หลายปีมาแล้วที่ได้พูดคุยกับเรื่องราวในชีวิตของ ป้าวภา สุทธิมาส
ครานั้นที่ป้ายังคงอยู่ที่ร้านขายของที่ระลึกข้างมัสยิดกรือเซะ ตอนนั้นมีบรรยากาศความเงียบเหงา ไม่มีลูกค้ามาท่องเที่ยวและซื้อของด้วยสาเหตุมาจากเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นในมัสยิดกรือเซะเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 เหตุร้ายที่เป็นมรสุมชีวิตของป้าวภาและครอบครัว
เรื่องร้ายนี้ยังมีต่อเมื่อป้าวภา ถูกยิงโดยไม่ทราบสาเหตุเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2548 ขณะที่นั่งพักผ่อนกับลูกหลานในบ้านพี่ชายสามีที่บ้านตาแกะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กระสุนยังคงฝังอยู่ที่สะบักไหล่ด้านซ้ายของป้าวภามาจนทุกวันนี้
สองเหตุการณ์ใหญ่ในชีวิตของป้าวภาเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่แห่งนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เธอและครอบครัวใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุขกับการค้าขายที่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมมัสยิดกรือเซะ สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวอย่างเนืองแน่น วันนึงเธอบอกว่าขายได้กำไรสองถึงสามพันก็อยู่ได้สบาย สิ่งเหล่านั้นเป็นความหลังฝังใจเป็นเวลาสิบปีที่ป้าวภาไม่มีวันลืมกับเหตุการณ์ในวันนั้น วันที่ทำให้ชีวิตของทุกคนในครอบครัวเธอเปลี่ยนไป
“เราซื้อที่ดินตรงนั้นแล้วไปสร้างบ้านทำเป็นร้านขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว อยู่มาก่อนเกิดเหตุกรือเซะเกือบสิบปี วันเกิดเหตุตั้งแต่ช่วงตีสี่ก่อนเช้า เขาประกาศไม่ให้ใครออกจากบ้าน ออกไปไหนไม่ได้ ได้ออกมาอีกทีตอนเย็นๆ ที่เหตุสงบ มีคนหามตำรวจถูกยิงที่หน้าผากมาที่หน้าบ้าน กลัวมาก ที่มัสยิดก็ไม่กล้าออกไปดู แต่ยังดีที่กระสุนไม่ได้มาทางร้าน หลังเหตุการณ์คนที่มาเที่ยวมาซื้อของลดน้อยลงมาก พอปี 2548 ก็ย้ายไปอยู่ที่บ้านดอนยาง อ.หนองจิก ปัตตานีเหมือนกัน เป็นที่ดินที่แม่ยกให้ ลูกสาวปลูกบ้านอยู่ก็ไปอยู่ด้วยกันมาจนปัจจุบัน ถ้าไม่มีที่ดินตรงนั้นก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหนเหมือนกัน บ้านที่กรือเซะก็กลับมาดูเพราะทิ้งไว้เปล่าๆ เสียดายเหมือนกันแต่ป้าว่าจะฟื้นเหมือนเดิมคงยาก นักท่องเที่ยวยังน้อย ดูเหตุการณ์บ้านเราแล้วหนักใจเหลือเกิน”
ป้าวภาเป็นคนบ้านดอนยาง ในวันนี้เธอทำหน้าที่ดูแลหลานสองคนอย่างเต็มที่เพราะไม่มีอาชีพที่จะทำ ทุ่มเทดูแลหลานเป็นอย่างดี ไม่สบายก็พามาหาหมอที่โรงพยาบาลปัตตานี สามีวัย 59 ปีเป็นคนบ้านตาแกะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เขาทำงานในโรงพยาบาลปัตตานี รอเวลาเกษียณในปีหน้า สิบปีที่ผ่านมากับเรื่องราวในชีวิตที่ทำให้เธอต้องปรับตัวปรับใจอยู่กับชีวิตปัจจุบันให้ดีที่สุด ทั้งทั้งที่เมื่อสามีเกษียณในปีหน้าก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตสองตายายกันต่อไป
“ตอนถูกยิงได้เงินเยียวยามานิดหน่อย ตอนนั้นป้า พี่เขย และหลานอีกสองคนถูกยิง พวกเรานั่งเล่นกันอยู่ที่แคร่หลังบ้าน ตอนนั้นมันค่ำแล้ว มองไม่เห็นว่าใครยิงเข้ามา พี่เขยถูกยิงจนพิการ ป้าก็ยังไม่ได้เอากระสุนออกเลย เมื่อไม่นานนี้มีฟ้าผ่ามายังต้นมะพร้าวใกล้ที่นั่งที่เราถูกยิงในวันนั้น ปรากฏว่ามีกระสุนฝังอยู่ในต้นเต็มเลย ถ้ายังขายของได้ชีวิตความเป็นอยู่ก็คงดีกว่านี้ รายได้ขาดหายไปสิบปีแล้ว แต่ไม่มีใครหรือหน่วยงานไหนมาถามหาว่าเราเดือดร้อนแค่ไหน”
“ตอนนี้เป็นหนี้ธนาคารอีก 7 หมื่น เป็นเงินที่กู้ไปซื้อของมาขายตั้งแต่ตอนนั้น ดีที่เขาให้พักชำระหนี้ไปก่อน แต่ยังไงก็ต้องหาไปใช้เขาอยู่ดี พอลุงเกษียณปีหน้าก็ไม่รู้จะทำยังไงต่อกับชีวิตให้มี่รานได้ คิดไม่ออกเหมือนกัน เรี่ยวแรงเราก็หดหายไปทุกวัน ดีที่ลูกชายกับลูกสาวโตเลี้ยงตัวเองกันได้แล้ว เหลือกันแต่สองตายยายก็คงไม่ได้ใช้จ่ายอะไรกันมากจากนอกหนี้ที่บอก”
กับเรื่องราวในพื้นที่ที่ยังเป็นอยู่ ได้ยินได้เห็นทุกวัน ป้าวภาบอกว่า แค่ได้อยู่เหมือนเดิมก็พอแล้ว
“ได้ยิน ได้เห็นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวัน มีคนตายบาดเจ็บทุกวัน บ้านเรามันเป็นอะไรกันไปแล้ว เศรษฐกิจการค้าขายก็ไม่ดี เดือดร้อนกันหมด ชาวบ้านคือคนที่เดือดร้อนที่สุด คนจะมาเที่ยวก็กลัวกับข้าวที่ออกไป ดูแล้วไม่น่าสงบลงง่ายๆ เรื่องที่เขาไปคุยกันให้สงบก็ไม่รู้จะได้ผลแค่ไหน ถ้ากลับไปอยู่เหมือนเดิมได้ ชีวิตคนที่นี่ก็อยู่กันสบายแล้ว แต่จะเกิดเหตุยังไง ป้าก็ยังอยู่ที่นี่ บ้านเกิดของป้าจนกว่าจะตายไปนั่นแหละ”
แม้ความหวังในชีวิตดูเลือนรางเต็มที แต่ป้าวภายังยึดมั่นขอตายในแผ่นดินนี้…