ถ้าถามสื่อมวลชนรุ่นใหม่ว่าใครเป็นตัวละครสำคัญในปัญหาขบวนการป่วนใต้ในขณะนี้ เกือบร้อยทั้งร้อยคงตอบว่ากลุ่มบีเคเค หรือกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งกำลังสนุกกับการเปิดเกมรุกยื่นข้อเสนอประเภทได้คืบจะเอาศอกระหว่างเจรจาสันติภาพกับตัวแทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
แต่ถ้าหากเป็นนักข่าวยุคโบราณเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว คำตอบแรกที่ผุดขึ้นในใจก็คือ “จีน เป็ง” อดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) และอดีตผู้นำชาวจีนรักชาติในคาบสมุทรมลายู หรือโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) ผู้สร้างข่าวใหญ่แทบไม่เว้นแต่ละวัน ก่อนจะกลายเป็นเสือสิ้นลาย จำใจถอดเขี้ยวเล็บทิ้ง ยอมฝังตัวอยู่ในไทยแลนด์แดนแค่นยิ้มอย่างเงียบๆ กว่าครึ่งค่อนศตวรรษจนสิ้นลมหายใจไปเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2556 ที่ผ่านมานี้ ขณะรักษาโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก่อนจะมีอายุครบ 90 ปีเต็มในวันที่ 21 ตุลาคมนี้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น โดยไม่มีโอกาสเหยียบย่างกลับไปยังแผ่นดินแม่ในมาเลเซียแม้จะเพียรพยายามทุกวิถีทางก็ตาม
ถึงแม้ว่าสื่อไทยแทบจะไม่นำเสนอข่าวการเสียชีวิตของ “จีน เป็ง” แต่สื่อตะวันตกรวมไปถึงโทรทัศน์บีบีซีต่างแข่งกันรายงานข่าวนี้ เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญของบุรุษผู้นี้ซึ่งมีภาพลักษณ์ต่างกันไปตามมุมมองของแต่ละสื่อ บางสื่อยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษและผู้นำการปฏิวัติที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมรุ่นเก่าคนสุดท้ายในเอเชีย บ้างก็ว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของเจ้าอาณานิคมอังกฤษและรัฐบาลเสือเหลืองมาเลเซียที่ตามไล่ล่าไม่ลดละจนต้องหนีกระเจิดกระเจิงมาอยู่ที่ไทย และแม้จะถูกประณามว่าเป็นปีศาจร้าย แต่ศัตรูบางคนกลับยกย่องนับถือเป็นการส่วนตัว
จีน เป็ง ตามคำเรียกติดปากของคนไทย แต่ถ้าออกเสียงตามภาษาจีนกลางจะเป็น เฉิน ผิง ซึ่งเป็นชื่อจัดตั้งของอ่อง บุนหัว หรือ อึ้ง บุ้นฮั้ว อดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์มลายา และอดีตผู้นำชาวจีนรักชาติในคาบสมุทรมลายูหรือโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา ที่จับปืนทำสงครามกองโจรยืดเยื้อต่อต้านจักรวรรดินิยมทั้งญี่ปุ่นและอังกฤษในช่วงปลายทศวรรษ 2480 ถึงต้นทศวรรษ 2490 หรือในยุคเดียวกับนักปฏิวัติชื่อดังแห่งทวีปผิวเหลือง ไม่ว่าจะเป็นโฮจิมินห์แห่งเวียดนาม ซูการ์โนแห่งอินโดนีเซีย อูอองซานแห่งพม่า และพระเจ้านโรดม สีหนุ กษัตริย์แห่งกัมพูชา
เพียงแต่ชื่อเสียงของจีน เป็ง อาจจะไม่โด่งดังเท่าวีรบุรุษแห่งเอเชียเหล่านั้น หนำซ้ำยิ่งลบเลือนไปตามกาลเวลาอันเนื่องจากเป็นนักปฏิวัติที่พ่ายแพ้ในการต่อสู้ปลดปล่อยคาบสมุทรมลายู อีกทั้งยังพ่ายแพ้ซ้ำซากในการต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อขอกลับไปเหยียบถิ่นเกิดมาเลเซียในช่วงท้ายของชีวิต โดยรัฐบาลให้เหตุผลแค่เพียงว่าเกรงจะสร้างความโกรธแค้นให้กับบรรดาลูกหลานของผู้เสียชีวิตในช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์มลายาก่อความไม่สงบขึ้นตั้งแต่ช่วงปลดปล่อยจากญี่ปุ่นและจากจักรวรรดินิยมอังกฤษต่อเนื่องเรื่อยมาแม้มาเลเซียจะได้รับเอกราชเมื่อปี 2500 แล้วก็ตาม
อ่อง หรืออึ้ง บุนฮั้ว หรือจีน เป็ง เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน เกิดในครอบครัวชาวจีนฐานะดีที่รัฐเปรัค ก่อนที่ครอบครัวนี้จะย้ายไปตั้งร้านขายอะไหล่รถยนต์ที่ปีนัง ระหว่างเรียนหนังสือที่โรงเรียนจีนแห่งหนึ่ง เริ่มได้รับการบ่มเพาะอุดมการณ์คอมมิวนิสต์จากครูว่าเป็นแนวทางเดียวที่จะนำความยุติธรรมและความเท่าเทียมมาสู่ชาวจีนในคาบสมุทรมลายู ซึ่งถูกกดขี่ยิ่งกว่าพลเมืองชั้นสองชั้นสาม พออายุ 18 ปี ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายู ปีต่อมาก็ได้เป็นกรรมการพรรคประจำเมืองอีโปห์ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จีน เป็ง ได้นำพลพรรคชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนทำสงครามกองโจรต่อต้านทหารลูกพระอาทิตย์ญี่ปุ่นอย่างกล้าหาญในช่วงที่กองทัพสัมพันธมิตรถูกกองทัพลูกหลานซามูไรกวาดออกไปจากคาบสมุทรมลายาและเกาะสิงคโปร์ จากความกล้าหาญนี้ทำให้จีน เป็ง ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นโอบีอี ซึ่งถูกริบคืนในภายหลัง ทั้งยังได้รับเชิญไปร่วมเดินแถวฉลองชัยชนะที่กรุงลอนดอนด้วย
ความร่วมมือระหว่าง พคม. กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษได้ขาดสะบั้นลงภายหลังจากจีน เป็ง ขึ้นมาเป็นเลขาพรรค พคม. คนใหม่เมื่อปี 2490 แทนเลขาธิการพรรคฯ คนก่อนหน้าที่หายตัวอย่างลึกลับซึ่งคาดว่าถูกสังหารเสียชีวิตแล้ว โดยวันเสียงปืนแตกมีขึ้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2491 เมื่อพลพรรค พคม. ได้บุกเข้าไปสังหารชาวอังกฤษ 3 คน ที่เป็นเจ้าของสวนยางทางภาคเหนือของประเทศ จากนั้นได้นำพลพรรคชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนประมาณ 10,000 คน ทำสงครามกองโจรอย่างห้าวหาญกับกองทัพอังกฤษที่มีกำลังทหารถึง 70,000 คน ประกอบด้วยทหารอาชีพหลากหลายเชื้อชาติทั้งชาวอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิจิ กุรข่า และทหารจากเครือจักรภพอังกฤษอื่นๆ
การหันปลายกระบอกปืนไปจ่อคอหอยทหารอังกฤษซึ่งเคยร่วมรบกันมาก่อนในช่วงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เพื่อทวงสิทธิและความยุติธรรมให้กับคนเชื้อสายจีนที่ถูกกดขี่อย่างหนัก สงครามใต้ดินซึ่งยืดเยื้อนานร่วม 10 ปี นับจากปี 2491 ซึ่งเป็นปีแรกที่อังกฤษประกาศภาวะฉุกเฉิน จนถึงปี 2500 มีผู้บริสุทธิ์รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงชาวอังกฤษเสียชีวิตราว 10,000 คน ก่อนที่ จคม. จะถูกขับไล่ออกไปจากมาเลเซียด้วยยุทธศาสตร์ปราบปรามอย่างหนัก ผสมผสานกับการโดดเดี่ยวให้อยู่ห่างจากแนวร่วมและแหล่งสนับสนุนทั้งหลายทั้งปวง
จากยุทธศาสตร์โดดเดี่ยวทุกด้านนี้เอง ทำให้กองกำลัง พคม. อ่อนเปลี้ยลงตามลำดับ ในที่สุด จีน เป็ง ต้องยอมเสนอเจรจาสงบศึกเมื่อปี 2498 แต่การเจรจาประสบความล้มเหลวเนื่องจากรัฐบาลยืนกรานต้องการให้จีน เป็ง ยอมแพ้และยอมวางอาวุธแต่โดยดี จีน เป็ง จึงต้องหลบหนีไปอยู่ที่กวางเจา ทางภาคใต้ของจีน จากนั้นได้ลอบเดินทางมายังภาคใต้ของไทยเพื่อรวบรวมกำลังนักรบหลายร้อยคนตั้งฐานที่มั่นใหญ่แห่งใหม่ที่บริเวณ อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เพื่อทำสงครามจรยุทธ์ตามทฤษฎีสงครามประชาชนของเหมา เจ๋อ ตง แต่เพื่อไม่ให้กระทบกระทั่งกับไทยจนกลายเป็นเปิดศึกสองด้าน จีน เป็ง จึงประกาศนโยบายชัดเจนว่า พคม. ไม่ต้องการยึดครองประเทศไทยและไม่มองว่าคนไทยเป็นศัตรู เหตุนี้ พคม. จึงไม่ร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ต่อสู้กับรัฐบาลไทย แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากแหล่งเดียวกันคือพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ตาม แต่ถ้าหากถูกทหารไทยปราบปรามและยากจะหลีกเลี่ยงการต่อสู้ได้ พคม. ก็มีสิทธิจะป้องกันตัวเอง
อย่างไรก็ดี ยิ่งเวลาเนิ่นนานมากเข้า จคม. ก็อ่อนกำลังลงตามลำดับ นับตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศยุติการช่วยเหลือพรรคพี่พรรคน้อง ตามด้วยการพังกำแพงเบอร์ลินซึ่งเท่ากับการสิ้นสุดยุคสงครามเย็น การล่มสลายของระบอบสังคมนิยมพร้อมๆ กับการแตกเป็นเสี่ยงๆ ของสหภาพโซเวียต ปัจจัยภายนอกเหล่านั้นล้วนแต่กดดันให้จีน เป็ง ต้องยอมถอดหัวโขนทิ้งลงและกบดานอยู่ในไทยเรื่อยมา แต่ก็ไม่เคยยอมแพ้หรือละทิ้งอุดมการณ์ต่อต้านเจ้าอาณานิคมตะวันตก ทำให้รัฐบาลมาเลเซียไม่คลายหวาดระแวง จีน เป็ง จึงไม่อนุญาตให้เดินทางกลับประเทศแม้แต่ครั้งเดียว แม้เจ้าตัวจะให้ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อรัฐบาลมาเลเซียหลังจากยอมลงนามในข้อตกลงสันติภาพ 3 ฝ่าย ระหว่าง พคม. กับรัฐบาลมาเลเซีย และ พคม. กับไทย ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อปลายปี 2532 ตามนโยบาย 66/23 ของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ โดยมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทบ. ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน
ความสำเร็จจากการลงนามในข้อตกลงสันติภาพครั้งนั้น ทำให้สื่อไทยประโคมข่าวใหญ่พาดหัวว่า “เบื้องหลัง “จีน เป็ง” วางปืน ยุติศึก 41 ปี” ผลตามมาก็คืออดีตพลพรรค พคม. ได้กลายสภาพเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ได้สัญชาติไทยและได้สร้างชุมชนใหม่ขึ้นที่ อ.นาทวี จ.สงขลา ที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ที่ อ.เบตง อ.ธารโต อ.กาบัง และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา
แม้จะได้สัญชาติไทยและอาศัยอยู่ในประเทศนี้ แต่จีน เป็ง ไม่ละความพยายามที่จะขอเดินทางกลับแผ่นดินแม่ให้ได้ กระทั่งได้เปิดแนวรบด้านใหม่เมื่อปี 2548 ด้วยการต่อสู้ทางกฎหมาย ยื่นฟ้องศาลมาเลเซียขอให้บังคับรัฐบาลให้ยอมอนุญาตให้ตัวเองเดินทางกลับประเทศได้ แต่ศาลสูงสุดกลับตัดสินว่าไม่สามารถกลับไปได้ หากไม่อาจแสดงสูติบัตรและเอกสารที่พิสูจน์ว่าเป็นพลเมืองมาเลเซีย แม้ทนายความจะแก้ต่างว่า เอกสารเหล่านี้สูญหายไปภายหลังถูกเจ้าอาณานิคมอังกฤษยึดไว้ในช่วงทศวรรษ 2480 ก็ตาม
“ผมไม่เสียใจเลยที่ยึดมั่นในแนวทางมาร์กซิสต์และต่อสู้เพื่อเข้ามาแทนที่ระบบอันเหม็นโฉ่ การขูดรีดของพวกเจ้าอาณานิคม ไม่ว่าใครจะเป็นเจ้านาย คนญี่ปุ่นหรือคนอังกฤษ ล้วนแต่เป็นคนผิดในทางศีลธรรมทั้งนั้น …ถ้าคุณได้พบเห็นในแบบเดียวกับที่ผมประสบ ว่าอังกฤษที่หวนกลับคืนมาได้ทำอะไรไว้บ้าง คุณก็จะรู้ว่าทำไมผมถึงต้องเลือกการจับอาวุธ…พลเมืองอังกฤษส่วนใหญ่ซึ่งกลับมาภายหลังญี่ปุ่นยอมแพ้ ไม่ได้เป็นเพียงนักฉวยโอกาสและคดในข้องอในกระดูกเท่านั้น พวกเขายังแสดงท่าหยามเหยียดประชาชนที่ตัวเองกำลังขูดรีดอีกด้วย” จีน เป็ง เคยกล่าวไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำเรื่อง “My Side of History” ตีพิมพ์เมื่อปี 2546 ตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้กล่าวด้วยว่า
“ผมคิดว่าผมเป็นผู้นำการปฏิวัติรุ่นเก่าคนสุดท้ายของภูมิภาคนี้ ทุกอย่างเป็นการเลือกของผมเองที่จะทำสงครามใต้ดิน ดำเนินการจากเงามืด ห่างไหลจากแสงไฟเจิดจ้า”
“เป็นเรื่องตลกร้ายที่ผมไม่สามารถอยู่ในประเทศซึ่งผมได้เคยแสดงเจตนารมณ์ให้เห็นแล้วว่าพร้อมจะพลีชีพให้”
หลังข่าวการเสียชีวิตของจีน เป็ง แพร่ไปทั่ว เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์เดอะสตาร์ ของมาเลเซีย อ้างถ้อยแถลงของนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีที่ว่า จะไม่อนุญาตให้นำศพ หรือกระทั่งกระดูกและอังคารของจีน เป็ง กลับมายังแดนเสือเหลือง “จีน เป็ง จะเป็นที่จดจำกันในมาเลเซียว่าเป็นผู้นำกลุ่มก่อการร้ายที่ทำสงครามต่อต้านประเทศชาติ เข่นฆ่าสังหารประชาชนอย่างโหดเหี้ยม และโจมตีกองกำลังความมั่นคงของเรา”
ขณะที่ลิม กิต เสียง ผู้นำฝ่ายค้านในแดนเสือเหลืองกล่าวว่า การเสียชีวิตของจีน เป็ง เป็นเครื่องหมายแสดงถึง “การสิ้นสุดของยุคยุคหนึ่ง”
ผิดกับ ซี.ซี.ทู อดีตผู้อำนวยการฝ่ายสงครามจิตวิทยาของมาเลเซีย ที่เคยให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งเมื่อปี 1976 ว่า ถ้าหากมีชาวคอมมิวนิสต์คนไหนที่สามารถจะเรียกว่าเป็นสุภาพบุรุษได้แล้ว คนคนนั้นก็ต้องเป็นจีน เป็ง
ที่มา http://thaipublica.org/2013/09/chin-peng/