หน้าแรก รายงาน

เดินด้วยรัก ปากบารา-จะนะ เชื่อมเครือข่ายค้านอุตสาหกรรมหนัก

ในที่สุดการเดินด้วยรักและตั้งใจของพี่น้องจากฝั่งอันดามันมายังฝั่งอ่าวไทย “เดินด้วยรัก ปากบารา-จะนะ” ตั้งแต่วันที่ 22-28 ตุลาคม 2556 ด้วยระยะทาง 220 กม. ก็ถึงที่หมายและได้รับการต้อนรับที่อบอุ่น พร้อมตั้งประกาศเจตนารมณ์เคลื่อนไหวและก้าวต่อไปในการคัดค้านโครงการอุตสาหกรรมหนักในพื้นที่ทั้งสองฝั่งเช่นเดิม

จากการที่เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล-สงขลา แสดงพลังต่อต้านโครงการเมกะโปรเจกต์ชุดใหญ่คือ “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” หรือโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล และเส้นทางรถไฟสงขลา-ปากบารา เพื่อการปฏิรูประบบโลจิสติกส์ในพื้นที่ภาคใต้เพื่อเชื่อมไปยังมาเลเซีย และสิงคโปร์ หลังจากรัฐบาลได้แนบท้ายโครงการดังกล่าวในบัญชีพระราชบัญญัติเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังเร่งผลักดันทั้งสองโครงการนี้

วันสุดท้าย ริมทะเลชายฝั่งบ้านสวนกง ตัวแทนจากหลายพื้นที่ที่จะถูกผลกระทบจากโครงการยักษ์นี้ร่วมวงพูดคุยบอกกล่าวกัน และตั้งใจร่วมมือกันในแต่ละพื้นที่รวมทั้งช่วยเหลือเครือข่ายอย่างเต็มใจและเต็มที่ พวกเขารวมใจด้วย “สัญญาทราย” กับการรวมทรายจากนครศรีธรรมราช สตูล และสงขลาเข้าด้วยกัน และแบ่งนำกลับไป พร้อมสัญญาว่าเมื่อที่ใดมีปัญหาจะร่วมกันต่อสู้เพื่อความถูกต้องเช่นการเดินในครั้งนี้

บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย แกนนำการเดินในครั้งนี้บอกว่า การลงทุนครั้งยิ่งใหญ่นี้ทำให้เห็นหัวใจของทุกคน สิ่งที่ทำมาเป็นประวัติศาสตร์ของตัวเองและทุกคนว่าครั้งหนึ่งในชีวิตได้ทำในสิ่งที่ดี หากสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ได้เป็นผลดีต่อชุมชน สังคม ลูกหลานและประเทศชาติ

“โครงการที่จะเข้ามาเป็นการทำลายชุมชนอย่างย่อยยับ แนวทางการบอกข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่จำเป็น หากคนที่อื่นได้มารับรู้ว่าที่นี่มีหาดทรายสวยจะมาทำลายกันทำไม เชื่อว่าความเป็นธรรมมีอยู่ในใจของทุกคน หากแต่เขาไม่ได้สัมผัสข้อเท็จจริงเท่านั้น พวกเราจึงต้องทำให้ความจริงปรากฏ เท้าบวมไม่กี่วันก็หาย แต่ถ้าโครงการนี้ขึ้นแล้วเราไม่ได้ทำอะไรก็จะเจ็บไปจนตาย ให้ลูกหลานได้รู้ว่าเราสู้แล้ว”

ไกรวุฒิ ชูสกุล เจ้าหน้าที่บริหารเดินเรือบริษัทหลีเป๊ะและสปีดโบท จ.สตูล ซึ่งร่วมเดินในโครงการนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ บอกว่า รัฐจะทำท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพื่อให้ชุมชนเจริญและเห็นชอบแต่ไม่ได้ทำประชาพิจารณ์กับชาวบ้าน มีแต่ทำกับภายนอกชุมชน ทางราชการก็พยายามแทรกแซงให้คนในพื้นที่รับโครงการนี้

“ในความจริงมีหลายโครงการมากที่จะมาลงที่สตูลแลจะพบว่าสตูลจะหายไปจากประเทศไทยทีเดียว และนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิ 2 อุทยานแห่งชาติ หากอุตสาหกรรมนี้จำนวน 1.5 แสนไร่ลงมาจริงจะมีมลพิษรุนแรงแทรกซึมจนเป็นฝนกรดลงบนป่าดิบ ต้องสูญเสียเทือกเขาบรรทัดและอุทยานแห่งชาติทะเลบัน ปัญหาหนักอีกคือ รถไฟรางคู่ สงขลา-ปากบารา เมื่อรถไฟวิ่งทุกวันก็เสียงดังกระทบชุมชนและสิ่งแวดล้อมแน่นอน

สิ่งที่เป็นปัญหาในสตูลคือ รัฐไม่เป็นกลางทั้งที่ชาวบ้านไม่เอาโครงการนี้ การเดินครั้งนี้เพื่อให้สังคมเกิดความเท่าเทียมเพราะทั้งสองฝั่งทะเลเกิดความเสียหายเหมือนกัน เมื่อถึงเวลาต้องช่วยเหลือกัน เมื่อมาเห็นท้องทุ่งกว้างใหญ่ของที่นี่ทำให้รู้ว่ารัฐต้องการที่ดินตรงนี้มาเพื่ออะไร ที่นี่ยังมีต้นไม้สมบูรณ์อยู่มาก เก็บไว้ให้เป็นสมบัติของลูกหลานในอนาคตดีกว่าต้องมาใช้ชีวิตท่ามกลางมลพิษไปตลอดชีวิตและตลอดไป รวมทั้งต้องให้ผู้นำศาสนามาดูว่าการเดินนี้เป็นการดะวะฮฺเพื่อศาสนาอีกรูปแบบหนึ่ง แล้วนำไปบอกต่อหรือประยุกต์ใช้ได้”

งานนี้ไกรวุฒินำลูกชายวัย 6 ขวบคือ น้องกีกี้ หรือ เด็กชายภูมิพัฒน์ ชูสกุล มาเดินด้วยจนถึงปลายทางโดยสวัสดิภาพ มีล้าบ้างแต่เมื่อพัก กีกี้ก็พร้อมเดินต่อ ไกรวุฒิบอกถึงเหตุผลในการให้ลูกชายมาเดินในครั้งนี้ว่า

“เขาเป็นเด็กคนแรกในฝั่งอันดามันที่มาเดินแบบนี้ เพื่อให้เป็นบทเรียนว่าครั้งหนึ่งในชีวิตเคยเดินเท้าอนุรักษ์ ให้ได้เรียนรู้สังคมจะได้เติบโตและอยู่ร่วมกันในสังคมได้ เขามีเหนื่อยบ้างแต่พักก็หาย และเดินได้ถึงพร้อมส่งกลับไปเตรียมตัวที่จะไปโรงเรียน”

รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุการพังทลายของหาดทราย เผยแพร่ ผลักดัน และสร้างเครือข่ายชุมชนชายฝั่งเพื่อร่วมกันปกป้องหาดทราย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ชายฝั่งมีมูลค่ามหาศาลทางด้านนิเวศ หาดทรายมีระบบนิเวศของตัวเอง จงเก็บธรรมชาติไว้ให้ลูกหลานคือการเก็บสมบัติไว้ให้พวกเขา ต่างกับการเก็บเงินที่เสื่อมค่าลงทุกวัน

“เราได้ทำงานที่ยิ่งใหญ่ ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ถ้ารักษาชายฝั่งคือรักชาติแล้ว ใครทำลายชายฝั่งคือทำลายชาติ ใช้เวลาเป็นล้านปีกว่าจะเป็นทราย คลื่นเป็นตัวพาทรายกลับเข้าฝั่ง ทำให้หาดแข็งแรง เราไม่มีองค์ความรู้เรื่องการจัดการระบบนิเวศ สถาบันที่สอนด้านนี้ก็ไม่มีทำให้มีปัญหา ตัวหาดทรายเป็นดัชนีชี้วัดชัดเจนแต่ถ้ากลายเป็นการเอาหินมากั้นเหมือนในหลายที่ก็ทำให้ชายฝั่งหมดสภาพ ฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยก็คล้ายกัน ความรู้ชุดเดียวกันไม่มี อุตสาหกรรมหนักจะทำให้เป็นเหมือนมาบตาพุดที่ชายหาดหายไปทั้งแถบ สร้างมลพิษอย่างต่อเนื่อง บ้านเรามีแค่อุตสาหกรรมขนาดเล็กก็เพียงพอแล้ว อุตสาหกรรมหลักไม่จำเป็น ไม่คุ้มกับการเสียระบบนิเวศทั้งหมดไป การท่องเที่ยวทำรายได้ให้เป็นแสนล้านโดยไม่ต้องลงทุนมากมายในพื้นที่ของพวกเรา และยังสามารถกระจายรายได้ทั่วท้องถิ่น แต่อุตสาหกรรมมีรายได้กระจุกอยู่เฉพาะนายทุนบางคน แต่รัฐชอบเพราะเก็บภาษีได้เยอะมากกว่าการทำการเกษตรของประชาชน ไม่ได้คิดถึงความสุขของชาวบ้าน ความเห็นของรัฐบาลต่างกันสิ้นเชิงกับชาวบ้านจึงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันไม่จบสิ้น”

ด้าน ประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานโครงการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหาร กล่าวว่า เมืองไทยไม่จำเป็นต้องสร้างอุตสาหกรรมให้พึ่งตนเองเพราะผ่านจุดนั้นมาแล้ว คนกำหนดเรื่องนี้ทั้งหมดคือคนที่นั่งกินกาแฟโต๊ะเดียวกัน ภารกิจของคนภาคใต้คือการรักษาทะเล

“ขณะนี้ทุกคนต้องช่วยหันรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีในแต่ละพื้นที่ ภาคใต้เป็นพื้นที่ผลิตอาหารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศทั้งที่มีพื้นที่น้อยที่สุด คนในเมืองและคนกรุงเทพต้องร่วมกันรักษาพื้นที่นี้ไว้เพราะเขาต้องพึ่งพาทรัพยากรจากที่นี่ ตอนนี้รัฐบาลมีการเปลี่ยนให้การทำ EHIA ง่ายขึ้น ขณะที่ภาคสังคมจะเปลี่ยน EHIA ให้เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม สองฝ่ายกำลังสู้กัน ต้องสร้างปรากฎการณ์ประชาชนร่วมกัน ซึ่งอีก 1-2 เดือนจะมีการนำข้อมูลและประกาศพื้นที่ปะทิว ท่าศาลา ปากบารา ตรัง เป็นพื้นที่ผลิตอาหารเท่านั้น”

ชาวบ้านในพื้นที่ที่รวมตัวกันคัดค้านเรื่องนี้ เช่น สุไรด๊ะห์ หมัดหลี บอกย้ำไปยังอดีตว่า อัลลอฮฺทรงสร้างทุกอย่างมาจากดินและทราย ทุกคนต้องช่วยกันปกป้องรักษาให้ทรัพยากรที่มีค่านี้ให้อยู่คู่แผ่นดินนี้ต่อไป

“คนมีความรู้แต่ไม่มีอิหม่านในใจก็ไม่มีความรู้สึกเมื่อมีนายทุนเข้ามาทำในสิ่งที่ไม่ดีในชุมชนและพื้นที่ หากไม่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺหรือคิดทำลาย คนนั้นคือคนที่ทรยศต่ออัลลอฮฺ ทำสิ่งใดอัลลอฮฺก็ไม่รับ เป็นวาญิบ(สิ่งจำเป็น)ของทุกคนที่ต้องช่วยกันปกป้อง พี่น้องจากสตูล จากสงขลาและที่อื่นที่มาช่วยกันต่างทำในสิ่งที่ถูกต้อง เราจะปกป้องแม้เราไม่ชนะ ในโลกหน้าเราจะไม่ถูกสอบสวนจากอัลลลอฮฺ และต่อไปนี้เราจะไม่ไว้ใจคนของรัฐอีกแล้ว”

การต่อสู้เพื่อความถูกต้องด้วยสันติวิธี ด้วยการเดินถามหาความถูกต้อง และคัดค้านการทำลายธรรมชาติที่ควรค่าแก่การดำรงอยู่คู่แผ่นดินของพวกเขา