ตั้งแต่สูญเสียสามีไปจากเหตุการณ์ความไม่สงบไปเมื่อปี 2549 “วรรณดี ทองเกลี้ยง” แม่ลูกสามจึงต้องเป็นเสาหลักรับผิดชอบดูแลครอบครัว เธอต้องกลับกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวเลี้ยงดูลูกสาวสามคนและแม่วัยแปดสิบกว่าอีกหนึ่งคน
ครอบครัวของเธอต้องย้ายจาก ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ บ้านท่าด่าน อ.หนองจิก อีกชุมชนหนึ่ง ด้วยความช่วยเหลือของอดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านท่าด่านซึ่งเป็นญาติของสามีและเป็นเพื่อนของเธอ
จากยุ้งฉางเก็บข้าวของญาติกลายเป็นบ้านไม้ยกพื้น ฝาผนังทำด้วยไม้ไผ่สาน หลังคาสังกะสี จากการช่วยกันคนละไม้คนละมือของเพื่อนบ้านใกล้เคียงทำให้บ้านเสร็จภายในเวลาไม่นาน ภายในบ้านค่อนข้างคับแคบ หากครอบครัวของเธอสามารถอยู่กันได้ วรรณดีเป็นผู้หญิงที่ขยันขันแข็ง หาความรู้ โดยเฉพาะเรื่องการเกษตร ชีวิตของเธอและลูกจึงค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ เธอบอกว่า จากที่เคยอยู่สบายต้องมาเป็นผู้นำทุกอย่าง ต้องเข้มแข็งและอดทนเป็นอย่างมาก
“ถ้าเราอ่อนแอก็ไม่สามารถนำทางชีวิตลูกได้ เราไม่ได้เรียนสูง ไม่มีสมบัติอะไรให้ลูก สิ่งที่ทำได้คือพยายามส่งเสียให้ลูกได้เรียนจบ ให้มีความรู้และมีงานทำ ลูกสาวทั้งสามเป็นเด็กดี รู้ว่าแม่ลำบากและต้องหาเลี้ยงเขาคนเดียว ไม่ทำความลำบากใจให้เราเลย แค่นี้ก็เป็นกำลังใจชั้นดี ให้เราสู้ชีวิตต่อไปอย่างคิดท้อถอย”
ลูกสาวทั้งสามคนเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้วรรณดีอดทนยืนหยัดต่อสู้ชะตาชีวิตมาจนทุกวันนี้ หกปีกว่าที่สามีจากโลกนี้ไป ลูกสาวคนโตเรียนจบทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวของงานพัฒนาสังคมที่อ.หนองจิก ลูกสาวคนที่สองจบปริญญาตรีจาก ม.หาดใหญ่ และลูกสาวสุดท้องกำลังเรียนชั้นมัธยม ร.ร.เดชะปัตนยานุกูล ปัตตานี โชคดีที่ลูกสาวทั้งสามของเธอเป็นเด็กตั้งใจเรียนและรับรู้ถึงความลำบากของแม่ วรรณดีจึงสบายใจไม่เป็นกังวล
รอบบ้านของเธอเต็มไปด้วยพืชผักนานาชนิดแบบผสมผสานและปลอดสารพิษ มีบ่อเลี้ยงปลาทั้งปลาแดง ปลานิล ปลาช่อน เลี้ยงรวมแบบธรรมชาติ ใกล้กันเป็นนาข้าวที่สามารถทำได้ทั้งนาปรัง นาปี มีระบบชลประทานเอื้อให้เธอทำนาได้ทั้งปี โรงเรือนเล็กๆ มีเครื่องสีข้าวที่เธอและเพื่อนบ้านช่วยกันสร้างขึ้นมาเพื่อบรรจุข้าวสารออกขายในนาม ”สินค้าผู้ว่า” เป็นการเกษตรที่วรรณดีและสมาชิกในชุมชนร่วมกันทำเป็นการเกษตรแบบผสมผสาน ใช้หลักเกษตรชีวภาพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงและทำให้วรรณดีมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวและช่วยเหลือชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางช่วยเหลือจากศวชต.ต่อเธอเป็นอีกแนวทางที่เธอบอกว่า มีประโยชน์จริง
“โชคดีที่ได้รับคำแนะนำจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะ ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) ในม.อ.ปัตตานี ที่ได้ให้ความช่วยเหลือหาตลาดและโอกาสในการขายสินค้าตามงานต่างๆ ให้ในปัตตานี ประสานงานให้ขายที่ตลาดในม.อ.ปัตตานี ทุกบ่ายวันพฤหัสบดี พาไปศึกษาดูงาน ได้รู้จักเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันที่เป็นแกนนำสตรีฯ เพิ่มขึ้น และทำให้มีทางเดินของชีวิตที่พึ่งพาตัวเองได้”
นอกจากนี้ เธอยังได้ร่วมกับศวชต. จัดกิจกรรมประชุมสัญจรแกนนำสตรีผู้ได้รับผลกระทบฯ ในปัตตานี ที่บ้านท่าด่าน ให้มาเยี่ยมชมการทำเกษตรแบบผสมผสานและร่วมกันแข่งขันดำนาในที่นาข้างบ้านเธอ เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนต่างศาสนิกและศวชต.ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ณ วันนี้ วรรณดีทำความเข้าใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นและมีสุขภาพกายสุขภาพจิตที่ดีขึ้น มีอาชีพยืนได้ด้วยตัวเองจากกำลังใจที่ดีของตัวเอง ก้าวข้ามเรื่องราวร้ายที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเธอและลูก พร้อมกำลังใจจากคนรอบข้างและหน่วยงานที่เห็นความตั้งใจของเธอ