เด็กสาววัย 22 ปี ที่ร่าเริง สดใส คนนี้ เป็นลูกหลานชาวปัตตานีโดยกำเนิด จาก ต.ป่าไร่ อ.แม่ลาน หากด้วยความที่พ่อและแม่ทำงานใน ม.อ.ปัตตานีทั้งคู่ เธอจึงเรียนชั้นอนุบาลจนจบป.6 ที่ร.ร.อนุบาลปัตตานี ในช่วงวัยก่อนประถม เธอและครอบครัวพักในแฟลตบุคลากรในม.อ.ปัตตานี ทำให้ “ก้าว” หรือ “ญาดา ช่วยชำแนก” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เรียนรู้และซึมซับความเป็นพหุวัฒนธรรมที่มีสัมพันธ์กันดีระหว่างสองศาสนิก ก้าวอกว่า เป็นความทรงจำที่ดีในช่วงชีวิตหนึ่งของเธอ
“ช่วงตอนเด็กที่จำความได้อยู่แฟลตในม.อ.ปัตตานี ได้รู้จักและสนิกกับพี่ๆ เพื่อนๆ ของแม่และพ่อ ทั้งพุทธและมุสลิมเหมือนอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน ต่างกับตอนนี้ที่เหมือนมีระยะห่างระหว่างกันมากขึ้น แต่ช่วงนั้นเป็นความทรงจำที่ดีที่ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในความต่าง ทำให้เมื่อโตขึ้นสามารถปรับตัวให้อยู่ท่ามกลางความหลากหลายได้ง่าย”
เมื่อจบชั้นป.6 ก้าวได้โควตาไปเรียนด้านกรีฑาที่โรงเรียนกีฬาสุพรรณบุรี เรียนไปสักพักรู้ตัวเองว่าไม่ใช่ทางที่ถนัดจึงขอย้ายออก ประกอบกับช่วงนั้นเริ่มเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่บ้านเกิด พ่อแม่ก็เป็นห่วงจึงให้เรียนที่โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานีตั้งแต่ม.1-ม.6 โดยพักอยู่กับญาติ ด้วยความที่เป็นนักกิจกรรมทำควบคู่ไปกับการเรียนตอนม.5 ก้าวสอบชิงทุนเอเอฟเอส.ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศเปรูอยู่ 1 ปี เป็นที่ที่เธอบอกว่าได้รับประสบการณ์ชีวิตมากมายที่ยังประทับใจมาจนทุกวันนี้
“เปรูมีความเป็นอยู่คล้ายคนไทย จิตใจเขาดี วัฒนธรรม อาหาร ภาษา เขาน่าสนใจ ก้าวสนในในการเมืองของเขามากเพราะช่วงนั้นเขามีประธานาธิบดีเป็นคนญี่ปุ่นแต่ปกครองเปรูได้ ครอบครัวที่ไปอยู่ด้วยก็คล้ายบ้านเราคือเป็นครอบครัวใหญ่ เครือญาติมากมาย สำคัญสุดคือได้ภาษาติดตัวมา ประทับใจจนตั้งใจว่าเมื่อเก็บเงินได้จะกลับไปเปรูอีกแน่นอน”
ช่วงมัธยมที่เรียนอยู่สุราษฎร์ธานีทำให้ก้าวต้องห่างบ้านไปหลายปี เมื่อถึงระดับมหาวิทยาลัยแม่จึงอยากให้กลับมาอยู่ใกล้กัน ประจวบกับเธอได้รับทุนจูงใจนักศึกษานอกพื้นที่ของม.อ.ปัตตานีทำให้ก้าวเข้ามาเป็นสมาชิกของรั้วศรีตรังในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเธอบอกว่าความจริงแล้วต้องเรียนจบรับปริญญา–ไปแล้ว กับเวลาที่เสียไปตอนชั้นม.1 และตอนไปเรียนทีเปรูรวมสองปี แต่เธอคิดว่าคุ้มค่าเพราะการเป็นนักศึกษาในรั้วสีบลูแห่งนี้ให้ประสบการณ์ชีวิตมากมาย ทุนที่ได้รับปีละ 5 หมื่นบาทนั้นก็ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ เพียงแต่ต้องรักษาเกรดไม่ต่ำกว่า2.5 แต่ก้าวทำได้ดีถึง 3.8 กว่า
เทคนิคการเรียนที่ก้าวบอกว่าไม่ยาก กับการเรียนพร้อมกับการทำกิจกรรมไปด้วยกันคือ เวลาเรียนเรียนให้เต็มที่แบ่งเวลาให้เป็น มีการเลคเชอร์ อัดเสียงไว้ นำมาฟังแล้วสรุปอีกครั้ง ก่อนทำย่ออ่านไปสอบรวมทั้งการอ่านหนังสือและหาความรู้จากแหล่งอื่นด้วยจะทำให้มีความรู้รอบตัวและนำไปใช้กับเรื่องที่เรียนได้ด้วย เวลาทำกิจกรรมก็ทำเต็มที่ ถ้าชนกับการเรียนและสำคัญก็จะบอกกับอาจารย์ ซึ่งโชคดีที่อาจารย์เข้าใจ
คณะรัฐศาสตร์ที่ก้าวเรียนเปิดโอกาสให้นักศึกษาในคณะทำกิจกรรมต่างๆ ตามความสมัครใจ เมื่อรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือชมรมก็สามารถขอการสนับสนุนในการไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้เช่นที่ก้าวและเพื่อนๆ ตั้งกลุ่ม “สภาแตออ”กันขึ้นมา นำเสนอร้านน้ำชาสัญจร และโครงการดรีมเซาท์ ซึ่งทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)สนับสนุน กับการจัดเวทีให้นักศึกษา 4 สถาบันในพื้นที่คือ ม.อ.ปัตตานี ม.ราชภัฎยะลา ม.นราธิวาสราชนครินทร์ และม.ฟาฏอนี ได้พูดคุยกันถึงปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งก้าวประทับใจในการจัดเวทีกับม.ฟาฏอนีมากในประเด็นพหุวัฒนธรรมจะแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างไร
“ถ้ามองจากภายนอกเหมือนเราจะตั้งแง่ว่าใน ม.ฟาฏอนีน่าจะเข้าถึงยากเพราะเป็นวัฒนธรรมเชิงเดี่ยว มีแต่มุสลิมแต่ความจริงแล้วคนละเรื่อง เขาเปิดมากทั้งอาจารย์และนักศึกษา มีนักศึกษาต่างชาติและจากจังหวัดอื่นมาเรียนเยอะ เขาดีใจที่มหาวิทยาลัยอื่นเข้าไปทำกิจกรรมร่วมกันและให้การต้อนรับดีมาก ประทับใจมาก และเมื่อย้อนกลับมาดูในม.อ.ปัตตานีที่มีนักศึกษามุสลิมประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ศาสนาพุทธและอื่นๆ 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้รู้ว่าคนเราจะอยู่อย่างวัฒนธรรมโดดเดี่ยวไม่ได้ ต้องมีการผสมผสานกันทุกสังคม”
สำหรับประเด็นในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับทุกคนอย่าง การเรียกร้องเอกราช การปกครองตนเองและอีกหลายประเด็นก้าวมองว่า สิ่งสำคัญคือการให้คามรู้ความเข้าใจแก่ชาวบ้านทุกระดับอย่างทั่วถึง ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่เพียงสังคมใดสังคมหนึ่ง
“ต้องให้ความรู้กับชาวบ้านให้เข้าใจอย่างจริงจังในเรื่องนี้ หากรัฐไทยให้โอกาสประชามติได้เลือกจะได้เลือกถูกส่วนตัวชอบการปกครองตนเอง เพราะเราเลือกได้ว่าจะเอาใคร แต่การกระจายอำนาจมันทับซ้อนกันมากมายตำแหน่งก็เยอะจนสิ้นเปลืองทั้งบุคลากรและงบประมาณ”
จากพื้นฐานความรักความอบอุ่นของครอบครัวที่แม้ไม่ได้อยู่ด้วยกันทุกวันเพราะก้าวพักในหอพักมหาวิทยาลัย แต่ไปหาพ่อและแม่ในที่ทำงานเกือบทุกวัน และด้วยความเป็นนักกิจกรรมที่ไม่ละทิ้งการเรียนของเธอ ทำให้พ่อแม่สบายใจว่าลูกสาวคนนี้ไม่ได้เกเร เมื่อมีเวลาที่ตรงกันก็จะใช้เวลาช่วงนั้นอยู่ด้วยกันเสมอ
ก้าวตั้งใจไว้ว่าเมื่อเมื่อเรียนจบจะทำงานสักสองสามปีแล้งเรียนต่อ หรือถ้ามีโอกาสเรียนต่อเลยก็จะเรียน สาขาที่เธออยากเรียนเกี่ยวกับการเมืองในอเมริกาใต้ ด้วยเหตุผลว่าเคยตกเป็นเมืองขึ้นของสเปนและสาขานี้มีคนไทยเรียนกันน้อย โอกาสในการทำงานจึงยังมีมาก