เด็กหญิงบาติกและเพื่อนๆ มัดผืนผ้าบาติกพิมพ์ลายบล็อกไม้ สีสันสดสวย ด้วยเทคนิควิธีต่างๆ ทั้งใช้หนังยาง ไม้ เมล็ดพืช มัดจุกบ้าง มัดเป็นปล้องๆ บ้าง เอามาจุ่มสี ย้อมผ้า แล้วแขวนตากด้วยมือเล็กๆ
ผ้าหลากสีสันแขวนกลางแสงแดดเจิดจ้าสดใส
ด.ญ.ปัณณพร สุวรรณพฤกษ์ สาวน้อยวัย 9 ขวบ เติบโตขึ้นมาท่ามกลางสีสันและลวดลายของผืนผ้าบาติก อันเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของชาวใต้ เธอจึงมีชื่อเล่นว่า “บาติก“
ครอบครัวของน้องบาติก สร้างสรรค์งานผ้าบาติกโดยใช้เทคนิคบล็อกไม้จุ่มเทียนพิมพ์กั้นสีแล้วย้อมให้เกิดลวดลายขึ้น
ปิยะ สุวรรณพฤกษ์ และสุนิตฐา ทองอร่าม พ่อและแม่ของเด็กหญิงบาติก ต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวใต้ นำลวดลายต่างๆ ในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์และถ่ายทอดลงบนผืนผ้า กลายเป็นงานหัตถศิลป์ที่มีคุณค่า เป็นอาชีพและรายได้แก่ครอบครัวและชุมชนและเครือข่าย ในนาม “กลุ่มศรียะลาบาติก” จังหวัดยะลา แม้ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมาศรียะลาบาติกยังคงผลิตงานอย่างสม่ำเสมอ
ปิยะมีพื้นฐานการเล่าเรียนศิลปะ เมื่อสนใจงานปาเต๊ะหรือบาติกก็คิดใคร่ครวญว่าจะสร้างงานอย่างไรให้งดงามและแตกต่าง แต่เดิมก็ทำงานเหมือนคนอื่นๆ จนกระทั่งได้พบนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าในพื้นที่ คือ อาจารย์พิชัยแก้วขาว ซึ่งแนะนำให้รู้คุณค่าของผ้าปาละงิง
“มีโอกาสพบเห็นผ้าทอยก ดอกที่พิมพ์ลายด้วยบล็อกไม้ เรียกว่าผ้าปาละงิง ซึ่งหายไปจากท้องถิ่นพร้อมๆ กับการทยอยเลิกทอผ้าเลิกเลี้ยงไหมในภาคใต้ เมื่อศึกษาค้นคว้าจึงพบว่าลวดลายบนผ้าคล้ายลายฉลุโบราณ จึงเดินทางศึกษาเก็บเกี่ยวลวดลายโบราณตามสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อนำมาเป็นไอเดียต่อยอดในการออกแบบสร้างสรรค์ลวดลายเพื่อใส่ไว้ในงานผ้าของเรา“
จากพื้นฐานที่เรียนศิลปะและการออก แบบ จึงสนุกกับการสร้างสรรค์ออกแบบบล็อกไม้ลวดลายใหม่ๆ อยู่เสมอ ผลงานผ้าจึงไม่เคยหยุดนิ่ง รวมทั้งได้ทดลองผสมผสานเทคนิควิธีใหม่ๆ บน ผืนผ้า ประกอบกับเป็นนักถ่ายทอดวิชาการ ได้ดี ปิยะจึงมีอีกบทบาทหนึ่งที่เอื้อประโยชน์แก่ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ นั่นคือเป็นครูผู้ฝึกอบรมการทำผ้าบาติก มีลูกศิษย์ไม่น้อย
เลือดศิลปินอันเข้มข้นถ่ายทอดสู่ลูกสาวคนเดียวของบ้าน ถือเป็นศิษย์ก้นกุฏิตัวจริง นั่นคือเด็กหญิงบาติก เด็กหญิงตัวน้อยช่างจินตนาการที่ชื่นชอบในศิลปะแห่งสีสัน ความใกล้ชิดกันในครอบครัว เห็นการสร้างงาน ทุกวันเด็กประถมสามอย่างบาติก ก็ทำ ผ้าบาติกตามประสาเด็กได้
“หนูคิดว่าการทำผ้าบาติกเด็กๆ อย่างเราก็ทำได้นะคะ ไม่ยากจนเกินไป หนูชอบการทำผ้าบาติกค่ะ เพื่อนๆ ของหนูที่ได้ทดลองลงมือทำจริงก็ชอบเหมือนกัน เพราะได้ผ้าที่สวยสดใส ภูมิใจมากค่ะ“
บาติกและเพื่อนจะทำผ้าบาติกที่ทั้งพิมพ์ ทั้งมัด ทั้งย้อม ด้วยมือเล็กๆ และความตั้งใจ มือเปื้อนสี รอยยิ้มเปื้อนแก้มแต่ผลงานออกมาจะเป็นอย่างไร ชวนติดตามในทุ่งแสงตะวันเสาร์นี้
ทุ่งแสงตะวันร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม เชิญชวนติดตามเรื่องราวรื่นรมย์ของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่นชายแดนใต้ ตอน เด็กหญิงบาติก วันเสาร์ที่ 16 พ.ย. ทางช่อง 3 เวลา 06.25 น. ติดตามความเคลื่อนไหวและเบื้องหลังรายการได้ที่ www.payai.com และเฟซบุ๊ก ทุ่งแสงตะวัน 20 ปี ความสดใสเบิกบาน รอพบทุกคน
คอลัมน์ สดจากเยาวชน
นภาวัลย์ มาเหมาะโชค
ที่มา ข่าวสด