“เมื่อเราเริ่มต้นด้วยการคิดดี สิ่งดีๆ ก็จะอยู่กับเรา” คือ สิ่งที่กลุ่ม Melayu Living คิดสร้างพื้นที่สร้างสรรค์กลางใจเมืองปัตตานี โดยกลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่ เลือดเนื้อชายแดนใต้ เพื่อปลุกเรื่องราวของเมืองแห่งวัฒนธรรม และรักษาความยั่งยืนไว้ พร้อมการมีส่วนร่วมของชุมชน
สมาชิกก่อตั้งของ Melayu Living ประกอบด้วย ราชิต ระเด่นอาหมัด อนันต์ กาเดร์ ศิวกร สนิทวงศ์ ประกอบ กาซันการัดชอ สมโภชน์ เจ๊ะอาลี และ อาซีซี ยีเจะแว
ราชิต บอกเล่าถึงความเป็นมาและความตั้งใจของพวกเขาว่า อ.วิวัฒน์ จิตนวล ประธานกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ ซึ่งเป็นอาจารย์ของพวกเขา อยากให้ภาคใต้ตอนล่างมีกลุ่มสถาปนิกของสามจังหวัด เพราะมีกลุ่มอันดามัน และกลุ่มสมุยแล้ว ประจวบเหมาะกับความตั้งใจของพวกเขาที่อยากจัดตั้งกลุ่มเช่นกัน
“ทั้งนี้กลุ่มเราจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าปราศจากครูที่เคารพ ครูวิวัฒน์ จิตนวล ประธานกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ ครูในดวงใจของลูกศิษย์ทุกๆ คนที่บอกว่า “ถ้ามัวแต่กลัว เมื่อไหร่จะกล้า” ผลักดันให้พวกเรากลุ่มสถาปนิกในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ก่อตั้งกลุ่มย่อยจากทางกรรมาธิการฯ เช่นเดียวกับทางอันดามันและทางสมุย ทางเราได้รวบรวมสมาชิกได้ประมาณ 80 คน และได้เริ่มมีกิจกรรมบางส่วนเมื่อปีที่ผ่านมาไปบ้าง แต่เป้าหมายของพวกเราคือตั้งใจที่จะใช้วิชาชีพสถาปนิก มามีส่วนร่วมพัฒนาและสร้างสรรค์บ้านเมือง เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่พอจะจุดประกายสิ่งดีๆ ให้กับสังคม กลุ่มคณะทำงานจึงมีเป้าหมายที่จะต้องการสร้างจุดเชื่อมต่อระหว่างวิชาชีพสถาปนิกและกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ช่างภาพ ศิลปิน กราฟิกดีไซเนอร์ พ่อค้าแม่ค้า และประชาชนทั่วไปให้มามีส่วนร่วมกันสร้างสรรค์บ้านเมือง จึงเกิดแนวคิด “Melayu Living” คือ ห้องรับแขกของพื้นที่มลายูขึ้นมา”
“เราอยากให้เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ได้เห็นโพสต์หนึ่งของรุ่นพี่สถาปนิกว่า ห้องรับแขกของบ้านมลายู Melayu Living ฟังแล้วเป็นคำที่ไม่เป็นทางการ จึงตกลงใช้คำนี้เป็นชื่อกลุ่ม เป็นห้องรับแขกที่เปิดกว้าง ต้อนรับทุกคนที่มาเยี่ยมเยียน เป็นศูนย์กลางในการทำงานสร้างสรรค์ จนมานั่งที่ร้าน IN_T_AF ถนนปัตตานีภิรมย์และได้คุยกัน เมื่อเจ้าของร้าน IN_T_AF แจ้งข่าวว่า บ้านข้างๆ ร้านว่างอยู่ น่าจะเจรจากับทางเจ้าของบ้านได้ เมื่อได้เห็นภายในตัวบ้าน หลังบ้านที่ติดแม่น้ำ ต้นไทรใหญ่สวยงาม ที่นี่คือที่ที่ตามหา ได้ประสานติดต่อไปยังเจ้าของบ้านคือ คุณปั้ม ปิยวัชร วัฒนายากร และไปบอกกล่าวถึงความตั้งใจของพวกเรา และเขาก็คิดเหมือนกัน ต้องขอบคุณ คุณปั้ม มากๆ ที่มอบบ้านหลังนี้ให้พวกเราดูแล และพร้อมจะสนับสนุนสิ่งที่พวกเราทำ”
เมื่อถามถึงความเป็นศูนย์กลางของสมาชิก ราชิต บอกว่า ที่นี่เป็นศูนย์กลางที่ทุกคนสะดวกที่จะมารวมตัว มีสถาปนิกทั้งจากยะลาและนราธิวาสมาร่วม จุดนี้จะเป็นจุดเล็กในการเชื่อมต่อ ที่ตรงนี้เป็นจุดของคนจีน มุสลิมมาดูแลต่อ ไม่ได้แบ่งแยกกัน
“เราต้องยืนด้วยตัวเองให้ได้ หากจะมีการสนับสนุนจากองค์กรหรือหน่วยงานใดจะต้องไม่กลืนจุดยืนของเรา ข้างบนจะเปิดเป็นโฮสเทล ข้างล่างเป็นสถานที่ที่ศิลปินมารวมตัว แสดงงาน แลกเปลี่ยน กิจกรรม ห้องสมุด ริมน้ำเป็นที่นั่งชมบรรยากาศแม่น้ำปัตตานี ให้มีความพอดี ไม่ขาดความเป็นตัวตน ก้าวเล็กๆ แต่ไม่เสียจุดยืน”
อนันต์ กาเดร์ สมาชิกก่อตั้งอีกคนบอกว่า สิ่งที่ Melayu Living ทำเพื่อทำความเข้าใจในงานสถาปัตย์มากขึ้น
“เราวางแผนว่าให้เกิดกิจกรรมในย่านนี้ มีแผนทำปฏิทินวัฒนธรรม การท่องเที่ยว ในอนาคตจะให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรม สถาปนิกต้องทำให้เกิดผลกับพื้นที่มากที่สุด ให้เห็นว่าสถานที่นี้มีค่ามากกว่าการรื้อทิ้งหรือสร้างอาคารอื่นขึ้นมา เราทำเพื่อความยั่งยืนกับพื้นที่ตรงนี้
มันไม่ใช่ความฝัน เรากำลังทำให้เป็นจริง ถ้าไม่เริ่มก็ไม่เกิด ต้องมีงบปรับปรุงไปทีละส่วน โดยการทำกันเอง อยากอนุรักษ์งานดั้งเดิมให้มากที่สุด ค่อยๆ ทำไปทีละส่วน โครงสร้างข้างบนเป็นไม้ที่ยังแข็งแรง กระเบื้องดินเผายังมีคุณภาพดี เปิดโอกาสให้คนที่คิดเหมือนกันเข้ามาถือหุ้น ซึ่งไม่ใช่การระดมกันมากมาย เมื่อดีไซน์เฟสแรกก็ทำกันไปเรื่อยๆ ให้เป็นตัวอย่างที่เป็นจริง”
ด้าน อาซีซี ยีเจะแว บอกว่า ชายแดนใต้มีวัตถุดิบเป็นรากมากมาย หากถูกเหตุการณ์ต่างๆ มาบดบัง มีเอกลักษณ์มลายู ที่รวมกันทุกเชื้อชาติศาสนา เป็นโมเดลของความเป็นมลายูที่สวยงาม ไม่มีการแบ่งแยกกัน เปิดกว้างกับทุกคน มลายูคือ คาบสมุทร ที่ไม่ได้หมายความแค่มุสลิม สิ่งที่จะได้คือ เมื่อคนที่มาเยือนเดินผ่าน เอื้อให้เขาเรียนรู้กับทุกสิ่งที่ตั้งใจทำ เขาเกิดความสนใจและได้รู้ เป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ต่อพื้นที่แห่งนี้
“เราตั้งใจให้เป็น Creative Space พื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ ในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นอยู่ในพื้นที่ เราเป็นส่วนช่วยให้ปรับทัศนคติ ทัศนียภาพไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ยาที่กินแล้วหาย แต่รู้ว่าการสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงหลายอย่างได้ เมืองที่มีเรื่องราววัฒนธรรมในอดีต วันหนึ่งต้องถูกปลุกให้คนซึมซับกับสิ่งมีค่านั้นได้ ความรุนแรงก็จะค่อยหายไป ช่วยกันสร้างสรรค์เมืองต่อไป” ราชิต กล่าวถึงความหวังและความตั้งใจของ Melayu Living
เมื่อไม่นานมานี้ Melayu Living จัดงานเวิร์คชอป การใช้วัสดุและเคมีภัณฑ์ กับการปรับปรุงอาคาร โดยการสนับสนุนจาก วีว่าบอร์ด TOA และ VC.FABRIC สยามคลาสสิค โดยมีสถาปนิก ผู้รับเหมา เจ้าของอาคาร และผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมอย่างน่าพอใจ
ติดตามก้าวเล็กๆ ของกลุ่ม Melayu Living กันต่อไปจากนี้ พวกเขาบอกว่าหากมีข้อชี้แนะเพื่อเป็นแนวทางให้พวกเขาพัฒนาต่อไป พร้อมยินดีรับฟังเสมอ