กว่า 10 ปีแล้ว ที่เหตุการณ์ไม่สงบปะทุขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ชายซึ่งเป็นแกนหลักของครอบครัว ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นสตรีม่ายที่ต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่
วรรณา ศรีริกานนท์ ก็อีกคนหนึ่งที่สูญเสียผู้เป็นสามีเมื่อปี 2546 ที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ทำให้ตัดสินใจย้ายจากสุไหงปาดี มาอยู่ในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่รอตันบาตู ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส เพื่อความปลอดภัย
พลันที่ไปอยู่ที่นั่น เธอได้รวมกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบประมาณ 10 คน ตัดเย็บเสื้อผ้า กระเป๋า ที่ใช้ผ้าปาเต๊ะเป็นวัตถุดิบหลัก จำหน่ายหารายได้เลี้ยงครอบครัว ที่นอกเหนือจากได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 4,500 บาท โดยมีความหวังว่าจะชุบชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน และความหวังของเธอ แม้จะไม่ให้สมาชิกมีฐานถึงขั้นร่ำรวย แต่อย่างน้อยทำให้มีรายได้เพิ่มนำไปเลี้ยงครอบครัว
รอตีปะ มามา ก็อีกคนหนึ่ง หลังจากสูญเสียผู้เป็นสามีซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านกรือเซะ ต.ตันหยงลุโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี อันเกิดมาจากความเลวร้ายของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2550 ทำให้ชีวิตเธอเปลี่ยนแปลง จากครอบครัวที่เคยอบอุ่น กลายเป็นคนเคว้งคว้าง อ้างว้าง ไร้ผู้นำในครอบครัว เธอจึงย้ายไปอยู่บ้านเกิดที่ ต.บางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี อีกครั้ง
รอตีปะบอกว่า เธอไม่มีที่ดินทำกิน มีแต่ที่พักอาศัยที่ต้องรวมอยู่กับญาติพี่น้องอีกกว่า 10 คน ในที่สุดต้องหันไปยึดอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้ากับหมวกกะปิเยาะ ล่าสุดได้รวมกลุ่มแม่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภาคใต้ประมาณ 10 คน แต่การดำเนินการยังติดขัดเพราะยังขาดเงินทุนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยตามที่ตลาดต้องการ กระนั้นเธอและเพื่อนที่ร่วมชะตากรรมพยายามนำสินค้าไปจำหน่ายในทุกๆ ที่ที่หน่วยงานต่างๆ จัดขึ้นและให้การสนับสนุน
“กลุ่มของเราเป็นกลุ่มใหม่ ยังขาดเงินลงทุน แต่ก็ยังดีที่หน่วยของรัฐคือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดโครงการ “เทิดไท้องค์ราชัน องค์ราชินี มหกรรมสินค้าดี จากสตรีชายแดนใต้ ให้พวกเรานำผลิตภัณฑ์ที่พวกเราช่วยกันผลิตมา มาจำหน่ายในงานนี้ที่เดอะมอลล์บางกะปิ กรุงเทพฯ ในวันที่ 8-10 พฤศจิกายนนี้” รอตีปะ กล่าว
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงาน “เทิดไท้องค์ราชัน องค์ราชินี มหกรรมสินค้าดี จากสตรีชายแดนใต้” จะทำให้สินค้าที่กลุ่มได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่มีใจเมตตาเพื่อช่วยเหลือสตรีทุกศาสนาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีรายได้นำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและหมวกกะปิเยาะในของกลุ่มของเธอต่อไป
โดย…ดลมนัส กาเจ
ที่มา คมชัดลึก