ในที่สุด ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้เรื้อรังมาเป็นเวลายาวนาน ได้ถูกนำไปสู่โต๊ะเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและขบวนการต่อสู้ โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวก อันที่จริงแล้ว ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนและรัฐได้เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ หลายแห่งทั่วโลก และมักจะลงเอยโดยการเจรจาในที่สุด ซึ่งเป็นบันไดขั้นสุดท้ายที่จะนำไปสู่ความสงบ และการปรองดองอย่างยั่งยืนของคนในชาติที่มีความแตกต่างในอัตลักษณ์ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเข้าสู่กระบวนการนี้ ซึ่งน่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการแก้ไขคลี่คลายปัญหาดังกล่าว
ประเด็น สำคัญที่สุดซึ่งคงจะต้องมีการเจรจา คือ การสถาปนาสามจังหวัดภาคใต้ให้เป็นเขตปกครองพิเศษ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องเขตปกครองพิเศษในสามจังหวัดภาคใต้มีทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านด้วย เหตุผลต่างๆ กัน รัฐบาลเองก็เปิดใจกว้างในการที่จะรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางจาก ประชาชนในพื้นที่ และนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยเหตุนี้สโมสรซูรอจึงได้จัดการประชุมสัมมนา เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาค ใต้ เพื่อที่จะนำเสนอต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาต่อไป
สโมสร ซูรอ เป็นสโมสรที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำการปรึกษาหารือในประเด็นปัญหาต่างๆ ระหว่างบุคคลที่หลากหลายด้วยความคิด ความรู้และประสบการณ์ตามโอกาสที่เหมาะสม สโมสรนี้เกิดจากหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่มีบัญชาให้มีการปรึกษาหารือใน กิจกรรมต่างๆ ของสังคม ( อัลกุรอาน บทที่ 42 โองการที่ 38 ) และจากการประชุมซูรอดังกล่าวเรามีข้อสรุปที่สำคัญดังต่อไป
• มีประเทศต่างๆ ในโลกนี้ มากกว่า 100 ประเทศ ที่มีเขตปกครองพิเศษ ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี่ เยอรมัน สเปน โปรตุเกส เดนมาร์ก กรีก ชิลี ออสเตรเลีย จีน รัสเซีย อิรัก อินเดีย ปากีสถาน พม่า อินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์ มาเลเซีย เหล่านี้เป็นต้น บางประเทศมิได้มีแต่เขตเดียว แต่มีมากกว่า 15 เขต เขตปกครองพิเศษดังกล่าวนี้ มีชื่อเรียกต่างๆ กัน บางเขตถูกกำหนดโดยข้อตกลงนานาชาติ และบางเขตเป็นข้อตกลงภายในประเทศ ( ให้ดูรายละเอียดใน Google.com >Autonomous Region by Country ) เพราะฉะนั้นเขตปกครองพิเศษจึงมิใช่เป็นเรื่องที่ผิดปรกติวิสัยแต่ประการใด แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วยเหตุความจำเป็นทางสังคม
• สาเหตุสำคัญที่ประเทศต่างๆ จะต้องมีเขตปกครองพิเศษเนื่องจากว่า ประเทศต่างๆ ในโลกนี้ล้วนเป็นประเทศที่มีกลุ่มชนซึ่งหลากหลายอัตลักษณ์ทางสังคม เชื้อชาติ ภาษา และศาสนาวัฒนธรรม แต่จะมีกลุ่มชนบางกลุ่มซึ่งมีความแตกต่างเกือบจะสิ้นเชิงกับกลุ่มชนซึ่ง ปกครองประเทศ และกลุ่มชนสองกลุ่มนี้ ถ้าไม่มีการบริหารจัดการที่ดีจากรัฐก็จะมีความขัดแย้งต่อกันไม่มากก็น้อย ความขัดแย้งดังกล่าวนี้ ถ้ามีความสะสมเรื้อรังและทวีความรุนแรงจึงแก้ไขไม่ได้แล้ว กลุ่มที่เป็นฝ่ายถูกปกครองมักจะเรียกร้องเขตปกครองพิเศษ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ด้วยตัวเอง และมีบุคคลากรทางการปกครองที่เป็นพวกเดียวกัน สำหรับในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีประชาชนที่มีอัตลักษณ์แตกต่างจากคนไทยส่วน ใหญ่ซึ่งเป็นฝ่ายปกครองประเทศโดยสิ้นเชิง ก็คือมีเชื้อชาติมาลายู พูดภาษามาลายู นับถือศาสนาอิสลาม และมีประวัตศาสตร์ในสายลังกาสุกะและปัตตานีดารุสสลามในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ มีเชื้อชาติไทย พูดภาษาไทย นับถือศาสนาพุธ และมีประวัติศาสตร์ทางสายน่านเจ้า สุโขทัย และอยุธยา ดังนี้เป็นต้น สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญก็คือกลุ่มชนสองกลุ่มนี้ได้มีความขัดแย้งมาเป็นเวลา ยาวนานแล้ว และในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีตัวชี้บ่งบอกว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาดังกล่าว ได้ จึงได้มีการเจรจาในที่สุด และมีแนวโน้มจะมีการเรียกร้องเขตปกครองพิเศษดังคาดหมาย
• อันที่จริงแล้วการมีเขตปกครองพิเศษไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผิดปกติในทางการเมือง การปกครอง แต่เป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้หลักการประชาธิปไตยและภายใต้เจตนารมณ์ของ รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น ดังรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 14 เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งระบุดังนี้ :
มาตรา 281 ภายใต้บังคับมาตรา 1 รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครอง ตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น
ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ย่อมมีสิทธิ์จัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ
ส่วน ในทางปฏิบัติประเทศไทยก็มีพื้นที่ซึ่งก็มีลักษณะของเขตปกครองพิเศษอยู่แล้ว ถึงแม้จะไม่ได้เรียกชื่อดังกล่าวก็ตามนั่นคือกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
• อย่างไรก็ดี คำว่า “ เขตปกครองพิเศษ “ เป็นเรื่องที่คนไทยไม่คุ้นเคย เพราะว่าเป็นแนวความคิดที่ออกนอกกรอบปรัชญาทางการเมืองไทยมากเกินไป เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำนี้แล้วอาจจะมีการต่อต้านจากบุคคลหลายฝ่าย สโมสรซูรอได้ตระหนักเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงขอเสนอให้ใช้คำว่า “ เขตพัฒนาพิเศษ “ แทนโดยเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Special Development Region และเรียกเป็นภาษามาลายูว่า Wilayah Pembangunan Khas
ทั้งนี้ โดยมีหลักการและวิธีการทำนองเดียวกันกับเขตปกครองพิเศษ ซึ่งคงจะต้องมีการตกลงในประเด็นละเอียดระหว่างคู่เจรจา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโอกาสต่อไป
ประโยชน์ ที่สำคัญของเขตพัฒนาพิเศษก็คือไม่มีความอ่อนไหวในทางการเมือง เพราะฉะนั้นจะทำให้สามารถระดมความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วยความสะดวกใจ ยิ่งไปกว่านั้นแนวความคิดเกี่ยวกับเขตพัฒนาพิเศษ มิได้มุ่งประโยชน์ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่จะมีภาคผลต่อประเทศและคนไทยโดยส่วนรวมอีกด้วย นอกจากนี้แล้วถ้าแก้ปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธ์ด้วยวิธีนี้ได้สำเร็จ ก็อาจจะกลายเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาทำนองเดียวกันซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกในขณะ นี้
ในลำดับต่อไปนี้จะเป็นรายละเอียดบางประการเกี่ยวกับเขตพัฒนาพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เขตพัฒนาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้
ปรัชญาเบื้องต้น
• ถ้าคนเรามีสภาพทางเศรษฐกิจที่ดี มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ อีกทั้งมีเสรีภาพและได้รับการยอมรับในศาสนาที่ๆ นับถือ ชีวิตก็จะอยู่ดีมีสุข ความขัดแย้งกับรัฐก็จะไม่เกิดขึ้น และจะไม่มีจับอาวุธขึ้นมาปฏิบัติการรุนแรงเพื่อให้ตนเอง ครอบครัว ญาติพี่น้องที่มีความเดือดร้อน
ยุทธศาสตร์
• รัฐบาลควรจะประกาศให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพัฒนาพิเศษ และให้ถือเป็นนโยบายหลักและต่อเนื่อง โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานเน้นในเรื่องของการพัฒนาเป็นพิเศษใน ภารกิจของตนทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ
• ให้รวมสามจังหวัดภาคใต้ คือปัตตานี ยะลา นราธิวาสเป็น “ ปัตตานีมหานคร “ ทำนองเดียวกับการรวมจังหวัดพระนครและธนบุรีในอดีตเป็น “ กรุงเทพมหานคร “ ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการบูรณาการและประสานงานในเรื่องการบริหารจัดการ ส่วนจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสยังคงมีสถานะภาพเป็นจังหวัดเหมือนเดิม
แนวนโยบาย
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของเขตพัฒนาพิเศษของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ปัตตานีมหานคร มีแนวนโยบายหลักดังต่อไปนี้
นโยบายทางการเมืองและความมั่นคง
• ให้จัดตั้งสภาปัตตานีมหานคร เพื่อบูรนาการ และประสานงานการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างราบรื่นคล่องตัว
อัน ที่จริงแล้วองค์กรและอำนาจหน้าที่ของสภานี้มีอยู่เรียบร้อยนั้นคือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ในปัจจุบัน เพียงแต่ให้เพิ่มอำนาจหน้าที่มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เท่านั้น
• ส่วนแต่ละจังหวัดก็ให้มีสภาประจำจังหวัดเพื่อรองรับแนวนโยบายของสภาปัตตานี มหานครไปใช้ปฏิบัติ ซึ่งปัจจุบันนี้มีองค์กรอยู่แล้ว คือองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อ.บ.จ.นั่นเอง
• นิรโทษกรรมสมาชิกขบวนการทุกคน และจัดให้เข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยมีระบบอุตสาหกรรมพิเศษรองรับ หรือเข้าสู่ระบบการศึกษาต่อโดยมีสถาบันการศึกษาพิเศษรองรับเช่นเดียวกัน และให้ทุกคนได้รับหลักประกันจากรัฐในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตประจำวันอย่าง แท้จริง
• ฝึกอบรมข้าราชการที่ปฏิบัติในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ เพื่อให้ปฏิบัติงานตามหลักธรรมมาภิบาลอย่างแท้จริง
• ส่งเสริมการเมืองท้องถิ่นให้เต็มรูปแบบตามหลักการปกครองส่วนท้องถิ่น และตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
• ให้มีศาลความมั่นคง เพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวกับความมั่นคงโดยเฉพาะ โดยใช้กระบวนการที่เหมาะสมทำนองเดียวกันกับศาลปกครอง
• พัฒนาศาลชารีอะห์ในเรื่องครอบครัว และมรดกให้มีผลบังคับใช้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศทั้งในศาลและนอกศาล
• การสื่อสารในระบบราชการให้ใช้ภาษามาลายูควบคู่กับภาษาไทย
• ให้หยุดราชการในวันศุกร์และวันเสาร์ แทนวันเสาร์และอาทิตย์ เพื่อให้โอกาสมุสลิมได้ปฏิบัติศาสนกิจเป็นพิเศษในวันศุกร์
• ให้วันสำคัญทางศาสนาอิสลามสองวันเป็นวันหยุดราชการประจำปี คือวันตรุษอีดิ้ลฟิตร และวันตรุษอีดิ้ลอัฎฮา
• ส่งเสริมให้มีพรรคการเมืองของชาวปัตตานีมหานคร เพื่อดำเนินงานการเมืองระดับชาติเพื่อเป็นตัวแทนและรักษาประโยชน์ของประชาชน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสำคัญ
นโยบายทางเศรษฐกิจ
• ให้โยงเศรษฐกิจปัตตานีมหานครไปสู่เศรษฐกิจโลกมุสลิมซึ่งประกอบด้วยประเทศ มุสลิมและประเทศที่มิใช่มุสลิมรวมประชากรมุสลิมทั้งหมดสองพันสองร้อยล้านคน ( จากตัวเลขล่าสุดโดย Pew Research Center Washington ) ดังนั้นปัตตานีมหานครจะต้องเร่งรัดการพัฒนาในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการพาณิชย์อย่างครบวงจร
• ให้พัฒนาฝีมือแรงงานในทุกด้านและทุกระดับชั้นเทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อพร้อมที่จะส่งออกไปสู่ธุรกิจของโลกมุสลิม
• จัดตั้งธนาคารชุมชนที่สอดคล้องกับระบบการเงินอิสลาม ในชุมชนต่างๆ อย่างทั่วถึง เพื่อเป็นแหล่งเงินกู้ในการลงทุนของประชาชนในระดับล่าง
นโยบายทางการศึกษา
• ให้โรงเรียนมีลักษณะเป็นบูรณาการระหว่างสายศาสนาและสายสามัญ อีกทั้งยังมีสอนภาษามาลายูเพื่อการสื่อสาร
• ให้มีมหาวิทยาลัยในจังหวัดปัตนี ยะลา และนราธิวาส และให้สาขาวิชาอิสลามศึกษาและมลายูในทุกมหาวิทยาลัย
• ให้มีมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติแห่งปัตตานี ตั้งอยู่ที่จังหวัดปัตตานี เพื่อเป็นแหล่งการศึกษาอิสลามระดับโลก
นโยบายทางสังคมและวัฒนธรรม
• ส่งเสริมการนับถือศาสนาอิสลามและปฏิบัติศาสนกิจอย่างเลื่อมใสศรัทธา เต็มภาคภูมิ ปราศจากอุปสรรคกีดขวาง ทั้งเชิงสัญลักษณ์และเชิงปฏิบัติการ
• ให้จังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดปลอดอบายมุขในที่สาธารณะ เพื่อให้เป็นเมืองสุขสงบอย่างแท้จริง และห้ามมุสลิมประพฤติปฏิบัติอันเป็นละเมิดศาสนาในที่สาธารณะ
• ให้มีคณะฟัตวาแห่งปัตตานี (คณะวินิจฉัยประเด็นศาสนาแห่งปัตตานี) ที่เป็นทางการเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยประเด็นปัญหาทางศาสนา และให้ถือเป็นมาตรฐานที่รับรองโดยทางการ
• จัดระบบการบริหารกิจการศาสนาอิสลามโดยเฉพาะ เพื่อความเหมาะสมกับความนับถือศาสนาของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ให้สอดรับกับโครงสร้างการบริหารศาสนาอิสลามของประเทศไทย
บทเฉพาะกาล
• ไม่มีการลิดรอนสิทธิในการนับถือและปฏิบัติศาสนกิจ ตลอดจนจารีตประเพณีไม่ว่าในกรณีใด ๆ
• ทุกกิจกรรมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนาให้ชาวไทยพุทธกับศาสนิกอื่นๆ สามารถมีส่วนร่วมและรับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันหรือตามสัดส่วนที่เหมาะสม
ที่มา : พับลิกโพสต์ออนไลน์