที่ชัดเจนมาตั้งแต่ครั้งอดีต เป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการยอมรับถึงความยิ่งใหญ่
สิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการสืบสานเจตนารมณ์และรักษาไว้ให้อยู่คู่พื้นที่ชายแดนใต้ตราบนานเท่านาน