“แชนใช่ไหม!” คือคำถามที่สวนมาตามสายโทรศัพท์แทบจะทันควันด้วยความเป็นห่วงของ พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ เมื่อได้รับแจ้งจากนักข่าวว่ามีระเบิดที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และมีเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด หรือ อีโอดี สูญเสียถึง 3 นาย
พล.ต.ท.อัมพร มีสถานะเป็น “นาย” ของ “แชน” หรือ ร.ต.ต.แชน วรงคไพสิฐ หัวหน้าชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด กลุ่มงานสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส นายตำรวจนักกู้ระเบิดชื่อดังซึ่งใครๆ เรียกเขาติดปากว่า “ดาบแชน”
แม้ พล.ต.ท.อัมพร จะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ขอแรงให้มาช่วยแกะหลักฐานจากวัตถุระเบิดที่ชายแดนใต้ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเบอร์หนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ พล.ต.ท.อัมพร ยังคงเป็น “นาย” ของดาบแชนอยู่ เคยอบรมพร่ำสอนเรื่องวัตถุระเบิดจนผูกพันกัน ทั้งยังเป็นห่วงที่่ดาบแชนต้องทำงานเสี่ยงชีวิตอยู่ทุกวันที่ปลายด้ามขวานด้วย
งานเก็บกู้วัตถุระเบิดเหมือนเป็นภารกิจต้องคำสาป เพราะไม่ว่าจะเก่งอย่างไรก็ต้องมีวันพลาด ก่อนหน้านี้ทั้ง ร.ต.ต.แชน และ ร.ต.ต.จรูญ เมฆเรือง ที่เพิ่งโดนระเบิดเสียชีวิตพร้อมกันเมื่อวันที่ 28 ต.ค.2556 เคยได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่มาแล้วเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2554 ในพื้นที่ ต.โฆษิต อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยพวกเขาโดนระเบิดที่คนร้ายวางซ้อนเอาไว้ถึง 3 ลูก!
“ดาบแชน” เป็นชาว จ.นราธิวาส โดยกำเนิด จบโรงเรียนตำรวจภูธร 9 รุ่นที่ 36 เมื่อปี 2528 จากนั้นก็ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรื่อยมา แม้จะเคยย้ายออกนอกพื้นที่บ้างแต่ก็ไม่นานนัก เขาผ่านงานมาหมดไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าชุดคุ้มครองหมู่บ้าน สายตรวจรถจักรยานยนต์ กระทั่งเข้ารับการอบรมหลักสูตรเก็บกู้วัตถุระเบิดเบื้องต้น 15 วัน และต่อยอดด้วยการอบรมหลักสูตรอีโอดี หรือ Explosive Ordnance Disposal ที่สหรัฐอเมริกา จึงผันตัวมาเป็นชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) ของตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส
“ดาบแชน” ทำงานอย่างทุ่มเท ว่ากันว่าเขาเคยกู้ระเบิดมาแล้วไม่ต่ำกว่า 200-300 ลูก เคยได้รับรางวัลตำรวจดีเด่นในโครงการนำทางแทนคุณแผ่นดินของ บริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยมอบรางวัลเนื่องในวันตำรวจ เมื่อ 13 ต.ค.2552 ขณะที่ก่อนหน้านั้นก็เคยได้รับรางวัลตำรวจดีเด่นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรางวัลตำรวจดีเด่นต้นแบบของมูลนิธิบุณยจินดา รวมทั้งตำรวจผู้ปฏิบัติงานดีเด่นและเสียสละของศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ซึ่งปัจจุบันยกฐานะเป็นศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้
กระทั่งปี 2554 จึงได้ประดับยศ “ร.ต.ต.” เป็นตำรวจสัญญาบัตรอย่างเต็มภาคภูมิ
ภารกิจสุดท้ายของ ร.ต.ต.แชน และทีมงาน คือการรักษาความปลอดภัยในงาน “วันเด็กกำพร้า รวมหนึ่งเดียวเพื่อสร้างอนาคต” ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 ต.ค. หรือ 1 วันก่อนเสียชีวิต
“ผมรู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้รับรางวัล ผมทุ่มเททำงานก็เพราะหวังให้เกิดความสงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผมเอง อยากให้ทุกคนอยู่กันอย่างสงบสุขเหมือนเดิม เหมือนสมัยก่อนที่เคยอยู่ด้วยกันมา ปรัชญาการทำงานของผมคือ ยอมทุ่มเทชีวิตเพื่อญาติพี่น้อง ลูกเมีย และประชาชนนอนหลับสบาย” ดาบแชนเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้กับ “ศูนย์ข่าวอิศรา” เมื่อหลายปีก่อน
ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนโยบายชัดเจนให้หลีกเลี่ยงการเก็บกู้วัตถุระเบิด แต่ให้เน้นทำลาย เพราะการเก็บกู้มีความเสี่ยง และเคยเกิดความสูญเสียมาแล้วหลายครั้ง แต่ ร.ต.ต.แชน มองต่างมุมในเรื่องนี้
“ปกติแล้วระเบิดไม่ได้มีไว้ให้กู้ ผมไปอบรมที่สหรัฐ เขาก็ไม่สอนให้กู้ เขาจะสอนให้ทำลาย แต่ผมคิดว่าการทำลายระเบิดแต่ละลูกคือการทำลายหลักฐานที่จะเป็นข้อมูลนำไปหาตัวผู้ผลิต เพราะมือระเบิดแต่ละคนมีวิธีการประกอบระเบิดไม่เหมือนกัน”
“ผมเคยกู้ระเบิดโดยใช้มือเปล่าดึงออกมา ไม่มีอุปกรณ์อะไรเลย เพราะคิดว่าถ้าช้าไปอาจสร้างความเสียหายได้ ทั้งที่ตอนนั้นก็มีคีมกับมีดพก แต่ไม่มีเวลาแม้กระทั่งจะหยิบมันออกจากกระเป๋าเสื้อเพื่อกรีดดู หลายครั้งผมถูกเรียกตัวขณะกำลังออกกำลังกายอยู่ หรือกำลังขี่รถกลับบ้าน เพราะสถานการณ์ในพื้นที่เกิดเหตุได้ตลอดเวลา บางทีผมก็ต้องไปกู้ระเบิดในชุดกีฬา”
เรื่องเล่าของ “ดาบแชน” สะท้อนภาพชีวิตของตำรวจอีโอดีในพื้นที่ปลายด้ามขวานอย่างเด่นชัด…
อีกครั้งหนึ่งที่ “ดาบแชน” สร้างกระแสฮือฮา ก็คือเมื่อครั้งที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเครื่องตรวจวัตถุระเบิด “จีที 200” จากความผิดพลาดที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจรถเก๋งบรรทุกระเบิด (คาร์บอมบ์) ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อเดือน ต.ค.2552 โดยเขาเป็นคนแรกๆ ที่กล้าให้ข้อมูลแบบตรงไปตรงมาว่า จีที 200 เชื่อถือได้แค่ 30%
ด้วยบุคลิกส่วนตัวที่เป็นคนอารมณ์ดี เข้ากับคนง่าย และชอบช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ ทำให้ “ดาบแชน” สนิทสนมกับนักข่าวแทบทุกสำนัก รวมทั้งครอบครัวของดาบแชนด้วย เมื่อวันเสาร์ที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา หรือเพียงสัปดาห์เศษก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ผู้สื่อข่าวนราธิวาส 5 คนได้รับบาดเจ็บจากระเบิดลูกที่ 2 ขณะเดินทางไปรายงานข่าวคนร้ายลอบวางระเบิดทหารพรานที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทั้งหมดถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลระแงะ ลูกสาวของดาบแชนซึ่งเป็นพยาบาลประจำอยู่ที่ห้องฉุกเฉินยังช่วยดูแลนักข่าวทุกคนอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็ถามถึงบิดาด้วยความเป็นห่วง เพราะเธอทราบดีว่าเมื่อเกิดเหตุระเบิดเช่นนี้ บิดาต้องตามมาปฏิบัติหน้าที่ตรวจจุดเกิดเหตุด้วยอย่างแน่นอน
“ลูกสาวของดาบแชนยังช่วยปฐมพยาบาลให้พวกหนู แล้วก็ถามถึงพ่อเขาด้วย แต่วันนั้นดาบแชนปลอดภัย ไม่อยากเชื่อเลยว่าอีกแค่ไม่กี่วันจะต้องมาจบชีวิต” ปทิตตา หนูสันทัด ผู้สื่อข่าวจากเครือเนชั่นและศูนย์ข่าวอิศรา เล่าย้อนเหตุการณ์พร้อมกับร้องไห้
นักข่าวสาวจากเครือเนชั่นอีกคนที่ลูกสาวของดาบแชนช่วยดูแล ก็คือ สัญฐิติ ขอจิตต์เมตต์ ซึ่งเมื่อวานเธอเพิ่งออกจากโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และไปทำงานเป็นวันแรกหลังได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิด แต่ข่าวแรกที่เธอต้องรายงานกลับกลายเป็นการพลีชีพของ “ดาบแชน” และเพื่อนอีโอดีอีก 2 นาย ซึ่งเธอไม่อยากให้เป็นความจริงเลย…
แม้ต้องทำงานเสี่ยงตายแทบทุกวัน แต่ “ดาบแชน” ก็ไม่เคยคิดย้ายออกจากพื้นที่ ทั้งๆ ที่รู้ตัวว่าถูกขึ้นแบล็คลิสต์ของกลุ่มก่อความไม่สงบ เนื่องจากสามารถกู้ระเบิดและหยุดยั้งความเสียหายที่เป็นเป้าหมายของคนร้ายได้เป็นจำนวนมาก ในทางกลับกันเขาได้สร้างครอบครัวกับภรรยาคู่ชีวิต นันทวรรณ วรงคไพสิฐ และมีลูกด้วยกัน 2 คน
เขาเคยพูดถึงชีวิตส่วนตัวและครอบครัวเอาไว้ว่า คนจะตายอยู่ที่ไหนก็ตาย การทำงานแบบนี้ก็ทำมานานหลายปี ได้คุยกับที่บ้านมาพอสมควรแล้ว ซึ่งต้องถือว่าโชคดีที่ครอบครัวเข้าใจ จึงทำงานได้อย่างเต็มที่ ไม่มีปัญหา
“ที่นี่บ้านเรา ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำล่ะครับ” เป็นคำถามจากดาบแชนเมื่อครั้งยังมีชีวิต
ทั้งๆ ที่ภารกิจของเขาทำเพื่อทุกคน ทุกศาสนา เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยและไม่เคยทำร้ายใคร…แต่วันนี้เขาจากโลกนี้ไปแล้ว!