เมื่อวันที่ 12 เม ย.2559 ที่ผ่านมา ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ ผอ.รมน.ภาค 4 ได้เชิญเครือข่ายเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินร่วมพูดคุยเพื่อให้ทางเครือข่ายนำเสนอข้อมูลเหตุผล และผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีแม่ทัพภาค 4 รองแม่ทัพ ศอ.บต.และเครือข่ายภาคประชาสังคมในจ.ปัตตานี 200 กว่าคนร่วมรับฟัง
นางสาวลม้าย มานะการ ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวกับผู้ร่วมรับฟังจำนวน 200 กว่าคนว่า กรณีผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพราะไม่รับฟังเสียงที่แตกต่าง ไม่ได้ให้ข้อมูล ที่ชัดเจนโปร่งใส จึงเป็นต้นเหตุที่เกิดปัญหาอยู่ในปัจจุบัน
“การเดินหน้าผลักดันโครงการนั้นเกิดขึ้นปิดกั้นการมีส่วนร่วม ปิดกั้นข้อมูลที่เป็นจริง ผลกระทบที่จะเกิด ในขณะที่คนในพื้นที่ก็มีความสามารถมากพอที่จะค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวเองเนื่องจากโลกปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลให้ค้นคว้ามากมาย อย่างเช่นงานวิจัยผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินจากมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งชาวบ้านรับรู้ถึงผลกระทบที่ร้ายแรงจึงออกมาคัดค้าน”
นางสาวลม้าย กล่าวอีกว่า การจัดเวที ค.1 ค.2 ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนถ่านหิน มีการแจกสิ่งของให้ฝ่ายที่สนับสนุน แต่ห้ามคนที่คัดค้านห้ามเข้าร่วม โดยผู้ว่าราชการจังหวัดออกประกาศจังหวัดห้ามคนที่มีความคิดเห็นต่างเข้าร่วมแสดงความคิดหากขัดขืนคำสั่งประกาศผู้ว่าจะดำเนินคดีตามกฎหมาย
นางสาวลม้ายได้นำเสนอแม่ทัพภาคที่ 4 ว่า “ทางแม่ทัพควรจะเปิดเวทีพูดคุยข้อมูลในข้อกังวลกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินในทุกประเด็นและต้องมีความชัดเจนโปร่งใส รอบด้าน ทั้งภาควิชาการและคนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม ไม่ใช่ทำเพียงการ แค่เปลี่ยนวาทกรรม เป็นถ่านหินสะอาด”
“กรณีเครือข่ายฯ ได้เดินรณรงค์หยุดถ่านหินจากปัตตานี-เทพา เมื่อวันที่ 8-10 เม ย.ที่ผ่านมา จากการพูดคุยกับผู้คนตลอดเส้นทางที่เดินผ่าน ได้รับรู้ข้อมูลว่า ประชาชนประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ไม่รู้ว่าจะมีการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนที่รับรู้ว่าจะมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ไม่รู้ถึงพิษภัยและผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งที่โรงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าโครงการ 100,000 กว่าล้านบาท แต่มีการปกปิดข้อมูล ไม่ให้เกียรติคนที่จะได้รับผลกระทบ และมีพลังงานที่พลังงานทางเลือกพลังงานสะอาดและปลอดภัยให้เลือกมากกว่าถ่านหิน” นางสาวลม้ายกล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้หลังจากนำเสนอข้อมูลจบ ทางรองแม่ทัพรับปากว่าจะเปิดเวทีพูดคุยกันหลังจากนี้โดยจะจัดเวทีพูดคุยกันให้ดีละเอียดที่สุดเท่าที่เคยจัดกันมา จะสร้างหรือไม่สร้างอีกเรื่องหนึ่งแต่ต้องจัดเวทีพูดคุยกันก่อน
ด้านดร.สมพร ช่วยอารีย์ ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ ม.อ.ปัตตานี. กล่าวว่า พลังงานจากโซลาร์เซลล์ เป็นพลังงานที่สะอาดและสะดวกต้นทุนต่ำ แก้ปัญหาความขัดแย้ง และทุกบ้านสามารถติดตั้งระบบไฟฟ้าในบ้าน นักวิชาการบางคน บอกว่า พลังงานไฟฟ้าจากแสงแดดเป็นเพียงแค่อาหารเสริม คนเราต้องกินอาหารหลัก คือต้องกินพลังงานไฟฟ้าจากฟอสซิลหรือถ่านหินนั่นเอง แต่เราก็กลับมองว่า พลังงานจากถ่านหินเป็นเพียงอาหารเคมี แต่พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานชีวจิตหรืออาหารอินทรีย์ปลอดสารพิษ
“รัฐบาลบอกว่าสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ทำไมจึงไม่ลองประกาศใช้ ม.44 ให้ต่อเข้าระบบสายส่งได้บ้างละครับ นอกจากจะทำให้เรื่องผังเมืองและสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ปลดล๊อคต่างๆ ให้มันง่ายขึ้น”
“ดูเหมือนว่า พลังงานหมุนเวียนจะเดินไปได้อย่างช้ามากๆ แนวคิดของพลังงานหมุนเวียนนั้น ไม่ใช่ว่ารัฐจะต้องลงทุนเองทั้งหมดครับ เพียงแค่ส่งเสริมอย่างจริงจังเชิงประจักษ์ ว่าทำได้ ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง”
ดร.สมพร ช่วยอารีย์ กล่าวอีกว่า “ทางรอดของประเทศไทย คือการนำพลังงานทางเลือกที่เป็นไปได้มาใช้ก่อนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หายใจด้วยรูจมูกตัวเองก่อน การใช้ถ่านหินนำเข้านั้นถือว่าเป็นการยืมจมูกเพื่อนบ้านหายใจ ส่วนการนำเข้าไฟฟ้าจากลาวแม้ว่าราคาจะต่ำก็จริง แต่มันก็มีการสูญเสียทรัพยากรของเขาเช่นกัน”
“เรื่องการอนุรักษ์พลังงานเราไม่ค่อยเอาจริงเอาจังกันมากนัก มักจะเป็นเพียงแค่ฤดูกาลหรืองานแฟชั่นเฉพาะกิจ ตามกระแสโลก ลองปรับมาเป็นกระแสวิถีชีวิตดู คงไปได้ไกลมากกว่านี้ ถ้าเราบริหารจัดการได้” ดร.สมพร กล่าว
“ในสภาวะตอนนี้ประเทศไทยยังไม่วิกฤตทางพลังงานไฟฟ้า เพียงแต่การเร่งสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมีความจำเป็นต้องแซงหน้าพลังงานทางเลือกไปก่อนคือให้สร้างให้ได้ เพราะหากปล่อยไว้นานไปพลังงานในรูปแบบใหม่จะออกมามากเกินไป จะทำให้ธุรกิจการขายถ่านหินไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร ในขณะที่หลายๆ ประเทศพยายามหาทางลดสัดส่วนลง”
“พลังงานไฟฟ้า พอหรือไม่พอเป็นเรื่องของทุกคน อย่ามาบังคับให้พื้นที่ที่โครงการโรงไฟฟ้าลงมาต้องหมดทางเลือก และมิใช่ของคนในหมู่บ้านนั้นๆ มีความผิดที่ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน อย่าไปกดดันให้เขาต้องย้อนยุคหรือข่มเหงน้ำใจด้วยการยกภูมิปัญญาในอดีตมา ถามว่าชุมชนอื่นๆ ทำไมไม่ถูกเลือกในขณะที่โอกาสจะถูกเลือกก็มีเช่นกัน ถ้าไม่ให้เกียรติคนเห็นต่างด้วยก็ยากที่จะพัฒนาไปต่อได้” ดร.สมพร ช่วยอารีย์ กล่าว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อ 10เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) ได้ออกแถลงการณ์ สรุปบทเรียน การเดิน “ต่อลมหายใจชายแดนใต้” “ฝาก กอ.รมน.บอกนายกฯ คนใต้ไม่ขอใช้ตะเกียง แต่จะใช้โซลาร์เซล” โดยระบุเนื้อหาว่า กิจกรรมการเดินรณรงค์ “ต่อลมหายใจชายแดนใต้” จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีสู่บ้านคลองประดู่อำเภอเทพา ที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ได้ขึ้นเมื่อวันที่ 8-10 เมษายน 2559 ที่ผ่านมานั้น ประสบความสำเร็จอย่างดี นักศึกษาและประชาชนที่ตื่นตัวนับร้อยคน ได้เดินเท้ารณรงค์ให้ข้อมูลประชาชนตลอดสองข้างทางของพื้นที่ปัตตานี หนองจิกและเทพา เพื่อให้รับรู้ว่ามีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่มากจะมาตั้งในพื้นที่ และเพื่อให้ข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชน ทั้งนี้มีนักศึกษา มอ.ปัตตานี นักศึกษจากราชภัฏยะลา ภาคประชาสังคมของปัตตานี สงขลา สตูลและชาวบ้านเทพาเอง ร่วมเดินรณรงค์ตลอด 3 วันท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัดอย่างมุ่งมั่นและมีความสุขที่ได้ร่วมกิจกรรมการปกป้องบ้านเกิด